ประวัติศาสตร์เลาดาแอร์ตกที่สุพรรณบุรี อุบัติเหตุทางอากาศร้ายแรงที่สุดของไทย

เลาดาแอร์ตกที่สุพรรณบุรี อุบัติเหตุทางอากาศร้ายแรงที่สุดของไทย

เหตุการณ์เลาดาแอร์ตกที่จังหวัดสุพรรณบุรี เป็นอุบัติเหตุทางอากาศครั้งใหญ่ที่สุดที่เกิดขึ้นในประเทศไทย ถ้านับจำนวนผู้เสียชีวิต

ผู้เสียชีวิตทั้งหมดในเหตุการณ์ดังกล่าวมีมากถึง 223 ศพ โดยไม่มีผู้รอดชีวิต

เรื่องเป็นไปอย่างไรกันแน่

เครื่องบินเลาดาแอร์แบบเดียวกับที่ตก By Aero Icarus, CC BY-SA 2.0,

เลาดาแอร์

เลาดาแอร์เป็นสายการบินสัญชาติออสเตรียที่ก่อตั้งโดย นิกิ เลาดา นักแข่งรถฟอร์มูล่าวันผู้เลื่องชื่อ เลาดาแอร์ได้ให้บริการเส้นทางจากเวียนนา เมืองหลวงของประเทศออสเตรีย ไปยังฮ่องกง โดยแวะพักที่กรุงเทพ เลาดาแอร์ได้ให้บริการเที่ยวบินนี้สามครั้งต่อสัปดาห์

เที่ยวบินที่เกิดอุบัติเหตุในวันนั้นคือ เที่ยวบิน NG004 โดยอากาศยานในวันนั้นคือ โบอิ้ง 767-300ER

ในคืนวันที่ 26 พฤษภาคม ค.ศ.1991 เลาดาแอร์ได้บินมาจากฮ่องกงเพื่อแวะพักที่สนามบินดอนเมือง และรับผู้โดยสารเพิ่มเติม เที่ยวบินวันนั้นมีผู้โดยสารสำคัญๆ หลายคนทั้งไทยและเทศได้แก่

  • นายไพรัตน์ เตชะรินทร์ ผู้ว่าราชการเชียงใหม่ และภรรยา
  • เจ้าพงศ์แก้ว ณ ลำพูน นักธุรกิจผ้าไหมคนสำคัญของภาคเหนือ
  • โดนัลด์ แมคอินทอช สมาชิกอาวุโสของ UN

ห้าทุ่มเศษ เลาดาแอร์ก็เร่งเครื่องแลกออกตัวจากสนามบินดอนเมือง ภายในเครื่องบินมีผู้โดยสารทั้งหมด 213 คน และลูกเรีออีก 10 คน

เครื่องบินแตก

กล่องดำได้เผยว่า เพียงแค่หกนาทีหลังจากที่เครื่องบินขึ้น ปัญหาก็เกิดขึ้นแล้ว

กัปตัน โทมัส เวลช์ ได้รับรายงานว่าระบบในเครื่องบินบางอย่างได้ขัดข้อง และทำให้ Thrust Reverser ของเครื่องยนต์ที่ 1 ที่ทำหน้าที่ชะลอความเร็วเกิดทำงานขึ้นมา กัปตันและนักบินผู้ช่วย โจเซฟ เทิร์นเนอร์ ได้ตรวจสอบกับคู่มือของโบอิ้งและพบว่าคำเตือนเป็นแค่ “การให้คำแนะนำ” เท่านั้น ทั้งสองจึงไม่ได้ใส่ใจอะไรต่อไป

23.17 น. เครื่องยนต์หมายเลข 1 ได้สร้างแรงถอยหลัง (Reversed Thrust) ขณะที่เครื่องบินกำลังอยู่เหนือจังหวัดสุพรรณบุรี นักบินผู้ช่วยได้พูดขึ้นว่า

โอ้ reverser กำลังทำงาน

คำพูดนี้เป็นคำพูดสุดท้ายของเขา

ด้วยความที่เจ้า reverser กำลังทำงานนี้เอง ทำให้แรงยกตัวทางด้านซ้ายของเครื่องบินเกิดปัญหาขึ้นทันที เครื่องบินจึงเอียงซ้ายโดยอัตโนมัติ และเริ่มดิ่งสู่พื้นอย่างรวดเร็ว

