ประวัติศาสตร์ปิดตำนานอาณาจักรโปแลนด์-ลิทัวเนีย: จุดจบของระบอบฉันทามติ

ปิดตำนานอาณาจักรโปแลนด์-ลิทัวเนีย: จุดจบของระบอบฉันทามติ

ท่านสงสัยหรือไม่ว่าเพราะสาเหตุอะไรที่ประชาธิปไตยในปัจจุบัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในประเทศที่พัฒนาแล้ว เลือกที่จะให้ความสำคัญกับเสียงส่วนใหญ่ ยอมรับความเป็นไปได้ที่จะเกิดทรราชของคนหมู่มาก (Tyranny of the Majority) และก้าวข้ามประชาธิปไตยแบบโบราณซึ่งให้ความสำคัญกับทุกๆ เสียงไป

หนึ่งในสาเหตุคือสิ่งที่เกิดขึ้นกับอาณาจักรที่ยิ่งใหญ่มากแห่งหนึ่งในช่วงศตวรรษที่ 18 นั่นคือ Polish-Lithuanian Commonwealth หรือ อาณาจักรโปแลนด์-ลิทัวเนีย ผมขอเรียกสั้นๆว่า PLC อาณาจักรนี้ไม่ค่อยมีใครเคยได้ยินชื่อเลย เป็นอาณาจักรที่ถูกลืมอย่างแท้จริง

ปูมหลังของ PLC

PLC เกิดจากการที่ประมุขของอาณาจักรใหญ่สองอาณาจักรในยุโรปตะวันออกได้มีอภิเษกสมรสกัน (Personal Union) นั่นก็คือ อาณาจักรโปแลนด์และแกรนด์ดัชชีแห่งลิทัวเนีย ในช่วงศตวรรษที่ 14-15 ทั้งโปแลนด์และลิทัวเนียเป็นมหาอำนาจในยุโรปตะวันออกมีพื้นที่มากมาย ตามรูปด้านล่าง

อาณาจักรโปแลนด์ (สีแดง) และแกรนด์ดัชชีแห่งลิทัวเนีย (สีชมพู) Cr: Poznaniak

ราชวงศ์ที่เกิดจากการสมรสของสองอาณาจักรก็คือราชวงศ์ Jagiellon ในสมัยของราชวงศ์นี้ กษัตริย์คนเดียวปกครองทั้งสองอาณาจักร (ทั้งสีแดงและสีชมพู) กองทัพโปแลนด์และลิทัวเนียสามารถเอาชนะมัสโควี (Muscovy) ซึ่งต่อมากลายร่างเป็นรัสเซียได้หลายครั้ง

แต่แล้วปัญหาก็เกิดขึ้นใน ค.ศ. 1569 เมื่อ Sigismund กษัตริย์องค์สุดท้ายของราชวงศ์ Jagiellon ไม่มีบุตรทั้งชายและหญิง ถึงแม้จะพระองค์จะอภิเษกสมรสถึงสามครั้งก็ตาม

Sigismund อยากจะให้ราชวงศ์สืบทอดต่อไปจึงเปลี่ยนระบบกษัตริย์ใหม่เป็นระบบที่เรียกว่า Elective Monarchy หรือ ระบอบเลือกกษัตริย์โดยการเลือกตั้ง และรวมอาณาจักรทั้งโปแลนด์และลิทัวเนียเข้าด้วยกันเป็นรัฐคู่ที่มีกษัตริย์ที่ได้รับเลือกมาปกครองแต่เพียงผู้เดียว

รัฐคู่นี้เองคือ Polish-Lithuanian Commonwealth หรือ PLC

สภา Sejm

ระบบเลือกกษัตริย์โดยการเลือกตั้งจริงๆก็ไม่ซับซ้อนอะไรนัก นั่นคือชายคนใดก็ได้ที่เป็นชนชั้นสูงในอาณาจักรและนับถือศาสนาคริสต์นิกายโรมันคาทอลิก เขาสามารถที่จะมาเสนอตัวกับสภาชนชั้นสูงที่เรียกว่า Sejm

สมาชิกสภาดังกล่าวจะทำการเลือกคนใดคนหนึ่งในกลุ่มนั้นเป็นกษัตริย์ นอกจากนี้เจ้าชายแห่งอาณาจักรอื่นๆ ยังมีสิทธิ์ได้รับเลือกเป็นกษัตริย์ของ PLC ได้อีกด้วย

