ประวัติศาสตร์การตกแห่งศตวรรษ: เครื่องบินชนกันที่ Tenerife

การตกแห่งศตวรรษ: เครื่องบินชนกันที่ Tenerife

ในปัจจุบันอุบัติเหตุทางเครื่องบินมีน้อยลงมาก ส่วนหนึ่งเพราะเทคโนโลยีที่พัฒนาขึ้น และกฎระเบียบอันเคร่งครัดถูกบังคับใช้มากยิ่งขึ้น หากแต่ว่าก่อนที่จะมีเทคโนโลยีและกฎระเบียบเหล่านี้นั้น มีมนุษย์จำนวนมากต้องสิ้นชีวิตไปเพราะอุบัติเหตุที่เกี่ยวข้องกับเครื่องบิน

แต่ทว่าไม่มีครั้งใดที่จะรุนแรงหนักหนาสาหัสเทียบเท่ากับ อุบัติเหตุที่เกิดขึ้นที่ Tenerife (Tenerife Airport Disaster) ในวันที่ 27 มีนาคม ค.ศ.1977 ซีรีส์ Air Crash Investigation ขนานนามเหตุการณ์ดังกล่าวว่าเป็น “Crash of the Century” หรือ การตกแห่งศตวรรษ

วันแห่งโชคชะตา

Tenerife เป็นเกาะในหมู่เกาะคานารี (Canary Islands) ซึ่งเป็นดินแดนของสเปน โดยหมู่เกาะนี้อยู่ในมหาสมุทรแอตแลนติกใกล้กับทวีปแอฟริกา Tenerife เป็นเมืองท่องเที่ยวอันสวยงามและเป็นเมืองหลวงทางด้านเศรษฐกิจของหมู่เกาะคานารี โดยทั่วไปแล้วเครื่องบินจะมาลงที่สนามบิน Gran Canaria (เรียกอีกชื่อหนึ่งว่าสนามบิน Las Palmas) ซึ่งเป็นสนามบินใหญ่รองรับเครื่องบินขนาดใหญ่เช่น Boeing 747 อยู่เป็นประจำ

เกาะ Tenerife (คลิกเพื่อขยาย) Cr:Wikipedia

หากแต่ว่าในวันนั้นเกิดระเบิดขึ้นในสนามบิน Gran Canaria โดยกลุ่มผู้ก่อความไม่สงบ เครื่องบินทุกลำที่ยังไม่ได้ลงจอดจึงต้องถูกสั่งให้ไปลงจอดที่อีกสนามบินหนึ่งซึ่งเป็นสนามบินเล็กชื่อว่า Los Rodeos ใน Tenerife

สนามบิน Los Rodeos นี้เป็นสนามบินขนาดเล็ก ใช้สำหรับดูแลเครื่องบินขนาดเล็กที่ใช้ขึ้นลงสำหรับการเดินทางระยะใกล้เท่านั้น ดังนั้นสนามบินนี้มีเพียง 1 รันเวย์ 1 แท็กซี่เวย์เท่านั้น นอกจากนี้สายการบินนี้ยังไม่มีเรดาร์ การขึ้นลงของเครื่องบินต้องใช้สายตามนุษย์ดูเท่านั้น ที่ผ่านมามันไม่มีปัญหาเพราะเครื่องบินขึ้นลงมีไม่กี่ลำ และยังเป็นเครื่องบินเล็ก เจ้าหน้าที่ยังจัดการได้อย่างสบายๆ

ในวันนั้นกลับมีเครื่องบินขนาดใหญ่ถึง 5 ลำ ถูกส่งให้ไปลงจอดที่ Los Roedos เพราะปัญหาที่สนามบิน Gran Canaria ดังนั้นด้วยความที่สนามบินมีขนาดเล็ก เครื่องบินขนาดใหญ่จึงจอดขวางทางแท็กซี่เวย์ ทำให้เครื่องบินไม่สามารถทำการแท๊กซี่ (เคลื่อนที่จากลานจอดไปยังรันเวย์)ได้

ภาพจำลองเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น (คลิกเพื่อขยาย) Cr: Mtcv

แล้วเครื่องบินจะบินขึ้นอย่างไร?

