ประวัติศาสตร์มารีอังตัวเนต (2): อำลาลาจากออสเตรียและความกังวลของแม่

มารีอังตัวเนต (2): อำลาลาจากออสเตรียและความกังวลของแม่

ตอนที่ 1 อยู่ที่นี่

ปัญหาเรื่องภาษาฝรั่งเศสที่ย่ำแย่และความรู้ด้านต่างๆ ที่แทบจะเป็นศูนย์ของมารีอังตัวเนต ทำให้มาเรีย เทเรซา มารดาของเธอรู้สึกปวดเศียรเวียนเกล้าเป็นอย่างยิ่ง

มาเรีย เทเรซา ตั้งความหวังไว้มากกับลูกสาวคนนี้ ดังนั้นเธอจึงขอให้นักแสดงชายชาวฝรั่งเศสสองคนชื่อ Aufresne และ Sainville ที่อยู่ในกรุงเวียนนา เมืองหลวงของออสเตรียมาสอนภาษาฝรั่งเศสให้กับมารีอังตัวเนตโดยด่วน

อย่างไรก็ตาม ข่าวว่านักแสดงชายสองคนกำลังสอนภาษาฝรั่งเศสให้กับมารีอังตัวเนตที่กำลังจะเป็นเจ้าหญิงรัชทายาทของอาณาจักร ทำให้ราชสำนักฝรั่งเศสตกตะลึง ทูตฝรั่งเศสจึงแจ้งไปยังราชสำนักออสเตรียว่าทางฝรั่งเศสกังวลเป็นอย่างยิ่งว่าเจ้าหญิงที่กำลังจะอภิเษกสมรสไปข้องเกี่ยวกับพวก “นักแสดง” ได้อย่างไร

ทางฝรั่งเศสจึงตัดสินใจส่งติวเตอร์ที่เป็นนักบวชชื่อ แวร์มอนด์ หรือชื่อเต็มๆ ว่า Mathieu-Jacques de Vermond มายังราชสำนักออสเตรียเพื่อช่วยพัฒนาสกิลภาษาให้กับมารีอังตัวเนต

มารีอังตัวเนต

เรียนหนัก

เมื่อแวร์มอนด์มาถึง เขาพบว่ามารีอังตัวเนตอ่อนด้อยมากทั้งภาษาฝรั่งเศสและเยอรมัน เธอพูดภาษาฝรั่งเศสได้แย่มาก การเรียงประโยคของเธอเป็นแบบเยอรมัน ทำให้ฟังไม่รู้เรื่อง

แวร์มอนด์จึงเสนอวิธีการแก้ไขว่า ถ้ามารีอังตัวเนตพูดแต่ภาษาฝรั่งเศส และอยู่ห้อมล้อมของคนที่พูดภาษาฝรั่งเศสแล้ว เธอจะพัฒนาความสามารถทางภาษาได้อย่างเร็วมาก แต่ปัญหาคือรอบตัวเธอนั้น ทุกคนพูดภาษาฝรั่งเศสได้แย่มาก เพราะราชสำนักออสเตรียใช้ภาษาถึงสามภาษาได้แก่ ภาษาเยอรมัน ภาษาฝรั่งเศส และภาษาอิตาเลียน

การเปลี่ยนแปลงจึงเริ่มต้นขึ้น มารีอังตัวเนตถูกบังคับให้เรียนกับแวร์มอนด์แทบจะตลอดวัน ดูเหมือนว่าการสอนของแวร์มอนด์จะได้ผล เพราะภายในหนึ่งปี ภาษาฝรั่งเศสของมารีอังตัวเนตดีขึ้นมาก เธอสามารถพูดภาษาฝรั่งเศสได้อย่างคล่องแคล่ว แม้สำเนียงของเธอจะออกไปทางเยอรมันหน่อยๆ แต่ก็ถือว่าดีมากแล้วถ้าเทียบกับตอนแรก

