ตำนานตำนานรักระหว่าง 'มะเมี๊ยะ' กับเจ้าชายแห่งล้านนามีจริงหรือไม่??

ตำนานรักระหว่าง ‘มะเมี๊ยะ’ กับเจ้าชายแห่งล้านนามีจริงหรือไม่??

ถ้าพูดถึงเรื่องราว “ความรัก” ที่มีฉากหลังเป็นล้านนาแล้ว เรื่องแรกที่ต้องเอ่ยถึงก็คือ เรื่องที่เกิดขึ้นกับ พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหมื่นพิไชยมหินทโรดม พระราชโอรสของรัชกาลที่ 5 ผู้แต่งเพลงลาวดวงเดือน กับเจ้าหญิงชมชื่น

เรื่องนี้เป็นเรื่องจริงแท้แน่นอนในหน้าประวัติศาสตร์

แต่ถ้าพูดถึงอันดับ 2 แล้ว แน่นอนว่าย่อมเป็นเรื่องของ ‘มะเมี๊ยะ’

เรื่องนี้พลอตเหมือนกับเรื่องแรก นั่นก็คือเป็นรักต่างชนชั้น แต่เป็นความรักที่ไม่สมหวัง แต่เรื่องนี้ต่างกับเรื่องแรกในแง่ที่ว่า มันไม่แน่ชัดว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องจริง หรือว่า นิยาย

เจ้าน้อยศุขเกษม

ตำนานรักมะเมี๊ยะ

เรื่องราวของมะเมี๊ยะได้ถูกเผยแพร่โดยนักเขียนท่านหนึ่งชื่อ ปราณี ศิริธร ณ พัทลุง ในหนังสือชื่อ “เพ็ชร์ลานนา” หนังสือเล่มนี้ถูกตีพิมพ์เมื่อปี ค.ศ.1964

เพ็ชร์ลานนาเล่าว่าในช่วงกลางๆ ศตวรรษที่ 19 (สมัยรัชกาลที่ 5) ได้มีเรื่องชีวิตรักอันโศกเศร้าเกิดขึ้นระหว่างชายหญิงคู่หนึ่ง ทั้งสองแตกต่างทั้งชนชั้นและสัญชาติ

เรื่องมีอยู่ว่า

มะเมี๊ยะเป็นหญิงสาวชาวพม่า เธออายุ 16 ปี และขายบุหรี่พม่าอยู่ในตลาดเมืองมะละแหม่ง มะเมี๊ยะเป็นหญิงสาวหน้าตาสะสวยมาก กิริยามารยาทเรียบร้อย

มีอยู่วันหนึ่ง เธอได้พบกับเจ้าศุขเกษม หรือ เจ้าน้อยศุขเกษม พระนัดดา (หลานปู่) ของเจ้าผู้ครองเมืองเชียงใหม่ที่ได้มาเรียนในโรงเรียนหรือวิทยาลัยของชาวอังกฤษที่มะละแหม่ง (ในเวลานั้นพม่าตกเป็นเมืองขึ้นของอังกฤษแล้ว)

หลังจากได้พบกันไม่นาน ทั้งสองก็ได้คบหากันเป็นคู่รัก และต่อมาทั้งสองก็ได้เสียเป็นสามีภรรยากัน

มะเมี๊ยะและเจ้าศุขเกษมใช้ชีวิตด้วยกันอย่างมีความสุข เขากับเธอเดินไปเที่ยวสถานที่ต่างๆ ในเมืองมะละแหม่งด้วยกันอยู่เสมอ นอกจากนี้ยังสาบานต่อพระบรมสารีริกธาตุด้วยว่าจะรักกันตลอดไป ถ้าผิดคำสาบานขอให้ชีวิตไม่มีความสุข และอายุสั้น

ชีวิตอันมีความสุขดำเนินอยู่ประมาณ 5 ปี เจ้าศุขเกษมก็จบการศึกษา ทำให้เขาต้องเดินทางกลับเมืองเชียงใหม่

เจ้าศุขเกษมตัดสินใจพามะเมี๊ยะกลับไปเชียงใหม่ด้วยโดยไม่มีใครรู้ เขาให้มะเมี๊ยะปลอมตัวเป็นชาย และบอกกับทุกคนว่าเธอเป็นเพื่อนชาวพม่าที่ศึกษาเล่าเรียนด้วยกัน เมื่อถึงเมืองเชียงใหม่แล้ว เจ้าศุขเกษมจึงนำมะเมี๊ยะไปซ่อนที่บ้านหลังหนึ่งก่อน

หลังจากพยายามปกปิดอยู่หลายวัน เจ้าศุขเกษมตัดสินใจบอกความจริงให้ญาติผู้ใหญ่ทราบว่า เขามีมะเมี๊ยะเป็นภรรยาแล้ว

