ประวัติศาสตร์ท้าวทองกีบม้า: ชีวิตที่ผันแปรและการพัฒนาขนมไทยของเธอ

ท้าวทองกีบม้า: ชีวิตที่ผันแปรและการพัฒนาขนมไทยของเธอ

ถ้าถามว่าขนมไทยใดมีชื่อเสียงและเป็นที่นิยมมากที่สุด คำตอบคงจะหนีไม่พ้น ทองหยิบ ทองหยอด ฝอยทอง ทองม้วน หรือหม้อแกง

แท้จริงแล้วขนมไทยเหล่านี้มีที่มาจากขนมของชาวโปรตุเกส แต่ขนมเหล่านี้ได้กลายมาเป็นขนมไทยเพราะความสามารถในการดัดแปลงของสตรีผู้หนึ่ง

ประวัติศาสตร์ไทยเรียกสตรีนางนี้ว่า ท้าวทองกีบม้า

ฝอยทอง Cr: Takeaway

ชาติกำเนิด

ท้าวทองกีบม้ามีชื่อจริงว่า มารีอา กูโยมาร์ เด ปิญญา (Maria Guyomar de Pinha) ผมขอเรียกเธอสั้นๆ ว่า “มารีอา”

มารีอาเกิดที่อยุธยาในรัชกาลของสมเด็จพระนารายณ์มหาราช บิดาของมารีอาเป็นลูกครึ่งเบงกอลผสมกับญี่ปุ่น ส่วนมารดาของเธอเป็นสตรีชาวญี่ปุ่น ผู้หลบหนีมายังอยุธยาหลังจากที่รัฐบาลโชกุนได้ทำการปราบปรามคริสตศาสนิกชนอย่างหนัก

ด้วยเหตุนี้มารีอาจึงมีเชื้อสายของหลายชนชาติในตัวของเธอ

ครอบครัวของมารีอาเป็นครอบครัวที่นับถือศาสนาคริสต์นิกายโรมันคาทอลิก มารีอานับถือศาสนาคริสต์ตามบิดามารดาไปด้วย

อย่างไรก็ตามนักประวัติศาสตร์ได้ค้นพบว่ามารดาของมารีอาคบชู้กับบาทหลวงผู้หนึ่ง ทำให้เกิดข้อสงสัยขึ้นว่า มารีอาเป็นลูกของผู้ที่หนังสือประวัติศาสตร์ขนานนามว่าเป็นบิดาของเธอหรือไม่ ข้อเท็จจริงนี้ย่อมไม่มีใครพิสูจน์ได้

แต่งงานกับฟอลคอน

เมื่อมารีอาเติบโตขึ้นก็เป็นคนสวย จนไปเข้าตาของคอนแสตนติน ฟอลคอน (เจ้าพระยาวิชเยนทร์) ขุนนางชาวกรีกที่สมเด็จพระนารายณ์มหาราชทรงไว้วางพระราชหฤทัย ทั้งสองจึงเริ่มต้นการคบหาดูใจกัน

ฟอลคอน

บิดาของมารีอาไม่ชื่นชอบฟอลคอนเลย เพราะเขามองว่าฟอลคอนหลงใหลในโลกีย์สุข และมัวเมาในอำนาจ นอกจากนี้ยังนับถือศาสนาคริสต์นิกายแองกลิกัน (Anglican) ซึ่งจัดว่าเป็นพวกนอกรีตในสายตาของชาวคาทอลิกอีกด้วย

เพื่อเป็นการซื้อใจพ่อของมารีอา และแสดงให้เห็นว่าเขารักมารีอาจริง ฟอลคอนจึงยินยอมเปลี่ยนศาสนาจากนิกายแองกลิกันเป็นคาทอลิก พ่อของมารีอาจึงมองฟอลคอนในทางที่ดีมากขึ้นและอนุญาตให้ทั้งสองสมรสกันได้ ในขณะนั้นมารีอาอายุได้เพียง 16 ปีเท่านั้น ส่วนฟอลคอนอายุได้ 33 ปี มารีอาจึงมีอายุน้อยกว่าสามีถึง 17 ปี

งานสมรสของมารีอาและฟอลคอนเป็นงานใหญ่เพราะสมเด็จพระนารายณ์มหาราชเสด็จมาด้วยพระองค์เอง

