ประวัติศาสตร์เนเดอร์ชาห์: ผู้ที่เก่งแต่รบแต่ด้อยเรื่องการปกครองอยู่ในอำนาจไม่ได้นาน

เนเดอร์ชาห์: ผู้ที่เก่งแต่รบแต่ด้อยเรื่องการปกครองอยู่ในอำนาจไม่ได้นาน

เนเดอร์เป็นแม่ทัพและกษัตริย์ของชาวเปอร์เซีย ตลอดชีวิตของเขา เขานำกองทัพสู้รบนับครั้งไม่ถ้วน และเอาชนะกองทัพศัตรูได้แทบทุกครั้ง ด้วยความสามารถในการนำกองทัพที่ไม่ด้อยไปกว่านโปเลียนแห่งฝรั่งเศส จักรวรรดิเปอร์เซียของเขาแข็งแกร่งเทียบเคียงได้กับอาณาจักรออตโตมัน ศัตรูตลอดกาล

หากแต่ว่าเรื่องของเนเดอร์กลับกลายเป็นตัวอย่างของจักรพรรดิที่สร้างจักรวรรดิได้สำเร็จ แต่ไม่สามารถจะรักษาจักรวรรดิของตนเองไว้ได้นาน เพราะความไร้ความสามารถในด้านการปกครอง และความทรนงในการใช้แต่อำนาจของตนเอง

เนเดอร์ชาห์

วัยเด็กและวัยหนุ่มที่ยากลำบาก

ในปลายศตวรรษที่ 17 ในภาคเหนือของเปอร์เซีย (อิหร่านในปัจจุบัน) เด็กน้อยผู้หนึ่งได้ถือกำเนิดขึ้น เขาผู้นี้เองจะเป็นจักรพรรดิผู้ยิ่งใหญ่ในภายภาคหน้า

เนเดอร์ไม่ได้เกิดในตระกูลกษัตริย์แต่อย่างใด ครอบครัวของเขาทำเสื้อโค้ตขาย เมื่อบิดาของเนเดอร์เสียชีวิต เนเดอร์ต้องหาเลี้ยงครอบครัวด้วยการไปเก็บฟืนมาขาย ต่อมาในปี ค.ศ.1704 เมื่อเนเดอร์อายุได้ 17 ปี พวกอุซเบครุกรานหมู่บ้านของเขา และจับเขากับแม่ไปเป็นทาส

ระหว่างที่ตกเป็นทาส แม่ของเขาเสียชีวิตลง เนเดอร์ต้องทำงานอยู่เป็นทาสอีกนานถึงสี่ปี กว่าจะได้อิสรภาพในปี ค.ศ.1708 ในขณะนั้นเนเดอร์อายุได้ 21 ปีแล้ว

ในช่วงเวลานั้นอาณาจักรซาฟาวิด (Safavid Empire) ที่ปกครองเปอร์เซียกำลังจะแตกสลาย อาณาจักรถูกรุกรานโดยศัตรูที่เข้มแข็งอย่างออตโตมันและรัสเซีย นอกจากนี้ยังพวกอัฟกันยังเป็นกบฏและทำการรุกรานพื้นที่หลายแห่งทางตอนเหนือของอาณาจักร ซึ่งรวมไปถึงคอรัซซันบ้านเกิดเมืองนอนของเนเดอร์ด้วย

ตอนแรกเนเดอร์ยินยอมอยู่ใต้อำนาจของพวกอัฟกันแต่โดยดี แต่ต่อมาก็ประกาศตัวเป็นกบฏ พร้อมกับจัดตั้งกองกำลังขนาดเล็กเพื่อต่อต้านพวกอัฟกันขึ้นมา นั่นเป็นจุดเริ่มต้นทางการเมืองของเนเดอร์

รับราชการ

กองทัพกบฏอัฟกันได้ยกเข้าปิดล้อมอิสฟาฮานอันเป็นเมืองหลวง และบีบบังคับให้ชาห์ Husayn ทรงสละราชสมบัติให้กับมาห์มัด แม่ทัพชาวอัฟกัน พระราชวงศ์ซาฟาวิดอื่นๆ จึงต้องหลบหนีไปยังที่ต่างๆ เพื่อวางแผนจะกู้อาณาจักรกลับคืนมา