ส่วนประวัติศาสตร์ฝรั่งเศสที่มารีอังตัวเนตต้องเรียนรู้นั้นแย่ยิ่งกว่า เพราะขนาดประวัติศาสตร์ออสเตรีย เธอยังไม่รู้ แล้วเธอจะไปรู้ประวัติศาสตร์ฝรั่งเศสได้อย่างไร

การติวเข้มจึงเริ่มต้นอีกครั้ง บางครั้งมาเรีย เทเรซาถึงกับมานั่งฟังการสอนของครูด้วยตัวของเธอเอง แวร์มอนด์เล่าว่ามารีอังตัวเนตพยายามที่จะซึมซับความรู้ดังกล่าวอย่างตั้งใจ แต่ส่วนมากแล้วเธอไม่ได้ชอบวิชานี้มากนัก เธอชอบแค่ประวัติของเจ้าหญิงออสเตรียที่เคยเป็นราชินีของฝรั่งเศส และการสืบเชื้อสายของราชวงศ์ Bourbon ที่ปกครองฝรั่งเศสอยู่เท่านั้น

มีอยู่วันหนึ่ง มาเรีย เทเรซาเคยถามบุตรสาวคนนี้ว่า ถ้าเธอเลือกได้ เธออยากจะปกครองอาณาจักรไหนในยุโรป

มารีอังตัวเนตตอบว่าฝรั่งเศส เพราะฝรั่งเศสมีเฮนรี่ที่ 4 และหลุยส์ที่ 14 ที่เธอรู้สึกว่าทั้งสองยิ่งใหญ่มาก นั่นเป็นเหตุผลเพียงข้อเดียวของเธอ

คำตอบของมารีอังตัวเนตจึงดูไร้เดียงสา แต่อย่าลืมว่าเธออายุได้ไม่ถึง 15 ปี การตอบแบบดูมีความรู้จึงไม่ใช่เรื่องง่ายสำหรับเธอ มารีอังตัวเนตเองไม่เคยชื่นชอบในการศึกษาเหมือนอย่างบูเช็คเทียนหรือแคทเทอรีนมหาราชด้วย

การสอนของแวร์มอนด์จึงทำให้มารีอังตัวเนตมีความรู้ขึ้นมามาก แต่ยังไม่พอที่จะทำให้ชนชั้นสูงฝรั่งเศสในเวลาต่อมาพึงพอใจได้ เมื่อมารีอังตัวเนตเป็นราชินีของฝรั่งเศสแล้ว เธอมักถูกนินทาลับหลังว่าโง่เขลาอยู่บ่อยๆ

ปีกว่าผ่านไปหลังจากที่ได้สอนมารีอังตัวเนต แวร์มอนด์รายงานไปยังราชสำนักฝรั่งเศสว่า มารีอังตัวเนตมีพฤติกรรมใช้ได้ เธอเป็นคนอ่อนหวาน มีน้ำใจ และร่าเริง เขาไม่เชื่อว่าเธอจะสร้างปัญหาใดๆ

นั่นเป็นข้อสรุปที่ผิดพลาดโดยสิ้นเชิงของแวร์มอนด์ อย่างที่จะปรากฏต่อไปในภายภาคหน้า

ลาจากออสเตรีย

เมื่อการสอนเสร็จสิ้นแล้ว ถึงเวลาที่การแต่งงานจะเกิดขึ้นอย่างเป็นทางการ การเตรียมการเริ่มต้นขึ้นในปี ค.ศ.1769 ด้วยความที่ทั้งสองฝ่ายเคยเป็นศัตรูมาก่อน รายละเอียดปลีกย่อยหลายอย่างจึงต้องใช้เวลามากในการตกลง ไม่ว่าจะเป็นสถานที่จัดงาน ค่าใช้จ่าย การต้อนรับ ไปจนถึงเรื่องฐานันดรหลังการแต่งงานของมารีอังตัวเนตเอง