หลังจากสมรสกันแล้ว มารีอาเป็นภรรยาที่ดี เธอไม่เคยโอ้อวดในยศศักดิ์ถีงแม้สามีของเธอเป็นผู้มีอำนาจมากในขณะนั้น เธอกลับโน้มน้าวให้ฟอลคอนพยายามเป็นคริสตศาสนิกชนที่ดี

เจ้าพระยาวิชเยนทร์เคยมีอนุภรรยาที่ไม่ได้แต่งงานมาก่อน มารีอาได้ส่งหญิงคนดังกล่าวไปยังเมืองพิษณุโลก แต่ก็ดูแลบุตรของฟอลคอนที่เกิดกับหญิงนางนั้นเป็นอย่างดี ต่อมามารีอาได้ให้กำเนิดบุตรชายสองคนแก่ฟอลคอน ทั้งสองชื่อว่า จอร์จ และคอนแสตนติน

ถึงแม้จะได้ภรรยาสวยและนิสัยงดงามเช่นนี้ แต่ฟอลคอนก็ยังคงแอบไปมีเล็กมีน้อย มารีอาโกรธมากที่สามีนอกใจ เธอจึงแยกกันอยู่กับสามีอยู่พักใหญ่เลยทีเดียว

ชะตาดำดิ่ง

ในปลายรัชกาลสมเด็จพระนารายณ์ ฟอลคอน สามีของมารีอาได้รับการแต่งตั้งให้เป็นถึงเจ้าพระยาวิชเยนทร์

ฟอลคอนได้ใช้อำนาจของตนกดขี่ขุนนางและราษฎรชาวอยุธยาหลายเรื่อง อาทิเช่นสึกพระสงฆ์มาใช้แรงงาน นอกจากนี้ยังเปิดทางให้พวกฝรั่งเศสเข้ามามีอิทธิพลในอยุธยา

บ้านที่ลพบุรี เชื่อกันว่าเป็นบ้านของฟอลคอนและมารีอา Cr: Heinrich Damm

เหล่าขุนนางอยุธยาที่นำโดยพระเพทราชา และหลวงสรศักดิ์จึงเกลียดชังฟอลคอนยิ่งนัก ทั้งสองรอเวลาที่สมเด็จพระนารายณ์มหาราชสวรรคต พวกตนจะได้จัดการกับฟอลคอนเสียที

ในปี ค.ศ.1688 สมเด็จพระนารายณ์มหาราชประชวรกำลังจะสวรรคต พระเพทราชาและหลวงสรศักดิ์นำกำลังทหารเข้ายึดอำนาจ และลวงฟอลคอนมาประหารชีวิต

ก่อนที่ฟอลคอนจะถูกประหารชีวิต มารีอาไม่ได้ร่ำไห้ให้กับฟอลคอนเลยสักนิดเดียว บ้างว่าเธอถึงกับถ่มน้ำลายใส่หน้าของฟอลคอนด้วยซ้ำไป แต่บ้างก็ว่าเธอร้องไห้อย่างหนัก

ในเมื่อมันขัดแย้งกัน เราจึงไม่รู้ว่ามารีอารู้สึกอย่างไรต่อการตายของฟอลคอน

มารีอาพยายามจะฝากทรัพย์สินไว้กับชาวตะวันตกหลายคนเพื่อป้องกันการริบเข้าเป็นของหลวง แต่สุดท้ายนางกลับโดนโกง ทำให้เธอสิ้นเนื้อประดาตัว

ต่อมามารีอาถูกจับกุมและส่งตัวเข้าไปในคุก โชคดีที่เธอไม่ถูกทรมาน เพราะว่าผู้คุมเป็นคนที่เธอเคยช่วยเหลือมาก่อน เธอจึงรอดพ้นจากการโดนทรมานไปได้ ไม่นานหลังจากนั้นเธอก็ได้รับคำสั่งให้ไปทำงานเป็นคนรับใช้ในครัวในพระบรมมหาราชวัง

มีเรื่องเล่าว่าหลวงสรศักดิ์ ซึ่งในขณะนั้นเป็นกรมพระราชวังบวรสถานมงคล พึงพอใจในรูปโฉมของเธอ พระองค์ส่งคนมาถามความสมัครใจของนาง และเกลี้ยกล่อมด้วยวิธีต่างๆ มากมาย แต่นางกลับปฏิเสธ

