ประวัติศาสตร์ประวัติศาสตร์โลกประวัติเรือไททานิก: เรือที่ไม่มีวันจมที่จมในครั้งแรกที่ออกเดินทาง

ประวัติเรือไททานิก: เรือที่ไม่มีวันจมที่จมในครั้งแรกที่ออกเดินทาง

ในปี ค.ศ.1997 ภาพยนตร์ของเจมส์ คาเมรอน เรื่องไททานิก (Titanic) ได้เข้าฉายในโรงภาพยนตร์ ปรากฎว่าโด่งดังเป็นพลุแตก กวาดรางวัลออสการ์ไป 11 สาขา และกวาดรายได้ทั่วโลกไปมากกว่า 2.187 พันล้านเหรียญ

ท่านผู้อ่านหลายท่านน่าจะเคยได้ดูภาพยนตร์เรื่องดังกล่าวมาแล้ว และซาบซึ้งในความรักของโรสกับแจ็ค และอาจจะสงสัยว่าสิ่งที่เกิดขึ้นในภาพยนตร์นั้นเป็นจริงมากสักเพียงใด

คำตอบก็คือ เจมส์ คาเมรอนทำได้ดีในระดับหนึ่งทีเดียวทั้งการสร้างโศกนาฎกรรมดังกล่าวขึ้นมาอีกครั้งบนแผ่นฟิล์ม และการแคสนักแสดงมาเล่นบทบาทตัวละครที่มีอยู่จริง ถึงแม้ว่าพระนางจะไม่มีตัวตนจริงก็ตาม

กำเนิดเรือไททานิก

เรือไททานิกเป็นเรือของบริษัทไวท์สตาร์ไลน์ (White Star Line) ซึ่งทำธุรกิจเรือสำราญขนาดใหญ่ข้ามมหาสมุทร

ทั้งนี้ เจ บรูซ อิสเมย์ (J Bruce Ismay) ประธานบริษัท White Star Line ต้องการสร้างพาหนะข้ามมหาสมุทรที่หรูหราและใหญ่โตเพื่อใช้ต่อกรเชิงธุรกิจกับบริษัทคูนาร์ต (Cunard) ซึ่งทำธุรกิจเรือเดินสมุทรเช่นเดียวกัน บริษัทไวท์สตาร์ไลน์จึงทุ่มเงินจำนวนมหาศาลในการสร้างเรือไททานิก ให้เป็นเรือเดินสมุทรที่ใหญ่ที่สุด หรูหราที่สุด

เรือไททานิกถูกต่อขึ้นด้วยเทคโนโลยีทางวิศวกรรมที่ดีที่สุดในยุคนั้น ด้วยความใหญ่โตและเทคโนโลยีของมัน เรือดังกล่าวจึงได้รับการขนานนามว่า “เรือที่ไม่มีวันจม” (Unsinkable ship)

ความหรูหราบนเรือไททานิกยากที่จะหาความหรูหราใดมาเปรียบได้ บนเรือนั้นมีสระว่ายน้ำ สนามสควอช โรงยิม เล้าจน์ที่ใช้รูปแบบเดียวกับพระราชวังแวร์ซายส์ (Versailles) ในฝรั่งเศส ห้องสมุด ห้องนั่งเล่นขนาดยักษ์ ร้านอาหารชั้นยอดที่เสิร์ฟอาหารระดับชั้นเยี่ยมที่สุดให้ผู้โดยสารทุกวัน

เรือไททานิกเริ่มออกเดินทางจากเมืองท่าเซาท์แธมตันในสหราชอาณาจักรในวันที่ 10 เมษายน 1912 เพื่อเดินทางไปยังเมืองนิวยอร์ก ประเทศสหรัฐอเมริกา นี่จึงเป็นการเดินทางข้ามมหาสมุทรครั้งแรกของเรือขนาดยักษ์ที่เพิ่งจะต่อเสร็จใหม่ๆ นี้

