เทคโนโลยีซอฟต์แวร์ทำ dropship ต่างประเทศบน Shopify จะหา supplier สินค้าดีๆได้ที่ไหน?

ทำ dropship ต่างประเทศบน Shopify จะหา supplier สินค้าดีๆได้ที่ไหน?

การทำ dropship ให้กับลูกค้าต่างประเทศผ่านทางการเปิดเว็บไซต์ e-commerce ของตนเองโดยใช้ Shopify เป็นทางเลือกที่น่าสนใจมาก เพราะคุณจะได้ขายสินค้าให้กับลูกค้าในประเทศที่มีกำลังซื้อสูงอย่างสหรัฐอเมริกา หรือสหราชอาณาจักร โอกาสการทำกำไรต่อชิ้นจึงมีมากตามไปด้วย ซึ่งจะมากกว่าการทำ dropship กับลูกค้าคนไทยใน Lazada หรือ Shopee หลายเท่า

หากแต่ว่าการจะทำ dropship ผ่านทาง Shopify เพื่อขายให้ลูกค้าต่างประเทศ สินค้าของคุณจะต้องมีคุณภาพสูง และต้องส่งเร็วด้วย ดังนั้นการหา supplier ที่ดีได้มาตรฐานจึงเป็นสิ่งที่ขาดไม่ได้อย่างยิ่งยวด

Dropshipping Image by mohamed Hassan from Pixabay

นอกจากคุณภาพของ supplier แล้ว คุณควรจะหา supplier ที่อยู่บนแพลตฟอร์มที่เชื่อมต่อกับ Shopify ได้ด้วย เพราะคุณจะได้จัดการทุกอย่างได้บนแพลตฟอร์มเดียว โดยเฉพาะการส่งออเดอร์ที่ทำได้ด้วยการกดคลิกเดียว และไม่ต้องต้องเสียเวลาพูดคุยกับ supplier แต่ละบริษัทในแต่ละแพลตฟอร์มที่ต่างกัน ซึ่งอาจจะทำให้การส่งสินค้าล่าช้าลงไปอีกด้วย

เราไปดูกันดีกว่าครับว่ามีแพลตฟอร์มไหนน่าใช้บ้าง

ข้อควรทราบ: ราคาและเงื่อนไขต่างๆ อาจจะเปลี่ยนแปลงได้ โปรดตรวจสอบกับทางผู้ให้บริการอีกครั้งเพื่อความชัดเจนครับ

1. Spocket

Spocket เป็นแพลตฟอร์มชั้นยอดที่รวบรวม dropshipping supplier คุณภาพสูงจากทั่วโลกมาให้คุณเลือกสรร แต่ส่วนใหญ่แล้ว supplier เหล่านี้จะอยู่ในสหรัฐอเมริกาและยุโรป ทำให้ไม่มีปัญหาในเรื่องการขนส่งสินค้าล่าช้าในประเทศที่พัฒนาแล้วอย่างแน่นอน ซึ่งทั้งคุณภาพและความรวดเร็วทำให้เหมาะต่อการทำ dropship บน shopify ครับ

ปัจจุบันมีผู้ทำ dropship มากกว่า 50,000 คนที่ใช้บริการ Spocket และจำนวนผู้ใช้งานกำลังเพิ่มขึ้นตามลำดับ

วิธีการใช้งาน Spocket ง่ายดายและสะดวกสบายมาก ลองมาดูด้านล่างครับ

ขั้นตอนแรก เริ่มต้นด้วยการ Login เข้าไปก่อนครับ (ลองใช้งานได้โดยไม่ต้องมี credit card ใดๆ) คุณจะเข้ามาถึง dashboard ที่ดูเรียบง่ายสบายตา และมีสินค้าเป็นหมวดหมู่ให้คุณเลือกอยู่แล้ว

spocket dashboard

หลังจากนั้นคุณก็เลือกสินค้าในหมวดที่คุณต้องการเลย ปัจจุบันสินค้าหมวดหลักๆ มีทั้งหมดไม่ว่าจะเป็นเสื้อผ้า ของเล่น รองเท้า นาฬิกา กระเป๋าตัง แว่นตา และอื่นๆ อีกมากมาย นอกจากนี้คุณยังสามารถระบุได้ด้วยว่าต้องการสินค้าที่ ship จากไหน เช่น ship จากอเมริกา หรือ EU (เพื่อความรวดเร็วในการส่งสินค้า)

