ไลฟ์สไตล์เล่าประสบการณ์ตรง: ไปพบ/ปรึกษา "จิตแพทย์" ไม่ใช่เรื่องน่าอาย

เล่าประสบการณ์ตรง: ไปพบ/ปรึกษา “จิตแพทย์” ไม่ใช่เรื่องน่าอาย

“จิตแพทย์” (psychiatrist) คือแพทย์เฉพาะทางแขนงหนึ่ง (ศัลยแพทย์ อายุรแพทย์ สูติแพทย์ ฯลฯ ที่คุณเห็นทั่วไปในซีรีส์เกาหลีก็เป็นแขนงหนึ่งเหมือนกัน) แต่พวกเขาจะทำหน้าที่รักษาอาการต่างๆ ที่เกิดกับสภาพจิตใจของคนไข้ (mental disorders)

ถ้าเอ่ยถึงสิ่งที่จิตแพทย์รักษาแล้ว หลายคนคงจะคิดถึงการเป็นบ้า การเห็นภาพหลอน ตาลอยๆ เหมือนกับที่เห็นในละครไทยมาตลอดหลายสิบปี ใช่ครับ อาการเหล่านี้เป็นสิ่งที่จิตแพทย์เป็นผู้รักษาจริงๆ แต่อาการที่ว่าเป็นแค่หนึ่งในอาการและโรคทางใจอีกร้อยแปดอย่างที่จิตแพทย์สามารถช่วยเหลือคุณได้

จิตแพทย์สามารถช่วยเหลือคุณได้ ถ้าคุณประสบกับปัญหาต่อไปนี้

  • ความเครียด (Stress)
  • อาการวิตกกังวล (Anxiety)
  • อาการแพนิก (Panic disorder, Panic attacks)
  • อาการย้ำคิดย้ำทำ (Obsessive-compulsive disorder หรือ OCD)
  • โรคซึมเศร้า (Depression)
  • โรคเครียดหลังผ่านเหตุการณ์ร้ายแรง (PTSD)
  • อารมณ์เปลี่ยนแปลงง่าย (mood swings)
  • อาการกลัวสิ่งต่างๆ เช่นกลัวที่แคบ (phobias)
  • ปัญหาความรัก ความสัมพันธ์ ฯลฯ
  • และอื่นๆ อีกมากมาย

คุณจะเห็นว่าอาการและโรคที่จิตแพทย์เป็นผู้รักษามีจำนวนมาก และโรคเหล่านี้ผู้ป่วยก็มีสติสัมปชัญญะอยู่ในระดับสมบูรณ์ทุกประการ ดังนั้นการไปพบและปรึกษาจิตแพทย์จึงไม่ได้แปลว่าคุณเป็น “คนบ้า” และไม่ใช่เรื่องน่าอับอายเลยแม้แต่นิดเดียว

ถ้าคุณมีปัญหาทางจิตใจ อย่าลืมว่ายังมีคนที่สามารถช่วยเหลือคุณได้อยู่เสมอ Image by Natalia Ovcharenko from Pixabay

คนทั่วไปก็ไปสามารถไปหาจิตแพทย์ได้ โดยเฉพาะถ้าคุณรู้สึกว่าคุณต้องการระบายเรื่องหรืออาการที่เป็นอยู่ในใจให้ใครที่ไว้ใจได้สักคนหนึ่งฟัง

ดังนั้นในโพสนี้ ผมจะขอเล่าประสบการณ์ทางอารมณ์ และการไปพบจิตแพทย์หลายครั้งของผมให้ผู้อ่านทุกคนได้ทราบ ทุกคนจะได้เห็นว่าการไปหาและปรึกษาจิตแพทย์ไม่ใช่เรื่องน่าอาย หรือน่ากลัวครับ

ทำไมผมถึงไปพบจิตแพทย์?

ผมเริ่มไปปรึกษาจิตแพทย์ครั้งแรกในช่วงปี ค.ศ.2011 แต่จริงๆ ปัญหาทางอารมณ์และจิตใจของผมเริ่มต้นตั้งแต่ปี ค.ศ.2005 หรือตอนที่ผมอายุเพียง 14 ปีเท่านั้น

ปีนั้นเป็นปีที่ผมรู้สึกว่าใจของผมเริ่มมีปัญหา เพราะความคิดแย่ๆ เรื่องใดเรื่องหนึ่งมักจะเข้ามาในสมองโดยอัตโนมัติ ความคิดแย่ๆ เรื่องนี้จะอยู่ในสมองผมเป็นเวลาประมาณ 2-3 วันแล้วมันก็จะหายไป แต่อีกไม่นานความคิดแย่ๆ เรื่องใหม่ก็จะกลับเข้ามาใหม่อีก หลังจากนั้นก็จะวนลูปไปเรื่อย สร้างความปวดเศียรเวียนเกล้าอย่างมากต่อจิตใจของผม

