ตำนานกรรณะ วีรบุรุษผู้พ่ายแพ้แห่งมหาภารตะ (3): ด้านมืดของกรรณะ

กรรณะ วีรบุรุษผู้พ่ายแพ้แห่งมหาภารตะ (3): ด้านมืดของกรรณะ

มหากาพย์มหาภารตะเป็นมหากาพย์ที่มีเสน่ห์อยู่อย่างหนึ่ง คือในเรื่องของมนุษย์แล้ว ไม่มีผู้ใดเป็นคนดีพร้อม 100% และไม่มีใครเป็นคนเลว 100% เช่นเดียวกัน ตัวละครทุกตัวจะมีสีเทาๆ แล้วแต่ว่าจะเทาอ่อนหรือเทาเข้ม

กรรณะก็ไม่อาจจะหลบเลี่ยงความจริงของความเป็นมนุษย์ได้เช่นเดียวกัน อย่างตอนที่ท่านกำลังจะอ่านต่อไปนี้

ตอนที่ 1 อยู่ที่นี่

แผนการสกปรกของทุรโยธน์

หลังจากพิธีสยมพรของนางเทราปทีจบลง พวกพี่น้องปาณฑพทั้งห้าก็ตกลงกับทุรโยธน์ว่าจะแบ่งดินแดนที่มีอยู่เป็นสองส่วน หากแต่สองส่วนนั้นไม่เท่ากันเสียเลย เพราะทุรโยธน์ได้เมืองหัสตินาปุระ เมืองหลวงที่อุดมสมบูรณ์ และมีผู้คนมากมาย ส่วนพวกพี่น้องปาณฑพได้ดินแดนชายแดนที่ยากจน แห้งแล้ง และร้างผู้คน เท่านั้น

หากแต่ว่าพวกพี่น้องปาณฑพมีสติปัญญาและความสามารถ นอกจากนี้ยังพระกฤษณะผู้ปราดเปรื่องเป็นผู้ช่วยอีกด้วย พวกปาณฑพได้สร้างเมืองขึ้นชื่อว่า อินทรปัตถ์ (Indraprastha) และปรับปรุงการชลประทาน เมืองที่แห้งแล้งจึงเริ่มเปลี่ยนเป็นอุดมสมบูรณ์ทีละน้อย

ยุธิษฐิระ พี่ชายคนโตของเหล่าพี่น้องปาณฑพเองก็เป็นกษัตริย์ผู้เปี่ยมไปด้วยคุณธรรม ประชาชนจึงหลั่งไหลมาที่เมืองอินทรปัตถ์ เมืองที่เคยเงียบเหงาเริ่มกลายเป็นคับคั่งในเวลาไม่นาน

เมื่อสร้างเมืองได้อย่างมั่นคงแล้ว พวกปาณฑพจึงเริ่มทำหน้าที่ของวรรณะกษัตริย์ นั่นก็คือนักรบ ยุธิษฐิระส่งอรชุนให้ไปทำสงครามกับกษัตริย์ต่างๆ อรชุนสามารถตีเมืองต่างๆ ได้มากมายเพื่อสร้างความเป็นยิ่งใหญ่ให้กับพี่ชาย ในภายหลังยุธิษฐิระได้ขึ้นเป็นจักรพรรดิ

ข่าวที่ยุธิษฐิระเป็นจักรพรรดิไปเข้าหูทุรโยธน์อย่างรวดเร็ว ทุรโยธน์จึงปรึกษากับศกุนิ (Shakuni) ว่าจะใช้แผนการสกปรกปล้นทุกสิ่งของพวกปาณฑพ

การเล่นสกา

แผนที่ว่าคือ ทุรโยธน์จะใช้การเล่นสกามาพนันบ้านพนันเมืองกับยุธิษฐิระ โดยเขาจะให้ศกุนิเป็นผู้เล่นสกาได้เก่งกาจเป็นผู้เล่น แต่เหนือสิ่งอื่นใดการเล่นสกาครั้งนี้จะใช้ลูกเต๋าที่ทำขึ้นมาเป็นพิเศษ ลูกเต๋าชนิดนี้จะออกหน้าที่ศกุนิต้องการ 100% (มีตำนานเสริมว่าเพราะว่าลูกเต๋านี้สร้างขึ้นมาจากกระดูกของบิดาของศกุนิ)

