ประวัติศาสตร์วาระสุดท้ายของศากยวงศ์ พระญาติวงศ์ของพระพุทธเจ้า ตอนแรก

วาระสุดท้ายของศากยวงศ์ พระญาติวงศ์ของพระพุทธเจ้า ตอนแรก

ศากยวงศ์หรือพวกเจ้าศากยะในพุทธประวัติที่เราเรียนๆ กันมาเป็นพระญาติวงศ์ฝั่งพระบิดาของพระพุทธเจ้า พระบิดาของพระพุทธเจ้าทรงพระนามว่า พระเจ้าสุทโธทนะ พระองค์ทรงครอบครองกรุงกบิลพัลดุ์ (Kapilavastu) พระพุทธเจ้าทรงเคยเสด็จไปโปรดพระญาติวงศ์ ทำให้มีผู้เลื่อมใสจำนวนมาก และพากันออกบวช และได้สำเร็จเป็นพระอรหันต์มากมาย

หากแต่ว่าในบทเรียนไม่เคยสอนว่า ศากยวงศ์จบสิ้นไประหว่างที่พระพุทธเจ้ายังทรงมีพระชนม์ชีพอยู่ด้วยซ้ำไป! สาเหตุน่าจะเป็นเพราะว่าเรื่องมันรุนแรงเกินไปที่จะนำมาสอนนักเรียนก็เป็นได้

แต่ทว่าเรื่องดังกล่าวกลับสอนใจพุทธศาสนิกชนอย่างดีในเรื่องของกฎแห่งกรรมที่เหนือกว่าสิ่งอื่นใด เมื่อกระทั่งองค์พระพุทธเจ้าเอง

ที่มาของศากยวงศ์

ในหลักฐานทางประวัติศาสตร์ รัฐศากยะแท้จริงแล้วเป็นรัฐเล็กๆ อยู่ทางตอนเหนือของอินเดีย รัฐนี้มีการปกครองแบบสาธารณรัฐ (Republic) หรือ สภาของชนชั้นสูงที่เรียกว่า สัณฑการ (Santhagara) เหล่าสมาชิกสภาจะเลือกผู้นำของตนขึ้นมาดำรงตำแหน่ง “ราชา” (Raja) หรือผู้นำสูงสุดของรัฐศากยะ

ตำแหน่ง “ราชา” นี้ถึงแม้จะมีอิทธิพลมากในการเมืองภายในรัฐศากยะ ไม่ได้ “ราชา” มีอำนาจเต็มเหมือนกับกษัตริย์ทั่วไป การตัดสินใจต่างๆ จะต้องผ่านสภาสัณฑการแห่งนี้เสียก่อน สภาแห่งนี้ยังไม่ได้ใช้ระบบเสียงส่วนใหญ่อีกด้วย แต่ใช้ระบบ consensus หรือเป็นเอกฉันท์ ทุกคนในสภาต้องเห็นเป็นเอกฉันท์ “ราชา” ถึงจะสั่งการให้ลงมือทำสิ่งใดได้

ในสมัยพระพุทธเจ้า แคว้นศากยะเป็นเมืองขึ้นของอาณาจักรโกศล (Kosala) ที่มีเมืองหลวงอยู่ที่สาวัตถี ดังนั้นผู้ที่ขึ้นมาดำรงตำแหน่ง “ราชา” ต้องผ่านการยอมรับจากกษัตริย์แห่งแคว้นโกศลเสียก่อน ผู้ที่ดำรงตำแหน่ง “ราชา” เมื่อพระพุทธเจ้าทรงประสูติคือ ราชาสุทโธทนะ หรือที่หลักฐานพุทธเรียกว่า “พระเจ้าสุทโธทนะ” นั่นเอง

