ประวัติศาสตร์สกอตต์และอมุนด์เซน: การแข่งขันเพื่อพิชิตขั้วโลกใต้

สกอตต์และอมุนด์เซน: การแข่งขันเพื่อพิชิตขั้วโลกใต้

ในต้นศตวรรษที่ 20 มนุษย์ได้ทำการสำรวจแทบจะทุกทวีปบนโลกเป็นที่เรียบร้อยแล้ว เหลือแต่เพียงทวีปเดียวเท่านั้นที่ยังไม่ถูกพิชิตโดยสมบูรณ์ นั่นก็คือทวีปแอนตาร์กติกา ที่อยู่ทางใต้สดของโลก

ถึงแม้ว่าจะมีนักสำรวจไปด้อมๆ มองๆ ทวีปดังกล่าวอยู่หลายครั้งตั้งแต่ในศตวรรษที่ 18-19 แล้ว แต่ก็ยังไม่มีใครที่สามารถเดินทางไปยังจุดขั้วโลกใต้ (South Pole) หรือ จุดที่อยู่ใต้สุดของโลกได้เสียที

ในศตวรรษที่ 20 จึงมีคณะนักสำรวจ 2 คณะที่พยายามที่จะเดินทางไปพิชิตจุดขั้วโลกใต้ให้จงได้ คณะแรกคือ คณะของชาวอังกฤษ นำโดยกัปตันโรเบิร์ต ฟอลคอน สกอตต์ (Robert Falcon Scott)

ส่วนอีกคณะหนึ่งคือ คณะของชาวนอร์เวย์ นำโดยโรลด์ อมุนด์เซน (Roald Amundsen) โดยในตอนแรกนั้นอมุนด์เซนตั้งใจจะพิชิตขั้วโลกเหนือ แต่กลับมีผู้พิชิตขั้วโลกเหนือไปได้เสียก่อน เขาจึงเปลี่ยนเป้าหมายมายังขั้วโลกใต้แทน

ทั้งสองทีมจึงเริ่มเตรียมการสำหรับการพิชิตขั้วโลกใต้ เรามาดูที่สกอตต์ก่อน

การเตรียมการของสกอตต์

สกอตต์เดินทางมาอยู่ที่อ่าวรอสส์ในทวีปแอนตาร์กติกา เขาสั่งให้เตรียมทีมสุนัขลากเลื่อน 2 ทีมและม้าอีกสิบตัว เพื่อทำการขนย้ายเสบียงอาหาร และยังมีเลื่อนที่ใช้มอเตอร์อีกตัวหนึ่ง

ถ้าทั้งหมดใช้การไม่ได้โดยสาเหตุบางประการ สกอตต์และทีมก็ได้เตรียมฝึกซ้อมลากเลื่อนด้วยแรงของพวกเขาเองไว้แล้ว แผนของสกอตต์คือ เขาและลูกทีมจะเดินทางผ่านทางใหญ่ที่มีการสำรวจไว้แล้ว นั่นก็คือเส้นทางที่ราบสูงขั้วโลก ผ่านทางธารน้ำแข็ง Beardmore

สกอตต์

สำหรับอาหารนั้น สกอตต์ได้เตรียมอาหารที่มีแคลอรี่สูง เช่นเนื้อบด และขนมปังเป็นต้น เสื้อผ้าและการปันส่วนอาหารก็ได้รับการเตรียมพร้อมไว้อย่างดี

ก่อนออกเดินทางสกอตต์ได้นำทีมไปวางจุดเก็บสำรองอาหาร เขาตั้งเป้าหมายไว้ว่าจะวางจุดเก็บสำรองอาหารไว้ที่ประมาณละติจูด 80 องศาใต้ แต่ม้าของเขากลับไม่สามารถเดินทางต่อไปได้เพราะความหนาวเหน็บ สกอตต์จึงจำต้องเก็บเสบียงไว้ในจุดที่เหนือกว่าที่เขาตั้งเป้าไว้เป็นอย่างมาก