“ความคิดแย่ๆ” ในที่นี้ไม่จำกัดว่าจะเป็นเรื่องอะไร เพราะมันหลากหลายมากและครอบจักรวาล แต่ทุกเรื่องมีจุดร่วมเดียวกัน นั่นคือเป็นสิ่งที่สมองและตัวคุณรู้สึกว่าน่ารังเกียจ ไม่ต้องการให้มันมาอยู่ในหัว แต่การเอามันออกไปทำไม่ได้เลย ทำให้รู้สึกทรมานมาก

สำหรับผมแล้ว ในช่วงแรกผมยังรู้สึกว่ามันพอจะทนทานได้ ช่วงปี ค.ศ.2006-2009 เท่าที่จำได้เหมือนกับว่าจะมันจะลดน้อยลงไปมาก แต่แล้วในปี ค.ศ.2010 วงจรความคิดแย่ๆ เหมือนเดิมได้กลับมาใหม่ แต่คราวนี้เหมือนมันจะทรงพลังกว่าเดิม เพราะผมแทบจะนำมันออกไปจากสมองไม่ได้เลย โดยเฉพาะเวลาว่างที่ผมอยู่คนเดียว (ผมสันนิษฐานว่าความเครียดอย่างมากจากการสมัครเข้ามหาวิทยาลัยที่อเมริกาน่าจะเป็นปัจจัยสำคัญที่กระตุ้นมัน)

ผมลองทำทุกอย่างที่คนรอบตัวบอกว่าดี ตั้งแต่ปฏิบัติวิปัสสนากรรมฐาน นั่งสมาธิ หรือแม้กระทั่งไปบวช แต่ทุกอย่างที่ทำไม่ได้เกิดประโยชน์สำหรับผมเลยแม้แต่น้อย ผมกลับรู้สึกแย่ลงด้วยซ้ำไป

สุดท้ายเพื่อนผมที่เรียนแพทย์อยู่บอกผมว่า ผมน่าจะเป็นโรคย้ำคิดย้ำทำ (Obsessive-compulsive disorder) หรือ OCD ผมลองไป search google ดูก็พบว่าน่าจะเป็นตามนั้น แต่ตอนนั้นก็ยังไม่ได้คิดว่าจะไปพบจิตแพทย์แต่อย่างใด (จริงๆ ก็อยากไป แต่เพราะว่าอยู่อเมริกาจึงคิดว่าน่าจะแพงมาก 55555)

แต่ในช่วงปิดเทอม ผมกลับมาพักผ่อนอยู่ที่ประเทศไทย และอาการที่เป็นอยู่เหมือนจะหนักกว่าเดิมมากจนรู้สึกว่ายากที่จะทนทานอีกต่อไป คนรอบข้างบอกให้ผมทนต่อไป แต่ผมกลับคิดว่า

การทนไม่น่าจะใช่ทางออก มันต้องมีวิธีที่ดีกว่าการทนสิวะ

หลังจากนั้นก็เลยไปพบจิตแพทย์ทันที ปีนั้นเป็นปี ค.ศ.2011 และเป็นการพบจิตแพทย์ครั้งแรกของผม

ปรึกษาจิตแพทย์ครั้งที่ 1

ผมไปพบจิตแพทย์ในโรงพยาบาลรัฐแห่งหนึ่งในกรุงเทพ ก่อนพบจิตแพทย์ พยาบาลก็จะสอบถามอาการคร่าวๆ รวมไปถึงวัดความดันต่างๆ หลังจากนั้นก็นั่งรอจนถึงคิวของเรา

ตอนแรกผมคิดว่า น่าจะต้องมีการทดสอบสภาพจิตใจอะไรก่อน แต่สรุปแล้วคือไม่มีอะไรทั้งสิ้น เมื่อจิตแพทย์ว่างแล้ว เราก็เดินเข้าไปในห้อง และเดินเข้าไปคนเดียว ญาติไม่ต้องตามเข้าไป