พระเจ้าสุทโธทนะแห่งศากยวงศ์ Cr: Nomu420

ดังนั้นเมื่อเจ้าชายสิทธัตถะยังเยาว์ และได้รับคำทำนายว่าจะเป็นพระเจ้าจักรพรรดิ หรือ ศาสดาเอกของโลก พระเจ้าสุทโธทนะจึงทรงตื่นเต้นมากและปรารถนาให้เป็นเช่นอย่างแรก เพราะรัฐของพระองค์เป็นเพียงรัฐเล็กๆ การสืบทอดตำแหน่ง “ราชา” ก็ผ่านจากการเลือก ไม่ได้เป็นการสืบทอดจากพ่อสู่ลูก

ถ้าเจ้าชายสิทธัตถะได้เป็นพระเจ้าจักรพรรดินั่นแสดงว่า พระโอรสได้ขึ้นครองบัลลังก์เป็นกษัตริย์ที่มีอำนาจเต็ม ปลดแอกรัฐจากการเป็นรัฐบริวารของอาณาจักรโกศล และแผ่อิทธิพลไปกว้างใหญ่ไพศาลนั่นเอง

กำเนิดวิฑฑูภะ

หลังจากที่พระพุทธเจ้าประกาศศาสนาแล้ว พระองค์ได้เสด็จไปโปรดพระญาติวงศ์ครั้งหนึ่ง ต่อมาก็ได้เสด็จไปโปรดพระเจ้าสุทโธทนะก่อนที่พระองค์จะสวรรคต พระเจ้าสุทโธทนะบรรลุเป็นพระอรหันต์และได้นิพพานหลังจากนั้นไม่นาน บรรดาเจ้าศากยะในสภาจึงเลือกเจ้าชายมหานามเป็น “ราชา” พระองค์ใหม่สืบต่อจากพระเจ้าสุทโธทนะ

ขณะนั้นพระพุทธเจ้าประทับอยู่ที่เมืองสาวัตถี เมืองหลวงของแคว้นโกศล พระเจ้าปเสนทิโกศลทรงเลื่อมใสในพระพุทธองค์มาก พระองค์ปรารถนาที่จะดองญาติกับพระพุทธองค์ พระเจ้าปเสนทิโกศลจึงส่งทูตไปสู่ขอธิดาจากรัฐศากยะ

พวกเจ้าศากยะนิยมแต่งงานกันเองในหมู่ชนชั้นสูง และถือว่าตนเองสืบเชื้อสายมาจากราชวงศ์ Ikshvaku ซึ่งเป็นวงศ์ของพระราม (ในรามเกียรติ์นั่นแหละครับ) พวกเจ้าศากยะจึงไม่ปรารถนาที่จะมอบธิดาให้กับพระเจ้าปเสนทิโกศล เพราะดูถูกว่าบรรพบุรุษของพระเจ้าปเสนทิโกศลไม่เสมอกัน

พระเจ้าปเสนทิโกศลเสด็จไปเข้าเฝ้าพระพุทธเจ้า

หากแต่ว่าเจ้าศากยะจะให้ก็ไม่ได้ เพราะในเวลานั้นรัฐศากยะเป็นเมืองขึ้นของอาณาจักรโกศล ไปทำอะไรให้พระเจ้าปเสนทิโกศลพิโรธขึ้นมาคงจะไม่ดี

พระเจ้ามหานามจึงตรัสกลางสภาว่า พระองค์ทรงมีพระธิดานางหนึ่งชื่อ วาสภขัตติยา ธิดาคนนี้เกิดกับนางทาสี แต่หน้าตางดงามมาก พวกเจ้าศากยะจึงตกลงว่าจะมอบนางให้กับพระเจ้าปเสนทิโกศลไป

การที่นางวาสภขัตติยาเป็นพระธิดาของพระเจ้ามหานามซึ่งเป็นวรรณะกษัตริย์ กับนางทาสี ซึ่งเป็นวรรณะศูทร นั่นทำให้เธอเป็นจัณฑาล หรือ บุคคลที่ไม่ควรยุ่งเกี่ยว เจ้าศากยะจึงคิดจะมอบพระธิดาที่มีสถานะต่ำต้อยที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ให้กับพระเจ้าปเสนทิโกศล

