ประวัติศาสตร์เฉินซูเป่า ทรราชระดับคลาสสิค หลงนารีและบทกวีจนแว่นแคว้นพินาศ

เฉินซูเป่า ทรราชระดับคลาสสิค หลงนารีและบทกวีจนแว่นแคว้นพินาศ

ถ้าเอ่ยถึงทรราชระดับคลาสสิคในประวัติศาสตร์จีนแล้ว คนที่มักจะถูกพูดถึงอยู่บ่อยๆ ก็คือโจ้วหวางแห่งราชวงศ์ซางหรือสุยหยางตี้ แห่งราชวงศ์สุยแต่จริงๆ แล้วก็มีอีกหลายคนที่ควรถูกจัดลำดับอยู่ในหมวดดังกล่าวด้วยกัน

คนที่ผมจะเล่าถึงในบทความนี้ก็คือเฉินซูเป่า (Chen Shubao) จักรพรรดิ (ฮ่องเต้) พระองค์สุดท้ายของราชวงศ์เฉิน ซึ่งจริงๆ แล้ว เขาไม่ใช่คนเลวร้ายอะไรนัก แต่หนักไปทางเกียจคร้าน โง่เขลา ไม่เอางานเอาการเสียมากกว่า ราชวงศ์ก็เลยถึงกาลอวสาน

เราไปดูกันดีกว่าครับว่าชีวิตของเฉินซูเป่าเป็นอย่างไร?

ชาติกำเนิด

ชาติกำเนิดของเฉินซูเป่าไม่ได้เกิดเป็นเชื้อพระวงศ์หรือใส่ร่มผ้ากาสาวพักตร์แต่อย่างใด เขาเป็นบุตรชายของเฉินซี่ว์ ข้าราชการระดับกลางของราชวงศ์เหลียงเพียงเท่านั้น

หลายคนอาจจะไม่เคยได้ยินชื่อราชวงศ์เหลียงมาก่อน ราชวงศ์เหลียงในที่นี้คือหนึ่งในราชวงศ์ช่วงยุคราชวงศ์เหนือใต้ ซึ่งเป็นช่วงเวลาหลังจากยุคหลังราชวงศ์จิ้นตะวันตก (ที่รวบรวมสามก๊กได้เป็นหนึ่ง) และราชวงศ์สุย หรือช่วงเวลาประมาณ ค.ศ.300-580 ดินแดนจีนจะไม่ได้รวมเป็นหนึ่ง แต่จะแยกออกเป็นเหนือใต้ ต่อสู้แย่งชิงอำนาจกัน

อย่างในรูปด้านล่างจะเป็น ช่วงกลางราชวงศ์เหลียง เราจะเห็นว่าภาคเหนือถูกแบ่งออกเป็นสองส่วน ส่วนภาคใต้นั้นปกครองโดยราชวงศ์เหลียงทั้งหมด

แผนที่ประเทศจีนช่วงกลางศตวรรษที่ 6 By SS (CC by SA 4.0)

ยิ่งไปกว่านั้น ภายในแคว้นเดียวกันก็แย่งชิงอำนาจกันด้วย ทุกๆ แว่นแคว้นในยุคนี้ต่างมีการต่อสู้แย่งชิงอำนาจกันอย่างโหดเหี้ยม ดังนั้นเราแทบจะพูดได้ว่าช่วงเวลานี้เป็นช่วงที่เละที่สุดในประวัติศาสตร์จีนช่วงหนึ่ง

ช่วงที่เฉินซูเป่าเกิดเป็นช่วงปลายราชวงศ์เหลียง ดังนั้นราชวงศ์เหลียงจึงประสบกับปัญหาความวุ่นวาย และมีการก่อกบฏมากมายในอาณาจักร ราชสำนักเหลียงสูญเสียการควบคุมหัวเมืองต่างๆ ไปจนสิ้น

