ประวัติศาสตร์สงครามอินโดจีน: ชัยชนะของไทยในสงครามที่ถูกลืม

สงครามอินโดจีน: ชัยชนะของไทยในสงครามที่ถูกลืม

หลังสมัยรัชกาลที่ 4 เป็นต้นมา ประเทศไทยไม่ได้เข้าร่วมในสงครามใดในฐานะคู่สงครามหลักเลย สยามหรือไทยใช้นโยบายทางการทูตหลบหลีกความจำเป็นที่ต้องทำสงครามมาเรื่อยมา ในประเด็นนี้ถือว่าสยามและไทยประสบความสำเร็จอย่างยิ่ง

หากแต่ว่ามีสงครามอยู่ครั้งหนึ่งในยุคใหม่ที่ประเทศไทยได้เข้าร่วมในฐานะคู่สงครามหลักทั้งทางบก ทางเรือ และ ทางอากาศ แต่คนไทยจำนวนมากในปัจจุบันไม่รู้ว่ามีสงครามครั้งนี้อยู่ด้วยซ้ำไป

อินโดจีนของฝรั่งเศส

สงครามที่ว่าคือสงครามอินโดจีน หรือ สงครามไทย-อินโดจีนของฝรั่งเศส

เป็นเรื่องแปลกที่สงครามครั้งนี้กลับเป็นสงครามที่ถูกลืมในความทรงจำของชาวไทย ทั้งๆที่อนุสาวรีย์ที่ระลึกถึงเหตุการณ์นี้อยู่ที่ใจกลางกรุงเทพมหานคร

ปูมหลัง

ในช่วงปลายศตวรรษที่ 19 ฝรั่งเศสได้ฐานะชาติมหาอำนาจได้ใช้การทูตแบบเรือปืน (Gunboat Diplomacy) มาบีบบังคับให้สยามต้องตัดดินแดนจำนวนมากมอบให้กับตนเอง

ดินแดนเหล่านี้คือดินแดนที่เป็นประเทศลาวและกัมพูชาในปัจจุบัน ฝรั่งเศสได้ปกครองดินแดนเหล่านี้โดยรวมกับเวียดนาม เรียกรวมๆ ว่า อินโดจีนของฝรั่งเศส (French-Indochina)

การสูญเสียดินแดนไปเพราะการข่มขู่ลักษณะนี้ทำให้คนไทยโกรธเคืองฝรั่งเศสมาก พวกเขาหวังว่าสักวันหนึ่งจะได้ดินแดนเหล่านี้คืนมาจากฝรั่งเศส กองทัพไทยถูกปรับปรุงให้ทันสมัยอย่างมากในช่วงสมัย ค.ศ.1920-1940 ความทันสมัยนี้ถึงขนาดที่ไทยสามารถประกอบเครื่องบินรบเองได้ ถึงแม้ว่ายังต้องซื้อเครื่องยนต์มาก็ตาม

เครื่องบินที่ไทยประกอบเอง

ในปี ค.ศ 1940 ฝรั่งเศสพ่ายแพ้สงครามต่อนาซีเยอรมันของฮิตเลอร์อย่างราบคาบ อาณานิคมของฝรั่งเศสจึงอยู่ภายใต้การดูแลของรัฐบาลวิชี (Vichy France)

ในขณะเดียวกันกระแสชาตินิยมของกลุ่มนิสิตนักศึกษาก็ทวีความร้อนแรงขึ้น โดยเฉพาะที่จุฬาและธรรมศาสตร์ เหล่านักศึกษาเดินขบวนเพื่อให้รัฐบาลนำดินแดนที่เสียไปให้ฝรั่งเศสในสมัยรัชกาลที่ 5 กลับคืนมา ในเวลานั้นดินแดนที่เสียไปทั้งหมดยังคงอยู่ในมือของอินโดจีนของฝรั่งเศสเช่นเดิม

จอมพล ป.พิบูลสงคราม นายกรัฐมนตรีไทยเห็นว่ารัฐบาลควรจะทำความต้องการของประชาชน เพราะว่าสถานการณ์ที่เกิดขึ้นเปิดโอกาสทองให้ไทยทำสงคราม เพราะสาเหตุดังต่อไปนี้

  1. ฝรั่งเศสพ่ายแพ้อย่างสะบักสะบอมต่อเยอรมนีมาหมาดๆ ประเทศแม่จึงไม่น่าจะปกป้องอาณานิคมของตนเองได้
  2. ฝรั่งเศสน่าจะให้ความสำคัญกับสงครามที่เกิดขึ้นกับยุโรปและแอฟริกามากกว่าอาณานิคมที่อยู่ไกลมากในเอเชีย
  3. อาณานิคมอินโดจีนไม่น่าจะต้านทานการรุกของไทยได้มากนัก เพราะขนาดญี่ปุ่นมาขอตั้งฐานทัพ ฝรั่งเศสยังไม่อาจขัดขวางได้ นอกจากยินยอมแต่โดยดี

ด้วยเหตุนี้จอมพล ป. พิบูลสงคราม จึงมีคำสั่งให้สามเหล่าทัพเตรียมการบุกเข้าไปในอินโดจีนของฝรั่งเศส