เรือไททานิก
เรือไททานิกที่เซาท์แธมตัน

ตัวเรือเริ่มรับผู้โดยสารจากเซาท์แธมตัน (Southampton) แล้วจึงไปหยุดรับผู้โดยสารอีกสองที่นั่นก็คือ Cherbourg ในฝรั่งเศส และ Queenstown ในไอร์แลนด์ ก่อนจะมุ่งหน้าไปสู่เมืองนิวยอร์ก รวมแล้วผู้โดยสารในเที่ยวแรกนี้มี 1,317 คน ซึ่งต่ำกว่าจำนวนผู้โดยสาร 2,435 คน ที่เรือสามารถรองรับได้

หากแต่ว่าผู้โดยสารนั้นได้มีการแบ่งแยกออกเป็นผู้โดยสารชั้นหนึ่ง (โรสและคู่หมั้นในภาพยนตร์อยู่ในชั้นนี้) ชั้นสอง และชั้นสาม (แจ็คและเพื่อนๆ)

ผู้โดยสารชั้นหนึ่งคือผู้ที่ได้รับความสะดวกสบายบนเรือมากที่สุด พวกเขามีสิทธิ์ในการใช้บริการในทุกส่วนของเรือ สำหรับผู้โดยสารชั้นสามถึงแม้จะไม่ได้รับความสะดวกสบายเช่นเดียวกับผู้โดยสารชั้นหนึ่ง แต่ก็ถือว่ามีความเป็นอยู่ดีกว่าเรือเดินสมุทรทั่วไปมาก พวกเขามีห้องอาหารและห้องนั่งเล่นของพวกเขาเอง

ผู้โดยสารที่ร่วมเดินทางไปกับเรือเที่ยวแรกมีผู้ร่ำรวยและมีชื่อเสียงมากมาย เช่น Isidor Straus ผู้ก่อตั้งห้างสรรพสินค้า Macy’s เป็นต้น นอกจากนี้ อิสเมย์ ประธานบริษัท White Star Line และโทมัส แอนดรูว์ก็ได้เดินทางไปกับเรือด้วย (ทั้งสองปรากฎอยู่ในภาพยนตร์เช่นเดียวกัน)

Grand Staircase ที่โด่งดัง

สำหรับลูกเรือบนเรือมี 885 คน และเป็นลูกเรือชายเกือบทั้งหมด โดยมีผู้หญิงเพียง 23 คนเท่านั้น พวกเขาทำหน้าที่ตั้งแต่ควบคุมเรือ ทำความสะอาดไปจนถึงทำอาหารชั้นเลิศให้กับผู้โดยสาร

ไททานิกออกจากท่า

สี่วันแรกของการเดินเรือเป็นไปด้วยความราบรื่น ท้องทะเลเงียบสงบ ท้องฟ้าก็เปิด ถึงแม้ว่าจะมีไฟไหม้ในส่วนของห้องเชื้อเพลิงก็ตาม เพลิงได้สงบลงในวันที่ 4 ของการเดินทาง

เมื่อเรือไททานิกได้เดินทางมาถึงนิวฟอนด์แลนด์ เรือลำอื่นหลายลำได้ส่งสัญญาณเตือนถึงภูเขาน้ำแข็งขนาดใหญ่ในเขตนั้น แต่กัปตันเอ็ดเวิร์ด สมิธ กลับสั่งให้เรือเดินหน้าเต็มกำลังต่อไป ซึ่งจริงๆแล้วไม่ใช่เรื่องแปลกอะไรนัก เพราะภูเขาน้ำแข็งก็มีขนาดใหญ่และสามารถเห็นได้โดยต้นหนจากระยะไกล ถ้าต้นหนพบเห็น เรือก็น่าจะชะลอความเร็วลงได้ทัน

นอกจากนี้ขนาดของเรือยังทำให้กัปตันสมิธ เชื่อว่าภูเขาน้ำแข็งไม่สามารถทำอันตรายกับเรือที่มีขนาดใหญ่มากอย่างไททานิกได้ เขาจึงไม่ได้ระมัดระวังมากนัก

นั่นเป็นความผิดพลาดอย่างสิ้นเชิง!