ส่วนอมุนด์เซนนั้นก็มีการเตรียมการเช่นกันดังต่อไปนี้

การเตรียมการของอมุนด์เซน

ต่างกับสกอตต์ที่ใช้ม้าบางส่วน อมุนด์เซนใช้สุนัขลากเลื่อนทั้งหมดในการสำรวจครั้งนี้ โดยเขาได้เตรียมทีมสุนัขชั้นเซียนมาจากนอร์เวย์ถึง 52 ตัว อุปกรณ์ในการสำรวจเขาก็นำมาจากนอร์เวย์แทบทั้งหมด

ส่วนอาหารที่เขาใช้เหมือนกับที่สกอตต์ใช้ทุกประการ แต่สิ่งที่แตกต่างหลักๆ คืออมุนด์เซนวางแผนใช้สุนัขจำนวนมากในลากเลื่อนทั้งหมด ทำให้ตัวเขาและลูกทีมไม่ต้องทำอะไรเลย

อมุนด์เซน ผู้พิชิตขั้วโลกใต้เป็นคนแรก

ในเรื่องของเส้นทางเอง อมุนด์เซนเองก็เลือกที่จะเสี่ยง เขาจะลองใช้เส้นทางใหม่ที่ยังไม่มีใครเดินทางไปมาก่อน และอันตรายมาก แต่เส้นทางใกล้กับจุดขั้วโลกใต้กว่าของสกอตต์อยู่ไม่น้อย

อมุนด์เซนได้นำทีมไปวางจุดสำรองอาหารเช่นเดียวกับสกอตต์ ทีมของเขาได้วางจุดสำรองอาหารไว้ที่ละติจูดที่ 80 81 82 องศาใต้ เพราะว่าเขาทราบดีว่าสภาพอากาศเช่นนั้น ทีมของเขาจะต้องใช้อาหารมากแน่ๆ โดยเฉพาะถ้าย้อนกลับมาจากจุดขั้วโลกใต้ (90 องศาใต้)

ในขณะนั้นทั้งสองทีมและสื่อทั่วโลกต่างทราบว่ามีการแข่งขันการไปให้ถึงจุดขั้วโลกใต้ ต่างฝ่ายจึงล้วนแต่ต้องการจะเป็นผู้ชนะ

การพิชิตขั้วโลกใต้ของอมุนด์เซน

อมุนด์เซนออกเดินทางก่อนสกอตต์ประมาณ 11 วัน เส้นทางที่เขาต้องเดินทางทั้งหมดมากถึงประมาณ 1,400 กม. เมื่อเริ่มเดินทางนั้น อมุนด์เซนและทีมของเขาอีก 4 คน กลับเผชิญกับสภาพอากาศที่ย่ำแย่ลงจากพายุหิมะ

หนึ่งในทีมของเขาเล่าว่า เลื่อนของเขาถูกหิมะทับถมกันจนแทบจะมองไม่เห็นเลยทีเดียว ถึงแม้สภาพอากาศจะย่ำแย่ ทีมของอมุนด์เซนที่ใช้สุนัขลากเลื่อนในการเคลื่อนที่สามารถเดินทางไปได้ถึง 28 กม ต่อวัน พวกเขาใช้ก้อนหิมะมาทำเป็นแท่งมาทำเป็นสัญลักษณ์ทุก 5 กิโลเมตร

ปัญหาของการใช้เส้นทางใหม่คือ ไม่มีใครทำการสำรวจเส้นทางมาล่วงหน้า พวกเขาจึงต้องทำการเดินสำรวจอยู่หลายวัน จนกระทั่งพบว่าสามารถเดินทางไปต่อได้

เส้นทางที่อมุนด์เซนเดินทางไปประกอบไปด้วยภูเขาสูงที่จะนำไปสู่ที่ราบสูงขั้วโลก แต่ทุกอย่างกลับง่ายดายเพราะพลังของทีมสุนัข 52 ตัวที่ทำหน้าที่ลากเลื่อน (Sledge) ทั้ง 4 ที่พวกเขานำมา โดยสุนัขได้ตายลงไปเพียง 7 ตัวเท่านั้น

