ประวัติศาสตร์เมื่อมองโกลบุกเวียดนาม ตอนจบ: สงครามครั้งสุดท้ายลิขิตชะตา

เมื่อมองโกลบุกเวียดนาม ตอนจบ: สงครามครั้งสุดท้ายลิขิตชะตา

ความพ่ายแพ้ย่อยยับของการรุกรานครั้งที่สอง ทำให้กุบไลข่านทรงโกรธแค้นเป็นอย่างยิ่ง กองทัพใหญ่ถูกจัดตั้งขึ้นอย่างรวดเร็วเพื่อยกไปตีได่เหวียดอีกครั้งหนึ่ง แต่เนื่องจากกบฏที่เกิดขึ้นหลายแห่งในตอนใต้ของจีน ทำให้การเตรียมการของพวกมองโกลต้องหยุดลงไปนานถึงหนึ่งปี

หลังจากปราบกบฏได้ราบคาบแล้ว กุบไลข่านโปรดให้เตรียมกองทัพยกไปตีได่เหวียด ในครั้งนี้ฝ่ายมองโกลได้เรียนรู้จากความพ่ายแพ้ครั้งก่อน กองเรือจึงถูกจัดตั้งขึ้นมาด้วยเพื่อทำการส่งเสบียงทางเรือ และทำการสนับสนุนการโจมตีทางบกด้วย กุบไลข่านยังโปรดให้เหล่าชนกลุ่มน้อยจำนวนมากในกว่างซี (หนานหนิงและกุ้ยหลินในปัจจุบัน) เข้าสมทบ ทำให้กองทัพมองโกลมีกำลังไม่น้อยกว่าสามแสนคน บ้างว่าถึงห้าแสนคนเลยทีเดียว

กองทัพทั้งหมดนำมาโดยโตกอน โอรสองค์ที่เก้าของกุบไลข่านที่เคยแพ้ได่เหวียดมาแล้ว ในครั้งนี้ฝ่ายมองโกลตั้งใจอย่างยิ่งที่จะแก้มือให้จงได้

เมื่อกองทัพทั้งหมดพร้อมแล้ว กองทัพมองโกลจึงเริ่มรุกรานได่เหวียดทันที สงครามมองโกล-ได่เหวียดครั้งที่สามเริ่มต้นขึ้นนับตั้งแต่ในปลายปี ค.ศ.1287

มองโกลเข้าตีได่เหวียด

กองทัพมองโกลเดินทัพเข้าตีได่เหวียดจากสามทาง

กองทัพแรกเข้าตีจากทิศตะวันตกเฉียงเหนือตามเดิม ส่วนกองทัพที่สองเข้าตีจากทิศตะวันออกเฉียงเหนือ กองทัพนี้เป็นกองทัพใหญ่นำโดยโตกอนและเจ้าชายแห่งราชวงศ์จันพระองค์หนึ่งที่ยอมสวามิภักดิ์ต่อมองโกล ส่วนเส้นทางที่สามให้ โอมาร์ แม่ทัพมุสลิมควบคุมกองเรือคอยส่งเสบียงอาหารให้กองทัพบก และควบคุมชายทะเลเอาไว้

ฝ่ายได่เหวียดได้เตรียมการรับศึกโดยส่งกำลังทหารเข้าป้องกันจุดยุทธศาสตร์สำคัญหลายจุด แต่ก็มีจำนวนไม่มากนัก หน้าที่ของกองกำลังเหล่านี้น่าจะเป็นการถ่วงเวลาเสียมากกว่า ทั้งนี้เพราะว่า จันฮึงเด่า แม่ทัพใหญ่ฝ่ายได่เหวียดได้สั่งให้ถอนราษฎรทั้งหมดออกจากแนวหน้า กองทัพได่เหวียดจะได้ทำการเผาทุกสิ่งอย่างไม่ให้กองทัพมองโกลใช้เป็นประโยชน์ได้

การสู้รบเป็นไปในลักษณะเดิม กองทัพมองโกลเริ่มตีกองทัพได่เหวียดแตกไปทีละกองอย่างรวดเร็ว พงศาวดารว่าได่เหวียดแพ้ในการรบถึง 17 ครั้งในฝั่งตะวันออกเฉียงเหนือ ทหารได่เหวียดจึงถูกผลักดันให้ถอยหนีไปรวมกันที่ลังซอน (Lang Son) ปล่อยให้พวกมองโกลยึดเมืองที่เขตชายแดนได้หลายเมืองด้วยกัน