เมื่อผมนั่งอยู่ตรงหน้าจิตแพทย์แล้ว จิตแพทย์จะสอบถามว่าเรามีอาการเป็นอย่างไรบ้าง ผมจึงเล่าอาการไปตามจริงโดยไม่ได้ปิดบัง ผมคิดอะไรซ้ำๆ อยู่ในหัว ผมก็เล่าไปตามนั้นทุกประการ แพทย์จะรับฟังราวกับว่าเป็นเพื่อนที่ไว้ใจได้คนหนึ่ง และเข้าใจสถานการณ์ของเรา ต่างจากคนรอบข้างที่อาจจะไม่เข้าใจเท่าไรนัก

นอกจากนี้บรรยากาศในห้องจะสบายๆ และปราศจากความกดดัน ทำให้ผมรู้สึกว่ากล้ามากขึ้นที่จะเล่า และผมก็คิดว่าไหนๆ ก็มาพบจิตแพทย์แล้ว เล่าให้หมดไปเลยดีกว่า ไม่รู้จะเก็บไว้ทำไมอีก ซึ่งหลังจากเล่าให้จิตแพทย์ฟังแล้ว ผมรู้สึกว่าสบายใจขึ้นมากจริงๆ

ผมเล่าอยู่ประมาณ 20 นาที จิตแพทย์จึงวินิจฉัยว่าผมเป็นโรคย้ำคิดย้ำทำ (OCD) และสอบถามผมว่าอยากจะกินยาหรือไม่ ในช่วงนั้นผมยังกลัวๆ เรื่องกินยา ผมจึงปฏิเสธไป จิตแพทย์จึงแนะนำวิธีการเปลี่ยนวิธีคิดให้ผมคร่าวๆ เป็นอันจบการพบจิตแพทย์ครั้งที่ 1 ครับ

นอกจากนี้จิตแพทย์ยังอธิบายอาการและลักษณะของโรคให้ญาติและคนรอบตัวเข้าใจด้วย ดังนั้นทุกคนจึงเข้าใจสถานการณ์ที่เป็นอยู่ของผมมากขึ้นครับ

ปรึกษาจิตแพทย์ครั้งที่ 2 และ 3

หลังจากได้ไปพบจิตแพทย์แล้ว ความสบายใจที่ได้พูดคุยและเล่าออกไปได้ทำให้ผมสบายใจขึ้นมาก แต่แล้ว 2-3 เดือนต่อไป อาการกลัดกลุ้มจาก OCD เดิมๆ ก็กลับมาใหม่ แต่ไม่หนักเท่ากับช่วงปี ค.ศ.2011 สถานการณ์เป็นเช่นนี้อยู่นานถึง 3 ปี ช่วงนี้ผมยอมทนเพราะมันไม่ได้หนักมาก และผมใช้ชีวิตอยู่ที่อเมริกาเป็นส่วนใหญ่

จนกระทั่งในปี ค.ศ.2015 อาการโรคย้ำคิดย้ำทำกลับมาเป็นหนักอีกครั้งหนึ่ง ผมคิดว่ามันเกิดจากปัญหาส่วนตัวที่เกิดเมื่อช่วงต้นปีนั้น ทำให้เกิดความเครียด อาการพวกนั้นจึงกลับมาด้วย ผมจึงกลับไปปรึกษาจิตแพทย์คนเดิมเป็นครั้งที่ 2

วิธีการรักษาก็เป็นแบบเดิม ผมจึงขอไม่เล่าซ้ำ แต่ในครั้งนี้ผมกลับมาอยู่ประเทศไทยเป็นการถาวรแล้ว ผมจึงไม่ปฏิเสธที่จะรับยารักษา ซึ่งยาที่จิตแพทย์สั่งให้ผมก็คือ “Sertraline” หรือชื่อทางการค้า “Zoloft”

สิ่งที่ผมรู้สึกหลังจากกินยาคือ ผมสามารถตัดความคิดแย่ๆ ออกไปได้เร็วขึ้น และความคิดแย่ๆ มันได้ทำให้ผมรู้สึกเจ็บปวดอะไรมากนัก ทำให้ผมรู้สึกดีขึ้นทางด้านจิตใจ แต่ตัวยามันกลับมี side effects บางอย่างต่อร่างกายผมที่ผมไม่ปรารถนา (จิตแพทย์บอกว่าบางคนก็มี บางคนก็ไม่มี) ทำให้ผมคิดว่าถ้ารักษาแบบไม่กินยาได้น่าจะดีกว่า

ผมจำได้ว่าจิตแพทย์เคยพูดถึงการรักษาที่เรียกว่า CBT (Cognitive Behavioral Therapy) ผมจึง search จาก google ตามเดิม และพบว่ามีบทความจากสถาบันทางการแพทย์ของอเมริกาอธิบายขั้นตอน CBT สี่ขั้นตอนตามลิงค์นี้ พออ่านแล้วรู้สึกน่าสนใจมาก ผมจึงลองทำตามคร่าวๆ ด้วยตนเอง ผมก็รู้สึกว่าดีขึ้นจริงๆ