พวกเจ้าศากยะจึงบอกทูตไปว่าจะมอบนางวาสภขัตติยาให้ แต่ไม่ได้บอกเรื่องมารดาของนางว่าเป็นผู้ใด ทูตกลับไปที่แคว้นโกศลทันที และทูลให้พระเจ้าปเสนทิโกศลทราบ ฝ่ายพระเจ้าปเสนทิโกศลก็เกรงๆ เหมือนกันว่า เจ้าศากยะจะใช้ส่งพระธิดาของนางทาสีมามอบให้ พระองค์จึงสั่งให้ทูตกลับไปบอกพวกศากยะว่า

พระราชาทรงปรารถนาพระธิดาผู้เสวยร่วมกับพระองค์

อรรถกถา ขุททกนิกาย คาถาธรรมบท ปุปผวรรคที่ ๔

การที่เป็นจัณฑาล พระธิดาย่อมเสวยภาชนะร่วมกับพระบิดาไม่ได้อยู่แล้ว แต่พวกเจ้าศากยะก็เจ้าเล่ห์ทำเป็นแสดงละครเรียกนางวาสภขัตติยามาเสวยร่วมกับพระเจ้ามหานามให้ทูตโกศลเห็น ทูตได้เห็นก็หลงเชื่อ หลังจากนั้นจึงนำเสด็จนางไปยังเมืองสาวัตถี

พระเจ้าปเสนทิโกศลทรงไม่ทราบความ เมื่อได้เห็นนางวาสภขัตติยาก็โปรดปราน พระองค์ให้นางเป็นพระอัครมเหสี อีกไม่นานพระนางก็ประสูติพระโอรส ทรงมีพระนามว่า วิฑฑูภะ (Viḍūḍabha)

วิฑฑูภะเยี่ยมญาติฝ่ายแม่

พระเจ้าปเสนทิโกศลทรงโปรดปรานพระโอรสยิ่งนัก จนกระทั่งพระโอรสทรงมีพระชนมายุได้ 7 ขวบ เจ้าชายวิฑฑูภะตรัสถามพระมารดาว่า

เจ้าแม่ ใครๆ เขาก็นำบรรณาการมาจากตระกูลยายเพื่อพวกกุมารเหล่าอื่น, พระญาติไรๆ ย่อมไม่ส่งบรรณาการไรๆ มาเพื่อหม่อมฉัน (บ้างเลย), เจ้าแม่ไม่มีพระชนนีพระชนกหรือ?

เจ้าชายวิฑฑูภะ, อรรถกถา ขุททกนิกาย คาถาธรรมบท ปุปผวรรคที่ ๔

พระนางวาสภขัตติยาจึงอ้างว่าพระญาติฝ่ายมารดามีอยู่ แต่ศากยวงศ์อยู่ไกลไม่อาจส่งของมาได้ เจ้าชายวิฑฑูภะยังเด็กจึงยังไม่ได้สนใจอะไรเท่าไรนัก

จนกระทั่งพระองค์อายุได้ 16 ปี เจ้าชายปรารถนาจะไปเยี่ยมญาติพี่น้องฝ่ายมารดา พระนางวาสภขัตติยาพยายามห้ามว่าอย่าไปเลย แต่ก็ไม่เป็นผล เจ้าชายวิฑฑูภะยืนกรานว่าจะเสด็จไป พระเจ้าปเสนทิโกศลเองก็ทรงอนุญาต

หลังจากเจ้าชายเสด็จออกจากเมืองสาวัตถีไปแล้ว พระนางวาสภขัตติยาดำริว่าจำต้องเตือนพวกเจ้าศากยะให้ทราบความเสียก่อน พระนางจึงเร่งให้คนสั่งจดหมายไปบอกเจ้าศากยะขอให้อย่าแสดงท่าทีรังเกียจเจ้าชายวิฑฑูภะ

