ประวัติศาสตร์3 นักเขียนรัสเซียที่เคยโดนจับเข้า "คุก" ในสมัยราชวงศ์โรมานอฟ

3 นักเขียนรัสเซียที่เคยโดนจับเข้า “คุก” ในสมัยราชวงศ์โรมานอฟ

ในช่วงปลายศตวรรษที่ 18 ถึงต้นศตวรรษที่ 20 ปัญญาชนรัสเซียทั่วไปต้องการให้มีการปฏิรูปประเทศให้ทันสมัย เพราะปัญหาในประเทศนั้นมากเหลือเกิน ประชาชนถูกกดขี่โดยชนชั้นนำและปราศจากสิทธิเสรีภาพอย่างสิ้นเชิง ศักยภาพการผลิตนั้น รัสเซียก็ไม่อาจเทียบชาติตะวันตกได้ ทั้งๆที่รัสเซียมีทรัพยากรมากกว่าประเทศเหล่านั้นอย่างมากมาย

ด้วยความที่ซาร์และซาริซาแห่งรัสเซียปกครองประเทศอย่างเบ็ดเสร็จ การเรียกร้องให้ปฏิรูปประเทศโดยให้ประชาชนมีเสรีภาพจึงเท่ากับประกาศเป็นศัตรูกับรัฐบาลไปโดยปริยาย

รัฐบาลซาร์ไม่เคยลังเลที่จะเซ็นเซอร์หนังสือต่างๆ อย่างเข้มงวด แต่ก็ยังไม่วาย มีผู้กล้าเขียนหนังสือเหล่านี้ออกมาอยู่ดี สิ่งที่พวกเขาได้รับคือการถูกโยนเข้าไปในคุกนั่นเอง

เรามาดูกันดีกว่านักเขียนรัสเซียคนใดบ้างที่เคยโดนจับโยนเข้าคุก

1. Alexander Radishchev

อเล็กซานเดอร์ นิคาลาเยวิช ราดิชเชฟ (Алекса́ндр Никола́евич Ради́щев) เป็นนักเขียนคนแรกๆ ที่โดนจับโยนเข้าคุก ราดิชเชฟเกิดในตระกูลอภิสิทธิ์ชนระดับล่างในช่วงกลางศตวรรษที่ 18 เขาได้รับการศึกษาอย่างดีและเป็นถึงนักเรียนทุนด้วย

ราดิชเชฟ

ราดิชเชฟจบการศึกษาจากมหาวิทยาลัยไลป์ซิกในเยอรมนี ทำให้ราดิชเชฟได้รับอิทธิพลของแนวคิด enlightenment หรือเรื่องสิทธิเสรีภาพของยุโรปตะวันตกมาอย่างเต็มๆ

เมื่อกลับมาถึงรัสเซีย ราดิชเชฟได้เป็นนักเขียน เขาเป็นนักเขียนที่มีฝีมือคนหนึ่ง เขาส่งโคลงกลอนให้กับสำนักพิมพ์และได้รับการตีพิมพ์เป็นประจำ

ในปี ค.ศ.1790 ราดิชเชฟก็ทำเรื่องด้วยการตีพิมพ์หนังสือเรื่อง “Journey from St.Petersburg to Moscow” หรือชื่อภาษารัสเซียว่า Путешествие из Петербурга в Москву

ภายในหนังสือ ราดิชเชฟเล่าเรื่องการเดินทางของเขาจากเซนต์ปีเตอร์สเปิร์กจากมอสโก แต่จริงๆ แล้วเขาสมมติทุกอย่างขึ้นมาเพื่อแซะระบอบอัตตาธิปไตย (autocracy) ของรัสเซีย

นั่นเป็นสิ่งที่ไม่มีใครกล้าทำมาก่อนเลย!

การแซะระบอบอัตตาธิปไตยของรัสเซียเทียบเท่ากับการโจมตีซาริซาแคทเทอรีนมหาราชที่ปกครองรัสเซียอยู่ในขณะนั้น หนังสือดังกล่าวจึงดังมากในหมู่ปัญญาชน ในเวลาไม่นานหนังสือเล่มดังกล่าวก็ไปถึงมือแคทเทอรีน

เมื่อแคทเทอรีนอ่านจบก็โกรธมาก เธอด่าราดิชเชฟทันทีว่า

พวกกบฏ เลวยิ่งกว่าพูกาเชฟ!

สาเหตุที่แคทเทอรีนโกรธเช่นนั้น เพราะเธอมองว่าข้อเสนอของราดิชเชฟในหนังสือไม่ต่างอะไรกับพวก Jacobin พวกหัวรุนแรงในการปฏิวัติฝรั่งเศส แคทเทอรีนจึงตวาดว่าราดิชเชฟชั่วร้ายกว่าพูกาเชฟซึ่งเป็นกบฏจริงๆ เสียอีก

หนังสือของราดิชเชฟถูกแบนทันทีทั่วทั้งจักรวรรดิรัสเซีย ราดิชเชฟถูกจับกุมเข้าคุกและถูกตัดสินให้ได้รับโทษประหารชีวิต แต่ราดิชเชฟขออภัยโทษได้เป็นผลสำเร็จ แคทเทอรีนจึงไว้ชีวิตเขาและเนรเทศราดิชเชฟไปไซบีเรียเป็นเวลาสิบปี

ราดิชเชฟประสบกับความยากลำบากมากมาย แต่ก็เอาตัวรอดมาได้ ด้วยความที่เป็นคนฉลาด เขาศึกษาตำราแพทย์ด้วยตนเอง และช่วยชีวิตนักโทษด้วยกันไว้หลายคน ราดิชเชฟรอดจากโทษคุมขัง แต่เขากลับฆ่าตัวตายในเวลาต่อมา