ในช่วงนี้มารีอาได้ขอความช่วยเหลือจาก นายพลเดอฟาซ์ หนึ่งในผู้ที่โกงทรัพย์สินของนางไปให้พานางจากอยุธยา นายพลเดอฟาซ์ตอบรับ แต่มารีอาต้องมาขึ้นเรือที่บางกอก

มารีอามาที่ป้อมค่ายของทหารฝรั่งเศสที่บางกอกได้สำเร็จ แต่นายพลเดอฟาซ์กลับบิดพลิ้ว เขาอ้างว่าถ้าเขาพานางออกไปแล้ว ชาวคริสต์ที่เหลืออยู่จะถูกกดขี่ข่มเหง ทรัพย์สินของพวกฝรั่งเศสจะถูกทำลาย

แต่บ้างก็ว่าเขาปฏิเสธเพราะแรงกดดันจากราชสำนักอยุธยา

เมื่อนายพลเดอฟาซ์ไม่ให้เธอไป มารีอาจึงเดินออกมาจากค่ายอย่างไม่แยแส เธอรู้สึกรังเกียจผู้ที่ทรยศเธอเป็นอย่างยิ่ง แต่อาจจะเป็นโชคของมารีอาก็ได้ เพราะเรือของนายพลเดอฟาซ์ไปไม่ถึงยุโรป เขาถึงแก่กรรมเสียก่อนที่แหลมกู๊ดโฮ้ป ส่วนลูกน้องก็ถูกชาวดัชต์จับกุมทั้งหมด

คิดสูตรขนมไทย?

หลังจากนั้นมารีอาก็หายตัวไปในหน้าประวัติศาสตร์นานหลายสิบปี ในช่วงนี้มีข้อสันนิษฐานว่า เธอน่าจะกลับไปเป็นพนักงานเครื่องต้น มีหน้าที่ทำอาหารในวัง

มารีอาปรากฏตัวในหน้าประวัติศาสตร์อีกครั้งในรัชกาลของสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวท้ายสระ นางได้เลื่อนตำแหน่งสูงขึ้นเป็นถึงหัวหน้าพนักงานเครื่องต้น และยังให้เป็นหัวหน้าคอยดูแลพระภูษาฉลองพระองค์ด้วย ในเวลานั้นนางมีสตรีในบังคับบัญชามากกว่าสองพันคนเลยทีเดียว ตำแหน่งของเธอมีชื่อเรียกว่า ท้าวทองกีบม้า เธอน่าจะดำรงตำแหน่งดังกล่าวจนกระทั่งเสียชีวิตในปี ค.ศ.1722

ระหว่างที่นางเป็นหัวหน้าพนักงานเครื่องต้น นางได้ดัดแปลงขนมโปรตุเกสด้วยวัตถุดิบที่นางสามารถหาได้ในอยุธยา ทำให้เกิดขนมแบบใหม่ขึ้นมา เป็นที่เชื่อกันว่ามารีอาเป็นผู้คิดค้นสูตรขนม ทองหยิบ ทองหยอด ฝอยทอง ทองโปร่ง ทองพลุ ขนมผิง ขนมฝรั่ง ขนมขิง ขนมไข่เต่า ลูกชุบ ขนมทองม้วน ขนมสัมปันนี ขนมหม้อแกง และสังขยา

นางได้ถ่ายทอดสูตรของนางในการทำขนมต่างๆไปสู่สตรีในบังคับบัญชา จนสูตรของนางเผยแพร่ไปโดยทั่วไป และสืบทอดมาจนถึงทุกวันนี้

อย่างไรก็ตามก็มีผู้เห็นแย้งเช่นกันว่า มารีอาไม่ได้เป็นผู้คิดค้นสูตรขนมเหล่านี้ แต่ขนมเหล่านี้ได้ถูกดัดแปลงโดยชาวสยามตั้งแต่ชาวโปรตุเกสเข้ามาในอยุธยาใหม่ๆ หรือร้อยกว่าปีก่อนที่มารีอาจะเกิดเสียอีก

บทความประวัติศาสตร์

Victory Tale ไม่อนุญาตให้คัดลอกบทความไปโพสที่ใดทุกกรณี การฝ่าฝืนมีโทษทางกฎหมาย

error: Content is protected !!