ประวัติศาสตร์เที่ยวบินมรณะ Silk Air เที่ยวบิน 185: เมื่อนักบินฆ่าตัวตาย?

เที่ยวบินมรณะ Silk Air เที่ยวบิน 185: เมื่อนักบินฆ่าตัวตาย?

ปี ค.ศ.1997 (พ.ศ 2540) เป็นปีแห่งความวุ่นวายในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เศรษฐกิจของประเทศต่างๆ ล้วนแต่เสียหายอย่างหนักจากผลกระทบจากวิกฤตต้มยำกุ้งที่มีต้นกำเนิดจากประเทศไทย

ในวันที่ 19 ธันวาคม ค.ศ.1997 สายการบิน Silkair เที่ยวบินที่ 185 (MI 185) กำลังเดินทางจากจาการ์ตา เมืองหลวงของอินโดนีเซียเพื่อเดินทางไปยังสิงคโปร์ เครื่องบินที่ใช้บินเป็นเครื่องบินรุ่น Boeing 737-36N ซึ่ง Silkair เพิ่งได้รับการส่งมอบไม่นาน เครื่องบินลำดังกล่าวจึงเป็นหนึ่งในลำใหม่ที่สุดของสายการบินในขณะนั้น

เครื่องบินรูปแบบเดียวกับ MI 185 (แต่ไม่ใช่ลำที่ตก) Cr: Ken Fielding/https://www.flickr.com/photos/kenfielding

เที่ยวบินดังกล่าวถูกบังคับโดยนักบินที่ 1 หรือ กัปตันชาวสิงคโปร์ชื่อ ซูเว่ยหมิง อายุ 41 ปี กัปตันซูเคยเป็นนักบินรบเก่าแห่งกองทัพสิงคโปร์ เขาเคยขับเครื่องบินรบ A-4 Skyhawk มาถึง 20 ปี ส่วนนักบินที่ 2 เป็นชาวนิวซีแลนด์ชื่อ ดันแคน วาร์ด อายุ 23 ปี

เหตุเครื่องบินตกสุดประหลาด

ในวันที่เกิดเหตุมีทัศนวิสัยดีเยี่ยม ในเวลา 15.53 น. ทั้งสองได้ควบคุมเครื่องบินไต่ระดับความสูงตามที่เจ้าหน้าที่ภาคพื้นบอกไว้เป็นอย่างดี

หากแต่ว่าในอีกไม่กี่นาทีกลับมา เรื่องประหลาดก็เกิดขึ้นติดๆ กัน ดังต่อไปนี้

16.05 น เครื่องบันทึกเสียงในห้องนักบินกลับหยุดทำงานลงไปอย่างไม่ทราบสาเหตุ

16.10 น นักบินที่สองได้ตอบสนองต่อเจ้าหน้าที่ภาคพื้นตามปกติ

16.11 น. เครื่องบันทึกข้อมูลการบินหยุดทำงานลงไปอย่างไม่ทราบสาเหตุ

16.12 น เครื่องบินพุ่งดิ่ง 90 องศาลงสู่พื้นดินเบี้องล่าง ด้วยความเร็วสูงสุดเกือบเท่าความเร็วเสียง ทำให้ส่วนหางเริ่มหลุดออกจากตัวเครื่องบิน

ประมาณ 16.13 น. เครื่องบินกระแทกพื้นอย่างแรงที่แม่น้ำมูซี ปาเลมบัง ประเทศอินโดนีเซีย เที่ยวบินหมายเลข 185 ถูกทำลายลงเป็นชิ้นๆ ไม่มีร่างผู้โดยสารคนใดที่เหลือเป็นรูปเป็นร่างอยู่เลย แม้แต่อวัยวะอย่างแขนขาที่ครบส่วนก็ยังไม่มี ในวันนั้นผู้โดยสารและลูกเรือทั้งหมด 104 คนเสียชีวิตทั้งหมด

เศษซากที่เหลืออยู่ของ MI 185 ที่ชนกระแทกพื้นอย่างแรง

การค้นพบที่น่าฉงน?

เจ้าหน้าที่อินโดนีเซีย (NTSC) และผู้เชี่ยวชาญจากทั่วโลกได้เข้าตรวจสอบกรณีดังกล่าว พวกเขาพบเจอเครื่องบันทึกการบิน และเครื่องบันทึกเสียงได้ที่ก้นแม่น้ำมูซี เจ้าหน้าที่จึงรีบนำมาเปิดดูทันที พวกเขาพบว่าเครื่องได้บันทึกว่า กัปตันซูได้ออกจากห้องนักบินไปในเวลา 16.00 น อีก 5 วินาทีต่อมาเครื่องบันทึกเสียงก็หยุดทำงาน

สวิตช์เปิดปิดเครื่องบันทึกเสียงนี้สามารถปิดตัวมันเองได้ แต่มันจะมีเสียงดัง “คลิ๊ก” บันทึกไว้ ในเคสนี้นั้นกลับไม่มีเสียง “คลิ๊ก” ดังกล่าว ดังนั้นจะต้องมี “ใครสักคนหนึ่ง” ที่อยู่บนเครื่องบินปิดมันอย่างแน่นอน

จากการที่กัปตันออกจากห้องนักบิน และ เครื่องบันทึกเสียงหยุดทำงานในเวลาใกล้กันมากเช่นนั้น ทำให้เจ้าหน้าที่สงสัยว่ากัปตันซูเว่ยหมิง น่าจะเป็นผู้ปิดมันนั่นเอง