สรุปง่ายๆ ทุรโยธน์ปรารถนาจะใช้การโกงในการทำลายทุกสิ่งที่พวกปาณฑพสร้างขึ้นมา

ทุรโยธน์จึงให้คนส่งสารไปเชิญยุธิษฐิระมาที่กรุงหัสตินาปุระเพื่อที่จะทำการเล่นสกากับศกุนิ ยุธิษฐิระเป็นจักรพรรดิที่มีขัตติยมานะจึงไม่อาจปฏิเสธ

ปรากฏว่ายุธิษฐิระแพ้ทุกตาติดๆ กัน ทุกสิ่งที่เดิมพันไปล้วนแต่เสียให้ศกุนิทั้งหมด ไม่เว้นแม้แต่กรุงอินทรปัตถ์ที่ได้สร้างมากับมือ น้องชายทั้ง 4 หรือแม้กระทั่งตัวเอง

ทุรโยธน์ได้ทุกสิ่งจากพวกปาณฑพมาแล้วจากวิธีสกปรก แต่เขายังต้องการจะให้พวกปาณฑพต้องอัปยศมากกว่านี้อีก ทุรโยธน์จึงพูดขึ้นว่า พวกปาณฑพยังมีสิ่งของที่เดิมพันได้ นั่นก็คือนางเทราปทีนั่นเอง ถ้ายุธิษฐิระชนะ เขาจะได้ทุกสิ่งกลับคืนไป ดังนั้นยุธิษฐิระจึงตัดสินใจวางนางเทราปทีในการเล่นสกาตัดสินโชคชะตา

ศกุนิเล่นสกา

ไม่ต้องสงสัยว่าใครชนะ เพราะพวกเการพ (ทุรโยธน์และพรรคพวก) จงใจมาโกงอยู่แล้ว ผู้ชนะย่อมเป็นศกุนิ นางเทราปทีถึงกับตัวสั่น เพราะว่านางได้กลายเป็นทาสของทุรโยธน์ไปเสียแล้ว นางเทราปทีพยายามจะตั้งคำถามต่อหน้าที่ประชุมว่า ยุธิษฐิระมีสิทธิในการนำตัวนางมาเดิมพันได้หรือ เพราะว่า เขาสูญเสียบัลลังก์อินทรปัตถ์ และตัวเองไปแล้วในการเดิมพัน เขาจะนำนางที่เป็นราชินีมาเดิมพันได้อย่างไร

กรรณะดูถูกเทราปที

แน่นอนว่าไม่มีใครสนใจข้อโต้แย้งของนาง ทุรโยธน์รู้สึกรำคาญ เขาจึงสั่งให้ทุรหาสัน (Dushasana) น้องชายคนหนึ่งของเขานำตัวนางเทราปทีมาด้วยการดึงผมยาวสลวยของนาง

ทันใดนั้นวิการนะ (Vikarna) น้องชายแท้ๆคนหนึ่งของทุรโยธน์ พยายามกล่าวห้ามปรามว่าการกระทำนั้นไม่ถูกต้อง แต่ทุรโยธน์ไม่สนใจแต่อย่างใด

ส่วนกรรณะที่นั่งอยู่ด้วยก็ไม่ได้ห้ามปรามเช่นเดียวกัน กรรณะได้กล่าวว่า

เทราปที เจ้ามีสามีถึงห้าคนราวกับว่าเป็นโสเภณีผู้ไร้วรรณะ แต่ด้วยสาเหตุอันใด สามีทั้งห้าของเจ้ากลับนิ่งเฉยราวกับหุ่น พวกเขายืนดูผู้อื่นทำลายเกียรติของเจ้าเยี่ยงนี้ สามีของเจ้าคิดว่าการเล่นสกานี้เป็นสิ่งที่ยุติธรรมแล้วหรือไร