คุณสามารถกดเพื่อดูรายละเอียดสินค้าแต่ละชนิดได้ คุณจะเห็นว่าผู้ให้บริการคือใคร สินค้าทำมาจากอะไร ราคา listing ที่คุณต้องจ่ายคือเท่าไร, ราคาที่ควรขายลูกค้าอยู่ที่เท่าไร, ช่องเวลาที่ต้อง Processing รวมไปถึงราคา เงื่อนไขและเวลาที่ใช้ในการ ship และคืนของต่างๆ เรียกได้ว่าครบถ้วนทุกกระบวนการในการทำ dropshipping เลยครับ

ทั้งนี้สินค้าอาจจะมีหลายรูปแบบ คุณสามารถกด “Open Product Variations” เพื่อดูได้ว่ามีรูปแบบไหนบ้าง และราคาเท่าไร รวมไปถึงมีสต็อกกี่ชิ้นครับ

ถ้าคุณพอใจกับสินค้าตัวนี้ คุณสามารถกดปุ่มเขียวหรือ Add to Import List ได้เลย ตัวโปรแกรมจะให้คุณก็เชื่อมต่อ Spocket account เข้ากับ Shopify ของคุณ (จริงๆแล้วใช้ Woocommerce, Wix หรือ Bigcommerce ก็ได้ครับ) สามารถอ่านวิธีเชื่อมได้ที่บทความของ Spocket ครับ

หลังจากเชื่อมต่อเสร็จแล้ว เมื่อคุณกดคลิก สินค้าที่เลือกไว้ก็จะเข้าไปอยู่ในเว็บไซต์ Shopify ของคุณทันทีครับ

แต่ถ้ายังตัดสินใจไม่ได้ คุณสามารถกดปุ่ม Order Samples เพื่อ Spocket สามารถให้ทาง supplier ส่งสินค้ามาให้คุณทดสอบก่อนก็ได้ แต่ตัวเลือกหลังนี้จะส่งตามเงื่อนไขของการ ship เท่านั้น เช่นส่งเฉพาะในสหรัฐอเมริกา ฯลฯ

หลังจากนั้นก็ใส่และแก้ไขข้อมูล ตลอดจน customize ตัวสินค้าที่ import ให้เรียบร้อย เมื่อมีคนกดสั่ง order เข้ามา คุณก็แค่ไปสั่งใน Spocket app ที่เชื่อมกับ Shopify ด้วยการกด Checkout เพียงเท่านี้ก็เสร็จสิ้นแล้วครับ ทั้งนี้หลังจากที่คุณกด Checkout แล้ว ตัวปุ่มจะเปลี่ยนเป็นการ track order แทนครับ

ถ้ายังไม่เข้าใจ ผมแนะนำให้อ่านบทความนี้เพิ่มเติมครับ

หรือว่าดูรายละเอียดแบบง่ายๆ จากคลิปด้านล่างก็ได้ครับ (กด play ได้เลย)

ถัดไปเราจะไปว่ากันเรื่องราคาในการใช้งาน Spocket ครับ

ราคาของ Spocket

แพลนของ Spocket ประกอบด้วย 4 แพลนได้แก่

  • Starter – $19 หรือประมาณ 570 บาทต่อเดือน
  • Pro – $49 หรือประมาณ 1,470 บาทต่อเดือน
  • Empire – $99 หรือประมาณ 2,970 บาทต่อเดือน
  • Unicorn – $299 หรือประมาณ 8,970 บาทต่อเดือน

ราคาของ Spocket ด้านบนจะเป็นแบบเดือนต่อเดือน ถ้าคุณสมัครเป็นรายปี คุณจะได้ส่วนลดจากราคานี้ตั้งแต่ 30%-45% ครับ (แล้วแต่แพลน) และค่าใช้จ่ายในส่วนนี้จะไม่รวม transaction fee อีก 2.9%+30 cent (เพราะ Spocket ใช้งาน Stripe) เมื่อคุณขายสินค้าได้ครับ

Spocket Pricing

ความแตกต่างสำคัญๆ คือ แพลน Starter จะ import สินค้าสำหรับการทำ dropship บน shopify ได้แค่ 25 ชิ้นเท่านั้น และไม่สามารถเข้าถึงสินค้าระดับ Premium ได้เลยครับ ผมมองว่าแพลน Starter ทั้งฟีเจอร์และจำนวนสินค้าจำกัดเกินไปครับ

