โจเซฟ สตาลิน (Joseph Stalin) เป็นผู้นำคนที่สองแห่งสหภาพโซเวียต เขามีชื่อเสียงในฐานะผู้นำที่เด็ดขาดที่กำหนดชะตาชีวิตของประชาชนในประเทศของเขา สตาลินมีส่วนสำคัญทั้งในการปฏิวัติรัสเซีย สงครามกลางเมืองรัสเซีย The Great Purge และสงครามโลกครั้งที่ 2
แต่ว่าสตาลินเองก็เป็นชายคนหนึ่ง สตาลินก็มีชีวิตรักและครอบครัวของเขาเช่นเดียวกัน เรามาดูกันครับว่าสตาลินมีความสัมพันธ์กับใครบ้าง
พบรักกับภรรยาคนแรก
สตาลินเป็นชาวจอร์เจีย ดังนั้นเขาจึงใช้ชีวิตช่วงวัยเด็กและวัยหนุ่มอยู่ในดินแดนแถบนั้น นักประวัติศาสตร์ได้ค้นพบว่าสตาลินเป็นชายหนุ่มจอมเจ้าชู้ เขาเปลี่ยนแฟนอยู่หลายคน และ “มีแฟนเกือบจะตลอดเวลา” ตัวสตาลินในวัยหนุ่มเป็นคนชอบพูดคุยเจ๊าะแจ๊ะ ทำให้สาวๆ หลายคนติดเขามาก
สตาลินใช้ชีวิตลักษณะนั้นจนกระทั่ง เขาอายุได้ยี่สิบปลายๆ เขาก็ได้พบกับผู้หญิงคนหนึ่ง เธอชื่อ Ekaterina Svanidze หรือ คาโต (Kato) น้องสาวของอเล็กซานเดอร์ เพื่อนของเขาที่เป็นสมาชิกพรรคบอลเชวิคคนหนึ่ง
คาโตทำงานเป็นช่างเย็บผ้าให้กับช่างชาวฝรั่งเศสในเมือง Tbilisi เมืองหลวงของจอร์เจีย ด้วยความที่มีพี่ชายเป็นนักปฏิวัติ เธอจึงเข้าใจชีวิตของนักปฏิวัติเป็นอย่างดี นั่นเป็นสาเหตุหนึ่งที่สตาลินคิดว่าเธอเหมาะกับเขา
ด้วยความที่ในเวลานั้น สตาลินเป็นผู้ต้องหาที่โดนหมายจับจากตำรวจ สตาลินจึงจีบเธออย่างออกหน้าไม่ได้มากนัก เพราะเขาเกรงว่าเธอจะติดร่างแหไปด้วย สตาลินต้องหลบๆซ่อนๆ และแอบมาหาเธออย่างลับๆ โชคยังดีที่นายจ้างชาวฝรั่งเศสของคาโตอนุญาตให้ทั้งสองพบกันได้ที่ด้านล่างของร้าน
มีอยู่ครั้งหนึ่ง ระหว่างที่ทั้งสองอยู่ที่หลังร้าน สตาลินเกือบโดนจับได้ เพราะสุนัขตำรวจที่ตำรวจมาด้วยได้เห่าอย่างบ้าคลั่ง เจ้าของร้านชาวฝรั่งเศสจึงต้องรีบไปเตือนสตาลิน เขาหนีรอดไปทางประตูหลังได้อย่างหวุดหวิด
คาโตเป็นผู้หญิงที่น่ารัก ใจดี และไม่หัวแข็ง ดังนั้นไม่แปลกที่สตาลินจะตกหลุมรักเธอ สตาลินเคยบอกกับสเวตลานา ลูกสาวของเขา (ที่ไม่ได้เกิดกับคาโต) ว่าคาโตนั้น
เป็นคนหวานและสวยมาก เธอทำให้หัวใจของฉันละลาย
แต่คาโตนี่สิชอบพออะไรในตัวสตาลิน ในเวลานั้นสตาลินเป็นคนที่ผอมมาก และยังมีอารมณ์รุนแรง หน้าตาก็ธรรมดา
บ้างว่าคาโตน่าจะชอบสตาลินเพราะความโรแมนติกแบบลุยๆ กล้าๆ ของสตาลิน บ้างว่าเธอชอบในอุดมการณ์ของเขา ถึงกระนั้นก็ไม่มีใครทราบความจริง เพราะหลังจากเธอเสียชีวิต ครอบครัวของเธอไม่เคยปริปากเรื่องนี้อีกเลย
การแต่งงาน
สตาลินและคาโตตัดสินใจว่าจะแต่งงานกัน ตอนนั้น คาโตน่าจะตั้งครรภ์อ่อนๆ แล้ว นักประวัติศาสตร์เชื่อว่านั่นเป็นสาเหตุที่ทั้งสองแต่งงานกัน
คาโตเป็นสตรีที่เคร่งศาสนามาก เธอจึงต้องการจัดพิธีตามแบบคริสตศาสนา ส่วนสตาลินเป็นคนไม่มีศาสนาแล้วในเวลานั้น สตาลินยินยอมทำความปรารถนาของเธอแต่โดยดี