หากแต่ว่าทีมนักสำรวจกลับต้องตัดใจฆ่าสุนัขทิ้งไปถึง 27 ตัว เพราะเสบียงอาหารที่นำมาเริ่มขาดแคลน อมุนด์เซนได้นำเนื้อสุนัขดังกล่าวไปเก็บไว้ในจุดสำรองเสบียงอาหารแห่งใหม่ ก่อนที่เขาจะพุ่งตรงสู่จุดขั้วโลกใต้

ธงชาตินอร์เวย์ปักลงบนเต้นท์ที่จุดขั้วโลกใต้ โดยสมาชิกของทีมอมุนด์เซน

ในวันที่ 14 ธันวาคม 1911 ทีมของอมุนด์เซนก็มาถึงจุดขั้วโลกใต้ได้สำเร็จเป็นทีมแรกในประวัติศาสตร์โลก พวกเขาปักธงชาตินอร์เวย์ลงไปยังบริเวณดังกล่าว และได้ทิ้งเต้นท์นอนเอาไว้เพื่อเป็นสัญลักษณ์ว่าพวกเขาได้มาถึงจุดขั้วโลกใต้แล้ว

หลังจากนั้นอมุนด์เซนก็เดินทางกลับออกไปอย่างปลอดภัย โดยทีมนักสำรวจกินอาหารที่เตรียมไว้ไปตลอดทาง

อ่าวแล้วสกอตต์ไปไหน? เรามาดูเหตุการณ์ฝั่งสกอตต์กันบ้างครับ

การเดินทางของสกอตต์

ทีมของสกอตต์ออกเดินทางในวันที่ 1 พฤศจิกายน ค.ศ.1911 ทีมของสกอตต์มีมากถึง 16 คน เพื่อช่วยเหลือในการขนถ่ายอุปกรณ์และเสบียงอาหารในระยะแรก เมื่อมาถึงธารน้ำแข็ง Beardmore ลูกทีม 12 คนจึงเตรียมการที่จะกลับไปยังฐานที่มั่น ส่วนสกอตต์และลูกทีมอีก 3 คนก็เดินทางสู่จุดขั้วโลกใต้ต่อไปตามแผนของที่วางไว้ก่อนหน้านี้

สกอตต์ตัดสินใจให้ทีมที่มาส่งและทีมสุนัขพาเขาเดินทางต่อไป เพราะเขาช้ากว่าที่เขาวางแผนไว้ไปมากแล้ว จากการเตรียมการที่ใช้เวลานานกว่าที่คาดไว้

แต่ทว่าปัญหากลับเกิดขึ้น หลังจากนั้นไม่นานทีมของสกอตต์ก็ประสบกับพายุหิมะอย่างหนัก ทำให้พวกเขาต้องพักอยู่ในแคมป์หลายวัน เสบียงอาหารที่คิดคำนวณมาอย่างดีของสกอตต์จึงเริ่มไม่พอ สกอตต์ต้องสังหารม้าของเขาเพื่อนำมาเป็นเสบียง ซึ่งนอกจากจะเป็นเสบียงให้กับทีมที่เดินทางต่อไปยังขั้วโลกใต้แล้ว ยังต้องให้เป็นเสบียงกับทีมสุนัขอีกด้วย

ในช่วงเวลานั้นเอง สกอตต์กลับเปลี่ยนใจให้หนึ่งในสมาชิกของทีมที่มาส่งนั้นเดินทางไปกับเขาด้วย ทำให้ทีมของสกอตต์ต้องคำนวณและแบ่งเสบียงกันใหม่ เพราะที่เตรียมไว้มีสำหรับ 4 คนเท่านั้น หลังจากนั้นทีมที่ไม่ได้ไปต่อด้วยจึงเดินทางกลับ

ระหว่างที่อมุนด์เซนได้พิชิตขั้วโลกใต้เรียบร้อยแล้ว สกอตต์กำลังเร่งเดินทางมาถึงอย่างไม่ลดละ ทีมของสกอตต์รอนแรมไปอีกสองอาทิตย์ ในวันที่ 17 มกราคม ค.ศ.1912 พวกเขาก็เดินทางมาถึงจุดขั้วโลกใต้ได้สำเร็จ แต่พวกเขากลับพบเห็นเต้นท์และธงของอมุนด์เซนที่จุดดังกล่าว ทำให้ทุกคนพวกเขาเสียใจมาก สกอตต์ได้เขียนไว้ในไดอารี่ว่า