ส่วนแพลน Pro จะ import สินค้าทั่วไปได้ 250 ชิ้น สินค้าพรีเมียม 25 ชิ้น และยังสามารถออกใบแจ้งหนี้ (invoice) ที่มีแบรนด์ของตนเองได้ นอกจากนี้ยังมีดีลพิเศษส่งตรงถึงคุณโดยเฉพาะอีกด้วย ทำให้คุณได้สินค้าชั้นเยี่ยมในราคาประหยัดไปทำ dropship บน shopify มากขึ้น แพลนนี้เหมาะที่สุดที่จะเป็นแพลนเริ่มต้นสำหรับมือใหม่ครับ

ขณะที่แพลน Empire จะ import สินค้าทั่วไปและพรีเมียมได้อย่างละ 10,000 ชิ้น แพลนนี้จึงกับร้านค้าขนาดใหญ่ที่มีสินค้ามากมายครับ แค่ฟีเจอร์ต่างๆ ไม่ได้เพิ่มจากแพลน Pro แต่อย่างใด แต่จัดว่าคุ้มค่าสำหรับเว็บไซต์ dropshipping ขนาดกลางครับ

ส่วนแพลน Unicorn คือแพลน Pro ที่เพิ่มฟีเจอร์ Bulk Checkout หรือคุณสามารถ checkout สินค้าจำนวนมากในคราวเดียว, ได้ account manager มาดูแลคุณโดยเฉพาะ และสามารถขอ Product requests เมื่อไม่มีสินค้าที่ต้องการได้ โดยส่วนตัวแล้วผมมองว่าธุรกิจ dropshipping ทั่วไปไม่จำเป็นต้องใช้แพลนนี้เลย ยกเว้นแต่ว่าธุรกิจของคุณใหญ่จริงๆ ครับ

สำหรับใครที่ยังมีข้อสงสัย ลองดูรายละเอียดราคาได้ที่ Spocket Pricing

Spocket ได้รีวิวดีมากถึง 4.6/5.0 บน Shopify จากผู้รีวิวมากกว่า 1,900 คนครับ ทั้งนี้ Spocket ให้คุณลองใช้ฟรีได้ 14 วัน ลองใช้ได้เลยด้วยการกดปุ่มด้านล่างครับ

2. Oberlo

Oberlo เป็นอีกผู้บริการที่น่าสนใจมากในการหา dropship suppliers คุณภาพสูงเพื่อนำมาสินค้ามาขายบน Shopify (ทั้งนี้ Oberlo ไม่รองรับแพลตฟอร์มอื่นเลยครับ)

วิธีการใช้งานไม่ต่างกับ Spocket มากนัก โดยจะประกอบด้วย 4 ขั้นตอนได้แก่

  • สมัคร Oberlo และเชื่อมเข้ากับเว็บไซต์ Shopify ของคุณ
  • Import products – หา Product ที่คุณสนใจจาก Oberlo Dashboard ที่เชื่อมกับ AliExpress หรือคุณจะใช้ Chrome Extension ไป import จากเว็บไซต์ของ Aliexpress โดยตรงได้เหมือนกัน
  • Customize products – แก้ไขเนื้อหาของ product ให้ตรงกับความต้องการของคุณ และทำให้ดู professional มากยิ่งขึ้น รวมไปถึงจัดการราคา การจ่ายเงิน ฯลฯ
  • Order Products – เมื่อได้รับออเดอร์จากลูกค้าก็เข้าไปที่ Oberlo และกดสั่งออเดอร์ได้ทันที
การ search หาสินค้าสำหรับ Dropshipping สังเกตว่าคุณสามารถหาสินค้าบน AliExpress ได้จากแพลตฟอร์มของ Oberlo เลย

ลองดูวิธีการใช้งาน Oberlo ได้จากคลิปด้านล่างครับ (กด play ได้เลย)

