ประวัติศาสตร์Sophie Scholl วีรสตรีเยอรมันผู้ต่อต้านอำนาจมืดจนตัวตาย

Sophie Scholl วีรสตรีเยอรมันผู้ต่อต้านอำนาจมืดจนตัวตาย

เรื่องนี้เป็นเรื่องของหญิงสาวผู้หนึ่ง เธอเป็นเพียงนักศึกษามหาวิทยาลัยคนหนึ่ง แต่เธอกล้าหาญเกินกว่าที่ใครจะคาดคิด ความตายไม่มีผลต่อจิตใจเธอแม้แต่น้อย เธอตัดสินใจลงมือทำในสิ่งที่เธอคิดว่าถูกต้องโดยไม่เกรงกลัวต่ออำนาจมืดที่ปกคลุมเยอรมนีอยู่ในเวลานั้น

เธอมีนามว่า Sophie Scholl หรือ โซฟี ชอยว์ (ออกเสียงตามภาษาเยอรมัน)

Sophie Scholl

เมื่อเธอตาสว่าง

ชอยว์เกิดในปี ค.ศ.1921 เธอเกิดในครอบครัวที่เชื่อมั่นในระบอบเสรีนิยม บิดาของเธอเป็นนักการเมืองท้องถิ่น ทำให้ชอยว์ได้รับการเลี้ยงดูอย่างดี ชีวิตของเธอค่อนข้างเปิดกว้าง เพราะว่าบิดาของเธอก็เลี้ยงดูเธอแบบเสรีนิยมเช่นเดียวกัน

ในปี ค.ศ.1932 ชอยว์ในวัย 11 ปีได้เข้าร่วมองค์กร BDM องค์กรลักษณะเดียวกับ “ยุวชนฮิตเลอร์” (Hitler Youth) แต่องค์กรนี้เป็นองค์กรสำหรับนักเรียนหญิง ช่วงแรกชอยว์รู้สึกตื่นเต้นไม่น้อยที่ได้เข้าร่วมองค์กรนี้ แต่ในเวลาไม่นานเธอก็ตาสว่าง เช่นเดียวกับ ฮันส์ พี่ชายของเธอที่เข้าร่วมองค์กรยุวชนฮิตเลอร์

อาการตาสว่างของเธอช่างผิดที่ผิดเวลา เพราะเธอตาสว่างเร็วเกินไป ปวงชนเยอรมันยังไม่ตาสว่าง ชอยว์รู้สึกว่าสิ่งที่เธอเรียนอยู่ในระดับมัธยมเป็นโฆษณาชวนเชื่อที่พวกนาซีพยายามยัดเยียดให้กับเหล่านักเรียน เธอจึงไม่อยากเรียนอีกต่อไป มันทำให้เธอเกือบจะไม่จบจากโรงเรียนมัธยม

ช่วงเวลาที่คาบเกี่ยวระหว่างที่เธอกำลังจะเรียนจบนั้นเอง ฮิตเลอร์ได้นำเยอรมนีเข้าสู่สงคราม ทำให้รัฐบาลนาซีบังคับให้ผู้หญิงวัยรุ่นชาวเยอรมันทุกคนต้องปฏิบัติงานในองค์กร RAD (Reichsarbeitsdienst) ก่อนที่จะเข้าเรียนในมหาวิทยาลัย

การปฏิบัติงานในองค์กร RAD โดยทั่วไปก็คือ การทำกิจกรรมที่เป็นประโยชน์สำหรับกองทัพเยอรมันที่กำลังเผชิญศึกอยู่แนวหน้า

ในปี ค.ศ.1940 เธอเรียนจบและต้องเข้าร่วมการปฏิบัติงานขององค์กร RAD ชอยว์จึงเลือกไปเป็นครูในโรงเรียนอนุบาลแห่งหนึ่ง เธอหวังว่าการเป็นครูนี้จะถูกนับว่าเธอได้ปฏิบัติงานเป็นที่เรียบร้อยแล้ว

รัฐบาลนาซีกลับปฏิเสธ ชอยว์จึงต้องไปเป็นครูในสถานเลี้ยงดูเด็กของกองทัพแทนเป็นเวลาหกเดือน เพื่อที่จะเป็นการปฏิบัติตามข้อบังคับ

ในช่วงที่ทำงานให้ RAD อยู่นั้น เธอรู้สึกว่าพวกนาซีกำลังนำเยอรมนีไปสู่หายนะ หลังจากนั้นเธอจึงเริ่มต่อต้านสงครามและพวกนาซีอย่างเงียบๆ