แต่แล้วปัญหาก็เกิดขึ้น เพราะว่าไม่มีบาทหลวงคนไหนยินยอมทำพิธีให้ผู้ที่มีหมายจับอย่างสตาลิน และตัวสตาลินเองก็ใช้ชื่อปลอมอยู่ด้วย เขาจึงไม่มีเอกสารที่ถูกต้อง บาทหลวงที่จัดงานให้อาจจะซวยไปด้วย
สุดท้ายทั้งสองหาบาทหลวงทำพิธีให้ได้สำเร็จ เขาคือเพื่อนร่วมชั้นในวัยเด็กของสตาลินนั่นเอง แต่บาทหลวงผู้นั้นยืนกรานว่าพิธีต้องจัดขึ้นในเวลาตีสองเท่านั้น (น่าจะเป็นเพราะเหตุผลเรื่องความปลอดภัย)
สตาลินและคาโตจึงแต่งงานกันในเวลาตีสองของวันที่ 16 กรกฎาคม ค.ศ.1906 สตาลินอายุได้ 28 ปี ส่วนคาโตอายุได้ 21 ปี
ความย้อนแย้งอย่างหนึ่งในพิธีคือ ทั้งสองแต่งงานกันตามพิธีทางศาสนาทุกประการ แต่ผู้ที่มาร่วมงานมีแต่ผู้ที่ไม่มีศาสนา (Atheists) ทั้งสิ้น
หลังจากพิธีแต่งงานเสร็จสิ้น ก็ได้มีงานเลี้ยงเล็กๆ ขึ้นที่มีแขกจำนวนสิบคน จังหวะงานเกือบแตกเพราะมีเจ้าหน้าที่ตำรวจเข้ามาบ้านที่จัดงานอยู่พอดี แต่ปรากฏว่าเป็นเจ้าหน้าที่คนที่สตาลินติดสินบนอยู่บ่อยครั้ง เขาจึงไม่ได้ทำการจับกุมสตาลินแต่อย่างใด
ชีวิตหลังแต่งงาน
ต่อมาคาโตก็ทำหน้าที่เป็นแม่บ้านที่ดี และทำหน้าที่ช่วยเหลือสตาลินมากมายในงานทางด้านปฏิวัติของเขา ตั้งแต่จัดตั้งกองทุนหาเงินสมทบทุนในงานปฏิวัติ และรักษาพยาบาลพวกนักปฏิวัติที่บาดเจ็บ ถึงแม้ว่าในขณะนั้นเธอจะตั้งครรภ์อยู่ก็ตาม
แต่ทว่า หลังจากแต่งงานได้ไม่นาน คาโตกลับถูกจับเข้าคุกนานถึงหกสัปดาห์เพราะความผิดเรื่องการผลิตระเบิด เดิมทีเธอถูกตัดสินให้รับโทษประหารชีวิต แต่เธอได้รับการช่วยเหลือจากอดีตลูกค้าหลายคนที่ร้านตัดเย็บ และความที่เธอตั้งครรภ์อยู่ด้วย เธอจึงได้รับการปล่อยตัวออกมาในที่สุด
ระหว่างนั้นสตาลินได้ไปเยี่ยมเธอบ่อยๆ เขาปลอมตัวอย่างแนบเนียน ทำให้ไม่มีใครจำได้ และคาโตเองก็ไม่ได้ระบุว่าสตาลินเป็นสามีของเธอในหนังสือราชการ เพราะป้องกันไม่ให้เหล่าตำรวจลับรับทราบในความสัมพันธ์ของทั้งสอง
คาโตได้คลอดลูกชายคนหนึ่งชื่อ สตาลิน ชื่อว่า ยาคอฟ (Yakov) ในปี ค.ศ.1907 ผู้ที่อยู่เคียงข้างเธอในวัยที่เธอคลอดลูกชายคือ ตัวสตาลินเองและแม่ของเขา
หากแต่ว่าในอีกไม่กี่เดือนต่อมา สตาลินเป็นผู้นำในการบุกปล้นธนาคารแห่งหนึ่งในเมือง Tbilisi (หรือ Tiflis) ทำให้สตาลินกลายเป็นผู้ต้องหาระดับต้นๆ ที่ตำรวจต้องการตัว สตาลินจึงพาคาโตไปอาศัยอยู่ที่เมืองบากู (ปัจจุบันคือเมืองหลวงของประเทศอาเซอร์ไบจาน) เพื่อหลบหนีการตามล่า ในช่วงปี ค.ศ.1907
การจากไปของคาโต
สตาลินต้องการที่จะได้รับตำแหน่งสำคัญๆ ในพรรค RSDLP ดังนั้นในฐานะสมาชิกของกลุ่มบอลเชวิค เขาต้องเดินทางไปยังลอนดอนเพื่อเข้าร่วมการประชุมพรรค RSDLP (Russian Social Democratic Labor Party) ครั้งที่ห้า สตาลินจึงปลอมตัวและเดินทางไปยังลอนดอน ขณะที่คาโตพำนักอยู่ที่บ้านใหม่ที่เมืองบากู เมืองที่เธอเพิ่งย้ายมา เธอจึงไม่ค่อยมีเพื่อนเท่าใดนัก