ดังนั้นราชวงศ์เว่ยตะวันตกจึงฉวยโอกาสโจมตี และตีเมืองหลวงของราชวงศ์เหลียงได้สำเร็จ เฉินซีว์บิดาของเขาตลอดจนเฉินซูเป่า และครอบครัวคนอื่นๆ จึงถูกจับกุมส่งตัวไปยังฉางอาน เมืองหลวงของราชวงศ์เว่ยตะวันตก

อย่างไรก็ดีเฉินซูเป่ากับแม่กลับถูกทิ้งไว้ที่เมืองแห่งหนึ่งในเหอหนานอย่างไม่ทราบสาเหตุ ดังนั้นครอบครัวของเฉินซูเป่าจึงบ้านแตกสาแหรกขาดตั้งแต่ยังเป็นเด็ก ทั้งหมดก็เพราะสาเหตุทางการเมืองนั่นเอง

กลับบ้านเกิด

ระหว่างที่เฉินซูเป่าอยู่ที่ดินแดนของราชวงศ์เว่ยตะวันตก เฉินปาเซี่ยน ลุงของเขาได้แย่งราชสมบัติฮ่องเต้เหลียงได้สำเร็จ และสถาปนาราชวงศ์เฉินขึ้น เฉินปาเซี่ยน (เฉินหวู่ตี้) ได้เจรจาขอให้ราชวงศ์เว่ยตะวันตกส่งตัวเฉินซี่ว์และครอบครัวกลับคืนมา

ราชวงศ์เว่ยตะวันตกไม่ได้ปฏิเสธ แต่ก็ทำทีเชื่องช้าไม่ยอมให้เฉินซี่ว์และครอบครัวกลับอาณาจักรเฉินเสียที สาเหตุก็คงเดาไม่ยาก นั่นคือจะใช้เฉินซี่ว์เป็นตัวประกัน และใช้เขาในการเจรจาต่อรองกับราชสำนักเฉินเพื่อผลประโยชน์ทางการเมือง

ผ่านไปสามปีหลังจากการเจรจา เฉินซี่ว์ก็ยังไม่ได้กลับเฉิน ในเวลานั้นเฉินปาเซี่ยนสวรรคตไปแล้ว บัลลังก์จึงตกอยู่กับเฉินเหวินตี้ (ชื่อเดิมเฉินเชี่ยน) เชื้อพระวงศ์ชายหนึ่งเดียวที่เหลืออยู่ของราชวงศ์เฉิน (คนอื่นถูกจับกุมโดยราชวงศ์เว่ยตะวันตกหลังจากเมืองหลวงราชวงศ์เหลียงแตก)

เฉินเหวินตี้เป็นพี่ชายแท้ๆ ของเฉินซี่ว์ ดังนั้นหลังจากที่ได้บัลลังก์ เขาจึงทำทุกอย่างเพื่อให้น้องชายกลับแว่นแคว้นของตน ท้ายที่สุดราชสำนักเฉินจึงยินยอมแลกเมืองแห่งหนึ่งให้กับเว่ยตะวันตกเพื่อแลกเฉินซี่ว์และครอบครัวกลับมา ด้วยเหตุนี้เฉินซูเป่าจึงได้เดินทางกลับเฉิน หลังจากที่อยู่ในดินแดนเว่ยตะวันตกนานถึง 8 ปี

ขึ้นเป็นรัชทายาท

เฉินซี่ว์ได้รับการไว้ใจจากพี่ชาย และได้มีโอกาสดำรงตำแหน่งสำคัญๆ ตัวเฉินซี่ว์นี้มีสติปัญญาในระดับหนึ่ง เขามีส่วนทำให้เฉินเข้มแข็งขึ้น และฟื้นฟูความเสียหายจากเหตุการณ์ความวุ่นวายช่วงปลายราชวงศ์เหลียง