แม้มาเรีย เทเรซาปรารถนาให้บุตรสาวของเธอเป็นราชินีแห่งฝรั่งเศสมาก แต่ในใจของเธอเต็มเปี่ยมไปด้วยความกังวล เธอกลัวว่าบุตรสาวของเธอจะเอาตัวรอดหรือไม่ในราชสำนักฝรั่งเศสที่เธอมองว่า “ล้มละลายทางด้านคุณธรรม” มาเรีย เทเรซาจึงใช้เวลาช่วงหลายเดือนสุดท้ายอยู่กับมารีอังตัวเนตอย่างเต็มที่

แต่ท้ายที่สุดแล้ว เวลาสำคัญก็มาถึง ดูร์ฟอร์ (Durfort) ตัวแทนของราชสำนักฝรั่งเศสเดินทางมาถึงกรุงเวียนนาพร้อมกับขบวนอันหรูหราอลังการ เพื่อที่จะรับมารีอังตัวเนตไปอภิเษกสมรสที่ฝรั่งเศส

วันที่ 17 เมษายน ค.ศ.1770 มารีอังตัวเนตทำสิ่งที่สำคัญที่สุดในชีวิตของเธออย่างหนึ่ง เธอประกาศสละสิทธิในการสืบบัลลังก์แห่งออสเตรียจากมารดาของเธออย่างเป็นทางการต่อหน้าพระคัมภีร์ไบเบิล ไม้กางเขน และเทียนที่ถูกจุดขึ้นอย่างสว่างไสว

อีกสองวันต่อมา งานแต่งงานเทียมถูกจัดขึ้นในแผ่นดินออสเตรียตามธรรมเนียมที่จัดขึ้นทั่วไปสำหรับเจ้าหญิงที่จะไปสมรสกับเจ้าชายต่างแดน โดยอาร์กดยุคเฟอร์ดินานด์ พี่ชายของเธอสวมบทบาทเป็นหลุยส์-ออกุสต์ว่าที่สามีของเธอในงานแต่งงานเทียมครั้งนี้

หลังจากนั้นในกรุงเวียนนาได้มีงานฉลองอันใหญ่โตเพื่อสั่งลาให้กับมารีอังตัวเนต แขกที่มาร่วมงานมีมากถึง 1,500 คน และจัดว่าเป็นงานใหญ่ระดับประเทศเลยทีเดียว

เมื่อทุกอย่างเสร็จสิ้นลง ในวันที่ 21 เมษายน ค.ศ.1770 มารีอังตัวเนตขึ้นรถม้าที่นำเธอออกจากกรุงเวียนนาเพื่อเดินทางไปยังปารีส เมืองหลวงของฝรั่งเศส

ก่อนที่มารีอังตัวเนตจะจากเธอไป มาเรีย เทเรซาจับร่างกายบุตรสาวคนสุดท้องของเธอครั้งแล้วครั้งเล่า เธอได้กล่าวกับลูกสาวเป็นครั้งสุดท้ายว่า

ลาก่อน ลูกสาวสุดที่รักของฉัน ระยะทางอันห่างไกลจะขวางกั้นเราไว้ …. จงทำตัวดีๆ กับคนฝรั่งเศส จนพวกเขาพูดว่าฉันได้มอบนางฟ้าให้กับพวกเขานะ

หลังจากนั้นมาเรีย เทเรซาร่ำไห้ออกมาอย่างฟูมฟาย เมื่อรถคันดังกล่าวนำบุตรสาวจากเธอไปตลอดกาล

เหล่าข้าราชบริพารที่เห็นเหตุการณ์เล่าว่า มารีอังตัวเนตไม่สามารถหักห้ามใจไม่ให้ร้องไห้ได้ เธอยื่นศีรษะของเธอออกมานอกรถครั้งแล้วครั้งเล่าเพื่อที่จะมองบ้านเกิดเมืองนอนของเธอเป็นครั้งสุดท้าย

คำเตือนของแม่

สำหรับมาเรีย เทเรซาแล้ว เธอรู้สึกกังวลอย่างแปลกๆ ถึงการจากไปของลูกสาวคนนี้ จริงอยู่ที่มาเรีย เทเรซามีลูกสาวอยู่หลายคน และทุกคนได้อภิเษกสมรสกับกษัตริย์หลายพระองค์ในยุโรป แต่ที่ผ่านมาไม่มีใครทำให้เธอกลัวเช่นนี้เลย