หลังจากนั้นกรรณะก็ให้นำเครื่องประดับราคาแพงของพวกปาณฑพและนางเทราปทีออกไปเสีย

เคสนี้มีผู้ตีความคำพูดของกรรณะหลายรูปแบบด้วยกัน

แบบแรก กรรณะเจตนาเหยียดหยามเทราปที เพราะเขาโกรธแค้นนางเทราปทีอย่างมากที่นางเคยทำให้เขาอับอายในพิธีสยมพร ดังนั้นครั้งนี้จึงสบโอกาสที่จะเหยียดหยามนางกลับบ้าง

แบบที่สอง กรรณะ “พยายาม” ช่วยนางเทราปที ด้วยการ “แซะ” พวกปาณฑพทั้งห้าที่นั่งนิ่งเป็นหุ่น เพื่อให้พวกเขาทนไม่ไหวและออกมาช่วยนางเทราปที นั่นเป็นสิ่งเดียวที่กรรณะสามารถทำได้ กรรณะไม่อาจช่วยเทราปทีตรงๆอยู่แล้ว เพราะตนเองอยู่ฝั่งทุรโยธน์

ส่วนประโยคหลัง กรรณะอาจจะพยายามบอกว่าให้เลิกเล่นสกานี้เสีย เพราะมันไม่ยุติธรรมในตัวของมันเองอยู่แล้ว

เอาง่ายๆ คือ กรรณะทำเป็น “ซึนเดเระ” แต่จริงๆ คือ พยายามช่วยนางเทราปทีอยู่

ส่วนนี้ก็แล้วแต่ท่านจะวิเคราะห์ละกันครับ แต่มันก็ได้แสดงให้เห็นว่า กรรณะเองก็มีด้านมืดของเขาเช่นเดียวกัน เขายังมีความเป็นมนุษย์อยู่ ความโกรธแค้นได้ทำให้เขาลืมตัวไปได้ไม่น้อยเลยทีเดียว

การเปลี้องผ้านางเทราปที

ทุรโยธน์ยังคงไม่หยุด เขาสั่งให้ทุรหาสันเปลี้องผ้าของนางเทราปทีออกมาเสียเลย นางเทราปทีเห็นดังนั้นก็ตกใจ สามีทั้งห้าของนางก็นั่งเป็นหุ่นโดยไม่ช่วยนางเลยแม้แต่น้อย นางเทราปทีจึงตั้งจิตระลึกถึงพระกฤษณะที่นั่งอยู่ที่นั่นด้วยให้ช่วยนาง

พระกฤษณะ ผู้เป็นอวตารของพระวิษณุ จึงเนรมิตให้ผ้าส่าหรีของนางเทราปทีนั้นมีความยาวไม่สิ้นสุด ไม่ว่าทุรหาสันจะดึงออกมาเท่าใด เสื้อผ้าก็ยังไม่หมดจากร่างของนางเทราปที

ทุรหาสันเปลี้องผ้านางเทราปที

การกระทำของพวกเการพสร้างความโกรธแค้นแก่พระกฤษณะ มีตำนานเล่าว่าเขาปฏิญาณอยู่ในใจว่าจะต้องสังหารพวกเการพทุกคนที่อยู่ในห้องนั้นให้จงได้ทุกคน ไม่เว้นแม้แต่พวกผู้เฒ่าผู้แก่ที่แก่แต่ตัว ไม่รู้จักห้ามปราม

นางคันธารี แม่ของทุรโยธน์เห็นว่าเรื่องกำลังจะลุกลามใหญ่โต นางจึงขอให้ท้าวทฤตราษฎร์เข้าหยุดเหตุการณ์ดังกล่าว จึงอนุญาตให้นางเทราปทีขออะไรก็ได้จากพระองค์ 3 ข้อ

ข้อแรกนางเทราปทีขอให้ยุธิษฐิระพ้นจากความเป็นทาส ส่วนข้อที่สอง นางขอให้พวกปาณฑพทั้งห้าเป็นอิสระและได้อาวุธของพวกเขากลับคืนไป ส่วนข้อที่สาม นางบอกว่านางไม่ขอใช้ เพราะว่าหญิงวรรณะกษัตริย์ไม่ควรจะขออะไรมากกว่าสองข้อ ข้อที่สามจะเป็นการแสดงความโลภ