ในปี ค.ศ.566 เฉินเหวินตี้ประชวรหนักจวนจะสวรรคต เขาเห็นว่า เฉินโป๋จงบุตรชายของตนมีบุคลิกอ่อนแอไม่น่าจะเป็นฮ่องเต้ได้ เฉินเหวินตี้จึงคิดจะมอบบัลลังก์ให้เฉินซี่ว์ แต่เฉินซี่ว์กลับปฏิเสธ สุดท้ายแล้วเฉินโป๋จงจึงขึ้นครองราชย์เป็นฮ่องเต้ ขณะที่ราชสำนักเฉินอยู่ในกำมือของเฉินซี่ว์ ตามคำสั่งเสียของเฉินเหวินตี้

ช่วงแรกเฉินซี่ว์ก็บริหารราชการแผ่นดินแทนฮ่องเต้ได้ดีอยู่ แต่ในราชสำนักกลับมีคนยุยงฮ่องเต้หนุ่มให้ลงมือจัดการเฉินซี่ว์เสีย ดังนั้นเมื่อได้ทราบข่าว เฉินซี่ว์จึงฉวยโอกาสลงมือก่อน เขานำทหารบุกเข้าวังและออกพระบรมราชโองการในนามของไท่หวงไท่โฮ่ว (ย่าของฮ่องเต้) ว่าเฉินโป๋จง ฮ่องเต้พระองค์ใหม่คบคิดกับพรรคพวกจะกำจัดตน ซึ่งเป็นผู้ที่เฉินเหวินตี้ปรารถนาจะให้ครองบัลลังก์แต่ก่อน ด้วยพฤติกรรมเช่นนี้จึงเห็นชอบให้ปลดฮ่องเต้ออกจากตำแหน่ง

ดังนั้นเฉินโป๋จงจึงถูกถอดออกจากตำแหน่ง ส่วนเฉินซี่ว์ขึ้นครองบัลลังก์แทนในนามเฉินซวนตี้ เขาได้สถาปนาให้เฉินซูเป่าเป็นรัชทายาท ดังนั้นจากเด็กลูกขุนนางปลายแถวจึงได้มาเป็นรัชทายาทแบบงงๆ โดยที่ไม่ได้ทำอะไรเลย

ถูกทำร้ายที่งานศพ

ระหว่างที่เป็นรัชทายาทนั้น เฉินซูเป่าไม่ได้แสดงความสามารถทางด้านการบริหารหรือการปกครองเลยแม้แต่น้อย สิ่งที่เฉินซูเป่าชอบจริงๆ มีอยู่สองอย่างก็คือวรรณกรรมโคลงกลอน และการเลี้ยงฉลอง (เที่ยวปาร์ตี้ไปวันๆ) โดยเฉินซูเป่าชอบดื่มสุรา และก็พรรณนาถึงวรรณกรรมและโคลงกลอนไปเรื่อยในเวลาเดียวกัน

โดยส่วนตัวแล้วผมมองว่าเฉินซูเป่าไม่ถึงกับโง่เขลา เพราะคนเบาปัญญา ไม่น่าจะชื่นชอบและมีความสามารถด้านวรรณกรรมหรือโคลงกลอนได้ ผมมองว่าเฉินซูเป่าไม่ชอบการบริหารมากกว่า แต่นั่นเป็นคุณสมบัติเดียวที่ฮ่องเต้ที่ดีจำเป็นต้องมี

เฉินซูเป่า

ด้วยความที่เฉินซูเป่าไม่เอางานเอาการ บรรดาน้องชายของเขาจึงปรารถนาจะแย่งตำแหน่งของเขา แต่เหมือนว่าเฉินซวนตี้จะโปรดปรานบุตรชายคนนี้ไม่น้อย เพราะไม่ได้ถอดตำแหน่ง แต่ให้ดำรงตำแหน่งรัชทายาทจนตนเองจากไปในปี ค.ศ. 583