ก่อนที่มารีอังตัวเนตจะออกเดินทางไป มาเรีย เทเรซาได้ฝากฝังข้อบังคับเกี่ยวกับการใช้ชีวิตที่เธอเขียนขึ้นมาเองให้กับมารีอังตัวเนต เธอสั่งให้มารีอังตัวเนตสาบานว่าจะอ่านข้อบังคับนี้เดือนละครั้ง

หลังจากที่ขบวนของมารีอังตัวเนตออกไปแล้ว มาเรีย เทเรซากลับส่งจดหมายให้คนนำไปมอบให้เธออีกฉบับหนึ่ง เนื้อความในจดหมายดังกล่าวมีว่า

ให้ฉันแนะนำ ,ลูกสาวที่รักของฉัน, ให้ลูกอ่านมันทุกวันที่ยี่สิบเอ็ดของทุกเดือน โปรดเชื่อและปฏิบัติตามความต้องการของฉัน นี่เป็นคำขอที่สำคัญ สิ่งเดียวที่ฉันกลัวคือลูกจะล่าช้าในการอ่านบทสวดและอ่านข้อบังคับ แล้วเธอจะละเลยและเชื่องช้า จงต่อสู้กับข้อผิดพลาดเหล่านี้ …. อย่าได้ลืมว่าแม่ที่ถึงแม้จะอยู่ไกลยังคงมองดูลูกจนถึงลมหายใจสุดท้าย

ความกังวลของมาเรีย เทเรซายังไม่จบสิ้นเท่านั้น เธอแอบส่งจดหมายลับไปยังหลุยส์ที่ 15 แห่งฝรั่งเศสว่าขอให้โปรดเมตตาและเป็นพ่อที่ดีให้กับบุตรสาวของเธอด้วย

ว่ากันว่าระหว่างที่ผู้คนทั้งแผ่นดินออสเตรียกำลังรื่นเริงกับงานมงคล มาเรีย เทเรซากลับเดินทางไปที่โบสถ์แต่เพียงผู้เดียว และร้องขอต่อพระเจ้าอย่าให้เรื่องร้ายๆเกิดขึ้นกับบุตรสาวของเธอ

สำหรับตัวมารีอังตัวเนตแล้ว เราไม่ทราบแน่ชัดว่าเธอรู้สึกอย่างไรที่รับทราบคำเตือนของแม่ แต่ที่เป็นไปได้คือ เธอน่าจะกดดันไม่น้อยเพราะเธอไม่ใช่คนที่มั่นใจในความสามารถของตนเองเลย การกำชับของแม่ของเธออาจจะยิ่งสร้างความกังวลให้เธอเพิ่มมากขึ้นด้วยซ้ำไป

ขบวนของมารีอังตัวเนตวิ่งไปอย่างรวดเร็วไปยังชายแดนฝรั่งเศส-ออสเตรีย ขณะนั้นมารีอังตัวเนตอายุได้เพียง 14 ปีเศษ เธอกลับต้องออกจากบ้านเกิดเมืองนอนและครอบครัวไปแต่งงานกับชายที่เธอไม่รู้จักมาก่อนในอาณาจักรที่เคยเป็นศัตรูกับบ้านเกิดเมืองนอนของเธอ

ชีวิตอันแท้จริงของเธอกำลังจะเริ่มต้นขึ้นแล้ว

Sources:

  • Fraser, Marie Antoinette: The Journey
  • Zweig, Marie Antoinette: The Portrait of an Average Woman
  • Price, The Road From Versailles
  • Hibbert, The Days of the French Revolution
  • Campan, Memoirs of Marie Antoinette, Queen of France and Wife of Louis XVI: Queen of France
  • Schama, Citizens: A Chronicle of the French Revolution

บทความการศึกษา

Victory Tale ไม่อนุญาตให้คัดลอกบทความไปโพสที่ใดทุกกรณี การฝ่าฝืนมีโทษทางกฎหมาย

error: Content is protected !!