ชาวนอร์เวย์ได้เดินทางมาถึงก่อนเรา พวกเขามาถึงเป็นคนแรก มันเป็นความผิดหวังที่แย่มาก”

สกอตต์อยู่ที่จุดขั้วโลกใต้ไม่นานนัก พวกเขาก็รีบเดินทางกลับ เพราะสกอตต์เป็นห่วงลูกทีมของเขาชื่อเอ็ดการ์ อีแวนส์ ที่เผชิญกับปัญหาหิมะกัดอย่างรุนแรง พวกเขาเดินทางกลับตามเส้นทางเดิม โดยผ่านธารน้ำแข็ง Beardmore แต่อีแวนส์กลับล้มลงและเสียชีวิต ทีมของสกอตต์จึงเหลือเพียง 4 คนเท่านั้น

สกอตต์ที่จุดขั้วโลกใต้

โศกนาฏกรรม

ก่อนออกเดินทางสกอตต์ได้นัดให้ทีมสุนัขลากเลื่อนมารอรับเขาที่จุดเดิม เขากลับไม่เห็นทีมสุนัขที่เขาเตรียมไว้มารอรับเขาเลย ทั้งๆที่มาถึงก่อนกำหนด 3 วัน (สาเหตุเพราะว่ามีปัญหาขัดแย้งกันที่ค่ายใหญ่ของสกอตต์)

นอกจากนี้ทีมของสกอตต์ยังประสบกับปัญหาหลักนั่นคือ อุณหภูมิภายนอกลดลงต่ำจนถึงระดับ -50 องศาเซลเซียส พร้อมกับมีลมกรรโชกแรง จุดสำรองเสบียงของเขาตั้งอยู่ไกลมาก ทำให้พวกเขาต้องเดินในระยะทางหลายสิบกิโลเมตรในแต่ละวัน แต่ในสภาพที่หนาวจัดและไม่มีอาหาร

ที่ผ่านมาสกอตต์และลูกทีมเดินทางด้วยการใช้สองเท้าเดินมาโดยตลอด แทบทุกคนจึงประสบกับปัญหาหิมะกัดโดยเฉพาะลูกทีมที่ชื่อว่าโอติส พวกเขาเริ่มจะหมดแรงลงไปทุกที แต่ละวันก็เดินได้น้อยลงเรื่อยๆ ทีมสุนัขที่มารับก็ยังไม่เห็นเสียที สถานการณ์จึงเริ่มจะหมดหวัง

โอติสเห็นตนเองเป็นตัวถ่วงเช่นนั้นจึงบอกกับสกอตต์ว่า

“ผมจะออกไปข้างนอก แต่จะนานหน่อยนะ”

หลังจากนั้นเขาก็ไม่กลับมาอีกเลย

สกอตต์และลูกทีมคนอื่นเดินทางมาใกล้ถึงจุดสำรองเสบียง แต่ก็ไม่ทัน สกอตต์ได้เขียนลงในไดอารี่เป็นครั้งสุดท้ายในวันที่ 29 มีนาคม 1912 เขาและลูกทีมได้เสียชีวิตลงในเต้นท์นั้นเอง

การแข่งขันสำรวจขั้วโลกใต้จึงจบสิ้นลงด้วยชัยชนะของอมุนด์เซน เรื่องของสกอตต์กลับกลายเป็นโศกนาฎกรรมที่น่าเศร้า แต่สกอตต์ก็ได้รับยกย่องในฐานะผู้ที่มีความกล้าหาญคนหนึ่ง

บทความการศึกษา

Victory Tale ไม่อนุญาตให้คัดลอกบทความไปโพสที่ใดทุกกรณี การฝ่าฝืนมีโทษทางกฎหมาย

error: Content is protected !!