เครื่องบินจำต้องทำการแท็กซี่ช้าๆ บนรันเวย์เดียวกันกับที่ใช้บินขึ้น แล้วจึงหมุนตัวกลับ เพิ่มความเร็วแล้วบินขึ้นไป

หลังจากที่เหตุการณ์ที่สนามบิน Gran Canaria สงบลง เจ้าหน้าที่ก็อนุญาตให้เครื่องบินที่พักอยู่ที่ Los Rodeos บินกลับไปที่ Gran Canaria ได้ เครื่องบินยักษ์ใหญ่ทั้งห้าเริ่มประกาศให้ ผู้โดยสารขึ้นเครื่องตามลำดับ

ในรันเวย์เดียวกัน

ในวันนั้นทัศนวิสัยเริ่มย่ำแย่ เมฆเริ่มปกคลุมบริเวณสนามบินที่ตั้งอยู่บนที่สูงกว่าระดับน้ำทะเลประมาณ 600 เมตร แต่เครื่องบินหลายลำก็ต้องการที่จะบินขึ้นเพราะเสียเวลาไปมากแล้ว

สายการบินลำแรกที่เตรียมการบินขึ้นคือ สายการบิน KLM เที่ยวบินที่ 4805 (KL4805) บังคับการโดยกัปตันประสบการณ์สูงชื่อ Veldhuyzen van Zanten นอกจากจะเป็นนักบินระดับต้นๆ ของสายการบิน วานซานเทนยังเป็นครูฝึกการบินอีกด้วย ในวันนั้นเครื่องบินลำดังกล่าวมีผู้โดยสาร 234 คน ลูกเรือ 14 คน

เครื่องบิน KL4805 ลำที่ถูกทำลายในเหตุการณ์นี้ Cr: clipperarctic

ช่วงที่อยู่พักรอที่สนามบิน Los Rodeos กัปตันวานซานเทนตัดสินใจเติมน้ำมันให้เต็มถังก่อนจะขึ้นบิน เพราะนักบินไม่ต้องการเสียเวลาที่ Gran Canaria อีก กล่าวคือเมื่อบินไป Gran Canaria เสร็จ เขาจะได้รีบบินกลับไปอัมสเตอร์ดัมเลย เมื่อได้สัญญาณว่าให้เตรียมการขึ้นบิน วานซานเทนจึงเคลื่อนเครื่องบินของเขาไปตามรันเวย์ แล้วหักหัวเครื่องบินเพื่อเตรียมจะบินขึ้น ตามคำสั่งของหอบังคับการ

หากแต่ว่าในรันเวย์เดียวกันมีเครื่องบินลำหนึ่งอยู่ด้วย เครื่องบินลำนี้เป็นเครื่องบินแบบ Boeing 747 เช่นเดียวกับของ KLM (แต่คนละรุ่น) เครื่องบินที่ว่าคือสายการบิน Pan Am เที่ยวบินที่ PA1736 ภายในเครื่องบินของ Pan Am มีผู้โดยสารและลูกเรือ 396 คน

เครื่องบิน Pan Am ได้รับคำสั่งให้เคลื่อนที่ไปตามรันเวย์เดียวกัน แต่ให้เคลื่อนตัวออกตรงจุดแท๊กซี่ที่ 3 ซึ่งไม่มีป้ายใดๆ บอกไว้ ทัศนวิสัยที่เลวร้ายลงทำให้นักบินของ Pan Am สังเกตเห็นจุดที่สั่งให้เลี้ยวออกยากยิ่งขึ้น เครื่องบิน Pan Am จึงยังคงอยู่ในรันเวย์ที่เครื่อง KLM กำลังบินขึ้น

เครื่องบินทั้งสองในวันที่เกิดเหตุ เครื่องบินลำด้านหลังคือ KLM

ความผิดพลาดทางการสื่อสาร

หลังจากที่สายการบิน KLM หมุนตัวเสร็จแล้ว กัปตันวานซานเทนกลับโยกคันเร่งเพื่อนำเครื่องบินขึ้นทันที แต่ Meurs นักบินที่สองของ KLM ยับยั้งไว้ โดยบอกวานซานเทนว่าพวกเขายังไม่ได้ ATC Clearance หรือสัญญาณที่อนุญาตให้เครื่องบินบินขึ้น

การกระทำของวานซานเทนผิดกฎการบินอย่างร้ายแรง เป็นเรื่องแปลกที่เขาทำเช่นนั้น ทั้งๆที่เขามีประสบการณ์การบินมากกว่า 30 ปี