ความเร็วที่เครื่องบินเลาดาแอร์ตกสู่พื้นสูงถึง 0.99 มัค หรือ 0.99 เท่าของความเร็วเสียง และอาจจะมากกว่าความเร็วเสียงด้วยซ้ำไป ตัวเครื่องไม่ได้ถูกสร้างมาให้รับได้กับความเร็วเช่นนั้น เครื่องบินเลาดาแอร์จึงแตกออกกลางอากาศที่ความสูง 1,200 เมตร เหนืออุทยานแห่งชาติพุเตย จังหวัดสุพรรณบุรี

ไม่มีต้องสงสัยว่า ไม่มีผู้รอดชีวิตจากเหตุการณ์ครั้งนั้น

การเก็บกู้และสอบสวน

หลังจากที่เลาดาแอร์หายไปจากจอเรดาร์ การค้นหาและเก็บกู้จึงเริ่มต้นขึ้นทันที ภายในไม่นานคณะเก็บกู้ก็เข้าถึงซากเครื่องบินในบริเวณที่เกิดเหตุ

แต่เจ้าหน้าที่ทำงานไม่ง่ายเลย เพราะพวกอาสาสมัครและชาวบ้านแถบนั้นฉวยโอกาสในการปลดทรัพย์จากสิ่งของพวกผู้เสียชีวิต เรื่องนี้ได้รับการรายงานไปทั่วโลก

เมื่อนิกิ เลาดา ได้ทราบข่าว เขาเดินทางมายังประเทศไทยทันที เพื่อช่วยค้นหาศพผู้เสียชีวิต และร่วมในการสอบสวนด้วย

ในช่วงแรกมีกระแสว่าเป็นการกระทำโดยผู้ประสงค์ร้าย แต่กระแสนี้ตกไปเพราะไม่มีหลักฐานใดที่เชื่อมโยงได้ว่าเป็นเช่นนั้น

นิกิ เลาดา

สาเหตุของเครื่องบินตกค่อนข้างแน่ชัด นั่นก็คือ thrust reverser ทำงานขึ้นโดยไม่มีการสั่งการ แต่ความแปลกของเคสนี้อยู่ที่ทำไมมันถึงทำงานขึ้นมาเอง

แต่เพราะกล่องเก็บข้อมูลการบินถูกทำลายจนไม่เหลือซาก ทำให้เราไม่สามารถหาคำตอบได้

สรุปง่ายๆ ว่า สาเหตุของการตกน่าจะเป็นเพราะเครื่องยนต์ ไม่ใช่นักบิน เช่นที่เกิดกับ Aeroflot หรือ SilkAir

เหตุการณ์นี้ได้ก่อให้เกิดความขัดแย้งและโต้เถียงระหว่างเลาดากับโบอิ้งว่า thrust reverser เป็นต้นเหตุแค่สิ่งเดียวในการตกของเลาดาแอร์หรือไม่ หรือว่ามีสาเหตุอื่นๆ อีก เลาดาเล่าว่าช่วงเวลานั้นเป็นช่วงเวลาที่แย่ที่สุดในชีวิตของเขา หลายปีต่อมาเลาดาได้ขายเลาดาแอร์ให้กับออสเตรียน แอร์ไลน์ สายการบินแห่งชาติของประเทศออสเตรีย นิกิ เลาดา เพิ่งจะเสียชีวิตในปี ค.ศ.2019 นี้เอง

การตกของเครื่องบินลำนี้ได้ทำให้โบอิ้งปรับปรุงตัว thrust reverser ใหม่ทั้งหมดด้วยการเพิ่มล็อกที่เรียกว่า sync-lock เครื่องบินลำอื่นๆ จึงปลอดภัยมากขึ้น

ชาวบ้านได้สร้างอนุสรณ์ระลึกถึงผู้เสียชีวิตในจุดที่เครื่องบินตก ปัจจุบันนี้อนุสรณ์แห่งนี้คือ สุสานเลาดาแอร์ ซึ่งอยู่ที่จังหวัดสุพรรณบุรี

Rest In Peace

อ่านรายงานการสอบสวนเต็มๆ ได้ที่นี่

บทความการศึกษา

Victory Tale ไม่อนุญาตให้คัดลอกบทความไปโพสที่ใดทุกกรณี การฝ่าฝืนมีโทษทางกฎหมาย

error: Content is protected !!