ประวัติศาสตร์มารีอังตัวเนต ราชินีผู้นำฝรั่งเศสไปสู่การปฏิวัติจริงหรือ? (1)

มารีอังตัวเนต ราชินีผู้นำฝรั่งเศสไปสู่การปฏิวัติจริงหรือ? (1)

เธอเป็นราชินีของอาณาจักรที่มีอำนาจที่สุดในยุโรปอาณาจักรหนึ่งในเวลานั้น แต่เธอกลับเป็นผู้หญิงคนหนึ่งที่ถูกโจมตีมากที่สุดในหน้าประวัติศาสตร์โลก ข่าวในทางลบของเธอปรากฏขึ้นมาอย่างไม่หยุดหย่อน ไม่ว่าเป็นเรื่องความฟุ้งเฟ้อ และอื่นๆ อีกมากมาย

เธอผู้นี้คือ มารีอังตัวเนต (Marie Antoinette) ราชินีคนสุดท้ายของฝรั่งเศสก่อนการปฏิวัติ

ชีวิตของมารีอังตัวเนตเป็นชีวิตของหญิงสาวคนหนึ่งที่ถูกหมั้นหมายกับเจ้าชายของอดีตประเทศศัตรูตั้งแต่เธอเพิ่งจะย่างก้าวเข้าสู่วัยรุ่น เธอจึงต้องจากบ้านเกิดเมืองนอนและเดินทางไปประเทศใหม่ที่เธอเหยียบย่างไปเพื่อแต่งงานกับชายหนุ่มที่เธอไม่เคยเห็นหน้า เธอไม่รู้เลยว่างานแต่งงานครั้งนั้นจะลิขิตชีวิตเธอ และนำเธอไปสู่บั้นปลายอันมืดมน

มารีอังตัวเนต

มารีอังตัวเนตในวัยเด็ก

มารีอังตัวเนต (หรือมาเรีย แอนโตเนีย) เกิดในปี ค.ศ.1755 เธอเป็นธิดาคนที่ 15 ของฟรานซิสที่ 1 และมาเรีย เทเรซา ผู้เป็นจักรพรรดิและจักรพรรดินีแห่งจักรวรรดิโรมันอันศักดิ์สิทธิ์ รวมไปถึงอาร์คดยุคและอาร์คดัชเชสแห่งออสเตรียด้วย สถานะของมารีอังตัวเนตจึงเป็นเจ้าหญิงคนหนึ่งของออสเตรีย

วันที่เธอเกิดคือวันที่ 2 พฤศจิกายน ซึ่งเป็นวันที่ชาวคาทอลิกพากันระลึกถึงดวงวิญญาณที่จากไป หรือที่เรียกกันว่า Day of the Dead โบสถ์ทั้งหลายในประเทศจะมีการสวดมนต์ให้กับคนตาย และใช้ตบแต่งด้วยผ้าสีดำ ทำให้วันที่เธอเกิดไม่เป็นมงคลเท่าใดนัก หลังจากนั้นการเฉลิมฉลองวันเกิดของเธอจึงมีขึ้นในวันที่ 1 พฤศจิกายนแทน

หลังจากที่เธอเกิดได้ไม่นาน มารีอังตัวเนตถูกส่งไปให้แม่นมเลี้ยงดูทันทีตามธรรมเนียม เมื่อเธอโตขึ้นจนถึงวัยเรียน เธอก็ถูกจับให้เรียนกับติวเตอร์ต่างๆ เพื่อที่เธอจะมีความรู้ติดตัวบ้าง

สิ่งที่เธอได้รับการสอนจากติวเตอร์แทบไม่มีอะไรมากไปกว่าภาษาต่างประเทศ ธรรมเนียมของราชสำนัก การประพฤติตัวให้เหมาะสม และการเชื่อฟังคำสั่งผู้ใหญ่ ทั้งนี้วิชาเป็นสิ่งที่มาเรีย เทเรซา แม่ของเธอเข้มงวดมากที่สุด เพราะเธอถือว่าลูกๆ ของเธอทุกคนเป็น “คนรับใช้อันดับแรก” ของตัวเธอเอง