ถ้าดูจากวิธีการก็ดูจะยุติธรรมดี เพราะถ้าเป็นลูกขุนนางธรรมดาก็อาจจะเป็นประมุขสูงสุดของประเทศได้ แต่นั่นมันในทางทฤษฎี ในความเป็นจริงพวก Sejm จะเลือกเฉพาะชนชั้นสูงที่มีอำนาจสูงมากในอาณาจักร หรือเจ้าชายจากต่างแดนเท่านั้น

การประชุมสภา Sejm ในปี ค.ศ.1622

วิธีการดังกล่าวทำให้สภา Sejm มีอำนาจมาก เพราะนอกจากจะเลือกกษัตริย์ได้แล้ว กษัตริย์ของ PLC ยังไม่สามารถผ่านกฎหมายใดๆได้ถ้าพวก Sejm ไม่ยินยอม ผลที่ตามมาคือพวก Sejm นี้มีอำนาจสูงสุดในทางปฎิบัติมากกว่ากษัตริย์

เหล่าสมาชิกสภา Sejm นี้ได้รับตำแหน่งมาจากการเลือกของสมาชิกสภาท้องถิ่นในแต่ละมณฑลของอาณาจักร แต่คนที่จะได้รับเลือกจะต้องเป็นชนชั้นสูงเท่านั้น ซึ่งอาจจะเป็นชนชั้นสูงในระดับท้องถิ่นก็ได้

วิธีการปกครองของ PLC จึงจัดว่าเป็นประชาธิปไตยมากแบบหนึ่ง ถึงแม้ว่าเฉพาะชนชั้นสูงเท่านั้นที่มีสิทธิ์เป็นสมาชิกสภา Sejm ก็ตาม แต่อย่าลืมว่าในตอนนี้อยู่ในศตวรรษที่ 16 เท่านั้นเอง ประเทศอื่นๆ แม้กระทั่งอังกฤษยังไม่ได้มีความเป็นประชาธิปไตยเท่ากับ PLC เลย

การผ่านกฎหมายของ PLC ในช่วงแรกใช้ระบบเสียงส่วนมาก (Majority Voting) ฝ่ายใดมีผู้เห็นด้วยมากกว่าก็ถือว่าเป็นผู้ชนะ สภาก็จะออกเป็นกฎหมายตามมติเสียงส่วนใหญ่

ในช่วงร้อยปีแรกที่ใช้การปกครองแบบนี้ ปรากฎว่าประสบความสำเร็จมาก เพราะพวกสมาชิกสภา Sejm ต่างคานอำนาจกันดี พวกเขาออกกฎหมายที่ให้เสรีภาพทางศาสนา ตรงกันข้ามกับอาณาจักรอื่นในยุโรปที่กำลังทำสงครามกันเนื่องจากความขัดแย้งทางศาสนาระหว่างชาวคาทอลิกและโปแตสแตนท์

ดังนั้นดินแดน PLC จึงเปรียบเสมือนแดนสวรรค์ของผู้อพยพที่หนีตายจากการกวาดล้างทางศาสนา ในสงครามสามสิบปี PLC ก็ไม่ได้เข้าร่วมสงคราม และยังยอมรับทุกเชื้อชาติศาสนาเข้ามาในดินแดนของตน ในช่วงดังกล่าวนี้นักประวัติศาสตร์จัดว่าเป็นยุคทองของ PLC ตัวอาณาจักรมีดินแดนและพลเมืองเป็นอันดับต้นๆ ของยุโรป

หากแต่ว่าเมื่อเวลาผ่านไป สภา Sejm ก็เริ่มเดินไปผิดทาง ซึ่งมีส่วนสำคัญที่ทำให้ PLC ถูกลบหายไปจากแผนที่โลก

ระบอบฉันทามติ

การเดินไปผิดทางของสภา Sejm เกิดจากการเรืองอำนาจขึ้นมาของพวกชนชั้นสูง พวกเขานำหลักการเห็นเป็นเอกฉันท์ หรือ ฉันทามติ (Unanimity) ขึ้นมาใช้ แต่การใช้นั้นค่อนข้างสุดโต่งเพราะว่าได้ไปรวมกับสิทธิพิเศษของชนชั้นสูงของการวีโต้ในสภาที่เรียกว่า Liberum Veto

หลักการใหม่นี้มีวิธีการใช้อย่างไร?