ระหว่างการขอ ATC Clearance ของ KLM ได้เกิดความคลาดเคลื่อนทางภาษาระหว่างหอบังคับการกับนักบิน KLM หอบังคับการอธิบายเส้นทางหลังจากบินขึ้นให้นักบินทั้งสองฟัง แต่ยังไม่ได้ให้สัญญาณบินขึ้น Meurs พยายามสื่อสารกับหอบังคับการโดยพูดขึ้นว่า “พวกเขากำลังจะเทคออฟ”

จู่ๆ วานซานเทนกลับพูดขึ้นว่า “เราไปได้แล้ว” หอบังคับการตอบกัปตันมาว่า “โอเค” ซึ่งเป็นการตอบสนองที่ไม่ตรงกับมาตรฐานการบินอีกเช่นกัน หอบังคับการจึงรีบพูดต่อไปทันทีว่า “เตรียมตัวสำหรับเทคออฟ ฉันจะบอกคุณ” หากแต่ว่าไอ้เจ้าประโยคหลังนี่วานซานเทนและ Meurs ไม่ได้ยินเพราะมีสัญญาณวิทยุของเครื่องบิน Pan Am เข้ามารบกวน

ดังนั้นปัญหาเกิดขึ้นทันทีเพราะวานซานเทนไม่ได้ยินประโยคหลัง เขาจึงคิดว่าเขาบินขึ้นได้แล้วจากการคำว่า โอเค” แต่หอบังคับการคิดว่าได้สั่งไว้แล้วว่าให้แค่ “เตรียมตัว” ไม่ใช่ให้ “บินขึ้น”

สัญญาณวิทยุที่เข้ามารบกวนคือสัญญาณที่ Pan Am บอกหอควบคุมว่ากำลังอยู่ในรันเวย์ และยังหา Taxiway ที่หอบังคับการสั่งไม่เจอ หอบังคับการสั่งว่าให้ Pan Am บอกว่าให้รายงานเมื่อออกไปจากรันเวย์แล้ว กัปตันของ Pan Am จึงตอบรับว่า “โอเค เราจะรายงานเมื่อออกมาแล้ว”

หลายท่านจึงสงสัยว่าเครื่องบินทั้งสองออกจากใหญ่ทำไมมองไม่เห็น คำตอบคือหมอกลงจัดมาก ทำให้เครื่องบินทั้งสองไม่เห็นซึ่งกันและกัน หอบังคับการก็ไม่มีเรดาร์ และต้องใช้กล้องส่องเพื่อมองดู ดังนั้นเมื่อหมอกลงจัด พวกเขาก็ไม่เห็นเช่นเดียวกัน

กลับมาที่กัปตันวานซานเทน หลังจากที่เขาคิดว่าเขาได้สัญญาณให้ขึ้นบินได้แล้ว เขาก็รีบเร่งคันบังคับเพื่อเตรียมบินขึ้น วิศวกรประจำเครื่อง KLM ได้ถามว่า “เครื่องบิน Pan Am ยังไม่ออกไปใช่ไหม” กัปตันวานซานเทนตอบว่า “โอ้ ใช่” แต่เขากลับนำเครื่องบินขึ้นต่อไป ความเร็วของเครื่องบิน KLM เพิ่มขึ้นตามลำดับ

สถานการณ์ในเวลานั้นคือเครื่องบิน Pan Am อยู่บนรันเวย์และกำลังเลี้ยวหลบ ในขณะที่เครื่องบิน KLM กำลังเร่งความเร็วเพื่อบินขึ้นในรันเวย์เดียวกัน

วินาศสันตะโร

เมื่อเข้ามาถึงระยะที่ใกล้กัน นักบิน Pan Am เห็นเครื่องบิน KLM กำลังพุ่งตรงเข้ามาก็รีบเร่งเครื่องบิน และเลี้ยวไปทางซ้ายเข้าไปในเนินหญ้าอย่างเร็วที่สุดเท่าที่จะทำได้

อีกไม่กี่วินาทีต่อมา วานซานเทนก็เห็นว่าเครื่องบิน Pan Am อยู่ในเส้นทางที่พวกเขาจะบินขึ้น แต่เครื่องบิน KLM เคลื่อนที่เร็วเกินกว่าที่จะหยุดได้เสียแล้ว วานซานเทนจึงพยายามยกหัวเครื่องบินขึ้นเพื่อหลบการชนกัน ทำให้หางของเครื่องบินนั้นขูดกับพื้นเป็นระยะทางถึง 22 เมตร

