ประวัติศาสตร์"ฮั่นเจียน" ผู้ทรยศต่อประเทศจีน คำนี้มีที่มาอย่างไรและมีใครบ้าง

“ฮั่นเจียน” ผู้ทรยศต่อประเทศจีน คำนี้มีที่มาอย่างไรและมีใครบ้าง

“ฮั่นเจียน” หรือ 汉奸 เป็นคำศัพท์เชิงดูถูกเหยียดหยามในภาษาจีนกลางที่แปลว่า คนทรยศต่อประเทศจีน

คำว่า “ฮั่น” ในที่นี้หมายถึง “ชาวฮั่น” หรือชาวจีนฮั่นทั่วไปนั่นเอง ส่วนคำว่าเจียนแปลว่า ความสัมพันธ์ที่ผิดคุณธรรม แต่ความหมายโดยรวมของคำนี้คือ คนฮั่นที่ทรยศและสมรู้ร่วมคิด

ถ้าใช้นิยามตามนี้แล้ว ฮั่นเจียนในหน้าประวัติศาสตร์มีจำนวนไม่น้อย เพราะชาวฮั่นที่สวามิภักดิ์และทำงานให้ราชวงศ์ต่างชาติเช่น ราชวงศ์หยวนของชาวมองโกล และราชวงศ์ชิงของชาวแมนจู แต่ทว่าคนจีนมักจะขนานนามบุคคลว่าเป็น “ฮั่นเจียน” จากวีรกรรมที่พวกเขาทำในช่วงสงครามจีน-ญี่ปุ่นในปี ค.ศ.1937-1945 เสียเป็นส่วนใหญ่

เรามาดูกันดีกว่า พวกฮั่นเจียนมีใครกันบ้าง

วางจิงเว่ยและพรรคพวกของเขา

ถ้าพูดถึงวางจิงเว่ยก็ต้องกล่าวถึงฮั่นเจียน ถ้ากล่าวถึงฮั่นเจียนก็ต้องกล่าวถึงวางจิงเว่ย ในสายตาของชาวจีนแล้ว วางจิงเว่ย (汪精卫) ผู้นี้เป็นตัวแทนของพวกฮั่นเจียนทั้งปวงเลยก็ว่าได้

วางจิงเว่ยผู้นี้เคยเป็นนักปฏิวัติสังกัดสมาคมถงเหมิงฮุ่ยที่นำโดยซุนจงซาน (ซุนยัดเซ็น)มาก่อน และเป็นคนสนิทของซุนยัดเซ็นด้วย โดยเฉพาะในช่วงสิบปีสุดท้าย เชื่อกันว่าวางจิงเว่ยอาจจะเป็นผู้เขียนพินัยกรรมให้ซุนยัดเซ็นด้วยซ้ำไป

หลังจากการตายของซุนยัดเซ็น วางจิงเว่ยได้รับการวางตัวให้เป็นผู้สืบทอดของซุนยัดเซ็น แต่วางจิงเว่ยพ่ายแพ้ในเชิงการเมืองให้กับเจียงไคเช็ค ทั้งสองฝ่ายจึงเป็นศัตรูกันตั้งแต่บัดนั้น

วางจิงเว่ยเริ่มเอนเอียงไปทางฝ่ายซ้าย และเป็นผู้นำของแนวคิดฝ่ายซ้ายในพรรคก๊กมินตั๋ง เมื่อเจียงไคเช็คกวาดล้างพวกคอมมิวนิสต์ วางจิงเว่ยจึงต้องหลบหนีไปยุโรป แต่ทว่าอีกไม่กี่ปีต่อมา เขาก็คืนดีกับเจียงไคเช็คและกลับมารับตำแหน่งในรัฐบาลก๊กมินตั๋ง

เมื่อการรุกรานของญี่ปุ่นเข้าใกล้จีนมากขึ้น วางจิงเว่ยคิดว่าจีนไม่มีทางเอาชนะญี่ปุ่นได้ และเชื่อว่าการแสวงหาพันธมิตรของเจียงไคเช็คเป็นเรื่องที่ไม่ควรทำ เพราะประเทศตะวันตกอาจจะเป็นภัยร้ายต่อจีนมากกว่าญี่ปุ่นเสียอีก วางจิงเว่ยจึงเสนอให้จีนประนีประนอมกับญี่ปุ่นเพื่อคงเอกราชเอาไว้ให้ได้