หลักการใหม่นี้อนุญาตให้สมาชิกสภา Sejm คนใดก็ได้สามารถสั่งให้หยุดการประชุมของสภา และห้ามไม่ให้ข้อกฎหมายที่กำลังประชุมอยู่ผ่านได้ในทันที ถึงแม้ว่าจะมีแค่เสียงเดียวก็ตาม

คือเอาแบบง่ายกว่านั้นก็คือ ถ้านาย A เป็นสมาชิกสภา Sejm แล้วนาย A ไม่ชอบกฎหมายนี้ นาย A จะตะโกนว่า “หยุด ผมไม่ให้ผ่าน

เพียงเท่านั้น กฎหมายใดๆที่พิจารณาอยู่ในสภาจะต้องตกไปทันที โดยที่สมาชิกคนอื่นไม่สามารถทำอะไรได้เลย เพราะมีสมาชิกคนหนึ่งทำการคัดค้านไปแล้ว แสดงให้เห็นถึงความไม่เป็นเอกฉันท์ เพราะฉะนั้นกฎหมายดังกล่าวจะผ่านไม่ได้

กฎหมายนี้มันเกิดขึ้นมาจากแนวคิดในสมัยศตวรรษ 17 ที่ว่าชนชั้นสูงชาวโปลเท่าเทียมกัน เพราะฉะนั้นการผ่านกฎหมายควรจะต้องทำแบบที่ไม่มีข้อขัดแย้งใดๆ (Unanimously) หรือเป็นเอกฉันท์ ถ้าอาศัยเสียงส่วนมากเป็นหลักก็อาจจะละเมิดเสียงส่วนน้อยได้

สิ่งที่เกิดขึ้นก็คือในช่วงเวลาร้อยกว่าปีที่หลัก Liberum Veto ถูกใช้งานนั้น สภา Sejm แทบไม่สามารถผ่านกฎหมายใดๆ ได้เลย เพราะว่าจะมีคนใช้วิธีการนี้ยับยั้งไว้ตลอด พวกสภา Sejm เองก็เริ่มจะแตกแยกกัน ทำให้ไม่สามารถตกลงเลือกกษัตริย์เชื้อสายโปลิช-ลิทัวเนียขึ้นมาได้ แต่จำต้องเลือกราชนิกูลแคว้นอื่นขึ้นมาเป็นกษัตริย์ติดต่อกัน

ในเมื่อตกลงกันไม่ได้ว่าหนึ่งในพวกเราจะเป็นกษัตริย์ ให้ชาวบ้านมาเป็นแทนเลยดีกว่า ง่ายดี

นี่จึงเป็นปัญหาภายในของอาณาจักรที่เรื้อรังของ PLC ในระยะหลัง พอเข้าศตวรรษที่ 18 PLC เริ่มประสบกับการรุกรานครั้งใหญ่ อันเนื่องมาจาก อาณาจักรรอบข้างนั่นก็คือ ปรัสเซีย (Prussia), ออสเตรีย (Austria-Hungary) หรือแม้กระทั่งศัตรูเก่าที่ PLC ปราบได้อย่างรัสเซีย (Russia) ได้กลายเป็นมหาอำนาจ ทั้งสามอาณาจักรต่างต้องการดินแดนของ PLC ทั้งสิ้น PLC จึงถูกศัตรูล้อมจากทุกด้าน

ภาพวาด Rejtan or the Fall of Poland ผลงานชิ้นเอกของ ศิลปินชาวโปล Jan Matejko แสดงถึงเหตุการณ์ในปี ค.ศ.1773 ที่ สมาชิกสภา Sejm ชื่อ Rejtan นอนลงกับพื้นหน้าประตูเพื่อขัดขวางไม่ให้สมาชิกสภา Sejm คนอื่นออกจากสภา ซึ่งนั่นหมายถึงการพิจารณาต่างๆจะจบสิ้นลงไป ทั้งๆที่ PLC กำลังถูกบีบบังคับจากทั้งสามมหาอำนาจ

วาระสุดท้ายของ PLC

ทั้งสามอาณาจักรล้วนแต่กลายเป็นมหาอำนาจเพราะการปฎิรูปแก้สิ่งที่ล้าสมัยออกไป ซาร์ปีเตอร์มหาราชทรงปฏิรูปรัสเซีย เฟอเดอริกมหาราชปฏิรูปปรัสเซีย พระนางมาเรีย เทเรซาทรงปฏิรูปออสเตรีย