พวกเจ้าศากยะประชุมกันแล้วดำริว่า พวกตนไม่อาจไหว้เจ้าชายวิฑฑูภะที่มีฐานะต่ำกว่าได้ เพราะแม่ของพระองค์เป็นลูกสาวนางทาสี ดังนั้นพวกเจ้าศากยะที่อายุต่ำกว่าเจ้าชายวิฑฑูภะที่ตามปกติแล้วต้องยกมือไหว้เจ้าชายหนุ่มจึงถูกส่งไปอยู่ชนบทเสียหมด

เมื่อเจ้าชายวิฑฑูภะมาถึงกรุงกบิลพัลดุ์ เจ้าศากยะก็ต้อนรับเป็นอย่างดี และแนะนำพระญาติวงศ์ให้รู้จักมากมาย เจ้าชายวิฑฑูภะไหว้เจ้าศากยะไปทุกคนตลอดทั้งวัน ในพระทัยกลับสงสัยว่าทำไมไม่มีเจ้าศากยะสักคนหนึ่งที่ไหว้ตนเลย เจ้าชายวิฑฑูภะจึงตรัสถามพวกเจ้าศากยะ

เจ้าศากยะพากันตอบว่า พระกุมารทั้งหลายที่อายุน้อยกว่าเจ้าชายวิฑฑูภะต่างเสด็จไปอยู่ชนบท เจ้าชายวิฑฑูภะประทับอยู่ที่กรุงกบิลพัลดุ์ได้สามวันก็เตรียมการเสด็จกลับ

พระพุทธเจ้าทรงมีอีกพระนามว่า พระพุทธเจ้าศากยมุนี คำว่าศากยมุนีแปลว่า ปราชญ์แห่งพวกศากยะ

ความแตก

ระหว่างที่เจ้าชายวิฑฑูภะกำลังเสด็จกลับ มหาดเล็กของพระองค์กลับลืมอาวุธไว้ในวัง เขาจึงรีบเร่งกลับเข้าไปเอา ตอนที่เขากลับเข้าไปนำอาวุธนี้เอง เขาได้ยินเสียงรังเกียจเจ้าชายวิฑฑูภะออกมาจากในห้องหับ

แท้จริงแล้ว หลังจากที่วิฑฑูภะออกไปแล้ว เจ้าศากยะได้สั่งให้พวกนางทาสีนำน้ำผสมกับน้ำนมมาล้างบริเวณที่เจ้าชายวิฑฑูภะเคยประทับนั่งอยู่ทั้งหมด พวกนางทาสีพากันพูดขึ้นว่านี่เป็นแผ่นกระดานที่บุตรนางทาสีที่ชื่อนางวาสภขัตติยานั่งบ้าง มหาดเล็กคนนั้นจึงไปสอบถามจนสุดท้ายได้ความว่า แท้จริงแล้ว นางวาสภขัตติยาเป็นธิดานางทาสีกับพระเจ้ามหานาม

ความทราบไปถึงไพร่พลเมืองโกศลทั้งปวง และตัวเจ้าชายวิฑฑูภะเองด้วย

เจ้าชายวิฑฑูภะพิโรธจนแทบสิ้นสติ พระองค์ทรงลั่นวาจาว่า

เจ้าศากยะเหล่านั้น จงล้างแผ่นกระดานที่เรานั่งด้วยน้ำเจือด้วยน้ำนมก่อน, แต่ในกาลที่เราดำรงราชสมบัติแล้ว เราจักเอาเลือดในลำคอของเจ้าศากยะเหล่านั้น ล้างแผ่นกระดานที่เรานั่ง

เจ้าชายวิฑฑูภะ, อรรถกถา ขุททกนิกาย คาถาธรรมบท ปุปผวรรคที่ ๔

เรื่องจะเป็นไปอย่างไรต่อไป ติดตามได้ในตอนหน้าครับ

บทความการศึกษา

Victory Tale ไม่อนุญาตให้คัดลอกบทความไปโพสที่ใดทุกกรณี การฝ่าฝืนมีโทษทางกฎหมาย

error: Content is protected !!