มารีอังตัวเนตเคารพมาเรีย เทเรซา แม่ของเธอมาก แต่ไม่ค่อยมีความรู้สึกรักและผูกพันให้กับแม่ของเธอเท่าไรนัก มารีอังตัวเนตเคยกล่าวว่า

ฉันรักองค์จักรพรรดินีแต่ฉันกลัวเธอมาก แม้กระทั่งจากระยะไกล ฉันไม่เคยรู้สึกว่ามันง่ายเลยเวลาที่ต้องเขียนจดหมายถึงเธอ

ความรักที่เธอมีจึงมีต่อฟรานซิส พ่อของเธอมากกว่า อย่างไรก็ตามฟรานซิสกลับอยู่กับเธอไม่นานนัก ฟรานซิสสวรรคตในปี ค.ศ.1765 เมื่อมารีอังตัวเนตอายุได้เพียง 9 ขวบเศษเท่านั้น การจากไปของเขาสร้างความเศร้าให้กับทุกคนในราชสำนัก โดยเฉพาะมาเรีย เทเรซา มารดาของมารีอังตัวเนต

การจากไปของพ่อทำให้มารีอังตัวเนตต้องอยู่ในการดูแลของแม่โดยสมบูรณ์ และด้วยความที่ลูกๆ ทุกคนเป็นข้ารับใช้คนแรกของเธอ มาเรีย เทเรซาไม่เคยลังเลที่จะใช้พวกเขาและเธอเป็นหมากเพื่อประโยชน์ของออสเตรียในเวทียุโรป ณ เวลานั้น

มาเรีย เทเรซา

จับคู่แต่งงาน

ออสเตรียและฝรั่งเศสเป็นศัตรูและคู่แข่งกันมาหลายร้อยปีแล้ว ทั้งสองฝ่ายต่อสู้กันหลายครั้งตั้งแต่สงคราม 30 ปี, สงคราม 9 ปี, สงครามแย่งชิงบัลลังก์สเปน, สงครามแย่งชิงบัลลังก์ออสเตรีย

อย่างไรก็ตามในศตวรรษที่ 18 ทั้งสองอาณาจักรมีทีท่าเป็นมิตรเข้าหากันมากขึ้น เพราะมีมหาอำนาจใหม่เกิดขึ้นมาอย่างปรัสเซีย อังกฤษ และรัสเซีย ทำให้ดุลอำนาจในยุโรปเริ่มเปลี่ยนแปลงไป ฝรั่งเศสและออสเตรียจึงเป็นพันธมิตรกันในการต่อสู้กับปรัสเซียในช่วงสงครามเจ็ดปีที่เพิ่งเกิดขึ้นไปหมาดๆ (ค.ศ.1756-1763)

หลังจากสงครามสงบ ทั้งสองอาณาจักรต้องการกำชับความสัมพันธ์ให้แน่นแฟ้นกว่าเดิม วิธีที่ดีที่สุดแน่นอนว่าคือการแต่งงาน

แต่ปัญหาสำคัญคือ ใครจะแต่งกับใคร!

ตัวเลือกแรกคือกษัตริย์ฝรั่งเศส หลุยส์ที่ 15 (Louis XV) แต่ในเวลานั้นหลุยส์มีอายุได้ห้าสิบกว่าปีแล้ว เมื่อเสนาบดีฝรั่งเศสทูลให้หลุยส์แต่งงานกับเจ้าหญิงออสเตรีย หลุยส์ปฏิเสธอย่างทันควันเพราะในเวลานั้นเขามี “กิ๊ก” อยู่แล้วหลายคน

ตัวเลือกที่สองคือ โจเซฟ พี่ชายคนโตของมารีอังตัวเนต ผู้ที่เพิ่งจะเป็นม่ายครั้งที่สองมาหมาดๆ เขาจึงยังไม่ต้องการจะมีภรรยาใหม่ นอกจากนี้เจ้าหญิงฝรั่งเศสสามคนที่เป็นธิดาของหลุยส์ที่ 15 ยังมีอายุมากกว่าเขาหลายปี ทำให้สุดท้ายแล้วตัวเลือกนี้ก็ตกไปอีก