ขณะนั้นเจ้าชาย Tahmasp ได้หลบหนีพวกกบฏไปพึ่งพิงพวกเผ่าคาจาร์ และราชาภิเษกขึ้นเป็นชาห์ Tahmasp ที่ 2 เมื่อพระองค์ทราบว่าในคอรัซซันมีกองกำลังต่อต้านพวกกบฏอยู่ พระองค์จึงส่งทูตมาหาเนเดอร์และขอให้เนเดอร์เข้าร่วมกับพระองค์ในการปราบปรามพวกกบฏ เนเดอร์ตอบรับคำ หลังจากนั้นเขาจึงกลายเป็นข้าราชการในราชสำนักพลัดถิ่นคนหนึ่ง

เนเดอร์เองยังไม่มีผลงานอะไรมากนัก จนกระทั่งวันหนึ่ง เขาทราบว่าผู้นำของพวกคาจาร์ลักลอบติดต่อกับพวกกบฏ เขาจึงทูลเรื่องทั้งหมดให้ชาห์ Tahmasp ทราบ ทำให้ชาห์ทรงจัดการพวกทรยศได้เป็นผลสำเร็จ

เพราะความดีความชอบอันยิ่งใหญ่นี้ ทำให้ชาห์ทรงแต่งตั้งให้เนเดอร์เป็นแม่ทัพใหญ่ของกองทัพของพระองค์

ในฐานะแม่ทัพใหญ่ เนเดอร์ใช้ยุทธวิธีใหม่ แทนที่เขาจะรีบนำกำลังบุกเข้าตีเมืองหลวงอิสฟาฮานกลับคืน เนเดอร์กลับนำกองทัพเข้าตีเมืองในภูมิภาคที่เป็นฐานกำลังให้พวกกบฏกลับคืนมาเสียก่อน ในปี ค.ศ.1726 กองทัพของเขายึดได้เมืองสำคัญชื่อ Mashhad ต่อมาก็บดขยี้กองทัพกบฏที่เฮรัต (Herat) ได้เป็นผลสำเร็จ

สมรภูมิชี้ชะตา

ในปลายปี ค.ศ.1729 ยุทธศาสตร์ของเนเดอร์ทำให้ฐานที่มั่นของพวกกบฏอัฟกันเหลือน้อยลงทุกที ชาห์แอชรัฟ (Ashraf) ของพวกอัฟกันจึงส่งกองทัพใหญ่ยกไปโจมตีกองกำลังของเนเดอร์ กองทัพกบฏมีกำลังมากถึงห้าหมื่นคน ส่วนเนเดอร์มีกำลังเพียงสองหมื่นกว่าคนเท่านั้น

สมรภูมิครั้งนี้เป็นการต่อสู้ครั้งแรกที่เนเดอร์ต้องเผชิญกับจำนวนข้าศึกที่มากกว่ากองกำลังของเขาเองอย่างมาก พวกอัฟกันมีทหารม้าที่กล้าแกร่งจำนวนมาก ด้วยกองทหารม้าเหล่านี้และจำนวนที่มากกว่าทำให้ชาห์แอชรัฟมั่นใจมากว่าจะชนะ เขาถึงกับเตรียมทหารม้าสามพันคนเอาไว้ไล่สังหารกองทัพของเนเดอร์ให้แหลกลาญ

เนเดอร์รู้ดีว่าพวกอัฟกันจะใช้ทหารม้าเป็นแกนหลักในการเข้าโจมตี เขามีกองทหารราบถือปืนเป็นหลักถ้าโดนชาร์จเข้าใส่ น่าจะแตกพ่าย เพราะฉะนั้นเขาต้องใช้กลยุทธ์เข้าช่วย เนเดอร์สั่งให้นำปืนใหญ่ทั้งหมดไปไว้บนที่สูงซึ่งตั้งอยู่ด้านหลังของกองทหารราบของเขา