ในเวลาห้าทุ่มสี่สิบนาทีของวันที่ 14 เมษายน ค.ศ.1912 เฟดเดอริก ฟลีต ต้นหนเรือได้สังเกตเห็นภูเขาน้ำแข็งขนาดใหญ่อยู่ในเส้นทางการเดินเรือของเรือที่กำลังวิ่งด้วยความเร็วเกือบเต็มกำลัง เขารีบส่งสัญญาณให้ห้องบังคับการทราบทันที

รองกัปตันวิลเลียม เมอร์ด๊อกจึงพยายามเบี่ยงเรือหลบ และหยุดการทำงานของเครื่องยนต์เรือ แต่เรือมีขนาดใหญ่และแล่นด้วยความเร็วเกือบสูงสุด ทำให้เรือไททานิกไม่สามารถหลบภูเขาน้ำแข็งขนาดใหญ่ได้ทัน

ด้านขวาของเรือกระแทกกับภูเขาน้ำแข็งอย่างแรง เกิดรูจำนวนมากบริเวณส่วนล่างของเรือที่จมน้ำทะเลอยู่ ส่วนบริเวณลำเรือยังไม่ได้ฉีกขาด แต่ส่วนตะเข็บลำเรือได้รับความเสียหายอย่างหนัก น้ำจึงทะลักเข้ามาในเรือจำนวนมาก

เรือไททานิกถูกออกแบบมาให้ยังลอยตัวอยู่ได้ ถ้าห้องระบายน้ำห้องใดห้องหนึ่งไม่ถูกน้ำท่วม แต่ในคืนวันที่ 14 ห้องระบายน้ำจำนวนห้าห้องของเรือล้วนแต่ถูกน้ำท่วมจนหมด กัปตันและลูกเรือจึงทราบว่าเรือไททานิกถึงที่ตายเสียแล้ว

กัปตันเรือจึงสั่งให้ทำการอพยพผู้โดยสารทันที แต่ปัญหาก็เกิดขึ้นนั่นก็คือ
เรือชูชีพของเรือไททานิกมีน้อยเกินไป ทั้งนี้เกิดจากผู้สร้างคิดว่าเรือลำนี้ไม่มีวันจม และ เรือที่มีอยู่ก็คิดว่าจะเป็นเรือช่วยเหลือที่ใช้ขนส่งผู้โดยสารไปเรืออื่นๆ ที่จะเข้ามาช่วยเหลือเท่านั้น

ผู้สร้างจึงไม่ได้นำเรือชูชีพมาเพียงพอกับจำนวนผู้โดยสาร ในคืนวันที่ 14 เรือชูชีพสามารถรับคนประมาณครึ่งหนึ่งของผู้โดยสารและลูกเรือทั้งหมด

กัปตันและลูกเรือจึงพยายามส่งสัญญาณขอความช่วยเหลือไปยังเรือใหญ่ที่อยู่บริเวณนั้นให้เข้ามาช่วย หนึ่งในเรือดังกล่าวก็คือเรือแคลิฟอร์เนีย (SS California) ซึ่งเป็นหนึ่งในเรือที่เตือนเรือไททานิกเรื่องภูเขาน้ำแข็ง แต่เจ้าหน้าที่สื่อสารของเรือไททานิกกลับตอบกลับไปอย่างหยาบคาย เพราะเขากำลังวุ่นอยู่กับการส่งโทรเลขของผู้โดยสาร

ทั้งกัปตันและลูกเรือแคลิฟอร์เนียจึงปิดการสื่อสารกับเรือไททานิกไป หลังจากนั้นถึงแม้พวกเขาจะพบเห็นพลุไฟจากเรือไททานิก พวกเขากลับไม่นำเรือเข้าไปช่วย โดยพวกเขาอ้างต่อผู้สอบสวนในภายหลังว่า พวกเขาไม่คิดว่าพลุนั่นเป็นสัญญาณขอความช่วยเหลือ