สุดท้ายแล้วทุกอย่างก็มาลงเอยที่ตัวเลือกที่สาม นั่นคือหลุยส์-ออกุสต์ (Louis-Auguste) หลานปู่ของหลุยส์ที่ 15 ผู้ดำรงตำแหน่งเป็นรัชทายาทของฝรั่งเศส (Dauphin) ในเวลานั้น หลุยส์-ออกุสต์กำลังเป็นหนุ่มและยังไม่มีภรรยาที่เหมาะสม หลุยส์-ออกุสต์เองก็เป็นคนนิ่มนวล ง่ายๆ ทำให้เขาไม่ได้คัดค้าน

แล้วทีนี้เจ้าหญิงออสเตรียที่จะแต่งงานกับหลุยส์-ออกุสต์คือใครกันแน่

เจ้าหญิงคนแรกที่เข้าข่ายจะได้แต่งงานคือ ชาร์ลอตต์ (Charlotte) พี่สาวที่ใกล้ชิดกับมารีอังตัวเน็ตมากที่สุด ชาร์ลอตต์เป็นคนฉลาด มีพลัง และอายุมากกว่าหลุยส์-ออกุสต์เพียงสองปี ทำให้หลายๆ คนในราชสำนักมองว่าชาร์ลอตต์เป็นตัวเลือกที่เหมาะสมสำหรับการแต่งงาน

แต่ก่อนหน้านี้มาเรีย เทเรซาเคยนำชาร์ลอตต์ไปให้เป็นตัวเลือกให้กับกษัตริย์สเปนที่กำลังสรรหาภรรยาให้กับบุตรชายของเขา ปรากฏว่าชาร์ลอตต์ถูกเลือกจริงๆ ทำให้โอกาสที่ชาร์ลอตต์จะแต่งงานกับรัชทายาทแห่งฝรั่งเศสเป็นศูนย์

ดังนั้นสายตาของมาเรีย เทเรซาจึงมาอยู่ที่มารีอังตัวเนต ลูกคนที่ 15 ของเธอที่ยังไม่แตกเนื้อสาวดี เธอหมายมั่นปั้นมือว่าจะให้บุตรสาวคนนี้เป็นราชินีแห่งฝรั่งเศสให้จงได้

ปัญหาของมารีอังตัวเนต

อย่างไรก็ตามการแต่งงานไม่ได้เกิดขึ้นทันที การเจรจาต่อรองระหว่างทั้งสองฝ่ายเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง เพราะการแต่งงานที่เกิดขึ้นมีนัยสำคัญต่อการเมืองทั้งสองประเทศ ทั้งสองฝ่ายจึงต้องรอบคอบอย่างที่สุด

เสนาบดีออสเตรียคนหนึ่งเคยทูลมาเรีย เทเรซาว่า หลุยส์-ออกุสต์เป็นคนนิ่งๆ ทื่อๆ และไม่ค่อยฉลาดสักเท่าใดนัก ถ้ามารีอังตัวเนตแต่งงานกับเขาอาจจะไม่มีความสุขก็เป็นได้ แต่มาเรีย เทเรซาต้องการอำนาจทางการเมืองที่จะเกิดจากการแต่งงานนี้มากกว่าที่จะสนใจเรื่องความสุขของลูกสาว เธอจึงมองข้ามคำแนะนำของเขาไป

มาเรีย เทเรซาคิดว่ามารีอังตัวเนต “สวยพอ” สำหรับตำแหน่งราชินีแห่งฝรั่งเศส แต่เธอสั่งให้เร่งพัฒนาความสวยของลูกสาวคนนี้อย่างเร่งด่วน เช่น เธอสั่งให้ทันตแพทย์มาจัดการกับฟันของมารีอังตัวเนตที่ไม่สวยงาม และหาเครื่องแต่งกายมาปกปิดไหล่สองข้างที่ไม่เท่ากันของเธอ

มารีอังตัวเนตในวัยสาว

อย่างไรก็ตามมารีอังตัวเนตเป็นผู้หญิงที่ยิ้มสวย และดูเป็นมิตร การยิ้มนี้เองเป็นที่มาของเสน่ห์ของเธอ

แต่ปัญหาสำคัญก็เกิดขึ้น ลูกสาวของเธอพร้อมแล้วหรือสำหรับการแต่งงานและเป็นราชินีของฝรั่งเศสในวันข้างหน้า?

