ประวัติศาสตร์สงครามของมนุษย์และ "โรคมะเร็ง" ในหน้าประวัติศาสตร์ห้าพันปี ตอนจบ

สงครามของมนุษย์และ “โรคมะเร็ง” ในหน้าประวัติศาสตร์ห้าพันปี ตอนจบ

ในตอนที่แล้ว ผมได้เล่าถึงความพยายามในการค้นพบและรักษาโรคมะเร็งกันไปแล้ว ในตอนที่แล้ว เราจะมาดูกันบ้างครับว่า วิธีการรักษาโรคนี้ถูกพัฒนาขึ้นมาอย่างไร

การผ่าตัด

การผ่าตัดนำชิ้นเนื้อส่วนที่เป็นมะเร็งออกเกิดขึ้นมาตั้งแต่โรมันแล้ว Galen แพทย์ชาวโรมันมองว่าถ้าเราสามารถตัดเนื้องอกที่หน้าอกออกไปได้ ผู้ป่วยก็จะหายจากโรคมะเร็งได้สำเร็จ

หากแต่ว่าการผ่าตัดชิ้นเนื้อในสมัยโบราณไม่ใช่เรื่องง่าย ในยุคดังกล่าวไม่มียาชาและไม่มีการฆ่าเชื้อ ทำให้ผู้ป่วยที่รับการผ่าตัดตายมากกว่าโรคมะเร็งเสียอีก ดังนั้นแนวทางนี้จึงไม่ใช่วิธีรักษาโรคมะเร็งอย่างมีประสิทธิภาพมากเท่าใดนัก ผู้ป่วยที่ได้รับการผ่าตัดจึงเหมือนกับเสี่ยงดวงว่าจะรอดหรือตาย

แพทย์ในยุคศตวรรษที่ 17 ใช้การผ่าตัดตัดเนื้องอกที่ใบหน้า

การผ่าตัดมาเป็นวิธีสำคัญในการรักษาโรคมะเร็งในศตวรรษที่ 19 ในยุคที่ยาชาและการฆ่าเชื้อที่มีประสิทธิภาพได้มีการพัฒนาขึ้นมาแล้ว หลังจากนั้นวิธีการผ่าตัดใหม่ๆ ก็เริ่มถูกคิดค้นขึ้นมาในช่วงศตวรรษที่ 20 เพื่อทำให้ผู้ป่วยปลอดภัยมากขึ้น และการผ่าตัดจะได้ส่งผลกระทบต่อร่างกายของผู้ป่วยน้อยลง

ในศตวรรษที่ 21 วิธีการใหม่ๆ กำเนิดขึ้นมากมาย เช่นการใช้หุ่นยนต์ การใช้กล้อง การใช้เลเซอร์ หรือ การใช้ไนโตรเจนเหลวเป็นต้น

อย่างไรก็ตาม แพทย์ก็ได้พบว่าการผ่าตัดเพียงอย่างเดียวอาจไม่สามารถรักษาโรคมะเร็งที่แพร่กระจายไปแล้ว (Metastasis) อย่างได้ผล วิธีการอื่นๆ จึงเกิดขึ้นมาเพื่อยืดอายุของผู้ป่วย และเพิ่มโอกาสรอดชีวิตให้มากขึ้น

การฉายรังสี

ในปี ค.ศ.1896 ศาสตาจารย์ทางด้านฟิสิกส์ชาวเยอรมันนามว่า วิลเฮล์ม คอนราด เรินต์เกน ได้ค้นพบรังสี X หรือที่เรียกกันว่า X-Ray และในเวลาใกล้ๆ กันมารี และปิแอร์คูรีก็ได้ค้นพบการแผ่รังสี

วิลเฮล์ม เรินต์เกน

ถึงแม้จะเป็นการค้นพบในฝั่งฟิสิกส์ แต่การค้นพบสิ่งเหล่านี้กลับมีความสำคัญอย่างมากในทางการแพทย์ เพราะนักวิทยาศาสตร์สามารถหาวิธีประยุกต์ใช้รังสีเหล่านี้ได้อย่างรวดเร็ว พวกเขาพบว่ารังสีเหล่านี้มีประโยชน์มากในการจัดการกับเซลล์มะเร็ง