การรุกของกองทัพมองโกลเป็นไปอย่างราบรื่น และเข้าประชิดกรุงทังลอง เมืองหลวงของได่เหวียด (ปัจจุบันคือส่วนหนึ่งของกรุงฮานอย) ได้ในที่สุด กษัตริย์จันเนียนตองตัดสินใจเสด็จหนีออกจากเมือง เมื่อโอมาร์ แม่ทัพมองโกลทราบว่ากษัตริย์ได่เหวียดหลบหนีออกจากเมืองไปแล้ว เขาจึงยกทัพติดตามไป แต่ก็ตามไม่ทันอีก โอมาร์จึงสั่งให้ทำลายสุสานของกษัตริย์จันถายตองเพื่อเป็นการแก้แค้น

ทหารได่เหวียดพยายามต่อสู้อย่างแข็งแกร่ง วิธีการรบของฝ่ายได่เหวียดคือส่งทหารทีมพิเศษบุกเข้าไปในค่ายพวกมองโกลในเวลากลางคืนเพื่อทำการเผาเสบียง กองทัพมองโกลจึงอ่อนแอลงและยังไม่สามารถตีทังลองได้

ได่เหวียดทำลายกองเรือ

โตกอนรู้สึกขุ่นข้องใจอย่างมากที่ยังตีทังลองไม่ได้เสียที มิหนำซ้ำเสบียงอาหารก็เริ่มขาดแคลนเพราะกองโจรของได่เหวียด ความพยายามจะหาเสบียงจากดินแดนได่เหวียดก็ไม่เป็นผล เพราะได่เหวียดเผาทุกสิ่งไปหมดแล้ว โตกอนจึงมีคำสั่งให้กองเรือเร่งขนเสบียงมาสนับสนุนอย่างเร็วที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้

หากแต่ว่าฝ่ายได่เหวียดอ่านเกมขาด กองเรือของแม่ทัพจันขานซือจึงถูกส่งออกไปทันทีเพื่อดักโจมตีกองเรือดังกล่าว กองเรือมองโกลที่ไม่ทันตั้งตัวแตกกระเจิงอย่างรวดเร็ว แม่ทัพมองโกลถึงกับต้องสั่งให้เทเสบียงทิ้งลงทะเล เพื่อไม่ให้ฝ่ายได่เหวียดเอาไปใช้เป็นประโยชน์ได้

หมู่เกาะบริเวณที่กองเรือได่เหวียดทำลายกองเรือเสบียงมองโกล Cr: Strobe

ขณะเดียวกัน โอมาร์ที่ควบคุมกองเรืออยู่ก็เคลื่อนกองทัพมา เขาหมายใจว่าจะมารับกองเสบียงโดยที่ไม่รู้ว่ากองเรือดังกล่าวถูกได่เหวียดตีแตกไปแล้ว กองเรือได่เหวียดของจันขานซือพบเห็นเข้าพอดีจึงเข้าตีซ้ำ กองเรือมองโกลของโอมาร์ได้รับความเสียหายอย่างหนัก โอมาร์จึงต้องถอยไปยัง Van Kiep เพื่อตั้งหลัก

เมื่อไม่มีเสบียงและกองเรือมาถึงกองทัพมองโกลอีกแล้ว จันฮึงเด่าจึงสั่งให้กองทัพเข้าตีที่มั่นของฝ่ายมองโกลทางตอนเหนือ ซึ่งถ้าตีได้กองทัพมองโกลที่ล้อมทังลองอยู่จะโดดเดี่ยวทันที

โตกอนทราบข่าวว่าได่เหวียดทำการรุกเช่นนั้น เขาจึงสั่งให้กองทัพถอยทัพทันที เขานำกำลังไปสมทบกับกองทัพของโอมาร์ที่หนีมาอยู่ที่ Van Kiep

ณ จุดๆนั้นโตกอนเห็นว่าสู้รบต่อไปเห็นทีจะไม่ชนะ เพราะขาดแคลนเสบียงอาหารอย่างหนัก เขาจึงสั่งให้ถอยทัพกลับจีนโดยแยกเป็นสองกอง กองหนึ่งที่นำโดยตัวโตกอนเองถอยไปทางบก อีกกองนำโดยโอมาร์ อาศัยเส้นทางน้ำผ่านทางแม่น้ำแบ็จดั่งถอยกลับไป