เข้าสู่สงคราม

ความตึงเครียดของไทยและอาณานิคมอินโดจีนจึงเพิ่มขึ้นตามลำดับ รัฐบาลไทยขอร้องให้รัฐบาลอินโดจีนของฝรั่งเศสปรับปรุงพรมแดนให้ชัดเจนด้วยการใช้ร่องแม่น้ำโขงเป็นเส้นเขตแดน แต่ไทยกลับได้รับการปฏิเสธ

ในช่วงนั้น รัฐบาลอินโดจีนของฝรั่งเศสส่งเครื่องบินมาล่วงล้ำน่านฟ้าไทย และทิ้งระเบิดใส่ดินแดนไทยที่จังหวัดนครพนม ทำให้มีผู้ได้รับบาดเจ็บ หลังจากนั้นรัฐบาลอินโดจีนก็ได้ส่งเครื่องบินเข้ามาโจมตีที่อรัญประเทศอีก และเริ่มส่งกำลังมายังชายแดนที่ติดกับไทย

จอมพล ป ตรวจแถวทหาร

เหตุการณ์ช่วงนี้ฝรั่งเศสบันทึกไว้อีกรูปแบบหนึ่ง ฝรั่งเศสบันทึกไว้ว่าไทยเป็นฝ่ายไปทิ้งระเบิดโจมตีเป้าหมายในอาณานิคมอินโดจีนก่อน รัฐบาลอินโดจีนของฝรั่งเศสจึงจำต้องตอบโต้

รัฐบาลไทยมีคำสั่งให้สามเหล่าทัพเข้าโจมตีอาณานิคมอินโดจีนของฝรั่งเศสอย่างเต็มกำลัง ในวันที่ 5 มกราคม ค.ศ 1941 กองทัพบกไทยได้บุกเข้าไปในลาวและกัมพูชา ฝ่ายกองทัพอากาศก็ดาหน้าถล่มเมืองต่างๆในอาณานิคมอินโดจีนอย่างหนัก ส่วนกองทัพเรือก็ทำหน้าที่สกัดกั้นไม่ให้กองเรือฝรั่งเศสเข้ามาได้

กองทัพไทยติดอาวุธที่ดีกว่ากองทหารอาณานิคมของอินโดจีน ในเวลาไม่นานกองทัพบกไทย ไล่ตีกองทัพอินโดจีนให้ถอยไปและสามารถเข้ายึดครองลาวทั้งหมดอย่างง่ายดาย ขณะเดียวกันในกัมพูชา กองทหารอินโดจีนสามารถต่อสู้ป้องกันกองทัพไทยได้อยู่บ้าง แต่ก็พ่ายแพ้อย่างรวดเร็ว

ส่วนกองทัพอากาศปรากฎว่า นักบินไทยมีความสามารถไม่แพ้นักบินชาวยุโรป เป้าหมายในอินโดจีนถูกเครื่องบินไทยทำลายจนพินาศยับ นายพลเดอร์กู ที่ควบคุมการป้องกันดินแดนอาณานิคมอินโดจีนถึงกับกล่าวด้วยความเคียดแค้นว่านักบินไทยมีความสามารถมาก

ญี่ปุ่นไกล่เกลี่ย

เช้าของวันที่ 16 มกราคม หลังจากทหารไทยบุกเข้าอินโดจีนได้ 11 วัน กองทัพฝรั่งเศสในอินโดจีนเข้าโจมตีตอบโต้ครั้งใหญ่ต่อกองทัพไทย แต่กองทัพไทยได้เตรียมพร้อมตั้งรับไว้อย่างดีโดยได้ยึดที่มั่นสำคัญๆไว้ ทำให้กองทัพอินโดจีนไม่สามารถเอาชนะกองทัพไทยได้ จำต้องถอยไปอีกครั้ง

สำหรับฝ่ายอินโดจีน สถานการณ์ในสมรภูมิทางบกเลวร้ายลงมาก นายพลเดอร์กูจึงสั่งให้กองทัพเรือฝรั่งเศสบุกเข้าน่านน้ำไทยที่เกาะช้าง กองเรือไทยจึงเข้าสกัดกั้นเกิดเป็นยุทธนาวีที่เกาะช้าง กองทัพเรือไทยมีขนาดเล็กกว่ามากจึงพ่ายแพ้ต่อกองเรือฝรั่งเศส แต่ก็ทำความเสียหายอย่างหนักให้กับกองเรือฝรั่งเศส

ในขณะนั้นญี่ปุ่นเกรงว่าสงครามในอินโดจีนจะมีผลต่อนโยบายการขยายดินแดนมายังเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ของตนเอง ญี่ปุ่นจึงอาสาเข้ามาเป็นตัวกลางในการไกล่เกลี่ยทั้งสองฝ่าย ในสนธิสัญญาดังกล่าว ไทยได้ดินแดนต่อไปนี้คืนจากอาณานิคมอินโดจีนของฝรั่งเศส