ในจังหวะนี้ กรรณะจึงหลุดปากสรรเสริญนางเทราปทีว่า

พวกเราไม่เคยได้ยินการกระทำเช่นนี้ (แบบเทราปที) จากหญิงงามลือชื่อทั้งแผ่นดิน เมื่อโอรสของปาณฑุและธฤตราษฎร์กำลังอยู่ในความโกรธ เทราปทีผู้นี้มาปลดปล่อยบุตรแห่งปาณฑุ อันที่จริงเจ้าหญิงแห่งปัญชละเป็นเหมือนเรือให้พวกบุตรของปาณฑุที่กำลังอยู่ในมหาสมุทรแห่งความสิ้นหวัง นางพาพวกเขาไปสู่ความปลอดภัยที่ชายฝั่ง

Mahabharata, Book 2: Sabha Parva

หลังจากนั้นธฤตราษฎร์จึงมอบทุกสิ่งให้พวกปาณฑพคืนไปทั้งหมด

พวกปาณฑพไปอยู่ป่า

ฝ่ายศกุนิเห็นเช่นนั้น เขาจึงเกรงว่าแผนที่เตรียมมาจะเสียเปล่า ศกุนิต่อรองกับยุธิษฐิระให้เล่นสกาครั้งสุดท้ายกับตน โดยผู้แพ้จะต้องไปอยู่ป่าเป็นเวลา 12 ปี และ ปลอมแปลงตนเองไม่ให้ผู้ชนะเห็นอีก 1 ปี ถ้าผู้ชนะสามารถหาผู้แพ้พบในปีสุดท้าย ผู้แพ้จะต้องนับหนึ่งใหม่ด้วยการไปอยู่ป่าอีก 12 ปี

สรุปง่ายๆ แผนของศกุนิคือจะให้พวกปาณฑพอยู่ป่าจนแก่ตายกันไปเลย

ยุธิษฐิระยังไม่เข็ด เขายอมรับคำท้าและก็แพ้ตามเคย พวกปาณฑพและนางเทราปทีจำต้องไปอยู่ป่าเป็นเวลา 12 ปี และในปีสุดท้ายต้องซุ่มซ่อนตัวไม่ให้พวกเการพ (ทุรโยธน์) จับได้อีกด้วย

ความเสียใจของกรรณะ

ระหว่างที่พวกปาณฑพอยู่ป่า กรรณะนำกองทัพเมืองหัสตินาปุระไปปราบปรามเมืองต่างๆ ศัตรูเหล่านี้ไม่อาจทานฝีมือของกรรณะได้ เมืองต่างๆ จึงยอมเป็นเมืองขึ้นของหัสตินาปุระทั่วทั้งอินเดีย ทุรโยธน์จึงสถาปนาตนเองเป็นจักรพรรดิเช่นเดียวกับยุธิษฐิระ

ถึงแม้เหตุการณ์จะผ่านไปนานแล้ว กรรณะรู้สึกผิดกับการกระทำของตนในวันนั้น เขาได้บอกเรื่องนี้ให้กับพระกฤษณะในเวลาต่อมาว่า เขารู้สึกเสียใจต่อคำพูดและการกระทำของเขาต่อนางเทราปทีในวันที่เล่นสกา ความทรงจำเรื่องนี้ยังคงหลอกหลอนและสร้างความเจ็บช้ำเป็นการส่วนตัวต่อกรรณะเอง

เวลา 12 ปีผ่านไปราวกับลมพัด เมื่อเข้าปีสุดท้าย ฝ่ายเการพจึงพลิกแผ่นดินอินเดียหาพวกปาณฑพทั้ง 5 และนางเทราปทีเพื่อที่จะได้ส่งพวกปาณฑพกลับป่าไปอีก 12 ปี

เรื่องจะเป็นไปอย่างไรต่อไป ติดตามได้ในตอนหน้าครับ

บทความการศึกษา

Victory Tale ไม่อนุญาตให้คัดลอกบทความไปโพสที่ใดทุกกรณี การฝ่าฝืนมีโทษทางกฎหมาย

error: Content is protected !!