หัวของเครื่องบิน KLM พ้นจากตัวเครื่องบิน Pan Am ไปแล้ว แล้วแต่เครื่องยนต์ฝั่งซ้าย ถังน้ำมัน และล้อของเครื่องบินหลบไม่พ้น สาเหตุหนึ่งเพราะเครื่องบิน KLM มีน้ำหนักมากเพราะกัปตันวานซานเทนเติมน้ำมันมาเต็มถังก่อนหน้านี้

ซากปรักหักพัง (Tenerife Airport Disaster)

ด้วยเหตุนี้บางส่วนเครื่องบิน KLM จึงชนเข้ากับบริเวณปีก หรือตรงกลางของเครื่องบิน Pan Am เข้าเต็มแรง ก่อให้เกิดเป็นลูกไฟขนาดใหญ่ เครื่องบิน KLM บินไปได้ 150 เมตรก็ตกลงเพราะแรงกระแทกและแรงระเบิด เชื้อเพลิงมหาศาลที่ระเบิดขึ้นเป็นหลักประกันว่าไม่มีผู้ใดรอดชีวิตในเครื่องบิน KLM

เมื่อเห็นเพลิงลุกไหม้ หอบังคับการจึงเรียกรถดับเพลิงมาทันที ในตอนแรกเหล่านักดับเพลิงคิดว่ามีแค่ลำเดียว แต่จริงๆ แล้วมีอีกลำหนึ่งอยู่อีกใกล้ๆ งานดับเพลิงกลายเป็นงานช้างทันที เหล่านักดับเพลิงใช้เวลาหลายชั่วโมงจนกว่าเพลิงจะสงบลง

ยอดผู้เสียชีวิต

ผู้ที่อยู่ในเครื่องบิน KLM เสียชีวิตทั้งหมดจากการที่เชื้อเพลิงของเครื่องบินติดไฟ ในขณะที่เครื่องบิน Pan Am มีผู้รอดชีวิต 61 คนจากทั้งหมด 396 คน ผู้รอดชีวิตจากเครื่องบิน Pan Am หนีตายลงมาจากปีกด้านซ้ายที่ยังคงรูปไว้ได้อยู่ พวกเขารอดชีวิตมาจากกองเพลิงได้อย่างหวุดหวิด นักบินทั้งสองคนของ Pan Am ต่างรอดชีวิต

โดยรวมแล้วในวันนั้นมีผู้เสียชีวิตทั้งสิ้น 583 คนจากการชนกันของเครื่องบินขนาดยักษ์สองลำ อุบัติเหตุครั้งนี้ยังคงเป็นอุบัติเหตุทางอากาศที่มีผู้เสียชีวิตมากที่สุดมาจนถึงปัจจุบัน

กัปตันวานซานเทนเป็นนักบินที่ได้รับการเคารพมากที่สุดคนหนึ่งของสายการบิน เขาเคยได้รับเลือกให้ลงนิตยสาร (ตามรูป)

จากการสอบสวนพบว่าความผิดพลาดของมนุษย์ ความไม่พร้อมของสนามบิน และสภาพอากาศอันเลวร้ายเป็นสาเหตุร่วมที่ทำให้เกิดโศกนาฎกรรมเช่นนี้ขึ้น กรมการบินทั่วโลกจึงมีการสังคายนากฎระเบียบการบินเสียใหม่ และบังคับให้ทุกสนามบินใช้เรดาร์ ผลที่ตามมาคือการเดินทางทางอากาศปลอดภัยมากขึ้น

อีกประการหนึ่ง อุบัติเหตุครั้งนี้ชี้ให้เห็นถึงปัญหาเรื่อง Seniority ในหมู่นักบิน กล่าวคือนักบินที่สองอย่าง Meurs ไม่กล้าแสดงความเห็นแย้งนักบินที่มีประสบการณ์อย่างวานซานเทน เพราะความอาวุโส ทั้งๆ ที่กัปตันวานซานเทนต่างหากเป็นผู้ที่ไม่ได้ปฏฺิบัติตามกฎระเบียบการบิน

อนุสรณ์สถานที่อุทิศให้ผู้เสียชีวิตที่ Tenerife

บทความการศึกษา

Victory Tale ไม่อนุญาตให้คัดลอกบทความไปโพสที่ใดทุกกรณี การฝ่าฝืนมีโทษทางกฎหมาย

error: Content is protected !!