สิ่งที่น่าสนใจในเครื่องมือของ Oberlo คือการเชื่อมกับ Aliexpress ที่จะทำให้คุณเข้าถึง supplier จำนวนมหาศาลได้ในชั่วพริบตา แต่ถ้าเอ่ยถึงความน่าเชื่อถือแล้ว คุณจะต้องตรวจสอบให้ดีและใช้ความรอบคอบเป็นพิเศษ เพราะ Oberlo ไม่ได้จัดการเองเรื่องสินค้าเหมือนกับ Spocket แต่เป็นการเชื่อมบุคคลที่ 3 (Aliexpress) เข้ามา ถ้าสนใจผมแนะนำให้อ่านบทความวิธีเลือกสินค้า dropship จาก Aliexpress ของ Oberlo ประกอบครับ

นอกจากนี้สินค้าบางชิ้นอาจจะส่งจากจีนทำให้ส่งไปยังสหรัฐอเมริกาหรือยุโรปใช้เวลา 2-3 สัปดาห์ แต่บางชิ้นส่งจากอเมริกาโดยตรง ทำให้ค่าใช้จ่ายในการส่งต่ำลงและส่งได้รวดเร็วขึ้นครับ

ราคาของ Oberlo

Oberlo คิดราคาเป็นแบบสมาชิก โดยประกอบด้วย 3 แพลนได้แก่

  • Starter – ฟรี
  • Basic – $29.90 หรือประมาณ 900 บาทต่อเดือน
  • Pro – $79.90 หรือประมาณ 2,400 บาทต่อเดือน

แบบ Starter ก็คือใช้ฟรีจริงๆ ครับ และมาพร้อมกับฟีเจอร์ส่วนใหญ่ด้วย แต่มีข้อเสียอย่างเดียวคือจำกัดสินค้าที่ import มาใน Shopify ได้แค่ 500 ชิ้นเท่านั้นครับ

ส่วนแบบ Basic จะเพิ่มสินค้าที่ import เป็น 10,000 ชิ้นและสามารถหาสินค้าที่มีลักษณะใกล้กันได้, สั่งสินค้าได้พร้อมๆ กันหลายสิบชิ้นในการคลิกครั้งเดียว, การ track order แบบ Real-time ฯลฯ ขณะที่แบบ Pro จะเพิ่มสินค้าที่ import เป็น 30,000 ชิ้น และใช้งานได้หลายคนครับ แต่ฟีเจอร์อื่นๆ เหมือนแบบแพลน Basic ทุกประการครับ

ในส่วนนี้ผมมองว่าถ้าจะใช้ Oberlo ลองใช้แบบ Starter ก่อนแล้วค่อยอัพเกรดเป็น Basic ก็เพียงพอแล้วครับ เพราะสินค้าจำนวนมากถึง 10,000 ชิ้นที่ import ลง Shopify นั้นแทบจะเรียกว่าเกินกว่าความต้องการของธุรกิจ dropshipping ส่วนใหญ่ครับ

รีวิว: Shopify – 4.2/5.0

3. Modalyst

Modalyst เป็นอีกแพลตฟอร์มหนึ่งที่รวบรวม dropshipping suppliers จำนวนมากสำหรับการ dropship บน Shopify ในปัจจุบัน Modalyst ให้บริการลูกค้าที่ทำธุรกิจ dropship มากกว่า 350,000 คนครับ

ทั้งนี้วิธีการการทำ dropship โดยใช้ Shopify ของ Modalyst นั้นไม่ต่างอะไรกับ Spocket และ Oberlo ผมจึงขออนุญาตไม่อธิบายซ้ำครับ

จุดแข็งของ Modalyst คือนอกจากคุณจะสามารถเชื่อมต่อกับแพลตฟอร์มกับ Aliexpress ได้แล้ว คุณยังสามารถเข้าถึง supplier คุณภาพจำนวนมากมายที่มาจากสหรัฐอเมริกาและยุโรปและมาลิสต์สินค้าไว้ในแพลตฟอร์ม Modalyst อีกด้วย ดังนั้นตัวเลือกของคุณจะหลากหลายขึ้น และสินค้าจาก supplier เหล่านี้จะมีคุณภาพมากกว่าของ Aliexpress อย่างชัดเจนครับ

ในเรื่องของฐานข้อมูลนั้น Modalyst ให้ข้อมูลที่ดีไม่แพ้ Spocket เพราะมีการคิดคำนวณกำไรมาให้เรียบร้อย และช่วยคุณประกอบการตัดสินใจว่าควรจะขายสินค้าดังกล่าวหรือไม่ อย่างรองเท้าคู่ด้านล่างทางแพลตฟอร์มจะแสดงให้เห็นเลยว่าได้กำไร $143.00 ต่อคู่ หลังจากหักทุกอย่างแล้ว