ในงานศพของเฉินซวนตี้ เฉินซูเป่าร่ำไห้เสียใจเพราะการจากไปของบิดา แต่ในเวลานั้นเอง เฉินชูหลิง น้องชายต่างมารดาของเขากลับชักมีดออกมาและแทงเฉินซูเป่าเข้าที่คอ เฉินซูเป่าทรุดฮวบลงทันที แต่โชคยังดีที่นางกำนัลคนหนึ่งได้ดึงตัวเฉินชูหลิงเอาไว้ ทำให้เฉินชูหลิงไม่มีโอกาสที่จะแทงซ้ำ เฉินซูเป่าจึงรอดตายมาได้อย่างหวุดหวิด

หลังจากความพยายามจะลอบสังหารล้มเหลว เฉินชูหลิงจึงนำกำลังของตนบุกเข้าวังเพื่อแย่งชิงตำแหน่งฮ่องเต้ แต่ทหารหลวงปราบปรามได้ เฉินชูหลิงถูกสังหารในการรบ ผลที่ตามมาก็คือบัลลังก์เฉินจึงอยู่กับเฉินซูเป่า หลังจากที่รักษาอาการที่ถูกแทงจนทุเลา

บัลลังก์ที่สั่นคลอน

เฉินซูเป่าจึงก้าวขึ้นมาเป็นฮ่องเต้แบบที่ไม่ได้ทำอะไรเลย แม้กระทั่งตอนที่แย่งบัลลังก์ก็ไม่ได้ทำเอง ทุกอย่างล้วนแต่มีคนช่วยเหลือทั้งสิ้น ความวุ่นวายภายในแคว้นจึงเริ่มสงบลง

อย่างไรก็ดีสถานการณ์ภายนอกในขณะนั้นถือว่าคับขันสำหรับราชวงศ์เฉิน เพราะว่าในภาคเหนือนั้นได้มีการควบรวมอาณาจักรภายใต้สุยเหวินตี้ จักรพรรดิแห่งราชวงศ์สุย และก่อนหน้านี้เฉินเองก็ได้เสียดินแดนภาคตะวันตกไปเรียบร้อยแล้ว ดินแดนสองในสามของจีนอยู่ในกำมือของราชวงศ์สุย สุยเหวินตี้เองก็เป็นคนทะเยอทะยานที่ต้องการจะยกทัพลงใต้เข้าตีเฉินเพื่อรวบรวมแผ่นดินให้เป็นหนึ่ง

สถานการณ์ของเฉินก่อนปี ค.ศ.577 หลังจากนั้นไม่นานราชวงศ์เป่ยโจวได้ผนวกเป่ยฉี และมีการเปลี่ยนราชวงศ์จากเป่ยโจวเป็นสุย เพราะการแย่งชิงราชสมบัติของหยางเจียน (สุยเหวินตี้) By SS, CC By SA 4.0

ถึงกระนั้นสุยเหวินตี้ก็ยังไม่ให้กองทัพไปตีอาณาจักรเฉิน ส่วนหนึ่งเพราะสุยเหวินตี้คิดว่ายกทัพไปตีตอนที่อีกฝั่งมีงานศพจะดูไม่ดี แต่สาเหตุจริงๆ คงเพราะว่าไม่อยากจะประมาท ครั้งก่อนที่ราชวงศ์จิ้นเอาชนะราชวงศ์เฉียนฉินที่แม่น้ำเฝยได้ก็เป็นตัวอย่างให้เรียนรู้กันอยู่

ดังนั้นสุยเหวินตี้จึงเจริญสัมพันธไมตรีกับเฉินไปพลางก่อน แต่ขณะเดียวกันก็ให้ฝึกทหารริมแม่น้ำแยงซี เพื่อเตรียมการเข้าตีเฉิน