แนวคิดของวางจิงเว่ยตรงกันข้ามกับเจียงไคเช็ค เพราะเจียงไคเช็คคิดว่าเขากำลังปฏิรูปประเทศและกองทัพอยู่ ถ้าเขาทำเสร็จแล้ว และเป็นพันธมิตรกับชาติตะวันตก จีนจะเอาชนะญี่ปุ่นได้ แนวคิดที่แตกต่างกันจึงทำให้ความสัมพันธ์ของวางจิงเว่ยและเจียงไคเช็คเลวร้ายลง

เมื่อญี่ปุ่นทำสงครามกับจีน วางจิงเว่ยไม่ได้ทำอะไรให้เป็นประโยชน์ แถมยังแพร่กระจายแนวคิดขี้แพ้ (defeatist) เช่น “จีนจะต้องแพ้แน่” หรือ “จีนไม่มีทางสู้ได้” ให้กับสมาชิกพรรคก๊กมินตั๋งคนอื่นๆ ด้วย เขาพยายามเรียกร้องให้รัฐบาลของเจียงไคเช็คสงบศึกกับญี่ปุ่นเพื่อที่จะหันไปต่อสู้กับชาติตะวันตกอย่างอังกฤษและสหรัฐอเมริกา

ในเวลาต่อมา วางจิงเว่ยเดินทางไปยังฮานอย และต่อมาก็เดินทางไปยังเซี่ยงไฮ้เพื่อเจรจากับพวกญี่ปุ่น ฝ่ายญี่ปุ่นเองก็เห็นประโยชน์ในตัววางจิงเว่ยที่มีประสบการณ์ทางการเมืองมากมาย ญี่ปุ่นจึงให้วางจิงเว่ยเป็นประมุขของรัฐบาลใหม่ที่ตั้งขึ้นเพื่อปกครองดินแดนจีนที่ญี่ปุ่นตีได้ ชาวจีนเรียกรัฐบาลนี้ว่า “การปกครองของวางจิงเว่ย” หรือ “รัฐบาลสมรู้ร่วมคิด”

รัฐบาลของวางจิงเว่ยเป็นรัฐบาลที่สมคบคิดกับญี่ปุ่นโดยสมบูรณ์ ตลอดเวลาที่วางจิงเว่ยเป็นประมุข เขายกย่องญี่ปุ่น และโจมตีรัฐบาลก๊กมินตั๋ง รวมไปถึงประกาศว่าจะร่วมมือกับรัฐบาลญี่ปุ่นในการต่อต้านชาติตะวันตก นอกจากนี้ วางจิงเว่ยยังติดต่อกับประเทศอักษะอย่างเยอรมนีและอิตาลีด้วย

วางจิงเว่ยเองไม่ได้ทำให้ประชาชนที่เขตยึดครองสามารถอยู่อย่างสงบสุขได้ การกดขี่ของทหารญี่ปุ่นต่อชาวจีนในดินแดนแถบนั้นทำให้วางจิงเว่ยไม่เป็นที่นิยมอย่างสิ้นเชิงในหมู่ชาวจีน เมื่อเวลาผ่านไปประชาชนทั่วไปไม่ว่าจะสนับสนุนพรรคก๊กมินตั๋งและพรรคคอมมิวนิสต์ล้วนแต่เกลียดชังเขาทั้งสิ้น

ในปี ค.ศ.1944 วางจิงเว่ยต้องไปรักษาตัวที่ญี่ปุ่นเพราะแผลที่ถูกลอบสังหารเมื่อหลายปีก่อนกำเริบขึ้นมา ปรากฏว่าเขาเสียชีวิตระหว่างการรักษา รัฐบาลญี่ปุ่นจึงนำตัวเขากลับมาฝังไว้ใกล้กับสุสานของซุนยัดเซ็นที่เมืองนานกิง

หลังจากสงคราม รัฐบาลก๊กมินตั๋งสนองตอบความโกรธแค้นของประชาชนจีนด้วยการทำลายสุสานของวางจิงเว่ยทิ้งเสีย และนำร่างของวางจิงเว่ยมาเผาทิ้ง ปัจจุบันจุดที่เคยเป็นอดีตสุสานของวางจิงเว่ยได้มีคำจารึกว่าวางจิงเว่ยเป็น “คนทรยศ”

จริงอยู่ว่าวางจิงเว่ยเคยมีผลงานไม่น้อยสมัยที่เคยเป็นคนสนิทของซุนยัดเซ็น แต่รัฐบาลจีนและไต้หวันไม่ให้ความสำคัญเท่าใดนัก ชื่อของเขากลายเป็นคำที่ใช้กล่าวถึงคนทรยศในจีนและไต้หวันไปแล้ว