ในช่วงต้นศตวรรษที่ 20 นักวิทยาศาสตร์พบว่าการฉายรังสีให้ผู้ป่วยทุกวันเป็นเวลาหลายสัปดาห์เพิ่มโอกาสการหายขาดจากโรคมะเร็งมากขึ้น หากแต่ว่าในเวลาไม่นาน พวกเขาค้นพบว่ารังสีเหล่านี้สามารถทำให้เกิดโรคมะเร็งได้ด้วยเช่นกัน กว่าจะทราบถึงความจริงข้อนี้ โลกต้องสูญเสียนักวิทยาศาสตร์ไปหลายคนจากโรคมะเร็ง เพราะพวกเขาสัมผัสรังสีเหล่านี้โดยปราศจากการป้องกัน ทำให้หลายคนป่วยเป็นโรคมะเร็ง (โดยเฉพาะมะเร็งเม็ดเลือด) ในที่สุด

เท่ากับว่ารังสีเหล่านี้มีทั้งประโยชน์และโทษ การใช้มันให้ถูกวิธีจึงเป็นสิ่งที่สำคัญมาก หลังจากนั้นวิธีการและเครื่องมือที่จะใช้เหล่ารังสีเหล่านี้ให้ถูกต้องถูกพัฒนาขึ้น ทำให้วิธีการรักษาโรคมะเร็งโดยใช้รังสีเป็นระเบียบแบบแผนมากยิ่งขึ้น

วิธีการใหม่ๆ ทำให้รังสีกำจัดเซลล์มะเร็งได้ดีขึ้น และทำให้เซลล์ที่ดีได้รับผลกระทบน้อยลงจากตัวรังสีเอง ปัจจุบันการฉายรังสีเป็นวิธีหนึ่งที่สำคัญยิ่งในการรักษาโรคมะเร็ง

การใช้เคมีบำบัด (คีโม)

การรักษาด้วยเคมีบำบัด (Chemotherapy) หรือ คีโม เป็นการรักษาโดยฉีดยาต่างๆ เข้าในระบบหมุนเวียนโลหิต สารในยาจะได้ไปจัดการกับเซลล์มะเร็ง

เคมีบำบัดเป็นสัญลักษณ์ของการรักษาโรคมะเร็งในสายตาของหลายคน อาจจะเป็นเพราะซีรีส์เกาหลีหลายเรื่องได้สร้างภาพดังกล่าวไว้ในหมู่ผู้คนจำนวนมากก็เป็นได้

การใช้เคมีบำบัดมีที่มาจากช่วงสงครามโลกครั้งที่สอง เรื่องมีอยู่ว่านาวิกโยธินสหรัฐที่เดินทางไปรบต้องเผชิญกับการโจมตีด้วยแก๊สที่เรียกว่าแก๊สมัสตาร์ด (Mustard Gas) นักวิทยาศาสตร์สหรัฐจึงต้องทำการศึกษาสารเคมีหลายตัวในแก๊สมัสตาร์ดเพื่อพัฒนาอุปกรณ์ในการป้องกันแก๊สเหล่านี้

ในการทดลองสารต่างๆ นักวิทยาศาสตร์พบว่า สารประกอบตัวหนึ่งชื่อ ไนโตรเจนมัสตาร์ด สามารถหยุดยั้งมะเร็งต่อมน้ำเหลืองที่เรียกว่า Lymphoma ได้ นั่นเป็นจุดเริ่มต้นของการค้นหาสารเคมีต่างๆ ในการหยุดยั้งและกำจัดเซลล์มะเร็ง

ยุคของเคมีบำบัดในการรักษาโรคมะเร็งจึงเริ่มต้นขึ้น และบางครั้งมันได้สร้างปาฏิหาริย์ให้กับชีวิตของคนหลายคน

เคมีบำบัดมีส่วนสำคัญในการรักษาโรคมะเร็งที่แพร่กระจายไปแล้วได้สำเร็จในปี ค.ศ.1956 หลังจากนั้นเคมีบำบัดกลายเป็นหนึ่งในวิธีการหลักในการรักษาโรคมะเร็ง