แต่การถอยทัพจะเป็นไปได้อย่างง่ายๆ งั้นหรือ

พวกมองโกลแตกกระเจิงที่แบ็จดั่ง

มหายุทธนาวีที่แม่น้ำแบ็จดั่ง

จันฮึงเด่า แม่ทัพใหญ่ฝ่ายได่เหวียดไม่ต้องการให้กองทัพมองโกลถอยกลับไปง่ายๆ เขาจึงเตรียมกองทัพออกไปโจมตีทันที จันฮึงเด่าได้ศึกษากระแสน้ำแถบนั้นเอาไว้ล่วงหน้าแล้ว เขาจึงสั่งให้กองเรือเร็วบางส่วนมุ่งหน้าขึ้นไปก่อนเพื่อนำไม้ปลายแหลมไปปักในปากแม่น้ำแบ็จดั่ง หลังจากนั้นกองทัพเรือได่เหวียดทั้งหมดจึงยกตามไปเพื่อเตรียมการโจมตีกองทัพมองโกลครั้งใหญ่

กองทัพได่เหวียดได้รอกองทัพมองโกลให้มาถึงส่วนของแม่น้ำที่ดักรอเอาไว้ เมื่อน้ำลงได้ระดับนึงแล้ว กองเรือเล็กของได่เหวียดจึงเข้าโจมตีเพื่อล่อกองเรือมองโกลทั้งหมดให้ยกตามมา กองเรือมองโกลทั้งหมดหลงกลและไล่ตามไปในจุดที่กองเรือได่เหวียดได้รอไว้อยู่แล้ว

ไม้ปลายแหลมที่จันฮึงเด่าให้นำไปวางไว้ในแม่น้ำแบ็จดั่ง Cr: Binh Giang

เมื่อไล่ตามได้ไม่นาน ทหารมองโกลก็พบว่าตนเองตกอยู่ในกับดัก เพราะว่าพวกตนไม่สามารถเคลื่อนกองเรือได้อย่างอิสระจากการที่ฝ่ายได่เหวียดได้ปักไม้ปลายแหลมไว้เต็มไปหมด ซึ่งในช่วงน้ำลง เรือที่เคลื่อนเข้าไปจะถูกไม้ปลายแหลมแทงทะลุลำเรือ ทำให้เรือจมในทันที

ฝ่ายมองโกลจะถอยหลังก็ถอยไม่ได้ เพราะกองเรือได่เหวียดขนาดใหญ่ได้ทำการปิดทางออกสู่ทะเลไว้หมดแล้ว กองเรือได่เหวียดจึงกระหน่ำยิงด้วยธนูไฟและอาวุธระยะไกล กองทหารบางส่วนก็นำบันไดพาดเพื่อเข้าต่อสู้ในระยะประชิด

ทหารมองโกลถูกโจมตีรุนแรงเช่นนั้นก็ตื่นตระหนก กองเรือมองโกลบางส่วนพยายามตีฝ่าวงล้อมออกไปได้สำเร็จ แต่ก็เสียหายอย่างหนัก ทหารมองโกลที่ลอยคออยู่ในน้ำต่างพากันหนีเข้าฝั่ง พวกเขาล้วนแต่ถูกสังหารโดยกองทัพได่เหวียดที่ตั้งรอไว้อยู่แล้ว โอมาร์ถูกฝ่ายได่เหวียดจับกุมได้ และถูกประหารชีวิต (บ้างว่าจมน้ำตาย)

ในมหายุทธการที่แบ็จดั่งนี้ พวกมองโกลเสียเรือไปหลายร้อยลำ กองเรือได่เหวียดยึดเรือได้สี่ร้อยลำ กองเรือทั้งหมดฝ่ายมองโกลจึงถูกทำลายสิ้น ทหารมองโกลที่สิ้นชีวิตและยอมจำนนมีมากถึงแปดหมื่นคน

ปัจจุบันยุทธนาวีแบ็จดั่งได้รับการยกย่องว่าเป็นเป็นชัยชนะครั้งใหญ่ที่สุดครั้งหนึ่งในประวัติศาสตร์เวียดนาม

เส้นดำหนาคือการรุกของกองทัพมองโกล ส่วนเส้นดำประคือการถอยของกองทัพมองโกล ส่วนลูกศรแดงคือการเข้าตีของได่เหวียด Cr: Luu Ly

