ประวัติศาสตร์ปาฏิหาริย์การพัฒนาของเอสโตเนีย (2): กำจัดคอรัปชั่นและเปิดประเทศ

ปาฏิหาริย์การพัฒนาของเอสโตเนีย (2): กำจัดคอรัปชั่นและเปิดประเทศ

ในตอนที่แล้ว ผมได้เล่าถึงการพัฒนาประเทศของเอสโตเนียที่ได้ปฏิรูปการคลังของประเทศด้วยใช้งบประมาณแบบสมดุล แต่นั่นเป็นเพียงจุดเริ่มต้นเท่านั้น เอสโตเนียยังมีปัญหาอย่างอื่นให้แก้ไข

การปฏฺิรูปในช่วงที่สอง คือ การเปลี่ยนระบบเศรษฐกิจแบบปิดของเอสโตเนีย ให้เป็นแบบเปิดอย่างที่ยุโรปและอเมริกาเป็นอยู่

ย่านเศรษฐกิจของเอสโตเนีย ในกรุงทาลิน Cr: Khola

การเปิดประเทศของเอสโตเนีย

มาร์ต ลาร์ อดีตนายกรัฐมนตรีของเอสโตเนียให้ข้อมูลว่าการเปิดประเทศไม่ใช่เรื่องง่าย แต่เป็นสิ่งที่ต้องทำโดยอาศัยการร่วมมือของหลายฝักหลายฝ่าย รัฐบาลใหม่ต้องการมอบความหวังใหม่ และโอกาสที่เปิดกว้างให้กับประชาชนทั้งประเทศ แต่การจะทำเช่นนั้นได้ เอสโตเนียจำต้องเปิดประเทศสู่นานาชาติ ดึงนักลงทุนต่างชาติเข้ามา และเสริมสร้างการแข่งขันเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ การเปิดประเทศยังจะช่วยกำจัดปัญหาความไม่โปร่งใสในประเทศได้อีกด้วย

ปัญหาสำคัญของเอสโตเนียช่วงนั้นคือ ผู้คนอยู่ในระบอบคอมมิวนิสต์มานานทำให้ติดอยู่ในกับดักความเฉื่อย ผู้คนจำนวนมากกลัวการเปิดประเทศเพราะว่าจะทำให้มีผู้แข่งมากขึ้น และเฉื่อยอีกต่อไปไม่ได้ รัฐบาลเอสโตเนียจึงแก้ไขด้วยการประกาศว่าจะช่วยเหลือเฉพาะผู้ที่พร้อมที่จะยืนได้ด้วยตัวของตัวเองเท่านั้น และเริ่มต้นนโยบายเปิดประเทศอย่างเต็มกำลัง

รัฐบาลเอสโตเนียทำการลดภาษีทางการค้าและยกเลิกกำแพงทางเศรษฐกิจทั้งหมด เอสโตเนียจึงกลายเป็น Free Trade Area สาเหตุที่รัฐบาลสร้าง Free Trade Area ขึ้นมาเพราะว่า จากการสำรวจพบว่า พวกภาษีเหล่านี้มันช่วยเหลืออุตสาหกรรมของนักธุรกิจเฉพาะกลุ่ม มากกว่าจะช่วยเหลือประชาชนชาวเอสโตเนีย

การกำจัดอุปสรรคทางการค้าทำให้ธุรกิจมากมายหลั่งไหลเข้ามาในประเทศที่มีประชากรเพียง ล้านกว่าคนแห่งนี้ โรงงานมากมายถูกเปิดขึ้นที่เอสโตเนียและสร้างงานให้กับชาวเอสโตเนียมากมาย หากแต่ว่าเสียงคัดค้านก็ดังไม่น้อยเช่นเดียวกัน บางคนตั้งคำถามว่าทำไมเอสโตเนียเลือกที่จะไม่กู้ IMF มาพัฒนาประเทศ รัฐบาลกลับตอบว่าการกู้เงิน IMF เป็นการบีบบังคับให้ประเทศต้องดำเนินนโยบายตามคำแนะนำของ IMF ซึ่งอาจจะไม่เป็นคุณต่อเอสโตเนีย