ตัวอย่าง Product Detail ใน Modalyst

ราคาของ Modalyst

Modalyst มีแพลนทั้งหมด 3 แพลนได้แก่

  • Hobby – ฟรี
  • Start Up – $35 หรือประมาณ 1,050 บาทต่อเดือน
  • Pro – $90 หรือประมาณ 2,700 บาทต่อเดือน

ราคานี้เป็นราคาเดือนต่อเดือน ถ้าจ่ายเป็นรายปีจะได้ส่วนลดประมาณ 25% อย่างไรก็ดีนี่ไม่ใช่ราคาเบ็ดเสร็จที่คุณต้องจ่ายให้ Modalyst เพราะคุณยังต้องจ่ายค่า Transaction Fee อีก 5% เมื่อมีการซื้อขายใดๆ เกิดขึ้นอีกด้วยครับ

ทุกแพลนไม่ว่าจะฟรีหรือไม่ฟรีจะได้ฟีเจอร์เหมือนกันหมดทุกอย่าง ไม่จะเป็นการตรวจสอบสินค้าของ supplier แบบ real-time, การ edit ข้อมูลสินค้าบน Shopify อย่างง่ายดาย, การ track สินค้าที่กำลังถูกส่ง ฯลฯ

สิ่งที่แตกต่างกันอย่างเดียวคือ สำหรับแพลน Hobby คุณจะ import สินค้าได้แค่ 25 ชิ้นจาก supplier ทั่วไป ส่วนแบบ Start Up จะอยู่ที่ 250 ชิ้นจาก supplier ทั่วไป ส่วนแบบ Pro จะไม่จำกัด และเข้าถึง supplier แบบพรีเมียมที่เป็นแบรนด์ดังๆได้ด้วยครับ

ถ้าดูจากแบบนี้ ผมมองว่า Pro น่าสนใจที่สุดครับ เพราะคุณจะขายสินค้าคุณภาพสูงได้เพิ่มมากขึ้นเยอะเลย และยังไม่มีข้อจำกัดใดๆ อีกแล้วด้วยครับ

รีวิว: Shopify 4.4/5.0

สรุป: ทำ dropship บน Shopify จะหา supplier ที่ไหนดี

คุณสามารถใช้แพลตฟอร์มทั้งสามร่วมกันได้ในเว็บไซต์ Shopify ของคุณครับ เพราะฉะนั้นจริงๆ แล้วคุณไม่จำเป็นต้องเลือกครับ

อย่างไรก็ดีถ้าให้เลือกจริงๆ ผมมองว่า…

ถ้าคุณเน้น dropship สินค้าคุณภาพไปที่ลูกค้าอเมริกันและยุโรป Spocket เป็นทางเลือกที่น่าสนใจมาก เพราะคุณสามารถจัดส่งสินค้าให้ลูกค้าอย่างรวดเร็ว แถมโดยรวมแล้วสินค้ายังมีคุณภาพดีอีกด้วย ข้อเสียคือไม่มีให้ใช้ฟรีนั่นเองครับ

สำหรับใครที่อยากทำ dropship กับ Aliexpress ผมมองว่า Oberlo กับ Modalyst เป็นตัวเลือกที่น่าสนใจทั้งคู่ แต่ถ้าจะสมัครแบบเสียเงินแล้ว ผมว่า Modalyst ดีกว่าเพราะสามารถ dropship สินค้าแบรนด์เนมได้ และไม่มีข้อจำกัดจำนวนสินค้าที่ import แถมคลังสินค้าโดยรวมก็ยังใหญ่กว่า Oberlo ด้วย

ส่วนมือใหม่จริงๆ ที่เพิ่งเข้ามาลงทำ dropship กับ Shopify แน่นอนว่าคุณควรลองใช้แพลนฟรีของ Oberlo และ Modalyst ก่อน นอกจากนี้ผมมองว่า Oberlo มีแพลตฟอร์มที่สอนมือใหม่ได้ดีมากในเรื่อง dropshipping ผมจึงแนะนำให้ไปศึกษาก่อนครับ

บทความการศึกษา

Victory Tale ไม่อนุญาตให้คัดลอกบทความไปโพสที่ใดทุกกรณี การฝ่าฝืนมีโทษทางกฎหมาย

error: Content is protected !!