เนเดอร์บดขยี้พวกอัฟกันที่ Damghan รูปภาพไม่ตรงกับความจริงสักเท่าใดนัก เพราะปืนใหญ่ต้องอยู่บนที่สูง

ชาห์แอชรัฟสั่งกำลังทหารม้าสี่หมื่นคนเข้าโจมตีกองทหารของเนเดอร์ ปืนใหญ่ทั้งหมดของเนเดอร์ก็ยิงกระหน่ำเข้าใส่ทันที ทหารม้าอัฟกันถูกกระสุนปืนใหญ่ยิงล้มตายจำนวนมาก ทหารที่เข้ามาใกล้กองทหารราบก็ถูกทหารราบของเนเดอร์ยิงปืนเข้าใส่ ทั้งนี้เนเดอร์สั่งให้ทหารของเขาเก็บกระสุนปืนเอาไว้ยิงใส่เป้าหมาย เมื่อเข้ามาใกล้จริงๆ เท่านั้น

ภายในเวลาไม่นาน กองทหารม้าอัฟกันก็ล้มตายทับถมกันจำนวนมาก เนเดอร์เห็นกองกำลังอัฟกันเริ่มถอยหนีเพราะความกลัว เขาจึงสั่งให้โจมตีตอบโต้ทันที กองทัพอัฟกันที่มีมากกว่าเป็นฝ่ายแตกกระจัดกระจาย

ในวันนั้นเนเดอร์เป็นฝ่ายได้ชัยชนะโดยสมบูรณ์ สมรภูมิแห่งนี้มีชื่อว่า สมรภูมิแห่ง Damghan และเป็นชัยชนะอันยิ่งใหญ่ครั้งแรกของเนเดอร์ พวกอัฟกันบาดเจ็บล้มตายหมื่นกว่าคน โดยที่เนเดอร์เสียกำลังไปเพียงสามพันคนเท่านั้น

หลังจากนั้นไม่นาน พวกอัฟกันนำกองกำลังขนาดใหญ่มาเผชิญหน้าอีก เพราะต้องการจะหยุดการรุกของเนเดอร์ ในสมรภูมิที่ Murche-Khort เนเดอร์ใช้กำลังทหารเพียงสองหมื่นกว่าคน บดขยี้กองทหารอัฟกันหกหมื่นคนที่สนับสนุนโดยอาณาจักรออตโตมันจนแหลกลาญ

ชัยชนะของเนเดอร์ ทำให้พวกอัฟกันแตกหนีไปจนหมด เนเดอร์ฉวยโอกาสนั้นบุกยึดเมืองหลวงอิสฟาฮานกลับคืนมาถวายต่อชาห์ Tahmasp ได้สำเร็จ เหล่าพลเมืองในเมืองหลวงต่างดีใจมาก แต่ก็ดีใจได้ไม่นาน เพราะเนเดอร์เริ่มแสดงให้เห็นถึงความโหดร้ายของเขา ด้วยการปล้นสะดมประชาชนเพื่อนำเงินมาจ่ายให้กับเหล่าทหาร

จัดการกับชาห์

เนเดอร์เป็นพวกคลั่งสงครามและชาตินิยม เมื่อแผ่นดินสงบแล้ว เนเดอร์ได้สั่งสารไปสั่งการให้กองทัพออตโตมันถอนกำลังจากดินแดนเปอร์เซียทั้งหมด เมื่อพวกออตโตมันปฏิเสธ เนเดอร์จึงเข้าโจมตีทันที เขาสามารถเอาชนะกองทัพออตโตมันได้หลายครั้งและยึดดินแดนที่เสียไปกลับคืนมาได้เกือบทั้งหมด

ระหว่างที่กำลังตีอาณาจักรออตโตมันเพลินๆ พวกอัฟกันกลับก่อกบฎทำให้ เนเดอร์ต้องยกทัพกลับไปปราบกบฎ โดยใช้เวลายาวนานถึง 14 เดือน