กว่าที่ชอยว์จะเสร็จสิ้นการปฏิบัติงานดังกล่าวก็เป็นปี ค.ศ.1942 แล้ว สถานการณ์สงครามในยุโรปกำลังเปลี่ยนหน้ามือเป็นหลังมือ

เข้าร่วมกลุ่มไวท์โรส

ฮิตเลอร์เข้าโจมตีสหภาพโซเวียตในปี ค.ศ.1941 กองทัพเยอรมันประสบความสำเร็จอย่างยิ่งใหญ่และจับเชลยศึกโซเวียตได้เป็นจำนวนมากถึงสองล้านคน หากแต่ว่าการตีโต้ของโซเวียตที่มอสโกได้ทำให้สถานการณ์รบในด้านตะวันออกเริ่มเปลี่ยนแปลงไป ในปี ค.ศ.1942 กองทัพเยอรมันเริ่มชะงักงันและไม่สามารถเอาชนะศัตรูง่ายๆเหมือนที่ผ่านๆ มาได้อีก

ปีเดียวกันนั้น ชอยว์ได้เข้าเป็นนักศึกษามหาวิทยาลัยมิวนิคในสาขาชีววิทยาและปรัชญา ส่วนฮันส์ พี่ชายของเธอกำลังเรียนในสาขาแพทยศาสตร์ ฮันส์ได้แนะนำเพื่อนของเขาหลายคนให้กับชอยว์ด้วย ในเวลานั้นเธอยังไม่ทราบว่า พี่ชายของเธอได้ร่วมมือกับเพื่อนๆ จัดตั้งกลุ่มขึ้นมาเพื่อต่อต้านพรรคนาซี โดยกลุ่มดังกล่าวมีชื่อว่า ไวท์โรส หรือ die Weiße Rose

ขณะเดียวกัน ขอยว์ได้ทราบความโหดร้ายของทหารเยอรมันต่อเชลยศึกชาวรัสเซียจากแฟนหนุ่มของเธอที่เป็นทหารในสนามรบ ชอยว์ไม่ทราบเรื่องดังกล่าวมาก่อนเลย เพราะชาวเยอรมันต่างถูกปิดหูปิดตาไม่ให้ทราบเรื่องที่เกิดขึ้นมาโดยตลอดว่า กองทัพเยอรมันและพวกนาซีปฏิบัติอย่างไรต่อเชลยศึกที่จับกุมมาได้ พวกเขาทราบแค่เพียงข้อมูลที่ออกมาจากรัฐบาลนาซีเท่านั้น

ภายในเวลาไม่นาน เธอก็ทราบเรื่องของกลุ่มไวท์โรส เธอจึงขอเข้าร่วมด้วย หลังจากนั้นมาเธอก็กลายเป็นสมาชิกสำคัญของกลุ่ม

ต่อต้านอำนาจมืดจนตัวตาย

ชอยว์ได้ทำงานให้กับกลุ่มอย่างกระตือรือร้น ด้วยความที่ชอยว์เป็นผู้หญิง ทำให้เธอถูกสงสัยได้น้อยกว่าสมาชิกชาย เธอช่วยสมาชิกคนอื่นเขียนบทความต่อต้านสงคราม รวมไปถึงฮิตเลอร์และพวกนาซี ชอยว์ยังมีหน้าที่แจกจ่ายพิมพ์บทความเป็นใบปลิว และนำไปแจกจ่ายต่อชาวเยอรมันทั่วไป รวมไปถึงช่วยบริหารการเงินของกลุ่มด้วย

การกระทำของเธอดำเนินต่อไปอีกเกือบปี สถานการณ์ในแนวหน้าก็เลวร้ายขึ้นเรื่อยๆ ฮิตเลอร์และพวกนาซียิ่งกลัวว่าปวงชนเยอรมันจะทราบและต่อต้าน การตรวจสอบผู้คนในประเทศจึงยิ่งเข้มข้นขึ้น

ห้องโถงในมหาวิทยาลัยมิวนิคที่ทุกคนถูกจับกุม By No machine-readable author provided. Cfaerber assumed , CC BY-SA 3.0,

