มหาวิหารเซนต์เบซิล (St Basil’s Cathedral) เป็นหนึ่งในสถานที่ท่องเที่ยวสำคัญของประเทศรัสเซีย และเป็นสัญลักษณ์ของประเทศด้วย สีอันฉูดฉาดของมหาวิหารแห่งนี้ทำให้มันโดดเด่นกว่ามหาวิหารอื่นๆ ของศาสนาคริสต์นิกายรัสเซียนออโธดอกซ์ และทำให้มหาวิหารแห่งนี้เป็นยอดของสถาปัตยกรรมรัสเซียแบบดั้งเดิม
หากแต่ว่ามหาวิหารแห่งนี้มีประวัติความเป็นมาหลายอย่างที่น่าสนใจ รวมไปถึงมีข้อเท็จจริงแปลกๆ ด้วยเช่นกัน
เซนต์เบซิล
มหาวิหารเซนต์เบซิลเป็นมหาวิหารที่อยู่ใจกลางกรุงมอสโก ใกล้กับบริเวณจัตุรัสแดงและพระราชวังเครมลิน มหาวิหารแห่งนี้มีลักษณะเป็นโดมรูปเห็ด สีของมหาวิหารฉูดฉาดมาก ประกอบด้วยสีส้ม สีแดง สีเขียว สีฟ้า ดูแปลกตา
อย่างไรก็ตาม มหาวิหารนี้จริงๆ แล้วไม่ได้ชื่อว่า เซนต์เบซิลเลย ตัวมหาวิหารมีหลายชื่อมากตั้งแต่
- Cathedral of Vasily the Blessed
- Cathedral of the Intercession of the Most Holy Theotokos on the Moat
- Pokrovsky Cathedral
- Cathedral of the Intercession of the Virgin
จากชื่อทั้งหมด อ่านดูแล้วไม่มีอะไรเกี่ยวข้องกับ “เซนต์เบซิล” เลยแม้แต่น้อย แล้วทำไมมหาวิหารนี้ถึงชื่อว่าเซนต์เบซิลได้?
คำว่าเบซิลนี้ถ้าแปลงเป็นภาษารัสเซียจะได้ว่า “วาซิลี” (Vasily) ซึ่งเป็นชื่อแรกของมหาวิหารที่ผมให้ข้อมูลไปแล้วด้านบน วาซิลีเป็นนักบุญในศาสนาคริสต์นิกายรัสเซียนออโธดอกซ์แบบ Yurodivy หรือเป็นพวกที่สละทุกสิ่ง จงใจแกล้งทำเป็นโง่ เพื่อท้าทายสังคมและบรรลุจุดมุ่งหมายทางศาสนาบางอย่าง
ชีวิตของวาซิลีนี้ไม่มีอะไรซับซ้อน ตัวเขาเกิดเป็นพวกเซิร์ฟ (ไพร่) คนหนึ่งในกรุงมอสโกในปี ค.ศ.1469 เมื่อเขาเติบโตขึ้น เขาทำงานเป็นช่างทำรองเท้าคนหนึ่ง ตำนานเล่าว่าระหว่างนั้นเอง วาซิลีค้นพบว่าตัวเองมีพลังพิเศษในการทำนายอนาคตได้
ตำนานเล่าว่ามีอยู่วันหนึ่ง มีลูกค้าคนหนึ่งเดินเข้ามาในร้าน เขาถามวาซิลีว่ามีรองเท้าคู่ไหนที่ใช้งานได้นานๆ หลายปีบ้าง วาซิลีพยักหน้าและยิ้มออกมา ลูกค้าคนนั้นสงสัยว่าทำไมวาซิลีถึงยิ้ม วาซิลีจึงตอบว่าลูกค้าไม่ต้องการรองเท้าที่ใช้นานหลายปีหรอก เพราะว่าเขาจะตายในวันพรุ่งนี้ สุดท้ายทุกอย่างก็เป็นไปตามที่วาซิลีได้กล่าวไว้
เวลาต่อมาวาซิลีออกจากการเป็นช่างทำรองเท้าและร่อนเร่ไปทั่วเมืองมอสโก เขาไม่สวมใส่เสื้อผ้าและมักจะล่ามโซ่อันหนักอึ้งไว้ด้วย วาซิลีใช้ชีวิตอยู่กับการขโมยของจากพ่อค้าที่ขี้เหนียวและนำมาให้คนยากคนจน