อิสฟาฮาน เมืองหลวงของเปอร์เซีย

เรื่องที่สำคัญกว่าคือ ชาห์ Tahmasp ที่ 2 กษัตริย์ของเขากำลังระแวงในตัวเนเดอร์อย่างมาก เพราะพระองค์ทราบดีว่าการที่พระองค์กลับมาประทับในพระราชวังได้เป็นเพราะเนเดอร์ การช่วงชิงดินแดนกลับคืนและการปราบกบฏให้ราบคาบได้สำเร็จ เป็นเพราะเนเดอร์ทั้งสิ้น

ชาห์ Tahmasp จึงปรารถนาจะสร้างเกียรติภูมิให้พระองค์เองบ้าง พระองค์จึงจัดกองทัพยกไปตีอาณาจักรออตโตมัน แต่กองทัพพระองค์กลับพ่ายแพ้ต่อพวกออตโตมัน และเสียดินแดนที่ Nader ยึดมากลับคืนมาได้หมาดๆ ไปทั้งหมด

ข่าวทราบมาถึงหูเนเดอร์ เขารู้สึกโกรธจัดและคิดว่าถึงเวลาแล้วที่กำจัดชาห์องค์นี้ไปเสียที

เนเดอร์รีบกลับมาที่เมืองหลวงอิสฟาฮาน และบีบบังคับให้ชาห์ Tahmasp ที่ 2 สละราชสมบัติให้อับบาส พระราชบุตรที่ยังเป็นเด็กน้อย โดยมีเนเดอร์เป็นผู้สำเร็จราชการแผ่นดินทั้งหมด เมื่อจัดการเรื่องทั้งหมดเรียบร้อยแล้ว เนเดอร์จึงนำกองทัพยกไปตีอาณาจักรออตโตมันอีกครั้งหนึ่ง

พานพบคู่ต่อสู้ที่ทัดเทียมกัน

ในการต่อสู้นี้ เนเดอร์ได้พบกับแม่ทัพที่มีฝีมือทัดเทียมกันเป็นครั้งแรก นั่นคือโทปัล ออสมัน ปาชา (Topal Osman Pasha) แม่ทัพผู้เฒ่าของอาณาจักรออตโตมัน ทั้งสองฝ่ายปะทะกันที่ Samarra การต่อสู้ครั้งนี้เป็นครั้งที่เนเดอร์เป็นฝ่ายพ่ายแพ้ยับเยิน ซึ่งเป็นความพ่ายแพ้ไม่กี่ครั้งในชีวิตของเขา เนเดอร์เสียทหารมีฝีมือไปมากถึงสามหมื่นคน พร้อมกับปืนใหญ่เกือบทั้งหมด แต่พวกออตโตมันก็เสียหายหนักไม่แพ้กัน

หากแต่ว่าเนเดอร์ก็ฟื้นฟูกองทัพได้อย่างรวดเร็ว ถึงแม้ Nader จะปกครองไม่เก่ง และเขาเป็นคนที่ยอมรับความผิดพลาดของตนเอง หลังจากการรบที่ Samarra ที่เขาพ่ายแพ้ เนเดอร์ได้ยอมรับกับทหารทั้งหมดว่า เขาได้วางกลยุทธ์ผิดพลาดเองและเขามั่นใจว่าในครั้งต่อไป กองทัพเปอร์เซียจะต้องได้รับชัยชนะ ทำให้บรรดาทหารรักเขามาก

เนเดอร์ล้างแค้นโทปัล ออสมันได้สำเร็จที่ Kirkuk

เนเดอร์กลับมาพร้อมกับกองทัพใหม่ในเวลาไม่ถึงสามเดือน โทปัล ออสมันก็นำกองทัพมาต่อสู้กับเนเดอร์อีกครั้ง สมรภูมิครั้งนี้เป็นการเผชิญหน้าครั้งที่สองของเนเดอร์และโทปัล ออสมัน ทั้งสองฝ่ายเผชิญหน้ากันที่ Kirkuk กองทัพของฝ่ายเปอร์เซียและออตโตมันมีจำนวนใกล้เคียงกันคือประมาณหนึ่งแสนคน โดยกองทัพออตโตมันมีมากกว่าเล็กน้อย ในครั้งนี้เนเดอร์ตั้งมั่นว่าจะแก้มือให้จงได้