สำหรับพรรคพวกของวางจิงเว่ยที่ร่วมในรัฐบาลสมรู้ร่วมคิดอย่าง เฉินกงโป๋ และโจวโฝไห่ ล้วนแต่ถูกรัฐบาลก๊กมินตั๋งจับกุมได้หลังสงครามและเข้ารับการไต่สวนในศาล ทุกคนพยายามอ้างว่าไม่ได้ทรยศต่อชาติ แต่เข้าร่วมกับญี่ปุ่นเพื่อประโยชน์ของชาติจีน คำร้องดังกล่าวฟังไม่ขึ้น คนเหล่านี้จึงได้รับการประหารชีวิตด้วยการยิงเป้า มีแต่เพียงโจวโฝไห่เท่านั้นที่เจียงไคเช็คได้ใช้อำนาจอภัยโทษให้เป็นจำคุกตลอดชีวิต

โยชิโกะ คาวาชิมา

ชื่อของเธอผู้นี้เหมือนว่าเป็นคนญี่ปุ่น แต่จริงๆ แล้วเธอเป็นอดีตเจ้าหญิงแห่งราชวงศ์ชิง โยชิโกะถูกเลี้ยงดูโดยชาวญี่ปุ่น ด้วยเหตุนี้เธอจึงมีชื่อแบบญี่ปุ่นไปด้วย

ในปี ค.ศ.1932 โยชิโกะทำหน้าที่เป็นสายลับให้กับกองทัพญี่ปุ่นที่จ้องจะเขมือบดินแดนแมนจูเรียของจีน ผลงานสำคัญของเธอคือ การที่เธอชักจูง ผู่อี๋ จักรพรรดิพระองค์สุดท้ายของราชวงศ์ชิง และหว่านหรง ชายาเอกของเขาให้ยอมเป็นประมุขของแมนจูกัว ประเทศใหม่ที่ญี่ปุ่นพยายามดึงออกมาจากจีนได้สำเร็จ

หลังจากนั้นโยชิโกะยังจัดตั้งกองกำลังขึ้นเพื่อกวาดล้างผู้ต่อต้านญี่ปุ่นในหมู่ชาวจีนด้วย หนังสือพิมพ์ญี่ปุ่นถึงกับโฆษณาว่าเธอเป็นโจนออฟอาร์กแห่งแมนจูกัวเลยทีเดียว

เมื่อญี่ปุ่นยอมแพ้สงครามต่อฝ่ายพันธมิตร โยชิโกะถูกจับกุมได้ในปักกิ่งโดยหน่วยปราบปรามสายลับ เธอถูกนำตัวไปขังไว้ในคุกเพื่อรอการไต่สวน

โยชิโกะและทนายของเธอพยายามสู้คดีว่า เธอไม่ได้ทรยศต่อประเทศชาติ เพราะเธอเป็นชาวญี่ปุ่นเชื้อสายแมนจูไม่ใช่ชาวจีน โทษของเธอจะได้เบาลง แต่ศาลจีนกลับปฏิเสธเพราะโยชิโกะไม่เคยสละสัญชาติจีนมาก่อน

ด้วยเหตุนี้ศาลจีนจึงสั่งให้ประหารชีวิตโยชิโกะในฐานะที่เป็นกบฏต่อประเทศชาติ โยชิโกะถูกนำตัวไปยิงเป้าในวันที่ 25 มีนาคม ค.ศ.1948 ร่างไร้วิญญาณของเธอถูกจัดแสดงให้คนทั่วไปมาชมดู

ในเวลาต่อมาพระชาวญี่ปุ่นคนหนึ่งได้นำร่างของเธอกลับไปให้ครอบครัวญี่ปุ่นที่เลี้ยงดูเธอมา พวกเขาได้ฝังเธอในวัดแห่งหนึ่งในประเทศญี่ปุ่น

อย่างไรก็ตามมีผู้โต้แย้งไม่น้อยว่า เคสของโยชิโกะไม่ควรเรียกว่าเป็นเคสฮั่นเจียน เพราะโยชิโกะไม่ใช่ชาวฮั่น การขนานนามโยชิโกะว่าเป็นฮั่นเจียนจึงไม่ถูกต้อง

ฮั่นเจียนคนอื่นๆ

ฮั่นเจียนคนอื่นๆ รวมไปถึงประชาชนคนทั่วไปที่สนับสนุนกองทัพญี่ปุ่นในช่วงสงครามด้วย การกวาดล้างและสังหารกลุ่มคนดังกล่าวจึงมีอยู่อย่างต่อเนื่อง ทั้งในช่วงสงครามและหลังสงคราม

บทความการศึกษา

Victory Tale ไม่อนุญาตให้คัดลอกบทความไปโพสที่ใดทุกกรณี การฝ่าฝืนมีโทษทางกฎหมาย

error: Content is protected !!