แต่ทว่าการปฏิรูปกลายเป็นสิ่งที่ PLC ทำไม่ได้ เพราะพวก Sejm ไม่เคยผ่านกฎหมายปฏิรูปได้เลย ถึงแม้กษัตริย์ PLC บางพระองค์จะทรงสนับสนุนอย่างมากก็ตาม สาเหตุก็มาจาก Liberum Veto นั่นเอง

เมื่อปราศจากการปฏิรูป PLC จึงอ่อนแอลงมากในทุกๆด้าน และเป็นคนป่วยที่แย่ยิ่งกว่าอาณาจักรออตโตมันที่ได้ชื่อว่าเป็นคนป่วยของยุโรปเสียอีก แต่ที่ไม่ได้รับการขนานนามเช่นนั้นน่าจะเพราะว่าพวกชาติมหาอำนาจในยุโรปคิดว่า PLC ไม่มีชีวิตแล้วนั่นเอง

หลังปี ค.ศ.1750 ประชาชนใน PLC ต่างเรียกร้องให้ปฎิรูปประเทศให้เข้มแข็ง และกษัตริย์ก็ทรงสนับสนุนอีกเช่นเคย แต่ทว่าพวกมหาอำนาจทั้งสามต่างเข้ามาใช้ประโยชน์จาก Liberum Veto ด้วยการลักลอบติดสินบนพวกสมาชิกสภา Sejm การติดสินบนเพียงคนเดียวก็ทำให้กฎหมายปฏิรูปประเทศเป็นหมันได้แล้ว PLC จึงไม่มีวันที่จะปฏิรูปได้สำเร็จ

ในช่วงปี ค.ศ.1765 ได้มีการเรียกร้องให้ปฎิรูประบบการเมืองครั้งใหญ่ ภายใต้การนำของ Stanislaw II กษัตริย์พระองค์ใหม่ พระองค์ทรงริเริ่มการยกเลิก Liberum Veto ในกฎหมายบางฉบับ และนำระบบเสียงส่วนใหญ่กลับเข้ามาใช้ รวมไปถึงทำการปฎิวัติอุตสาหกรรมให้เข้มแข็ง

การเปลี่ยนแปลงประเทศให้เข้มแข็งของ PLC เป็นสิ่งที่มหาอำนาจทั้งสามมองดูอย่างไม่สบายใจ โดยเฉพาะรัสเซียที่มีอิทธิพลและผลประโยชน์มากที่สุดใน PLC ชาวรัสเซียเองตั้งแต่ซาร์ลงไปถึงประชาชนระดับล่างต่างไม่ปรารถนาให้ PLC เข้มแข็งเป็นหนามยอกอก

ภาพอุปมาว่า รัสเซีย ปรัสเซีย และออสเตรีย ตัดแบ่งดินแดนโปแลนด์ ผู้หญิงที่อยู่ซ้ายสุดคือ ซารินาแคทเทอรีนมหาราชแห่งรัสเซีย

ชาติมหาอำนาจทั้งสามฝ่ายจึงตกลงเริ่มแผนการขั้นเด็ดขาดในการทำลาย PLC ด้วยการข่มขู่แบ่งแยกดินแดน โดยรัสเซียเป็นประเทศที่ลงแรงมากที่สุด

ซารินาแคทเทอรีนมหาราชทรงบังคับให้ PLC ตัดดินแดนจำนวนมหาศาล และยังประกาศอีกว่า PLC เป็นรัฐในอารักขาของรัสเซีย ในขณะที่ออสเตรียกับปรัสเซียก็ได้ดินแดนคนละนิดคนละหน่อย แต่ก็คุ้มเพราะไม่ได้ทำไรเลย

พวกสภา Sejm เห็นการคุกคามของรัสเซียเช่นนั้นก็หวาดกลัว ในปี ค.ศ.1791 PLC จึงรีบทำสัญญาพันธมิตรกับหนึ่งในมหาอำนาจอย่างปรัสเซีย โดยหวังจะให้ปรัสเซียเป็นไม้กันหมากันอีกสองมหาอำนาจไว้ในช่วงที่ PLC กำลังปฎิรูปประเทศ ในปีเดียวกัน PLC ก็ได้ยกเลิก Liberum Veto ออกไปจากกฎหมายของประเทศ