เจ้าหน้าที่สันนิษฐานต่อไปว่า หลังจากนั้นกัปตันซูเว่ยหมิงน่าจะหาวิธีใดสักวิธีหนึ่ง ทำให้นักบินที่ 2 ดันแคน วาร์ด ออกไปจากห้องนักบิน ทำให้เขาปิดเครื่องบันทึกการบินที่อยู่ห้องนักบินได้สำเร็จ หลังจากนั้นเขาก็บังคับเครื่องบินลำดังกล่าวพุ่งดิ่งลงสู่พื้น

ถึงกระนั้นก็มีข้อสันนิษฐานว่าอาจจะเกิดจากหางของเครื่องบินเสียหายหรือไม่ ซึ่งจากการตรวจสอบก็พบว่า หางและส่วนอื่นๆของเครื่องบินในเวลานั้นอยู่ในสภาพที่สมบูรณ์

ดังนั้นสาเหตุของการตกนี้ที่เป็นไปได้มากที่สุดก็คือ กัปตันซูเว่ยหมิงบังคับเครื่องบินชนพิ้นดินอย่างจงใจ ในการสันนิษฐานนี้ เจ้าหน้าที่ฝ่ายอินโดนีเซียและผู้เชี่ยวชาญของอเมริกาเห็นต่างกัน ฝ่ายอินโดนีเซียไม่เห็นด้วยและสรุปว่าไม่สามารถจะสรุปเหตุของการตกได้

สำหรับฝ่ายอเมริกา เจ้าหน้าที่ได้นำข้อมูลของเที่ยวบินไปใส่ในเครื่องจำลองสถานการณ์การบิน (Flight Simulator) เจ้าหน้าที่ทดลองจำลองสถานการณ์ให้เครื่องบินตกในรูปแบบต่างๆ กัน ตั้งแต่เครื่องบินชำรุดเสียหาย ไปถึงความผิดพลาดของนักบินในด้านอื่นๆ แต่ก็ไม่มีรูปแบบการตกใดที่ได้ออกมาเหมือนกับการตกของเที่ยวบิน 185

จนกระทั่งเจ้าหน้าที่ได้ลองบังคับให้เครื่องบินจำลองนั้นพุ่งดิ่งลงพื้นอย่างจงใจ รูปแบบการตกถึงจะเหมือนกับของเที่ยวบิน MI 185

ต่อมาเจ้าหน้าที่ยังได้ไปตรวจสอบประวัติของกัปตันซูเหว่ยหมิง พวกเขาพบประเด็นต่อไปนี้

1. กัปตันคนดังกล่าวขาดทุนหุ้นไปถึง 1.2 ล้านเหรียญก่อนหน้านั้นไม่นาน สิทธิพิเศษในการลงทุนของเขาเพิ่งจะถูกตัดไป 10 วันก่อนที่จะเกิดเหตุ

2. กัปตันซูเว่ยหมิงเพิ่งจะทำประกันชีวิตมูลค่า 600,000 เหรียญ

3. กัปตันถูกสายการบินตักเตือนหลายครั้ง ถึงพฤติกรรมละเมิดกฎระเบียบ โดยเฉพาะการไปยุ่งกับเครื่องบันทึกต่างๆ บนเครื่องบิน และการขับเครื่องบินเร็วเกินไป

4. กัปตันซูเคยเป็นนักบินทหารมาก่อน ในวันที่เกิดเหตุนั้น เป็นวันครบรอบ 18 ปี ที่เพื่อนนักบิน ของเขา 4 คน เสียชีวิตจากอุบัติเหตุที่เกิดการจากฝึกซ้อมบิน

5. กัปตันมีทรัพย์สินมากกว่าหนี้สิน แต่ทรัพย์สินของเขาไม่สามารถจ่ายหนี้สินทั้งหมดได้ในขณะนั้น (น่าจะเพราะอยู่ในรูปของสินทรัพย์ที่ไม่ใช่เงินสด) รายจ่ายของครอบครัวเขามากกว่ารายรับของเขา ทำให้เขามีหนี้บัตรเครดิตจำนวนมาก

6. เขามีปัญหากับนักบินที่ 2 (วาร์ดและคนอื่นๆ) หลายครั้ง เพราะพวกเขาไม่มั่นใจว่า กัปตันซูเว่ยหมิงนั้นเหมาะสมที่จะบังคับเครื่องบินหรือไม่

ส่วนนักบินที่ 2 อย่างดันแคน วาร์ด เพิ่งจะมีอายุได้ 23 ปี ประวัติของเขาไม่มีอะไรน่าสงสัย

ดังนั้นมันจึงเป็นไปได้อย่างมากที่กัปตันซูเว่ยหมิงตัดสินใจนำเครื่องบินดิ่งลงพื้น นี่เป็นข้อสรุปของผู้เชี่ยวชาญจากสหรัฐอเมริกา แต่ที่ทางการอินโดนีเซียสรุปเช่นนั้น ว่ากันว่าพวกเขากลัวว่า ประชาชนของประเทศจะเกรงกลัวการนั่งเครื่องบิน ทำให้ต้องสรุปไปว่าหาผลสรุปไม่ได้

บทความประวัติศาสตร์

Victory Tale ไม่อนุญาตให้คัดลอกบทความไปโพสที่ใดทุกกรณี การฝ่าฝืนมีโทษทางกฎหมาย

error: Content is protected !!