2. Fyodor Dostoevsky

ฟยอดอร์ มิคาโลวิช โดสทาเยฟสกี้ (Фёдор Михайлович Достоевский) เป็นนักเขียนชื่อดังของรัสเซีย ผลงานของเขาเป็นหนึ่งในวรรณกรรมชิ้นเอกที่มีชื่อเสียงที่สุดของรัสเซีย

โดสทาเยฟสกี้

หากแต่ว่าช่วงหนึ่งนักเขียนชื่อดังผู้นี้ต้องไปอยู่ในคุก ปีนั้นเป็นปี ค.ศ.1846 เขามีอายุได้ 25 ปีเท่านั้น แต่มีชื่อเสียงในหมู่นักเขียนในระดับหนึ่งแล้วจากการตีพิมพ์นิยายเรื่อง “Poor Folk” และ “The Double”

โดสทาเยฟสกี้ได้ไปเข้าร่วมงานสัมมนาของมิคาอิล เปตราเชฟสกี้ แพทย์นายหนึ่งที่ผันตัวเป็นนักปฏิวัติทุกวันศุกร์ สมาคมนี้เป็นสมาคมลับเพราะสิ่งที่พวกเขาถกเถียงกันล้วนแต่เสี่ยงคุกทั้งสิ้น ตั้งแต่การยกเลิกระบบเซิร์ฟ (คล้ายไพร่ในอยุธยา) ไปจนถึงการเปลี่ยนระบอบ นอกจากนี้ยังมีการแบ่งปันหนังสือที่ถูกแบนอีกด้วย

ในวันหนึ่งตำรวจจึงเข้าจับกุมทุกคนในสมาคมซึ่งรวมไปถึงโดสทาเยฟสกี้ด้วย เขาถูกคุมขังอยู่ในคุกเป็นเวลานานถึงแปดเดือน และถูกสั่งให้รับโทษประหารชีวิต เจ้าหน้าที่นำโดสทาเยฟสกี้ไปที่ลานประหารเพื่อที่จะประหารชีวิตเขาด้วยการยิงเป้า

ในวินาทีสุดท้าย เรื่องน่าเหลือเชื่อก็เกิดขึ้น ซาร์นิโคลัสที่ 1 มีรับสั่งให้ไว้ชีวิตพวกเขา และส่งตัวไปรับโทษที่ไซบีเรียแทน ทำให้โดสทาเยฟสกี้เอาชีวิตรอดมาได้อย่างหวุดหวิด!

โดสทาเยฟสกี้ถูกส่งให้ไปทำงานหนักที่ไซบีเรียเป็นเวลาสี่ปี ตามมาด้วยการถูกบังคับให้เข้ากรมทหารเป็นเวลาอีกนานหลายปี เขารอดชีวิตมาได้และนำประสบการณ์ดังกล่าวมาเขียนเป็นนิยายที่มีชื่อเสียงมากอีกหลายเรื่อง

3. Nikolai Chernyshevsky

นิโคไลย์ กาวริโลวิช เชอร์นีเชฟสกี้ (Никола́й Гаврилович Черныше́вский) เป็นนักเขียนคนสำคัญของรัสเซีย งานเขียนของเขามีอิทธิพลยิ่งต่อวลาดิเมียร์ เลนิน จนถึงกับทำให้เลนินเขียนหนังสือชื่อเดียวกันออกมา

เชอร์นีเชฟสกี้

เชอร์นีเชฟสกี้มีบทบาทสำคัญในการเผยแพร่แนวคิดหัวก้าวหน้าและสังคมนิยม เขาสอนภาษาและวรรณกรรมรัสเซียอยู่ที่เมืองซาราตอฟ ทางตอนใต้ของรัสเซีย ต่อมาเขาได้เป็นบรรณาธิการของนิตยสารชื่อ Sovremennik

การเขียนวิพากษ์วิจารณ์และสนับสนุนการปฏิรูปของการเมืองของเชอนีเชฟสกี้นี่เองเป็นสาเหตุที่เขาต้องโดนอัปเปหิไปอยู่ในคุกในปี ค.ศ.1862

ระหว่างที่อยู่ในคุกที่ป้อมปีเตอร์แอนด์พอล เชอนีเชฟสกี้ได้เขียนนิยายที่โด่งดังมากๆ ชื่อ “What is to Be Done” หรือ Что делать? เพื่อโต้ตอบ Father and Sons ผลงานของอีวาน ตูกาเนฟ นักเขียนรัสเซียชื่อดังอีกคนหนึ่ง

นิยายของเชอนีเชฟสกี้ประสบความสำเร็จมาก มันได้สร้างแรงบันดาลใจให้กับคนหนุ่มชาวรัสเซียมากมายมหาศาล โดยเฉพาะวลาดิเมียร์ เลนินและพวกปัญญาชนอื่นๆ

เชอนีเชฟสกี้รอดชีวิตมาจากคุกได้หลังถูกเนรเทศไปยังไซบีเรียเป็นเวลานานสิบกว่าปี สุดท้ายเขาก็ได้รับอนุญาตให้กลับมาที่บ้านได้ เขาเสียชีวิตด้วยโรคมาลาเรียในปี ค.ศ.1889 เขามีอายุได้ 61 ปี

Sources:

บทความการศึกษา

Victory Tale ไม่อนุญาตให้คัดลอกบทความไปโพสที่ใดทุกกรณี การฝ่าฝืนมีโทษทางกฎหมาย

error: Content is protected !!