การตัดสินใจของรัฐบาลเอสโตเนียถือว่าถูกต้อง เอสโตเนียสร้างงานและเงินมากมายให้กับประชาชนของตน รวมไปถึงธุรกิจต่างชาติที่เข้ามาลงทุนด้วย การทำแบบนี้ทำให้ทุกคนแฮปปี้ แล้วจะไปกู้เงินทำไม ในเมื่อเราสามารถพัฒนาประเทศได้ด้วยการปฏิรูป

เอสโตเนียสร้างความเชื่อมั่นต่อนักลงทุนต่างชาติด้วยการออกกฎหมายคุ้มครองทรัพย์สินของชาวต่างชาติ ยกเลิกสิทธิพิเศษที่ให้กับนักลงทุนต่างชาติบางกลุ่ม แต่เปลี่ยนเป็นมอบสิทธิพิเศษให้กับนักลงทุนทั้งในประเทศและนอกประเทศทั้งหมดที่ลงทุนในเอสโตเนียแทน

ท่าเรือ muuga ของเอสโตเนีย Cr:
Bjoertvedt 

การเปิดประเทศลักษณะนี้ยังทำให้รัฐบาลเอสโตเนียลดการพึ่งพิงทางเศรษฐกิจจากรัสเซียและประเทศที่เคยรวมอยู่ในสหภาพโซเวียตอย่างมาก การค้าของเอสโตเนียหันไปทางทิศตะวันตกมากยิ่งขึ้น อิทธิพลของรัสเซียที่ครอบงำเอสโตเนียจึงลดลงไปอย่างมาก

ภายในปี ค.ศ.1995 หรือสี่ปีหลังจากได้รับเอกราช เอสโตเนียกลายเป็นทำเลทองที่นักลงทุนต่างชาติพากันไปลงทุน จำนวนเงินลงทุนต่อหัวของเอสโตเนียมากกว่าทุกประเทศในยุโรปตะวันออกและตอนกลางของยุโรปด้วย

สร้างสหภาพแรงงาน

ในช่วงปี ค.ศ.1993 รัฐบาลเอสโตเนียสนับสนุนการจัดตั้งสหภาพแรงงานแบบอิสระขึ้นมาในประเทศ เพื่อปกป้องสิทธิของแรงงานและจัดหางานให้กับผู้ว่างงาน รัฐบาลต้องการให้แรงงานเหล่านี้มีตัวแทนเพื่อที่จะได้ต่อรองอย่างมีประสิทธิภาพตามครรลองของทุนนิยมและประชาธิปไตย และลดปัญหาการชุมนุมเรียกร้องในเมืองที่เกิดจากกระแสต่อต้านการแปรรูปบริษัท (เรื่องอยู่ด้านล่าง)

ถ้าเหล่าแรงงานเหล่านี้ต้องการเสนอความเห็นใดๆ ก็สามารถทำได้ผ่านสหภาพแรงงาน สื่อทั้งหลายยังได้รับอนุญาตให้เสนอข่าวฝั่งใดๆ ก็ได้โดยไม่มีปิดกั้น เพื่อที่ประชาชนทุกคนจะได้มีจิตสำนึกและเคารพเสรีภาพที่พวกเขามีอยู่

มาร์ต ลาร์ อดีตนายกรัฐมนตรีเอสโตเนียได้เคยอธิบายว่า การสถาปนาประชาธิปไตยในทุกระดับของสังคมเป็นสิ่งสำคัญสำหรับการปฏิรูปที่ประสบความสำเร็จ

