ประวัติศาสตร์แมนเชสเตอร์ยูไนเต็ดกับโศกนาฏกรรมที่มิวนิค

แมนเชสเตอร์ยูไนเต็ดกับโศกนาฏกรรมที่มิวนิค

สำหรับสโมสร นักเตะ และแฟนบอลของทีมแมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด เรื่องที่มิวนิคเป็นเรื่องที่ละเอียดอ่อน และไม่ปรารถนาจะให้ใครมาล้อเล่น เรื่องดังกล่าวคือเรื่องอะไรกันแน่?

แมนเชสเตอร์ยูไนเต็ดยุครุ่งเรือง

ในปี ค.ศ.1958 (ฤดูกาล 1957-1958) สโมสรแมนเชสเตอร์ยูไนเต็ด (Manchester United) หรือแมนยู กำลังรุ่งเรืองภายใต้การนำของแมตต์ บัสบี้ (Matt Busby) ที่ฝึกฝนนักเตะรุ่นใหม่ๆ เข้ามาเป็นกำลังหลัก หรือที่เรียกกันว่า Busby Babes

แมนยูได้เข้าร่วมการแข่งขันยูโรเปี้ยนคัพ หรือ แชมป์เปี้ยนลีกในปัจจุบัน ในรอบ 8 ทีมสุดท้าย พวกเขาเตะกับทีมเรสสตาร์ เบลเกรด (Redstar Belgrade) ในนัดเยือน พวกเขาจึงต้องเดินทางไปยูโกสลาเวีย

ผลการแข่งขันที่ออกมาคือ แมนยูยันเสมอเรสสตาร์ เบลเกรดไว้ได้ ทำให้ผ่านเข้ารอบด้วยสกอร์รวม 5-4 (แมนยูชนะในบ้านมา 2-1) นักเตะจึงเดินทางกลับบ้านด้วยความฮึกเหิม โดยที่ไม่มีใครคาดคิดเลยว่า สำหรับบางคน พวกเขากำลังขึ้นเครื่องบินครั้งสุดท้ายของชีวิต

นักเตะแมนยู โค้ช และทีมงาน รวมไปถึงนักข่าวอังกฤษที่ติดตามมาด้วย ได้โดยสารเครื่องบินของสายการบิน British European Airways เพื่อเดินทางกลับเมืองแมนเชสเตอร์ วันนั้นเป็นวันที่ 6 กุมภาพันธ์ ค.ศ.1958

Busby Babes ในแมตช์สุดท้ายก่อนโศกนาฏกรรมดังกล่าว

แวะเติมน้ำมันที่มิวนิค

เครื่องบินที่ใช้โดยสารคือ เครื่องบิน Airspeed AS-57 Ambassador ซึ่งเป็นเครื่องบินขนาดเล็ก ในวันนั้นมีผู้โดยสารทั้งสิ้น 38 คน และ ลูกเรือ 6 คน นักบินที่ทำการบินคือ James Thain และ Kennety Rayment

การบินจากเบลเกรดเรียบร้อยดี แต่ระหว่างที่เดินทางกลับบ้านนั้น เครื่องบินลำดังกล่าวต้องไปต้องแวะเติมน้ำมันที่มิวนิค ประเทศเยอรมนีตะวันตก เพราะเครื่องบินในขณะนั้นยังไม่สามารถบินขาเดียวจากอังกฤษไปยังยุโรปตะวันออกได้

ในเวลา 14.19 น. ตามเวลากรีนิช เครื่องบินที่ทีมแมนยูโดยสารไปก็ได้รับสัญญาณให้ทำการนำเครื่องขึ้นจากสนามบินมิวนิคได้ แต่ Rayment ยกเลิกการขึ้นบินเพราะ Thain รู้สึกได้ถึงความผิดปกติของเครื่องยนต์ระหว่างที่เครื่องบินเร่งความเร็ว