เมื่อกองทัพทั้งสองฝ่ายปะทะกัน เสียงปืนใหญ่ดังกึกก้องทั้งสนามรบเป็นเวลากว่าสองชั่วโมง โดยยังไม่มีฝ่ายใดได้ชัยชนะ ทันใดนั้นเนเดอร์สั่งให้ทหารม้าของเขาเข้าชาร์จบรรดาทหารราบออตโตมันที่ยิงปืนต่อสู้กับทหารเปอร์เซียจากทางด้านหลัง กองทัพออตโตมันจึงแตกยับเยิน โทปัล ออสมัน ขุนพลเฒ่าไม่ยอมละทิ้งทหาร แม่ทัพออตโตมันผู้นี้จึงถูกทหารเปอร์เซียสังหารสิ้นชีวิตกลางสมรภูมิ เนเดอร์จึงแก้มือได้สำเร็จ

อย่างไรก็ตามเนเดอร์ได้แสดงความเคารพอย่างสูงต่อโทปัล ออสมัน แม่ทัพผู้เฒ่า เขาสั่งให้นำศีรษะของเขามาเย็บต่อกับตัว และยืนมองด้วยความเศร้าต่อศัตรูผู้นี้อยู่เป็นเวลานาน เขาส่งร่างของเขากลับไปที่แบกแดดเพื่อทำการฝังศพอย่างสมเกียรติ

อนุสาวรีย์ของเนเดอร์

ต่อมาเนเดอร์จึงยกทัพเข้าตีเมืองแบกแดด แต่แล้วกลับมีกบฏเกิดขึ้นในเปอร์เซียเสียก่อน เขาจำต้องยกทัพไปปราบอีกครั้ง ซึ่งเนเดอร์เองก็ใช้เวลาถึงปีเศษกว่าจะปราบได้ราบคาบ แล้วจึงยกกลับมาตีอาณาจักรออตโตมันอีกครั้งหนึ่ง

เป็นที่น่าสังเกตว่าพวกกบฏมักจะเกิดขึ้นมาในช่วงเวลาสำคัญเสมอๆ ทำให้เปอร์เซียไม่อาจใช้ประโยชน์ได้จากชัยชนะในสมรภูมิเลยแม้แต่น้อย สาเหตุที่เป็นเช่นนี้เพราะเนเดอร์ปกครองโดยใช้กำปั้นเหล็กอยู่ตลอดเวลา เมื่อเขาไม่อยู่ในอาณาจักร พวกอยากลองดีจึงเกิดขึ้นมากมาย

ช่วงเวลาที่เนเดอร์ไม่อยู่ กองทัพออตโตมันเองก็ฟื้นคืนจากความพ่ายแพ้เช่นกัน และยกมาตั้งรับการรุกรานของ Nader ที่ Yeghevārd

ที่นี่เนเดอร์ได้แสดงความสามารถในการรบของเขา เขาได้ใช้ทหารเพียง 15,000 นายพร้อมกับปืนใหญ่หลายสิบกระบอก บดขยี้ทหารออตโตมัน 80,000 นายแตกยับเยิน ทหารออตโตมันที่มีฝีมือถูกสังหารไปมากถึง 50,000 นาย ทำให้สุลต่านแห่งอาณาจักรออตโตมันต้องยอมสงบศึกพร้อมกับตัดดินแดนมหาศาลให้กับอาณาจักรเปอร์เซีย

ความสำเร็จในการทำสงครามกับออตโตมัน ทำให้ Nader เห็นว่าถึงเวลาแล้วที่จะตั้งตนเป็นชาห์หรือจักรพรรดิแห่งอาณาจักรเสียที เขาจึงบีบบังคับให้ชาห์อับบาสที่ 3 สละราชสมบัติให้กับตน