กรุงทาลิน เมืองหลวงของเอสโตเนีย Diego Delso

การกำจัดคอรัปชั่นแบบเอสโตเนีย

รัฐบาลเอสโตเนียให้ความสำคัญกับการคอรัปชั่นอย่างมาก แต่การกำจัดคอรัปชั่นของเอสโตเนียถือว่าเป็นการกำจัดทางอ้อม ซึ่งถือว่าประสบผลสำเร็จทีเดียว ในปี ค.ศ. 2018 เอสโตเนียมีได้คะแนนความโปร่งใสถึง 73/100 หรือว่าสูงเป็นอันดับที่ 18 ของโลก และกำลังดีวันดีคืนขึ้นทุกปี

วิธีการกำจัดคอรัปชั่นของเอสโตเนียคือ พยายามลดการเข้าไปยุ่งเกี่ยวทางด้านธุรกิจต่างๆ ของรัฐบาลและข้าราชการ บริษัทและธนาคารต่างๆของรัฐถูกแปรรูปให้เป็นบริษัทเอกชน กฎหมายถูกปฏิรูปให้เกิดความชัดเจนและไม่คลุมเครือ อุปสรรคทางทำธุรกิจที่เกี่ยวกับรัฐและข้อกฎหมายก็นำออกไปทั้งหมด

ปรัชญาของมาร์ต ลาร์ มีอยู่แค่ว่า ถ้าไม่มีรัฐบาลอยู่ในสมการการค้าอีกต่อไป การจ่ายสินบนเพื่อในการประมูลก็จะหายไปด้วย หรือถ้ารัฐบาลไม่ต้องลงทุนเอง แต่เปลี่ยนเป็นให้เอกชนแข่งขันกันทั้งหมด แล้วจะจ่ายสินบนให้ข้าราชการไปทำไม

การแปรรูปบริษัท (จากรัฐบาลเป็นเอกชน) จึงเป็นสิ่งที่รัฐบาลเห็นว่าต้องทำ ถึงแม้จะทำให้ประชาชนจำนวนมากตกงาน (เพราะคนนอนกินอยู่สบายๆ ไม่มีแล้ว) บริษัทและประเทศจะได้มีประสิทธิภาพมากขึ้น รัฐบาลทราบปัญหาเรื่องการว่างงานดีจึงเร่งทำการแปรรูปอย่างรวดเร็วที่สุด หรือใช้แนวคิดแบบเจ็บแต่จบ เหมือนกับในตอนที่ 1

ธุรกิจธนาคารยังถูกเปลี่ยนให้มีความโปร่งใสมากขึ้น รัฐบาลเอสโตเนียยกเลิกธนาคารของรัฐบาลและเปลี่ยนให้ทุกธนาคารเป็นของเอกชน นอกจากนี้ยังประกาศว่าจะไม่ช่วยเหลือธนาคารใดๆ อีกด้วยถ้าเกิดปัญหา อย่างในปี ค.ศ.1992-1993 ธนาคารหลายแห่งที่ดำเนินธุรกิจมาตั้งแต่สมัยคอมมิวนิสต์ล้มละลายเพราะปัญหาสภาพคล่อง รัฐบาลเอสโตเนียก็ไม่ได้ช่วยเหลือ จนสุดท้ายเหลือแต่เพียงธนาคารที่บริหารได้ดีเท่านั้นที่อยู่รอดได้

หากแต่ว่ากฎระเบียบต่างๆ เช่น การควบคุมการครอบงำทางเศรษฐกิจและการฟอกเงิน ยังถูกให้ความสำคัญและมีบังคับใช้กฎหมายอย่างเด็ดขาด

ภายในเวลาไม่กี่ปี การคอรัปชั่นของเอสโตเนียก็ลดลงตามลำดับ รวมไปถึงปัญหาอาชญากรรมต่างๆ ด้วย

สิ่งที่เอสโตเนียต้องจัดการต่อไปคือ เรื่องปัญหาความเท่าเทียม เรามาดูกันตอนหน้าครับว่าเอสโตเนียจะจัดการอย่างไร

บทความการศึกษา

Victory Tale ไม่อนุญาตให้คัดลอกบทความไปโพสที่ใดทุกกรณี การฝ่าฝืนมีโทษทางกฎหมาย

error: Content is protected !!