มีอยู่วันหนึ่ง วาซิลีเดินเข้าไปในตลาดและไปที่ร้านเค้กร้านหนึ่ง เขาทุ่มเค้กที่วางขายอยู่ลงมากับพื้นทั้งหมด เพราะเขารู้ว่าคนขายแอบใส่ชอล์คลงไปในเนื้อเค้ก การกระทำของวาซิลีจึงเท่ากับการแฉพฤติกรรมของคนชั่วออกมาให้โลกเห็น
หลังจากนั้นไม่นาน วาซิลีกำลังเดินอยู่ที่กลางเมืองมอสโก เขาสวมใส่เสื้อโค้ดที่ได้รับบริจาคจากเศรษฐีที่มีน้ำใจคนหนึ่ง ปรากฏว่ามีพวกโจรสองคนต้องการจะปล้นเสื้อตัวดังกล่าวไปจากวาซิลี คนหนึ่งจึงแกล้งทำเป็นนอนตาย ส่วนอีกคนเดินไปขอเสื้อโค้ดตัวดังกล่าวจากวาซิลี โดยอ้างว่าเสื้อดังกล่าวน่าจะขายได้ราคาพอที่เขาจะนำไปจัดงานศพให้คนที่ตายได้
วาซิลีมองปราดเดียวก็ทราบว่าพวกโจรกำลังจะหลอกลวงเขา วาซิลีจึงพูดกับคนที่แกล้งทำเป็นตายว่า
เจ้าจะต้องตายเพราะความชั่วช้าของเจ้า เพราะมันถูกเขียนไว้ว่าพวกชั่วช้าจะต้องตาย
ผ่านไปไม่นาน ชายผู้นั้นก็ตายจริงๆ
การที่วาซิลีชอบช่วยเหลือคนจน แม้ตัวเองจะไม่มีทรัพย์สินอะไรเลย ทำให้ชาวมอสโกรักเขามาก
ซาร์อีวานที่ 4 หรือ อีวานผู้เลวร้ายนับถือวาซิลี อีวานและซาริซาอนาสตาเซียเคยเดินทางมาหาวาซิลีในวาระสุดท้ายของเขาด้วย หลังจากที่วาซิลีล่วงลับไปในปี ค.ศ.1552 ร่างของเขาได้ถูกฝังในโบสถ์เล็กๆ ที่เพิ่งสร้างใหม่ในจุดเดียวกับที่เป็นมหาวิหารเซนต์เบซิลในปัจจุบัน
ในเวลาที่วาซิลีล่วงลับไปแล้ว วาซิลียังไม่ได้เป็นนักบุญ และในบริเวณนั้นมีแค่โบสถ์เล็กๆ ยังไม่ใช่มหาวิหารอย่างที่เราเห็นอยู่ทุกวันนี้
แล้วมหาวิหารสีฉูดฉาดสร้างขึ้นมาได้อย่างไร
อีวานผู้เลวร้ายกับการสร้างมหาวิหาร
มหาวิหารเซนต์เบซิลเป็นมหาวิหารที่ถูกสร้างโดยคำสั่งของซาร์อีวานที่ 4 (Ivan IV) หรือที่เป็นที่รู้จักกันดีในนาม อีวานผู้เลวร้าย (Ivan the Terrible)
ในปี ค.ศ.1552 อีวานได้รับชัยชนะอันยิ่งใหญ่เหนือรัฐข่านแห่งคาซาน (Kazan Khanate) ตลอดการต่อสู้ในสมรภูมิอันยากลำบาก อีวานเชื่อเสมอว่าเขาได้รับการช่วยเหลือจาก Virgin Mary หรือมารี มารดาของพระเยซูคริสต์ ทำให้เขาเอาชนะศัตรูได้ในที่สุด
ด้วยเหตุนี้อีวานหมายใจว่า เขาจะต้องสร้างมหาวิหารอันยิ่งใหญ่ที่แสดงถึงความศรัทธาต่อเขาที่มีต่อมารี รวมไปถึงอานุภาพของซาร์แห่งรัสเซียด้วย
สถานที่ที่เหมาะสมจึงไม่มีที่อื่นที่ดีกว่าบริเวณจัตุรัสแดง กลางเมืองมอสโก แต่บริเวณนั้นกลับมีโบสถ์ไม้เล็กๆ ที่ฝังร่างของวาซิลีอยู่ อีวานจึงสั่งให้รื้อโบสถ์ดังกล่าวและสร้างมหาวิหารอันใหญ่โตขึ้นมาแทนที่