ในขณะเดียวกัน เรือที่พบเห็นสัญญาณขอความช่วยเหลือจากเรือไททานิก และรีบเดินทางเข้ามาช่วยคือ เรือคาร์ปาเธีย (Carpathia) ของบริษัทคู่แข่งของ White Star Line อย่างคูนาร์ตนั่นเอง หากแต่ว่าเรือคาร์ปาเธียอยู่ห่างไกลถึง 58 ไมล์ทะเล (107 กม) ซึ่งเรือจะต้องใช้เวลานานถึง 4 ชม กว่าจะไปถึงตำแหน่งที่เรือไททานิกอยู่ แต่รอสตัน กัปตันเรือคาร์ปาเธียก็เร่งเรือเต็มกำลังเพื่อไปช่วยเรือไททานิก

บรรดาลูกเรือจึงพากันอพยพผู้โดยสารขึ้นเรือชูชีพ พวกเขาอ่อนประสบการณ์ในการจัดการเรือชูชีพ เพราะไม่ได้รับการฝึกที่เพียงพอ และไม่มีใครคาดคิดว่าเรือจะจมลงในเที่ยวแรกด้วย เรือชูชีพจำนวนมากจึงบรรจุคนได้เพียงครึ่งหนึ่งของที่ควรจะเป็นเท่านั้น นอกจากนี้พวกเขายังสั่งให้เด็กและผู้หญิงขึ้นเรือก่อน ทิ้งให้ผู้โดยสารชายต่อสู้ชีวิตบนเรือไปตามลำพัง

ส่วนผู้โดยสารชั้นสามที่เป็นชายน่าเวทนายิ่งกว่า พวกเขาต้องช่วยเหลือตนเองในการเอาชีวิตรอด เพราะลูกเรือก็สนใจแต่ผู้โดยสารชั้นหนึ่งที่เป็นเด็ก และผู้หญิงเท่านั้น แต่ผู้โดยสารชายชั้นหนึ่งบางคนก็แสดงความเป็นสุภาพบุรุษด้วยการเสียสละที่นั่งบนเรือให้กับเด็กและสตรี ยอมรับความตายอย่างมีเกียรติ

เรือชูชีพลำแล้วลำเล่าก็ถูกส่งลงน้ำออกไปจากเรือจนสุดท้ายก็หมดสิ้น ครอบครัวบางครอบครัวต้องแยกจากกัน ผู้โดยสารชายที่เป็นบิดาหรือหัวหน้าครอบครัวต้องยืนรับความตายอย่างกล้าหาญ ผู้ที่เรือชูชีพช่วยชีวิตไปนั้นมีเพียง 700 คนเท่านั้นจากผู้โดยสารและลูกเรือประมาณ 2,200 คน

ในเวลาต่อมานโยบายให้ผู้หญิงและเด็กลงเรือก่อนนั้นเป็นที่ถกเถียงอย่างมากถึงความเหมาะสม เนื่องจากผู้โดยสารชายที่เป็นหัวหน้าครอบครัวต้องเสียชีวิตไป ทิ้งความยากลำบากในการดำเนินชีวิตในภายหลังให้กับผู้โดยสารหญิงและเด็กที่เหลือรอดชีวิต

นักดนตรีหลายคนบนเรือจึงเล่นดนตรีเป็นครั้งสุดท้ายเพื่อปลอบประโลมจิตใจตนเองและผู้โดยสารที่กำลังจะจะตาย บรรยากาศในช่วงนั้นจึงเศร้าสลดยิ่งนัก

หากแต่ว่าในขณะนั้นมีพ่อครัวอยู่คนหนึ่ง (มีในภาพยนตร์) ชื่อชาร์ลส์ โจวกิ้น (Charles Joughin) เขาได้ช่วยเหลือผู้ที่ตกลงไปในน้ำด้วยการทิ้งสิ่งของเช่นเก้าอี้ หรือเศษไม้ลงไปให้ผู้ที่ลอยคออยู่ในน้ำเกาะยึดเอาไว้ หลังจากนั้นเขาจึงเดินไปเปิดเหล้าดื่ม อึกใหญ่ๆ