  1. พระตะบอง จัดตั้งเป็นจังหวัดพระตะบอง (ปัจจุบันอยู่ในประเทศกัมพูชา)
  2. เสียมราฐ จัดตั้งเป็นจังหวัดพิบูลสงคราม (ปัจจุบันอยู่ในประเทศกัมพูชา)
  3. นครจำปาศักดิ์ จัดตั้งเป็นจังหวัดนครจำปาศักดิ์ (ปัจจุบันอยู่ในประเทศลาว)
  4. ส่วนหนึ่งของหลวงพระบาง จัดตั้งเป็นจังหวัดลานช้าง (ปัจจุบันอยู่ในประเทศลาว)

หากแต่ว่าไทยต้องชดใช้เงินจำนวน 6 ล้านเหรียญให้แก่รัฐบาลอินโดจีนของฝรั่งเศส

สนธิสัญญานี้ได้รับการตอบรับอย่างดีจากประชาชนไทย แต่ถึงกระนั้นถ้าว่ากันตามตรงแล้ว ดินแดนที่ไทยได้รับมาเป็นแค่ 1 ใน 4 ของไทยที่เสียไปในสมัยรัชกาลที่ 5 เท่านั้น การที่ไทยเสียเงินจำนวนหกล้านเหรียญให้ฝรั่งเศสยิ่งดูเหมือนว่าไทยซื้อดินแดนดังกล่าวกลับคืนมาด้วยเงิน

ตราประจำจังหวัดลานช้าง

ผู้เข้ามาไกล่เกลี่ยอย่างญี่ปุ่นเป็นผู้ได้ประโยชน์ที่แท้จริง เพราะญี่ปุ่นได้ขยายอิทธิพลของตนเองที่มีต่อไทยและอินโดจีน รวมไปถึงยังบรรลุเป้าหมายที่ต้องการจะรักษาความสัมพันธ์ที่ดีกับไทยและรัฐบาลวิชีของฝรั่งเศสด้วย นี่จึงเป็นสาเหตุที่ญี่ปุ่นเจรจาให้ไทยได้ดินแดนส่วนหนึ่ง แต่ก็ต้องเสียสินไหมจำนวนมากให้รัฐบาลวิชีของฝรั่งเศส

ผลของสงคราม

ตลอด 6 เดือนในสงครามอินโดจีน กองทัพบกไทยมีทหารเสียชีวิต 54 คน กองทัพเรือมีทหารเสียชีวิต 41 คน เรือตอปิโด 2 ลำ (จากยุทธนาวีที่เกาะช้าง) ขณะที่กองทัพอากาศเสียอากาศยานไปสิบกว่าเครื่องพร้อมกับนักบิน

ฝ่ายฝรั่งเศสมีทหารเสียชีวิตและบาดเจ็บ 321 คน สูญหาย 178 คน ถูกไทยจับเป็น 222 คน อากาศยานถูกทำลาย 22 ลำ ดังนั้นไม่ต้องสงสัยว่าไทยเป็นฝ่ายชนะสงครามครั้งนี้อย่างชัดเจน

หลังจากสงครามสงบ รัฐบาลของจอมพล ป. พิบูลสงครามได้ให้สร้างอนุสาวรีย์เพื่อระลึกถึงความเสียสละและความกล้าหาญของทหารไทยทั้งสามเหล่าทัพ นั่นคืออนุสาวรีย์ชัยสมรภูมินั่นเอง

หากแต่ว่าเมื่อสงครามโลกครั้งที่ 2 สงบลง ฝรั่งเศสได้กลายเป็นประเทศชนะสงคราม ส่วนไทยเป็นประเทศ “เกือบ” แพ้สงคราม เพราะได้ประกาศสงครามกับชาติพันธมิตรอย่างอังกฤษ แต่รอดมาได้เพราะการทูตอีกเช่นเดิม

ฝรั่งเศสที่ได้กลายเป็นสมาชิกถาวรของคณะมนตรีความมั่นคงแห่งองค์การสหประชาชาติได้ประกาศว่าถ้าไทยต้องการจะเข้าร่วมองค์การสหประชาชาติ ไทยต้องคืนดินแดนที่ยึดมาได้จากสงครามอินโดจีนให้ฝรั่งเศส มิฉะนั้นฝรั่งเศสจะวีโต้ (Veto) การเข้าร่วมองค์กรสหประชาชาติของไทย

ด้วยเหตุนี้ในปี ค.ศ.1946 รัฐบาลไทยต้องคืนดินแดนที่ยึดมาได้ในสงครามอินโดจีนไปให้ฝรั่งเศสอีกครั้ง ดินแดนดังกล่าวอยู่ในอำนาจฝรั่งเศสได้อีกไม่กี่ปี หลังจากนั้นไม่นานอาณานิคมอินโดจีนทั้งหมดก็ประกาศเอกราชจากฝรั่งเศส กลายเป็นประเทศลาว กัมพูชา และเวียดนามในที่สุด

บทความประวัติศาสตร์

Victory Tale ไม่อนุญาตให้คัดลอกบทความไปโพสที่ใดทุกกรณี การฝ่าฝืนมีโทษทางกฎหมาย

error: Content is protected !!