เนเดอร์จึงขึ้นเป็นชาห์และสถาปนาราชวงศ์ Afsharid ขึ้นปกครองเปอร์เซีย

ทั้งชาห์ Tahmasp และ Abbas ต่างถูกลูกชายของเนเดอร์ปลงพระชนม์ในปี ค.ศ.1740 ราชวงศ์ซาฟาวิดที่ปกครองเปอร์เซียมาหลายศตวรรษจึงจบสิ้นลงแต่เพียงเท่านี้

รุกรานอินเดีย

เนื่องจากเป็นคนบ้าสงคราม เนเดอร์จึงมองไปทางทิศตะวันออก เขาพบว่าอาณาจักรโมกุล (Mughal Empire) กำลังเสื่อมถอยลง แต่อาณาจักรนี้ร่ำรวยมาก เขาจึงต้องการจะแผ่อำนาจของตนเองและแย่งชิงทรัพย์สินจากอาณาจักรนี้

เนเดอร์จึงยกทัพไปตีอาณาจักรโมกุล เขารบชนะกองทัพโมกุลและยึดเมืองต่างๆ ได้อย่างรวดเร็วตั้งแต่คาบูลจนไปถึงลาฮอร์ (Lahore) จักรพรรดิมูฮัมเหม็ด ชาห์ จึงทรงนำกำลังทหารสามแสนคนมาต่อสู้กับเนเดอร์ที่คาร์นัล (Battle of Karnal) ในปี ค.ศ.1739

สมรภูมิครั้งนี้เป็นสมรภูมิที่เนเดอร์มีกำลังน้อยกว่าศัตรูที่สุดตั้งแต่เขาสู้รบมา กล่าวคือเนเดอร์มีทหารเพียงห้าหมื่นคนเท่านั้น กองทัพโมกุลจึงมีมากกว่าเปอร์เซียถึง 6 ต่อ 1

ในสามชั่วโมงเท่านั้นการสู้รบก็จบลง ด้วยชัยชนะของฝ่ายอินเดียงั้นหรือ??

ไม่ใช่เลย

เป็นชัยชนะของเนเดอร์ต่างหาก กองทัพของเขาสังหารทหารโมกุลไปสามหมื่นคน โดยที่เสียทหารไปเพียง 1,100 คนเท่านั้น กองทัพโมกุลที่เหลือก็แตกกระจัดกระจายไปหมด ยุทธศาสตร์ที่ทำให้เขาเอาชนะศัตรูได้คือ การประสานงานที่แม่นยำระหว่างกองทหารราบ ทหารม้า และทหารปืนใหญ่ รวมไปถึงการใช้กองทหารปืนใหญ่ที่ทันสมัยในการบดขยี้ศัตรู

เนเดอร์ตีกองทัพอินเดียแตกพ่ายที่ Karnal

หลังจากได้รับชัยชนะ เนเดอร์ก็ยกทัพตีเดลฮี เมืองหลวงของอาณาจักรโมกุล และพบว่าหลังจากยึดได้ ทหารเปอร์เซียได้ถูกราษฎรอินเดียสังหารไปจำนวนหนึ่ง เนเดอร์โกรธมาก เขายกดาบของเขาขึ้นเหนือศีรษะ และให้สัญญาณให้ทหารเปอร์เซียสังหารทุกชีวิตในย่านที่มีการสังหารทหารเปอร์เซีย

การสังหารหมู่ในเมืองเป็นไปครบ 2 วัน เนเดอร์ก็สั่งให้ทหารเปอร์เซียหยุดการสังหารทั้งหมด ทหารเปอร์เซียที่มีวินัยดีมากก็หยุดฆ่าฟันตามคำสั่งของเนเดอร์ทันที หลังจากนั้นเนเดอร์นำทรัพย์สินทั้งเมืองและท้องพระคลังของอาณาจักรโมกุลกลับไปอาณาจักรเปอร์เซียจนหมด นักประวัติศาสตร์เขียนไว้ว่าจำนวนเงินที่ปล้นไปจากอินเดียมากพอที่เนเดอร์จะไม่เก็บภาษีในอาณาจักรนานถึง 4 ปี