ในปี ค.ศ.1768 ที่การเจรจาเรื่องการแต่งงานดำเนินไปมากแล้ว มารีอังตัวเน็ตที่อายุได้ 13 ปีกำลังมีปัญหาทางด้านการศึกษาอย่างยิ่งยวด

แต่ไหนแต่ไรมาติวเตอร์ของเธอไม่ค่อยเข้มงวดสักเท่าไรนักในการสอนเธอ เพราะเธอเป็นเจ้าหญิงไม่ใช่เจ้าชาย ทำให้มารีอังตัวเนตขาดความสามารถหลายประการที่โอรสธิดาของกษัตริย์ควรจะมี

มารีอังตัวเนตไม่สามารถเขียนภาษาเยอรมันและฝรั่งเศสได้คล่อง เธอเขียนทั้งสองภาษาได้แย่มาก เธอเขียนได้ช้าราวกับ “หอยทากเดิน” แถมยังสะกดผิดเต็มไปหมด

การพูดของมารีอังตัวเนตเองก็ไม่ต่างกัน เธอพูดตะกุกตะกักราวกับ “ตั๊กแตน” หรือพูดง่ายๆ คือเธอไม่สามารถพูดเป็นรูปประโยคได้อย่างคล่องแคล่ว (น่าจะคล้ายๆกับการใช้ภาษาแบบสก๊อยในปัจจุบัน)

อย่างไรก็ตามไม่ใช่ว่าเธอเป็นคนโง่ มาดามคอมปอน (Madame Campan) นางสนองพระโอษฐ์ของมารีอังตัวเนตในเวลาต่อมาเล่าว่ามารีอังตัวเนตสามารถใช้ภาษาอิตาเลียนได้อย่างดีมาก

ดังนั้นสาเหตุที่เป็นไปได้คือ ครูสอนภาษาฝรั่งเศสและเยอรมันของเธอไม่ได้สอนและกำชับให้เธอฝึกฝนอย่างดีพอ มารีอังตัวเนตจึงไม่ได้ใช้ประโยชน์จากการที่สมองสามารถเรียนรู้ภาษาได้อย่างง่ายดายในวัยเด็ก

ส่วนที่เธอใช้ภาษาอิตาเลียนได้อย่างดี เพราะครูของเธอคนละคนกัน ครูชาวอิตาเลียนสอนเธอได้อย่างที่ควรจะเป็น ทำให้มารีอังตัวเน็ตใช้ภาษาอิตาเลียนได้ดีกว่าภาษาฝรั่งเศสและเยอรมัน

ปัญหาพวกนี้ถือว่าน้อยไปเลยเมื่อเทียบกับปัญหาเรื่องการอ่านของเธอ มารีอังตัวเนตไม่มีทักษะในการอ่านเลย เพราะครูของเธอไม่เคยเข้มงวดกับมัน เมื่อทำได้ไม่ดี มารีอังตัวเนตจึงรู้สึกกลัวการอ่านขึ้นมา

เมื่อกลัวการอ่านแล้ว มารีอังตัวเนตจึงปราศจากความรู้ใดๆโดยสิ้นเชิง โดยเฉพาะประวัติศาสตร์ที่เธอแทบไม่มีอยู่ในหัวเลย แม้กระทั่งเรื่องที่ basic ที่สุด เธอก็ยังไม่รู้

ปัญหาเช่นนี้ทำให้เธอยังห่างไกลกับความพร้อมที่จะเป็นเจ้าหญิงรัชทายาทและราชินีและฝรั่งเศสมากมายนัก มาเรีย เทเรซาจึงต้องจัดการกับลูกสาวคนนี้อย่างเร่งด่วน

เธอจะทำอย่างไร ติดตามได้ในตอนหน้าครับ

Sources:

  • Fraser, Marie Antoinette: The Journey
  • Zweig, Marie Antoinette: The Portrait of an Average Woman
  • Price, The Road From Versailles
  • Hibbert, The Days of the French Revolution
  • Campan, Memoirs of Marie Antoinette, Queen of France and Wife of Louis XVI: Queen of France
  • Schama, Citizens: A Chronicle of the French Revolution

บทความการศึกษา

Victory Tale ไม่อนุญาตให้คัดลอกบทความไปโพสที่ใดทุกกรณี การฝ่าฝืนมีโทษทางกฎหมาย

error: Content is protected !!