แม้ว่าสถานการณ์จะย่ำแย่และสุ่มเสี่ยงอย่างมาก แต่เฉินซูเป่าก็ไม่ได้สำนึกแต่อย่างใด เขาไม่มีท่าทีสนใจการบริหารราชการแผ่นดินแม้แต่น้อย ในการทรงงานแต่ละวัน เฉินซู่เป่าจะออกมานั่งอ่านฎีกาของขุนนาง โดยมีพระสนมจางที่มีสติปัญญาพอใช้ได้นั่งอยู่ที่ตัก พระสนมก็จะอ่านและตัดสินใจทุกอย่างด้วยตัวเอง ส่วนตัวของเฉินซูเป่าก็นั่งฟังอย่างเดียว และเออออไปเสียทุกอย่าง ขณะเดียวกันก็ไล่ขุนนางที่ทัดทานตนออกจากตำแหน่ง และแต่งตั้งพวกบัณฑิตที่เชี่ยวชาญด้านโคลงกลอนขึ้นเป็นขุนนาง

ด้วยเหตุนี้ราชสำนักเฉินจึงเละเทะขึ้นทุกวัน แต่เท่านั้นก็ยังไม่พอ เฉินซูเป่าได้สั่งให้สร้างวังหรูหราขึ้นสามแห่ง และใช้เวลาทั้งวันสนุกสนานกับสาวงาม หรือไม่ก็เรียกพวกขุนนางสายโคลงกลอนเข้ามาแต่งเพลงและบทกลอนเพื่อพรรณนาความงามของอิสตรี ภายในเวลาไม่นานท้องพระคลังก็ว่างเปล่า เหล่าขุนนางจึงต้องไปรีดภาษีเพื่อหาเงินมาให้เฉินซูเป่าล้างผลาญต่อไป

การรีดภาษีของเฉินซูเป่านั้นใช้ระบบ “เท่าเทียม” นั่นก็คือทุกคนต้องเสียภาษีไม่เว้นแม้แต่พวกทหารและขุนนาง ซึ่งก่อนหน้านี้ได้รับการยกเว้นภาษี ทำให้ทุกชนชั้นรวมตัวเป็นหนึ่งเดียวในเรื่องความเกลียดชังราชสำนัก แต่พวกที่เกลียดที่สุดเห็นจะเป็นเหล่าแม่ทัพ เพราะเฉินซูเป่าได้ยกอำนาจควบคุมทหารให้กับขุนนางฝ่ายพลเรือน พวกแม่ทัพจึงไม่พอใจเป็นอย่างมาก

ในปี ค.ศ.588 สุยเหวินตี้เห็นว่าราชสำนักเฉินเละเทะเกินแก้ เขาจึงสั่งให้กองทัพยกไปตีราชวงศ์เฉินครั้งใหญ่ โดยฝ่ายสุยได้จัดทัพแยกไปตีเป็นสามทาง โดยกองทัพทางสามสายจะแยกกันตีโดยไม่ให้ฝ่ายเฉินตั้งตัว หลังจากนั้นแต่ละกองจะมุ่งหน้าไปยังเจี้ยนคัง (นานกิง) เมืองหลวงของฝ่ายเฉิน

หนีไปอยู่ในบ่อน้ำ

ข่าวสารจากแนวหน้าถูกส่งไปยังราชสำนักเฉินราวกับลมพัด แต่เฉินซูเป่าคิดว่าไม่ใช่เรื่องใหญ่โตอะไรจึงไม่ใส่ใจเท่าไรนัก สาเหตุหนึ่งก็คือขุนนางคนสนิทล้วนแต่พยายามปิดบังเอาไว้ด้วย

ดังนั้นกองทัพสุยทั้งสามจึงข้ามแม่น้ำแยงซีแบบแทบไม่ได้เผชิญกับการต่อต้านเลย ทั้งนี้ก็เพราะฝ่ายเฉินไม่ได้มีการเตรียมการใดๆ เหล่าแม่ทัพและทหารเองก็ไม่ต้องการจะสละชีพเพื่อฮ่องเต้อย่างเฉินซูเป่า ภายในเวลาไม่นาน กองทัพสุยก็มาถึงหน้าเมืองเจี้ยนคัง