อย่างไรก็ตาม สามนาทีต่อมา นักบินก็ได้ลองขึ้นบินเป็นรอบที่สอง แต่ก็ล้มเหลวอีกครั้ง การยกเลิกการขึ้นบินทำขึ้นในเวลาสี่สิบวินาที เพราะเครื่องยนต์เกิดเร่งตัวเร็วเกินไป ผู้โดยสารจึงจำต้องกลับเข้าไปในสนามบิน

ในช่วงนั้นเอง หิมะก็ได้ตกลงมาอย่างหนัก ทำให้ทัศนวิสัยเลวร้ายลง สถานการณ์จึงดูเหมือนว่าการขึ้นบินไม่สามารถกระทำได้แล้วในวันนั้น

เครื่องบินลำดังกล่าวก่อนที่จะเกิดโศกนาฏกรรมเล็กน้อย

หากแต่ว่า Thain หรือนักบินที่ 1 ได้ไปปรึกษากับวิศวกรในเรื่องเครื่องยนต์ดังกล่าว โดยวิศวกรสนับสนุนให้พักรอการตรวจเช็คเสียก่อน ซึ่งจะทำให้เครื่องบินต้องเลื่อนการขึ้นบินไปเป็นวันพรุ่งนี้ แต่ Thain กลับมองว่าปัญหาดังกล่าวไม่น่าจะร้ายแรง จึงปฎิเสธที่จะเลื่อนการขึ้นบิน สาเหตุหนึ่งที่ทำให้ Thain ตัดสินใจเช่นนั้น น่าจะเพราะว่าเขาต้องการจะยึดตามตารางการบินที่วางไว้ เขาไม่รู้เลยว่าเขากำลังนำผู้โดยสารของเขาไปสู่โศกนาฏกรรม

โศกนาฏกรรม

สิบห้านาทีหลังจากที่ผู้โดยสารกลับเข้าไปในสนามบิน พวกเขาก็ถูกเชิญให้กลับมาขึ้นเครื่องใหม่อีกครั้ง นักเตะแมนยูบางคนเป็นผู้ที่เกรงกลัวการขึ้นเครื่องบิน อาทิเช่น เลียม วีแลน ผู้กล่าวว่า “ครั้งนี้ผมอาจจะตาย ผมพร้อมแล้ว” ส่วนบางคนนั้นก็เลือกที่นั่งด้านหลังเพราะคิดว่าจะปลอดภัยกว่า

ในเวลา 14.56 น. เครื่องบินลำดังกล่าวก็พร้อมจะขึ้นบินเป็นครั้งที่สาม นักบินทั้งสองต่างเห็นตรงกันว่าควรจะขึ้นบิน ต่อมาในเวลา 15.03 น นักบินทั้งสองของเครื่องบินลำนั้นก็เร่งความเร็ว ถึงความเร็ว V1 ซึ่งเป็นความเร็วที่เร็วเกินกว่าจะยกเลิกการขึ้นบินได้อีกแล้ว

เครื่องบินลำดังกล่าวเร่งความเร็วขึ้นจนถึงระดับ 220 กิโลเมตรต่อชั่วโมง หรือ V2 แต่แล้วความเร็วกลับลดลงอย่างรวดเร็ว เพราะล้อของเครื่องเหยียบเข้าไปโคลนผสมหิมะที่ปลายสุดของรันเวย์ ทำให้เครื่องบินไม่สามารถบินขึ้นไปได้ เครื่องบินไถลออกนอกรันเวย์ มันพุ่งชนเข้ากับรั้วกั้นของสนามบิน และพุ่งเข้าไปเฉี่ยวชนบ้านแห่งหนึ่งซึ่งมีสมาชิกครอบครัว 6 คน (เคราะห์ยังดีที่ทั้งหมดรอดชีวิต)

ในเวลานั้นกัปตันไม่สามารถควบคุมเครื่องบินได้อีกแล้ว เครื่องบินจึงไถลไปด้วยความเร็ว ด้านซ้ายของเครื่องบินกระแทกเข้ากับต้นไม้เต็มแรง ทำให้ส่วนหนึ่งของปีกซ้ายนั้นหลุดออกไป ในขณะที่ด้านขวา ซึ่งมีถังน้ำมันอยู่นั้นกระแทกเข้ากับโรงรถ ภายในโรงรถมีรถบรรทุกซึ่งมีน้ำมันเต็มถังและยางอยู่ แรงกระแทกทำให้เชื้อเพลิงของเครื่องบินและรถบรรทุกระเบิดขึ้นมาทันที

