ประวัติศาสตร์"การเลือกตั้งสกปรก" แห่งปี พ.ศ.2500 จุดเริ่มต้นของยุคเผด็จการ

“การเลือกตั้งสกปรก” แห่งปี พ.ศ.2500 จุดเริ่มต้นของยุคเผด็จการ

การเลือกตั้งแห่งปี พ.ศ.2500 เป็นการเลือกตั้งที่มีชื่อเสียงมากที่สุดในประวัติศาสตร์การเมืองไทย แต่เป็นชื่อเสียงทางด้านลบ นักวิชาการและประชาชนทั้งหลายต่างขนานนามการเลือกตั้งครั้งนี้ว่าเป็นการเลือกตั้งที่สกปรกที่สุดในประวัติศาสตร์

ที่มาของการเลือกตั้ง

ในปี พ.ศ. 2498 จอมพล ป. พิบูลสงครามอยู่ในตำแหน่งนายกรัฐมนตรีมานานถึง 7 ปี นับตั้งแต่การรัฐประหารในปี พ.ศ.2490 จอมพล ป. จึงเริ่มทำการผ่อนปรนทางการเมือง สาเหตุหนึ่งอาจจะเพราะตัวจอมพล ป. เองได้เดินทางไปยังประเทศต่างๆ ในโลกเสรี แล้วเห็นว่าประเทศไทยน่าจะมีการปกครองในรูปแบบที่เป็นประชาธิปไตยมากขึ้น

จอมพล แปลก พิบูลสงคราม

หากแต่ว่าสาเหตุที่แท้จริงน่าจะเป็นเพราะเรื่องสถานภาพด้านอำนาจของจอมพล ป. เองมากกว่า เขาเริ่มจะตระหนักว่าตัวเขาเองไม่สามารถควบคุมกลุ่มการเมืองอีกสองกลุ่มได้ กลุ่มที่ว่าคือ กลุ่มของพล.ต.อ. เผ่า ศรียานนท์ และกลุ่มของจอมพล สฤษดิ์ ธนะรัชต์ที่กำลังสร้างฐานอำนาจเพื่อต่อสู้กันอยู่

จอมพล ป. ที่อยู่ระหว่างทั้งสองกลุ่มรู้สึกว่าสถานะของตนไม่ปลอดภัยจึงต้องการฐานเสียงสนับสนุนจากประชาชน เพื่อที่ตนเองจะได้ความชอบธรรมในการปกครองประเทศต่อไปหลังจากปกครองมาอย่างยาวนาน

รัฐบาลจึงออกพระราชบัญญัติพรรคการเมือง พ.ศ.2498 และต่อมาก็ประกาศให้มีการเลือกตั้งในวันที่ 26 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2500 โดยพรรคที่ตั้งขึ้นเพื่อสนับสนุนการสืบทอดอำนาจของจอมพล ป. พิบูลสงคราม คือ พรรคเสรีมนังคศิลา ในขณะที่คู่แข่งสำคัญคือ พรรคประชาธิปัตย์ของพันตรี ควง อภัยวงศ์

การลงเลือกตั้งของจอมพล ป. พิบูลสงคราม ถือว่าเป็นการเดิมพันครั้งสำคัญ เพราะตัวจอมพล ป. ต้องการจะอยู่ในอำนาจต่อไป ถ้าจอมพล ป. พิบูลสงครามแพ้ในการเลือกตั้งเท่ากับว่าขั้วอำนาจก็เปลี่ยนเป็นอีกฝั่งหนึ่ง อนาคตทางการเมืองของ จอมพล ป. พิบูลสงครามจะดับวูบทันที ดังนั้นฝ่ายรัฐบาลจะแพ้ไม่ได้เป็นอันขาด

ความไม่เรียบร้อยเริ่มต้นขึ้น

ความไม่เรียบร้อยเริ่มต้นตั้งแต่ช่วงหาเสียงแล้ว รัฐบาลเริ่มต้นด้วยการสั่งให้ข้าราชการส่วนกลางและท้องถิ่นมาประชุมและประกาศว่าให้เลือกพรรคของรัฐบาลเพื่อที่จะได้สานต่อนโยบายของรัฐบาลเดิมต่อไป ข้าราชการระดับสูงบางคนยังประกาศกลางที่ชุมนุมกำนันผู้ใหญ่บ้านว่า

บ้านเมืองจะเจริญได้ท่านต้องเลือกพรรคเสรีมนังคศิลา


นอกจากนี้รัฐบาลยังแต่งตั้งคณะกรรมการการเลือกตั้งที่เป็นคนของตนเองเพื่อเอี้อประโยชน์ให้กับพรรคเสรีมนังคศิลาอย่างน่าเกลียด รัฐบาลยังได้ใช้เครือข่ายที่ตนมีอยู่ในการส่งเหล่านักเลงและอันธพาลไปยังหมู่บ้านต่างๆ เพื่อข่มขู่ให้ชาวบ้านเลือกพรรคที่สนับสนุนจอมพล ป. พิบูลสงคราม ไม่เพียงเท่านั้นเหล่าอันธพาลเหล่านี้ยังได้ไปคุกคามผู้สมัครพรรคคู่แข่งด้วยการนำอุจจาระไปป้ายที่หน้าประตูบ้าน เมื่อมีนักข่าวไปสอบถาม รัฐบาลตอบแต่เพียงว่าเป็นการกระทำของ “ผู้กว้างขวาง” เท่านั้น