ในเวลานั้นเอง เฉินซูเป่าจึงรู้ตัวว่ากองทัพสุยครั้งนี้ไม่ได้ยกมาเล่นๆ เขาได้สั่งให้กองทัพเฉินออกต่อต้าน แต่กองทัพที่ไร้การฝึกฝนและการดูแลของฝ่ายเฉินไหนเลยจะต่อสู้กับกองทัพเจนศึกของฝ่ายสุยได้ แค่รบกันครั้งเดียวเท่านั้นฝ่ายเฉินก็แตกกระจาย ปล่อยให้ฝ่ายสุยเข้าเมืองเจี้ยนคังได้แบบง่ายดาย

เมื่อได้ทราบข่าวว่าเจี้ยนคังแตกแล้ว เฉินซูเป่าก็พาตัวเองกับพระสนมจางและข่งหนีไปอยู่ในบ่อน้ำ โดยไม่ได้ไว้ลายความเป็นฮ่องเต้แต่อย่างใด เหล่าทหารสุยจึงจับตัวขึ้นมาได้อย่างน่าอัปยศ แต่ที่น่าอายยิ่งกว่าก็คือ เขาทรุดตัวลงต่อหน้าแม่ทัพสุย (น่าจะร้องขอชีวิต) ทำให้แม่ทัพสุยยังทนไม่ได้ถึงกับต้องต่อว่าเฉินซูเป่าเสียเอง

อย่างไรก็ดีเฉินซู่เป่าและครอบครัวก็ได้รับการปฏิบัติอย่างดี ทุกคนถูกส่งไปยังต้าซิ่ง เมืองหลวงของราชวงศ์สุย (ส่วนหนึ่งของซีอานในปัจจุบัน)

ชีวิตบั้นปลาย

เฉินซูเป่าและครอบครัวได้รับการดูแลอย่างดีจากสุยเหวินตี้ ตัวสุยเหวินตี้เองก็ไม่ได้ต้องการจะทำให้เฉินซูเป่าต้องได้รับความอับอายว่าเป็นเคยเป็นถึงฮ่องเต้ แต่ต้องมาเป็นขุนนางรับใช้ฮ่องเต้องค์อื่น สุยเหวินตี้จึงไม่ได้มอบยศตำแหน่งให้กับเฉินซูเป่าแต่อย่างใด แม้ว่าในเวลาต่อมาตัวเฉินซูเป่าจะขอให้แต่งตั้งตนเป็นขุนนางก็ตาม

เฉินซูเป่าจึงได้ใช้ชีวิตอย่างสุขสบายในเมืองหลวงของราชวงศ์สุย เขาได้ใช้เวลาในแต่ละวันนั่งดื่มเหล้าและแต่งบทกวี เมื่อสุยเหวินตี้ทราบก็เคยคิดจะห้าม แต่ก็ไม่ได้ห้ามเพราะคิดว่าเฉินซูเป่าน่าจะต้องมีกิจกรรมเพื่อฆ่าเวลาบ้าง นอกจากนี้การดื่มเหล้าทั้งวันก็แสดงให้เห็นว่าเฉินซูเป่าไม่น่าจะแข็งข้อเป็นกบฏ ซึ่งเป็นประโยชน์กับฝ่ายสุยเอง

เพราะเหตุนี้เฉินซูเป่าจึงได้ชีวิตสบายๆ จนกระทั่งเสียชีวิตในปี ค.ศ.604 หรืออีกสิบห้าปีต่อมาหลังจากเฉินล่มสลาย บางทีชีวิตในบั้นปลายของเฉินซูเป่าอาจจะเป็นสิ่งที่เขาปรารถนามากที่สุดก็เป็นได้

บทความประวัติศาสตร์

Victory Tale ไม่อนุญาตให้คัดลอกบทความไปโพสที่ใดทุกกรณี การฝ่าฝืนมีโทษทางกฎหมาย

error: Content is protected !!