สถาปนิกที่เป็นแม่งานมีอยู่สองคนชื่อ พอสนิค (Postnik) และบาร์มา (Barma) แต่ทว่านักประวัติศาสตร์สันนิษฐานว่าพงศาวดารน่าจะคลาดเคลื่อน สถาปนิกที่เป็นแม่งานน่าจะมีคนเดียวและชื่อว่า Postnik Yakovlev ผู้มีชื่อเล่นว่า Barma
คำสั่งที่สถาปนิกได้รับคือ ให้สร้างมหาวิหารแห่งนี้ในรูปแบบใหม่ที่ไม่เคยมีมาก่อน และมันจะต้องทำให้ผู้ที่ไม่เคยเห็นมันมาก่อนต้องตกตะลึง
อย่างไรก็ตามบางหลักฐานกล่าวว่า อีวานได้สั่งให้สถาปนิกสร้างโดมจำนวน 8 หลัง แต่สถาปนิกกลับสร้างทั้งหมด 9 หลัง ซึ่งไม่เป็นไปตามคำสั่งอย่างตรงไปตรงมา แต่สถาปนิกสร้างออกมาได้สวยมาก ทำให้ไม่มีใครว่าอะไร
ไม่ปรากฏแน่ชัดว่ามหาวิหารสร้างเสร็จเมื่อใด บ้างว่า ค.ศ.1559 บ้างว่า ค.ศ.1561 แต่ซาร์อีวานและซาริซาอนาสตาเซียเดินทางมาทำพิธีเปิดมหาวิหารใหม่ด้วยตนเอง
ตำนานเล่าต่อไปว่า สถาปนิกถูกสังหารเพราะกลัวจะเผยแพร่ความลับเรื่องการสร้าง หรือไม่ก็ถูกควักลูกตาออกมา เพื่อที่จะได้ไม่ไปสร้างวิหารที่สวยแบบนี้ที่อื่นอีก แต่จากการตรวจสอบหลักฐานเก่าๆ ของนักประวัติศาสตร์ พบว่าตำนานดังกล่าวไม่เป็นจริง เพราะสถาปนิกคนเดียวกันยังไปสร้างสิ่งก่อสร้างที่อื่นอีกหลังจากที่ได้สร้างมหาวิหารแห่งนี้ไปแล้ว
ดังนั้นตำนานดังกล่าวจึงเป็นเรื่องโกหกพกลมที่ไม่มีมูลความจริงแต่อย่างใด
สู่เซนต์เบซิล
ชื่ออย่างเป็นทางการของมหาวิหารแห่งนี้จึงเป็น Cathedral of the Intercession of the Most Holy Theotokos on the Moat และเป็นมหาวิหารที่เชิดชูความศักดิ์สิทธิ์ของมารี โดยไม่เกี่ยวข้องใดๆ กับวาซิลีเลยแม้แต่น้อย
แต่แล้วเวลาที่ผ่านไป ชาวมอสโกกลับคิดถึงวาซิลี และเมื่อวาซิลีถูกฝังอยู่แถวนั้น พวกเขาจึงเรียกมหาวิหารที่อีวานสร้างขึ้นอย่างติดปากด้วยชื่อของวาซิลี โดยเฉพาะหลังจากที่วาซิลีได้รับการสถาปนาเป็นนักบุญโดยศาสนจักร และการขยายมหาวิหารแห่งนี้ได้ครอบทับสถานที่ฝังร่างของเขา ทั้งสองเหตุการณ์เกิดขึ้นในราวๆ ปี ค.ศ.1580
ด้วยเหตุนี้ชาวมอสโกจึงเรียกมหาวิหารแห่งนี้ว่า собо́р Васи́лия Блаже́нного หรือมหาวิหารแห่งวาซิลีผู้ได้รับพร คำว่าวาซิลีเท่ากับคำว่าเบซิลในภาษาอังกฤษ ดังนั้นชาวต่างชาติจึงเรียกมหาวิหารแห่งนี้ว่า มหาวิหารเซนต์เบซิล (Saint Basil’s Cathedral) นับตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา
Sources:
- Payne and Romanov, Ivan The Terrible