การหลบหนีอย่างไม่คิดชีวิต

ขณะเดียวกันโตกอนที่กำลังถอยทัพกลับจีนผ่านเส้นทางลังซอน กลับพบเจอกับการซุ่มโจมตีโดยกองทัพได่เหวียดที่เขตนอยบัง กองทัพมองโกลพยายามจะต่อต้านแต่ก็เอาไม่อยู่ ทหารมองโกลจำนวนมากล้มตายลงเพื่อเปิดทางให้โตกอนและกองทัพส่วนใหญ่หลบหนีจากนอยบังไปได้

หลังจากหลบหนีมาได้ โตกอนกลับรับทราบข่าวร้ายว่าเส้นทางหลักข้างหน้ามีทหารได่เหวียดอีกสามหมื่นคนดักรออยู่ มิหนำซ้ำกองทัพได่เหวียดที่อยู่ด้านหลังก็ยังใกล้เข้ามา โตกอนจึงตัดสินใจเสี่ยงด้วยการเคลื่อนทัพหนีไปทางเส้นทางป่ารกชัฏ แต่สุดท้ายก็พบกับกองทัพได่เหวียดอยู่ดี ทั้งสองฝ่ายต่อสู้กันอย่างหนัก ทหารมองโกลล้มตายมากมาย แต่โตกอนก็หลบหนีกลับจีนไปได้เป็นผลสำเร็จ

ผลที่ตามมา

สงครามครั้งที่สามจึงจบลงด้วยความพ่ายแพ้ยับเยินของฝ่ายมองโกลอีกครั้งหนึ่ง ทหารมองโกลไม่น้อยกว่าหนึ่งแสนคนสิ้นชีวิตในสมรภูมิ ทหารจีนในกองทัพมองโกลจำนวนมากยอมจำนนต่อได่เหวียด และได้รับมอบพื้นที่ทำกินจากกษัตริย์จันเนียนตอง

ฝ่ายได่เหวียดเองได้รับความเสียหายอย่างหนักจากสงครามเช่นกัน เพราะพ่ายแพ้ในช่วงแรกของสงครามนับสิบๆ ครั้ง ความเสียหายในลักษณะนี้ไม่เป็นคุณต่อได่เหวียดในระยะยาว (มิฉะนั้นน่าจะเป็นเหมือนโกคูรยอ) ดังนั้นราชสำนักได่เหวียดจึงตัดสินใจส่งทูตไปอ่อนน้อมต่อราชสำนักมองโกลที่ต้าตู (เป่ยจิง) อีกครั้งหนึ่ง

กุบไลข่านทรงยอมรับไมตรีของได่เหวียดไว้ แต่ก็ไม่สบพระทัยที่กษัตริย์ได่เหวียดไม่ยอมเสด็จมายังเมืองหลวงของพระองค์ ในพระทัยของกุบไลข่านเองก็ต้องการยกมาตีได่เหวียดอีก แต่ขณะนั้นพระองค์ก็สู้รบขับเคี่ยวในดินแดนส่วนอื่นด้วย ทำให้พระองค์ไม่มีโอกาส พระองค์สวรรคตเสียก่อนในปี ค.ศ.1294

สำหรับโตกอนแล้ว ความพ่ายแพ้ย่อยยับต่อได่เหวียดทั้งสองครั้งทำให้กุบไลข่านทรงไม่ต้องการเห็นหน้าเขาอีกเลย กุบไลข่านไล่ให้เขาไปอยู่ที่หยางโจว และเสียชีวิตที่นั่นในปี ค.ศ.1301

หลังจากกุบไลข่านสวรรคต เตมูร์ข่าน จักรพรรดิพระองค์ใหม่ยกเลิกแผนการที่จะยกมาตีได่เหวียดไปเป็นการถาวร และยอมรับได่เหวียดในฐานะรัฐบริวารแต่ในนาม หลังจากนั้นมาพวกมองโกลไม่ได้รุกรานได่เหวียดอีกเลย ราชวงศ์หยวนของชาวมองโกลล่มสลายในปี ค.ศ.1368

บทความประวัติศาสตร์

Victory Tale ไม่อนุญาตให้คัดลอกบทความไปโพสที่ใดทุกกรณี การฝ่าฝืนมีโทษทางกฎหมาย

error: Content is protected !!