ซารินาแคทเทอรีนมหาราชแห่งรัสเซีย ทรงเห็น PLC ปฎิรูปประเทศโดยไม่ได้รับอนุญาตจากรัสเซีย และมิหนำซ้ำยังไปให้ปรัสเซียช่วยเหลือ พระนางจึงพิโรธใหญ่ ทรงมีรับสั่งให้กองทัพรัสเซียบุก PLC ในทันที

เมื่อกองทัพรัสเซียมาถึง พวก Sejm ก็ได้รู้ตัวว่าเสียค่าโง่ครั้งยิ่งใหญ่เพราะปรัสเซียทรยศไม่ช่วยเหลือ PLC ตามสนธิสัญญา พระเจ้าเฟดเดอริกวิลเลียมที่ 2 แห่งปรัสเซียทรงแอบไปต่อรองกับรัสเซีย เมื่อรัสเซียบุก PLC ปรัสเซียเองก็ไม่ได้ช่วยเหลือ ท้ายที่สุดรัสเซียจึงมอบดินแดนส่วนหนึ่งให้ปรัสเซียเป็นรางวัล

ทหารของ PLC อ่อนแอเพราะไม่ได้รบมานาน ดังนั้นถึงแม้จะต่อสู้อย่างเข้มแข็งก็สู้รัสเซียไม่ได้อยู่ดี ท้ายที่สุดทั้งปรัสเซียและรัสเซียจึงเข้ามาแบ่งดินแดน PLC ที่เหลือไปอีกและยกเลิกการปฎิรูปทั้งหมด เพียงเท่านั้น PLC ก็ทำอะไรไม่ได้ พวกสภา Sejm ได้แต่กล้ำกลืนน้ำตาแห่งความเศร้าตัดดินแดนให้กับรัสเซียและปรัสเซีย

สองปีต่อมาบรรดาราษฎรชาวโปลใน PLC ต่างเจ็บแค้นกับเรื่องนี้มาก ความเกลียดชังของชาวโปลทั่วไปพุ่งเป้าไปที่พวกชนชั้นสูงในสภาที่ไร้ความสามารถ สุดท้ายแล้วพวกเขาจึงพากันก่อกบฎในประเทศต่อต้านอิทธิพลของชาวต่างชาติ ภายใต้การนำของ Tadeusz Kościuszko

ทั้งรัสเซียและปรัสเซียจึงใช้การกบฎของชาวโปลเป็นโอกาสในการส่งกองทัพเข้ามาทันที พวกกบฎถูกปราบปรามราบคาบในเวลาไม่นาน พวกชาติมหาอำนาจทั้งสามเห็นว่า PLC ไม่ควรจะมีสถานะเป็นประเทศอีกต่อไปแล้ว รัสเซีย ปรัสเซีย และออสเตรียจึงพากันแบ่งดินแดนของ PLC ที่เหลืออยู่

ในปี ค.ศ.1795 Polish-Lithuanian Commonwealth (PLC) ก็หายไปจากแผนที่โลก หลังจากที่สามชาติมหาอำนาจตกลงแบ่งดินแดนของ PLC ในครั้งที่สาม (Third Partition of Poland)

ภาพวาดของศิลปินชาวโปล Wlodzimierz Tetmajer แสดงให้เห็นว่า PLC ไม่มีชีวิตแล้ว

นั่นจึงเป็นบทสุดท้ายของอาณาจักรที่เคยยิ่งใหญ่ การก้าวพลาดไปใช้หลักการอย่าง Liberum Veto เป็นความผิดพลาดอย่างร้ายแรง นั่นทำให้หลักการเสียงส่วนใหญ่กลายเป็นหลักการหลักในประชาธิปไตยปัจจุบัน

โปแลนด์กลับมาได้เอกราชหลังสงครามโลกครั้งที่ 1 หลังจากตกอยู่ภายใต้มหาอำนาจทั้งสามอยู่นานกว่าร้อยปี ส่วนลิทัวเนียได้เอกราชเช่นกัน แต่ก็ถูกโซเวียตกลืนกลับเข้าไป จนกระทั่งได้เอกราชอีกครั้งหลังสหภาพโซเวียตล่มสลาย

บทความการศึกษา

Victory Tale ไม่อนุญาตให้คัดลอกบทความไปโพสที่ใดทุกกรณี การฝ่าฝืนมีโทษทางกฎหมาย

error: Content is protected !!