ท้ายที่สุดแล้ว การกระทำของกลุ่มไวท์โรสก็ไปเข้าหูพวกนาซี ในเวลาไม่นานเธอ ฮันส์ และสมาชิกในกลุ่มทั้งหมดก็ถูกจับด้วยข้อหากระทำการอันเป็นกบฏอย่างร้ายแรง ที่มหาวิทยาลัยมิวนิคระหว่างที่พวกเธอกำลังแจกใบปลิวอยู่

ทั้งหมดถูกนำตัวขึ้นศาล ในวันที่ 21 กุมภาพันธ์ ค.ศ.1943

ถึงแม้จะอายุเพียง 21 ปีเศษ ชอยว์กลับไม่หวั่นไหวต่อพวกนาซีตรงหน้า เธอให้การว่า

ใครบางคนจำต้องเริ่มต้น สิ่งที่พวกเราเขียนและพูดได้รับการยอมรับโดยคนอื่นมากมาย พวกเขาแค่ไม่กล้าที่จะพูดออกมาเหมือนกับพวกเราเท่านั้นเอง”

ไม่มีการสอบสวนพยานหลักฐานใดๆ ชอยว์ ฮันส์ และสมาชิกที่เหลือในกลุ่มไวท์โรสต่างถูกตัดสินว่ามีความผิดฐานเป็นกบฏ และมีโทษประหารชีวิต

ในวันเดียวกับที่ศาลตัดสิน ทุกคนถูกนำตัวไปประหารชีวิตด้วยกิโยติน

พวกผู้คุมเล่าว่า ชอยว์เดินหน้าไปสู่แดนประหารด้วยความกล้าหาญอย่างที่ยากจะหาใครมาเทียบได้ ในวาระสุดท้ายของเธอ ชอยว์กล่าวว่า

เราจะคาดหวังให้คุณธรรมตั้งอยู่ได้อย่างไรเมื่อมีเพียงไม่กี่คนที่พร้อมจะเสียสละตนเองเพื่อปกป้องมัน … เป็นวันที่ดี สดใส ฉันคงต้องไปแล้ว แต่ความตายของฉันจะมีประโยชน์อะไรหรือไม่ การจากไปของพวกเราจะทำให้ผู้คนตาสว่างและดำเนินการหรือไม่กันนะ?”

โซฟี ชอยว์เสียชีวิตลงด้วยวัยเพียง 21 ปี เท่านั้น

หลังจากการตายของเธอ ใบปลิวฉบับสุดท้ายของเธอใบหนึ่งได้ถูกนำไปยังอังกฤษโดยชาวเยอรมันผู้หนึ่ง กองทัพพันธมิตรได้ตีพิมพ์มันนับล้านฉบับ และใช้เครื่องบินโปรยพวกมันลงไปที่แผ่นดินเยอรมนี

เป็นเรื่องเศร้าที่ความตายของเธอไม่สามารถทำให้มีผู้ลุกขึ้นมาต่อต้านพวกนาซีได้อย่างที่เธอคาดหวัง แต่การกระทำของเธอก็ได้รับการยกย่องอย่างสูงจากปวงชนชาวเยอรมันทั้งหลายในเวลาต่อมา ชอยว์กลายเป็นสัญลักษณ์แห่งการต่อสู้กับอำนาจอยุติธรรมที่พยายามปิดหูปิดตาและกดขี่ข่มเหงประชาชน

ชื่อของเธอและพี่ชายปรากฎอยู่ในสถานที่ต่างๆ หลายแห่งในเยอรมนีเช่น ถนน โรงเรียน มหาวิทยาลัยและจัตุรัส ภาพยนตร์และสื่อจำนวนมากถูกสร้างขึ้นเพื่อจารึกเรื่องราวและความกล้าหาญของเธอ

ในปัจจุบัน เธอและสมาชิกในกลุ่มไวท์โรสเป็นบุคคลในประวัติศาสตร์ที่เป็นที่นิยมมากที่สุดในหมู่ชาวเยอรมันรุ่นใหม่ (อ้างอิงจากการสำรวจในปี ค.ศ.2014)

แฟนหนุ่มของชอยว์รอดชีวิตจากสงคราม และได้แต่งงานกับเอลิซาเบธ พี่สาวของชอยว์หลังจากที่เธอจากไปแล้ว ปัจจุบัน (ปี ค.ศ.2019) เอลิซาเบธยังมีชีวิตอยู่

บทความการศึกษา

Victory Tale ไม่อนุญาตให้คัดลอกบทความไปโพสที่ใดทุกกรณี การฝ่าฝืนมีโทษทางกฎหมาย

error: Content is protected !!