คำตอบก็น่าจะเดาไม่ยาก นั่นคือเหล่าเชื้อพระวงศ์เชียงใหม่ โดยเฉพาะเจ้าแก้วนวรัฐไม่ยอมรับในตัวมะเมี๊ยะ

หนังสือเพ็ชร์ลานนาเล่าว่า สาเหตุที่เชื้อพระวงศ์เชียงใหม่ไม่อาจให้มะเมี๊ยะอยู่กินกับเจ้าศุขเกษมได้คือ

  1. ทางญาติผู้ใหญ่ได้หมั้นหมายเจ้าศุขเกษมกับเจ้าหญิงอีกองค์ไว้แล้ว ตั้งแต่เจ้าศุขเกษมไปเรียนใหม่ๆ ซึ่งเจ้าศุขเกษมไม่ทราบความจริงเรื่องนี้เลย
  2. มะเมี๊ยะเป็นชาวพม่า เหล่าชาวเมืองอาจจะไม่ยอมรับ โดยเฉพาะในกรณีที่เจ้าศุขเกษมได้ขึ้นครองเมืองเชียงใหม่
  3. ในเวลาพม่าเป็นเมืองขึ้นของอังกฤษ ดังนั้นมะเมี๊ยะจึงเป็นคนในบังคับอังกฤษด้วย การที่คนในบังคับอังกฤษมาดองกับเชื้อพระวงศ์เชียงใหม่อาจจะทำให้อังกฤษหาเหตุยึดครองล้านนาได้

ดังนั้นเรื่องการเมืองจึงเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้ความรักของทั้งสอง “เป็นไปไม่ได้” เจ้าศุขเกษมได้รับคำสั่งให้ส่งมะเมี๊ยะกลับมะละแหม่งในทันที เพื่อป้องกันความยุ่งยาก

เจ้าศุขเกษมรู้สึกเสียใจ แต่เขาได้บอกมะเมี๊ยะให้ทราบความจริงทั้งหมด เขาขอให้เธอกลับไปที่มะละแหม่งก่อน ภายในสามเดือน เขาจะไปรับเธอกลับมาอยู่ด้วยกันที่เชียงใหม่

สุดท้ายแล้วมะเมี๊ยะก็ต้องจากเมืองเชียงใหม่ไป ในวันสุดท้ายมะเมี๊ยะร้องไห้น้ำตาไหลพรากในอ้อมกอดของเจ้าศุขเกษม เขาพยายามปลอบเธอให้คลายความเศร้า และยืนยันกับเธอว่าเขาจะทำตามคำสาบานอย่างแน่นอน

ทั้งสองแสดงความรักต่อกันและกันอยู่นาน จนสุดท้ายมะเมี๊ยะและขบวนที่ไปส่งเธอก็ลับไปจากสายตาของเจ้าศุขเกษม

ครั้งนั้นเป็นครั้งสุดท้ายที่เจ้าศุขเกษมได้พบกับมะเมี๊ยะ เขาและเธอไม่ได้พบกันอีกเลย

หนังสือเพ็ชร์ลานนาจบที่ตรงนี้ แต่ตำนานยังไม่จบลง ต่อมาผู้เขียนคนเดิมได้ออกหนังสือเล่มใหม่อีกชื่อเรื่องว่า “ชีวิตรักเจ้าเชียงใหม่” เรื่องในเล่มนี้ดำเนินต่อจากเหตุการณ์ในเพ็ชร์ลานนา

หลังจากที่ถูกส่งตัวกลับมาแล้ว มะเมี๊ยะได้กลับมาอยู่มะละแหม่งเช่นเดิม เธอยังเฝ้ารอเจ้าชายคนรักที่ได้สัญญาว่าจะมารับเธอทุกวัน แต่สาม สี่ ห้า หกเดือนเข้าไปแล้ว เจ้าศุขเกษมกลับไม่ปรากฏให้มะเมี๊ยะเห็นแม้แต่เงา

หลังจากนั้นมะเมี๊ยะได้ทราบว่า เจ้าศุขเกษมแต่งงานกับคู่หมั้นแล้ว เธอตัดสินใจบวชเป็นชีตลอดชีวิตเพื่อปฏิบัติตามคำสาบานว่าเธอจะรักเจ้าศุขเกษมเพียงคนเดียว

แม่ชีมะเมี๊ยะตัดสินใจลงมาขอพบเจ้าศุขเกษมเป็นครั้งสุดท้าย เธอมารอเขาที่หน้าคุ้ม (วัง) แต่เจ้าศุขเกษมกลับเลือกที่จะไม่ลงมาพบมะเมี๊ยะ ถึงแม้มะเมี๊ยะจะบอกว่า เธอขอเจอเขาอีกเพียงครั้งเดียวก็ตาม