การค้นพบต่อมายังแสดงให้เห็นว่า ถึงแม้เคมีบำบัดจะไม่สามารถรักษาโรคมะเร็งได้อย่างถาวร แต่มันมีประสิทธิภาพอย่างมากในการหยุดยั้งการเจริญเติบโตของเซลล์มะเร็ง โดยเฉพาะเนื้อร้ายเล็กๆ ที่แพร่กระจายไปยังส่วนต่างๆ ของร่างกายทำให้แพทย์สามารถควบคุมโรคได้ ผู้ป่วยจะมีชีวิตยืนยาวขึ้น

อย่างไรก็ตามการใช้เคมีบำบัดมีผลกระทบทางลบต่อร่างกายที่รุนแรงเช่นเดียวกัน อาทิเช่น ผมร่วง เหนื่อยง่าย ภูมิคุ้มกันต่ำเป็นต้น นอกจากนี้การใช้ยาคีโมไม่ได้เกิดผลเท่าเทียมกันในผู้ป่วยทุกคน ทำให้การรักษาโดยวิธีนี้มีข้อจำกัดเช่นเดียวกัน

ในยุคปัจจุบัน การรักษาด้วยคีโมได้รับการพัฒนาขึ้นมาก ยาใหม่ๆ ที่มีผลข้างเคียงน้อยลงถูกผลิตขึ้นมาเพื่อใช้รักษาผู้ป่วย หรือมีการใช้ AI เพื่อจัดการรักษาให้เหมาะสมกับผู้ป่วยมากยิ่งขึ้น

พัฒนาการการรักษา

เทคโนโลยีที่ทันสมัยมากขึ้นมีส่วนทำให้วิธีการรักษามะเร็งวิธีใหม่ๆ ถูกคิดค้นขึ้นมาด้วย อาทิเช่นการใช้ภูมิคุ้มกันบำบัด (Immunotherapy) หรือ การใช้ Targeted Therapy เป็นต้น ในอนาคตวิธีการรักษาโรคนี้จะมีความหลากหลายและมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น การเป็นโรคมะเร็งจึงไม่เท่ากับตายอีกต่อไป

อัตราการรอดชีวิตของโรคมะเร็งเพิ่มสูงขึ้นเรื่อยๆ ในช่วงหลายสิบปีที่ผ่านมา ในปี ค.ศ.1975 โอกาสมีชีวิตรอดมากกว่า 5 ปีโดยเฉลี่ยของผู้ป่วยมะเร็งทุกแบบอยู่ที่ 50% แต่ในปัจจุบันตัวเลขนี้ได้เพิ่มมาเป็น 68% และจะสูงขึ้นตามลำดับในอนาคต

สาเหตุที่ทำให้อัตรานี้มีค่าสูงมากขึ้นก็เพราะ เทคโนโลยีที่ทันสมัยในการตรวจพบโรคที่เร็วขึ้น วิธีการรักษาที่ก้าวหน้าและมีประสิทธิภาพมากขึ้นนั่นเอง

ส่งท้าย

ทุกวันนี้ มีคนไทยจำนวนมากที่เลือกจะรักษาโรคมะเร็งโดยไม่รับการรักษาจากแพทย์แผนปัจจุบันที่โรงพยาบาล แต่กลับไปใช้ยาผีบอก หรือยาที่เขาบอกต่อๆ กันมา ในประเด็นนี้ผมไม่เห็นด้วยเลย การรักษาโรคมะเร็งทำได้ดีที่สุดเมื่อผู้ป่วยได้พบแพทย์และได้รับการรักษาอย่างถูกต้องโดยเร็วที่สุด การ “เสียเวลา” ไปกับยาผีบอก นอกจากจะทำลายร่างกายแล้ว ยังทำลายโอกาสที่ท่านจะหายขาดไปเสียอีก

สำหรับท่านที่ป่วยเป็นโรคมะเร็งและได้มาอ่านโพสนี้ ผมขอเป็นกำลังใจให้ทุกท่าน การเป็นโรคมะเร็งไม่ได้เท่ากับตาย ทุกท่านยังมีโอกาสหายจากโรคอยู่ถ้าได้รับการรักษาอย่างถูกต้อง อย่าเพิ่งยอมแพ้ ผมขอให้ทุกท่านหายไวๆ ครับ

Cr: American Cancer Society, NIH

บทความการศึกษา

Victory Tale ไม่อนุญาตให้คัดลอกบทความไปโพสที่ใดทุกกรณี การฝ่าฝืนมีโทษทางกฎหมาย

error: Content is protected !!