ด้วยความที่เพิ่งคลอดลูกชาย สุขภาพร่างกายของคาโตจึงไม่ดีนัก เธอเองก็อยู่คนเดียวและเป็นห่วงสตาลินมาก ทำให้สุขภาพของเธอแย่ลงทีละน้อย ครอบครัวของเธอต่างแนะนำให้เธอกลับมายังจอร์เจีย เพื่อที่จะได้มีผู้ดูแล คาโตกลับปฏิเสธเพราะว่าไม่ต้องการทิ้งสามีไป
เมื่อสตาลินกลับมาจากลอนดอน เขาพบว่าภรรยามีอาการป่วย เขาจึงเร่งพาเธอกลับไปยังเมือง Tbilisi ในจอร์เจียที่ครอบครัวของเธออาศัยอยู่ แต่ด้วยความที่เขาเป็นที่ต้องการตัวในจอร์เจีย สตาลินอยู่ที่นั่นนานไม่ได้ เมื่อส่งภรรยาให้กับครอบครัวของเธอแล้ว เขารีบกลับไปยังบากูทันที
หากแต่ว่าชะตาของคาโตถึงฆาต ระหว่างที่เธอเดินทางกลับมากับสตาลิน เธอน่าจะดื่มน้ำที่มีเชื้อโรคอยู่ ได้รับเชื้อไทฟัส หรือแม้กระทั่งติดเชื้อวัณโรคมาก่อนหน้านี้ ร่างกายของคาโตอ่อนแอลงอย่างรวดเร็ว สตาลินรีบกลับมาจากบากูเพื่อดูใจเธอ ทั้งสองได้พบกันเป็นครั้งสุดท้ายก่อนที่เธอจะจากไป คาโตเสียชีวิตในวันที่ 22 พฤศจิกายน ค.ศ.1907 หรือปีเศษหลังจากที่เธอแต่งงานกับสตาลิน
ร่างของคาโตได้รับการทำพิธีทางศาสนาในโบสถ์เดียวกันกับที่เธอแต่งงานกับสตาลิน
สตาลินเสียใจอย่างมากกับการจากไปของเธอ ระหว่างในงานศพ สตาลินได้ดุึงมือของเพื่อนคนหนึ่งมาจับไว้แน่น และพูดขึ้นว่า
เธอเป็นผู้ที่ทำให้หัวใจที่เหมือนหินของฉันนุ่มลง เธอจากไปแล้วพร้อมกับความอบอุ่นของฉันที่มีให้กับผู้คน!
สตาลิน
มีเรื่องเล่าว่าสตาลินล้มตัวลงกับโลงศพของเธอ ถึงขนาดที่ผู้มาร่วมงานต้องช่วยกันลากตัวสตาลินออกไป แต่สตาลินเองก็อยู่ในงานได้ไม่นาน เพราะว่าเขาเกรงว่าตำรวจลับจะมาตะครุบตัวเขาเสียก่อน
สตาลินโศกเศร้าอยู่ทั้งคืนในวันที่เขามางานศพของเธอ ทำให้เพื่อนของเขาต้องนำปืนไปเก็บไว้ให้ห่างมือของสตาลิน เพราะเกรงว่าเขาจะยิงตัวตาย
โจเซฟ สตาลินได้ทิ้งยาคอฟ บุตรชายวัยแปดเดือนไว้กับญาติของคาโตเลี้ยงดู การตายของคาโตได้เปลี่ยนแปลงทัศนคติหลายๆ อย่างในตัวสตาลินเป็นการถาวร ความอบอุ่นของสตาลินได้หายไปจริงๆ หลังการตายของเธอ
นักประวัติศาสตร์หลายท่านเชื่อว่า คาโตเป็นผู้หญิงคนเดียวนอกจากแม่ ที่สตาลินรักอย่างแท้จริง แต่นั่นไม่ได้รวมไปถึงญาติพี่น้องของเธอด้วย พวกเขาถูกตำรวจลับของสตาลินจับกุมและสังหารในช่วง Great Purge และสงครามโลกครั้งที่ 2
ชีวิตรักของสตาลินจะเป็นอย่างไรต่อไป ติดตามได้ที่นี่
Sources:
- Robert Service, “Stalin: A biography”
- Stephen Kotkin, “Stalin Volume 1: Paradoxes of Power”
- Simon Sebag Montefiore, “Stalin: The Court of the Red Tsar”