เจ้าศุขเกษมให้พี่เลี้ยงนำแหวนทับทิมประจำตัว และเงินอีก 800 บาทให้กับมะเมี๊ยะเพื่อทำบุญ หลังจากนั้นมะเมี๊ยะจึงกลับเมืองพม่าไป และดำรงชีพเป็นแม่ชีจนเสียชีวิต ในหนังสือ “ชีวิตรักของเจ้าเชียงใหม่” อ้างว่า เธอเสียชีวิตในปี ค.ศ.1962 หรือสองปีก่อนที่เพ็ชร์ลานนาจะได้ตีพิมพ์

ส่วนเจ้าศุขเกษมเสียชีวิตเพราะติดสุราและตรอมใจในปี ค.ศ.1913 เขามีอายุได้เพียง 33 ปีเท่านั้น และจากไป 49 ปีก่อนที่มะเมี๊ยะจะเสียชีวิต

ตำนานหรือประวัติศาสตร์

ที่ผมเล่ามาทั้งหมดคือ “ตำนาน” ที่ปรากฏในหนังสือสองเล่มนั่นก็คือ เพ็ชร์ลานนา และ ชีวิตรักเจ้าเชียงใหม่

แต่คำถามสำคัญคือ เรื่องนี้เป็นตำนานหรือว่านิยาย?

ที่แน่ๆ คือ เจ้าศุขเกษมมีตัวตนจริงในประวัติศาสตร์ แต่มะเมี๊ยะมีตัวตนจริงหรือไม่?

บทความของคุณสมฤทธิ์ ลือชัย ในศิลปวัฒนธรรมได้ทำการศึกษาเรื่องนี้อย่างละเอียด และพบปัญหาหลายๆ อย่างในเรื่องตัวตนของมะเมี๊ยะ และรายละเอียดปลีกย่อยของเจ้าศุขเกษมที่มาจากหนังสือเพ็ชร์ลานนา และความรักเจ้าเชียงใหม่ อาทิเช่น

  1. ที่มะละแหม่งไม่มีใครรู้เรื่องมะเมี๊ยะเลย
  2. ข้อมูลที่ผู้เขียนเพ็ชร์ลานนาให้มาผิดพลาดหลายจุด ตั้งแต่ตำแหน่งของเจ้าศุขเกษมที่ไม่มีโอกาสขึ้นเป็นเจ้าเมืองได้ และมูลเหตุทางการเมืองที่เป็นไปได้ยาก (เจ้าอินทนนท์ น้องชายแท้ๆของเจ้าศุขเกษมแต่งงานกับเจ้าหญิงเชียงตุง เมืองสำคัญในพม่า แต่ไม่มีใครว่าอะไร) นอกจากนี้ยังมีประเด็นเล็กประเด็นน้อยอีกมากมาย
  3. เจ้าศุขเกษมติดเหล้า ไม่เอางานเอาการ ต่อมาจึงล้มป่วยเสียชีวิตด้วยโรคเส้นประสาทพิการเรื้อรัง ไม่ใช่ว่าตรอมใจตาย

พูดง่ายๆคือ เมื่อเช็คข้อมูลเชิงประวัติศาสตร์แล้ว เรื่องราวของมะเมี๊ยะสอบตกในเรื่องความเป็นไปได้

อย่างไรก็ตามก็ได้มีทฤษฎีว่าเรื่องมะเมียะอาจจะเกิดขึ้นจริง แต่ไม่ใช่แบบในหนังสือเพ็ชร์ลานนาที่ถูกทำให้ดราม่า (dramatize) อย่างหนักเช่นนั้น บางกระแสก็ว่าเป็นเรื่องที่เจ้านายเมืองเหนืออยากจะลืม

บางทฤษฎีก็ว่า ปราณี ผู้เขียนเรื่องเพ็ชร์ลานนาได้ตัดแปะเหตุการณ์โน้น เหตุการณ์นี้ที่เกิดขึ้นกับเจ้านายหลายองค์มาในเรื่องของเจ้าศุขเกษมทั้งหมด ทำให้เรื่องมันกลายเป็นแบบนี้

วิธีนี้นักเขียนเก่งๆ ใช้กันประจำ อย่างหลอกว้านจงผู้แต่งเรื่องสามก๊กก็ใช้ ซึ่งผมว่าก็ไม่ได้ผิดอะไร

โดยส่วนตัว ผมมองว่าเรื่องมะเมียะน่าจะเป็นตำนานอิงประวัติศาสตร์ หรือ มีสัก 20% ที่เป็นเรื่องจริง ส่วนอีก 80% ผู้เขียนแต่งให้มันสนุกๆ ดราม่าๆ จะได้บันเทิงแก่ผู้อ่าน แบบสามก๊กนั่นแหละครับ

บทความการศึกษา

Victory Tale ไม่อนุญาตให้คัดลอกบทความไปโพสที่ใดทุกกรณี การฝ่าฝืนมีโทษทางกฎหมาย

error: Content is protected !!