ชัยชนะที่อินเดียเป็นจุดสูงสุดในชีวิตของเนเดอร์ เปอร์เซียได้กลายเป็นจักรวรรดิที่ยิ่งใหญ่ หากแต่ว่าหลังจากนั้นเนเดอร์เริ่มมีสุขภาพที่แย่ลง อารมณ์ของเขาเริ่มจะรุนแรงมากยิ่งขึ้น ทำให้เขาโหดร้ายมากขึ้นตามไปด้วย

จุดจบของเนเดอร์

ในปี ค.ศ.1743 เนเดอร์หวนกลับไปโจมตีอาณาจักรออตโตมัน เพื่อทำตามความฝันของเขาที่จะเป็นจักรพรรดิแห่งกรุงคอนแสตนติโนเปิล (Constantinople) ให้จงได้ แต่พวกออตโตมันต่อสู้อย่างเข้มแข็ง เนเดอร์ไม่สามารถเอาชนะได้อย่างเด็ดขาดได้

สภาวะสงครามที่ติดต่อกันมานานหลายปี ทำให้ราษฎรเปอร์เซียทุกข์ร้อนแสนสาหัสเพราะต้องจ่ายภาษีมากมาย ทุกคนต่างชิงชังเนเดอร์และพากันก่อกบฎ ตัวเนเดอร์ไม่เคยปรานีพวกกบฎอยู่แล้ว เขาทำการปราบปรามพวกกบฎอย่างเหี้ยมโหด แล้วนำหัวกระโหลกของพวกกบฎมาเรียงเป็นชั้นๆ เหมือนกับที่ติมูร์ (Timur) ผู้ที่เนเดอร์ยกย่องและศรัทธาได้เคยทำไว้

หลักฐานตะวันตกบรรยายความโหดร้ายของเนเดอร์ สังเกตว่าด้านซ้ายบนของรูปมีภูเขาหัวกระโหลกอยู่

การใช้กำลังปราบพวกกบฏไม่สามารถทำให้การกบฏสงบลงได้ พวกกบฎผุดขึ้นมาอย่างไม่มีที่สิ้นสุดเช่นกัน เนเดอร์จำต้องนำทัพไปปราบพวกกบฎแทบทุกปี หรือเรียกได้ว่าทุกหนแห่งในอาณาจักร

เดิมทีแล้วเนเดอร์เป็นคนที่ได้ใจเหล่าทหาร แต่เมื่อเขามีอายุมากขึ้น เขาเริ่มจะโหดร้ายกับเหล่าทหารด้วย ทำให้บรรดาแม่ทัพของเขาต่างเกรงว่าจะถูกสังหารเข้าสักวัน

ท้ายที่สุดแล้วแม่ทัพเหล่านี้จึงร่วมมือกันเข้าไปสังหารเนเดอร์ในระหว่างที่เนเดอร์กำลังหลับอยู่ เนเดอร์ไม่ได้ตายง่ายเหมือนเตียวหุยในเรื่องสามก๊ก เขาต่อสู้และสังหารมือสังหารไปสองคน จนถูกรุมแทงและสวรรคตในที่สุด เมื่อเนเดอร์สวรรคต ราชวงศ์ของเขาก็ล่มสลายหลังจากนั้นไม่นาน

จุดจบของเนเดอร์จึงเป็นจุดจบของกษัตริย์ที่เก่งกล้าในการสงคราม แต่ปราศจากความสามารถในการปกครอง ถึงแม้เขาจะรบเก่งสักเท่าใด ใช้กำปั้นเหล็กปราบกบฎไปเท่าใด ก็ไม่สามารถปกครองอาณาจักรได้อย่างราบรื่น เพราะเขาไม่มีวันได้ใจประชาชนที่ต่อต้านเขา และประชาชนเหล่านั้นก็จะต่อต้านเขาอยู่เรื่อยไป

บทความการศึกษา

Victory Tale ไม่อนุญาตให้คัดลอกบทความไปโพสที่ใดทุกกรณี การฝ่าฝืนมีโทษทางกฎหมาย

error: Content is protected !!