เมื่อถึงเวลาที่ผมต้องพบจิตแพทย์อีกครั้งตามนัด ผมจึงอธิบาย side effects ของยาที่ผมเจอ และถามจิตแพทย์ว่าถ้าจะเปลี่ยนไปรักษาแบบ CBT จะได้หรือไม่ จิตแพทย์จึงเห็นชอบให้ผมหยุดยา และอธิบายการจัดการความคิดตามวิธีการรักษาแบบ CBT ให้ผมฟังอย่างละเอียดจนเข้าใจ และให้ผมนำไปทำเป็นการบ้าน โดยการลองปรับใช้มันในชีวิตประจำวัน ถ้าเกิดปัญหาตรงไหน ให้ผมมาพบแพทย์ทันที

อาการ OCD ดีขึ้นมาก

ผมไม่อาจจะอธิบายได้ทั้งหมดถึงขั้นตอนของ CBT ทั้งหมด เพราะมันซับซ้อนเกินไปสำหรับผมที่จะอธิบาย แต่ผมขออธิบายคร่าวๆ ว่า มันเป็นการเปลี่ยนทัศนคติของคุณ อย่างเช่น

ผมไม่ได้เป็นคนเลวร้ายหรืออ่อนแอที่จะเกิดความคิดแบบนี้เข้ามาในหัว เพราะมันเป็นเรื่องธรรมชาติ และมันเป็นเจ้า “OCD” ที่ส่งความคิดแย่ๆ เหล่านี้เข้ามา ไม่เกี่ยวกับผมเลยแม้แต่น้อย

พอทำตามขั้นตอนไปนานๆ เข้าคุณจะเริ่มชิน ทำให้ความคิดแย่ๆ จาก OCD แต่ละเรื่องส่งผลต่อจิตใจคุณน้อยลงตามลำดับ คุณจะก้าวข้ามความคิดแย่ๆ แต่ละเรื่องได้เร็วขึ้น จาก 1 สัปดาห์กลายเป็น 3 วัน และลดลงไปเรื่อยๆ จนกระทั่งเหลือไม่เกิน 10 วินาที

จิตแพทย์เคยบอกผมว่า มันแทบเป็นไปไม่ได้ที่จะหยุดความคิดแย่ๆ ไม่ให้เข้ามาอีกเลย แต่ถ้าความคิดแย่ๆ พวกนี้ส่งผลกระทบน้อยมากต่อจิตใจของคุณ นั่นคือการรักษาสำเร็จผลแล้ว

นับตั้งแต่ตอนนั้นมาจนถึงปัจจุบัน ความคิดแย่ๆ ก็ยังเข้ามาในสมองของผมอยู่เรื่อยๆ แต่เพราะวิธีการปรับความคิดที่ผมใช้อยู่เสมอมา ทำให้ผมก้าวข้ามมันไปได้รวดเร็วมาก ปัญหาความกลัดกลุ้มในจิตใจจาก OCD จึงไม่เกิดขึ้นอีกเลย

ข้อควรทราบ

  • เรื่องที่ผมเล่าเป็นประสบการณ์ส่วนตัวที่ผมได้เผชิญมา ซึ่งแต่ละคนจะไม่เหมือนกันครับ เช่นเดียวกับวิธีการรักษาเช่นเดียวกัน จิตแพทย์จะเป็นผู้แนะนำวิธีการรักษาที่เหมาะสมที่สุดให้กับคุณ
  • คุณสามารถพบจิตแพทย์ได้ที่โรงพยาบาลรัฐ เอกชน หรือแม้กระทั่งพบจิตแพทย์ทางออนไลน์อย่าง ooca
  • การรักษาไม่ใช่ว่าจะเห็นผลในพริบตา แต่ถ้าคุณทำตามคำแนะนำของจิตแพทย์ อาการของคุณจะดีขึ้นเรื่อยๆ ตามลำดับ
  • ถ้าคุณมีปัญหาทางจิตใจ อย่าลืมว่ายังมีคนที่สามารถช่วยเหลือคุณได้อยู่เสมอ

บทความการศึกษา

Victory Tale ไม่อนุญาตให้คัดลอกบทความไปโพสที่ใดทุกกรณี การฝ่าฝืนมีโทษทางกฎหมาย

error: Content is protected !!