การกระทำเพื่อโจมตีพรรคคู่แข่งยังดำเนินต่อไป เมื่อใกล้ถึงวันเลือกตั้ง รัฐบาลได้ใช้เครื่องบินโปรยใบปลิวที่โจมตีพรรคฝ่ายตรงข้ามอย่างหนักหน่วง แต่ดูเหมือนว่าจะไม่เป็นผล พรรคฝ่ายตรงข้ามอย่างพรรคประชาธิปัตย์กลับได้ความนิยมมากขึ้น ส่วนพรรคเสรีมนังคศิลากลับมีความนิยมลดลง แม้พรรคเสรีมนังคศิลาจะแจกของจำนวนมากให้กับผู้มาฟังปราศรัยก็ตาม

ก่อนวันเลือกตั้ง 1 วัน หนังสือพิมพ์ทุกฉบับรายงานว่ามีการพบบัตรเลือกตั้งที่กาเบอร์ของผู้สมัครพรรคฝ่ายรัฐบาลไว้เรียบร้อยแล้วเป็นจำนวนมาก แต่การเลือกตั้งก็ดำเนินต่อไปในวันรุ่งขึ้น

เลือกตั้งสกปรก

เมื่อการเลือกตั้งเริ่มต้นขึ้น พรรคฝ่ายรัฐบาลได้ดำเนินการทุจริตการเลือกตั้งด้วยการใช้สิ่งเหล่านี้

  • พลร่ม: ให้คนที่เหน็บสัญลักษณ์ของพรรคฝ่ายรัฐบาลไปลงคะแนนคนละหลายครั้ง
  • ไพ่ไฟ: นำบัตรจำนวนมากที่ลงคะแนนพรรคฝ่ายรัฐบาลใส่เข้าไปในหีบในภายหลัง

นอกจากนี้ยังมีการเปลี่ยนหีบเลือกตั้ง ทำร้ายร่างกาย และนับคะแนนแบบยาวนานถึง 7 วัน 7 คืน สาเหตุที่ยาวนานเช่นนั้นเพราะถ้าพรรคฝ่ายค้านมีคะแนนนำ การนับคะแนนจะถูกทำให้ช้าลงเพราะเหตุอย่าง ไฟดับ เป็นต้น

ตลอดทั้งวันมีการพบการทุจริตการเลือกตั้งอย่างขนานใหญ่ หนังสือพิมพ์พากันตีพิมพ์กลโกงดังกล่าวให้ประชาชนทราบโดยทั่วไป ผลการเลือกตั้งออกมาค้านสายตาอย่างชัดเจน โดยพรรคเสรีมนังคศิลาได้ที่นั่ง สส. ไปถึง 83 ที่นั่งจาก 160 ที่นั่ง โดยพรรคประชาธิปัตย์ได้ไปเพียง 28 ที่นั่งเท่านั้น

สื่อมวลชนและประชาชนต่างประณามการเลือกตั้งว่าเป็นการเลือกตั้งที่สกปรก แต่จอมพล ป. พิบูลสงครามกลับบอกว่า

อย่าเรียกว่าการเลือกตั้งสกปรกเลย ควรจะเรียกว่าเป็นการเลือกตั้งไม่เรียบร้อยเท่านั้น

จอมพล ป พิบูลสงคราม – สถาบันพระปกเกล้า

ผลที่ตามมา

ภาพการชุมนุมประท้วงการเลือกตั้งสกปรกจาก ศิลปวัฒนธรรม โดยสำนักพิมพ์มติชน

เหล่านักศึกษาในมหาวิทยาลัยชั้นนำของประเทศเป็นแกนนำในการประท้วงการเลือกตั้งครั้งนี้ นิสิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยได้ทำการลดธงลงครึ่งเสาเพื่อเป็นการไว้อาลัยประชาธิปไตยของไทย การประท้วงได้แพร่ขยายไปยังมหาวิทยาลัยอื่นๆ เช่น มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เกษตรศาสตร์ ศิลปากร วิทยาลัยเทคนิคต่างๆ ด้วยเช่นกัน กลุ่มนักศึกษาเหล่านี้ได้เดินทางมาประท้วงรัฐบาลเรื่องการทุจริตการเลือกตั้งที่เกิดขึ้น

การประท้วงสงบลงเมื่อรัฐบาลได้ให้จอมพล สฤษดิ์เป็นผู้เจรจากับฝ่ายนักศึกษา แต่รัฐบาลของจอมพล ป. พิบูลสงครามอยู่ในอำนาจได้ไม่นานก็ถูก จอมพล สฤษดิ์ผู้นี้กระทำรัฐประหารอีก ประชาธิปไตยของไทยจึงสูญหายไปอีกนานถึง 16 ปี จนกระทั่งถึงเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516

Sources:

บทความการศึกษา

Victory Tale ไม่อนุญาตให้คัดลอกบทความไปโพสที่ใดทุกกรณี การฝ่าฝืนมีโทษทางกฎหมาย

error: Content is protected !!