ชาร์ลส์ โจวกิ้น

การจมลงของเรือไททานิก

ในเวลาตีสอง ยี่สิบนาที หลังจากเรือไททานิกชนภูเขาน้ำแข็งได้สองชั่วโมงสี่สิบนาที เรือไททานิกได้หักออกเป็นสองส่วน ส่วนท้ายของเรือเอียงสูงขึ้น โจวกิ้นจึงรีบปีนขึ้นไปส่วนท้ายของเรือ และพลิกตัวออกไปอยู่นอกเรือ โดยเจตนาของเขาคือ เขาจะอยู่บนเรือให้นานที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ และป้องกันตนเองจากการโดนเรือดูดลงไป

หลังจากนั้นไม่นานเรือไททานิกจึงจมลงไปโดยสมบูรณ์ ผู้โดยสารจำนวน 1,500 คน ที่สวมเสื้อชูชีพจึงลอยเคว้งอยู่บนทะเลที่หนาวเย็นถึงลบสององศาเซลเซียส ช่วงแรกนั้นเสียงของผู้โดยสารดังระงม แต่แล้วพวกเขาก็เริ่มจะเงียบเสียงไปทีละคนจากอาการสูญเสียความร้อนของร่างกาย (Hypothermia) นำไปสู่การช็อคและหัวใจวายในที่สุด

สำหรับโจวกิ้น เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นกับเขาเป็นเรื่องแปลกมาก เพราะเขาสามารถลอยตัวในน้ำที่เย็นจัดในเวลานานถึงสองชั่วโมง!

ในที่สุดเมื่อเรือชูชีพที่ไปจัดระเบียบใหม่ (ตอนแรกบางลำก็ขึ้นแบบไม่เต็มลำ) กลับมาหาผู้รอดชีวิต คนบนเรือชูชีพพบว่าโจวกิ้นยังมีชีวิตอยู่ในน้ำ พวกเขาจึงนำตัวโจวกิ้นขึ้นเรือชูชีพทำให้เขารอดชีวิต (เขาไม่มีอาการอะไรเลยนอกจากเท้าบวม) โจวกิ้นอ้างว่าเพราะแอลกอฮอล์ที่เขาดื่มทำให้เขาไม่รู้สึกถึงความหนาวเย็นของน้ำทะเลเลย!

เรือชูชีพของผู้ประสบภัยจากเรือไททานิก ผู้โดยสารเรือคาร์เปเธียเป็นผู้ถ่ายเอาไว้ได้

ในเวลาตี 4 ของวันที่ 15 เมษายน เรือคาร์ปาเธียก็มาถึงและรับผู้รอดชีวิตที่อยู่ในเรือชูชีพขึ้นมาบนเรือ และเดินทางไปถึงนิวยอร์ก โดยรวมแล้วจากผู้โดยสารและลูกเรือทั้งหมด 2,200 คน มีเพียง 710 คนเท่านั้นที่รอดชีวิต (ที่เพิ่มขึ้นมาเพราะไปรับคนที่นอนลอยคออยู่ในทะเลอย่างโจวกื้นนั่นเอง)

ข่าวการจมของเรือไททานิกเป็นข่าวดังไปทั่วโลก การจมของ “เรือที่ไม่มีวันจม” นั้นแปรเปลี่ยนอุตสาหกรรมการเดินเรือไปตลอดกาล ความสำคัญของเรือชูชีพและสัญญาณเตือนถูกให้น้ำหนักมากขึ้น การเดินทางโดยเรือจึงปลอดภัยขึ้นมากด้วย

ปัจจุบันซากเรือไททานิกของจริงก็คงอยู่ใต้มหาสมุทรแอตแลนติก ในความลึกสองพันกว่าเมตร ในขณะนี้มีบางบริษัทกำลังมีทริปเรือดำน้ำไปชมอยู่เนืองๆ ท่านใดสนใจและรวยก็สามารถลงไปดูเรือไททานิกของจริงได้ครับ

บทความการศึกษา

Victory Tale ไม่อนุญาตให้คัดลอกบทความไปโพสที่ใดทุกกรณี การฝ่าฝืนมีโทษทางกฎหมาย

error: Content is protected !!