นักเตะ 7 คนของแมนยูเสียชีวิตทันที (เลียม วีแลน และนักเตะที่ย้ายที่นั่งไปด้านหลังทั้งหมดล้วนแต่เสียชีวิต) พร้อมกับทีมงานอีก 3 คน นักข่าวอีก 8 คน ผู้ติดตามอีก 2 คน ในขณะที่ดันแคน เอ็ดเวิร์ด นักเตะอีกคนหนึ่งเสียชีวิตตามไปในอีก 15 วันต่อมา Rayment นักบินที่ 2 เสียชีวิตห้าอาทิตย์ต่อมาหลังจากอุบัติเหตุจากอาการบาดเจ็บทางสมอง นอกจากนี้ยังมีลูกเรือและไกด์รวมแล้วอีกสองคนที่เสียชีวิต รวมผู้เสียชีวิตได้ทั้งหมด 23 คน

เพลิงลุกไหม้เครื่องบินของนักเตะแมนยูที่มิวนิค

ผลกระทบ

นักเตะแมนยูอีก 9 คนได้รับบาดเจ็บสาหัส สองคนไม่ได้เล่นฟุตบอลอีกเลย หนึ่งในผู้รอดชีวิตนั้นคือ บ็อบบี้ ชาร์ลตัน นักเตะผู้เป็นตำนานของสโมสร ส่วนแม็ตต์ บัสบี้ โค้ชใหญ่ของทีมนั้นรอดชีวิตแบบทุลักทุเล โดยเขาต้องอยู่ในโรงพยาบาลถึง 2 เดือน และได้รับการทำ Last Rites (เชิญบาทหลวงมาสวดมนต์เป็นครั้งสุดท้าย) ถึง 2 ครั้ง

การที่นักเตะทีมชุดใหญ่แทบทั้งทีมเสียชีวิตและได้รับบาดเจ็บนั้น ทำให้เกิดปัญหาอย่างใหญ่หลวงต่อสโมสร ผู้ช่วยโค้ชจำต้องเข้าคุมทีมแทนแม็ตต์ บัสบี้ ที่ได้รับบาดเจ็บสาหัส และทำใช้นักเตะสำรองและเด็กลงสนามแทน

ผลที่ตามมาคือ โอกาสที่จะแย่งชิงถ้วยลีคสูงสุดก็มลายสิ้น แมนยูชนะเพียงเกมเดียวในนัดที่เหลือ ส่งผลให้ทีมจบด้วยอันดับที่ 9 ในฤดูกาลนั้น

อย่างไรก็ตาม เมื่อแม็ตต์ บัสบี้หายเจ็บกลับมาคุมทีม เขาก็สร้างทีมที่แข็งแกร่งทีมใหม่ขึ้นมา นักเตะอย่างจอร์จ เบสต์ และ เดนนิส ลอว์ ก็อยู่ในยุคนี้นั่นเอง สุดท้ายแล้วแมนยูก็ได้แชมป์ยูโรเปี้ยนคัพในที่สุดในอีก 10 ปีต่อมา โดยบ็อบบี้ ชาร์ลตัน และ บิล ฟาว์ลส์ เป็นผู้เล่นสองคนในทีมที่รอดชีวิตจากโศกนาฎกรรมครั้งนั้น

สโมสรแมนเชสเตอร์ยูไนเต็ดได้ทำการสร้างจุดเพื่อระลึกถึงเหตุการณ์ครั้งนั้นในโอลด์แทรฟฟอร์ด ให้แฟนบอลได้ระลึกถึงโศกนาฎกรรมดังกล่าวมาจนถึงทุกวันนี้

อินเตอร์เน็ตทรู Package True Online Standalone

บทความการศึกษา

Victory Tale ไม่อนุญาตให้คัดลอกบทความไปโพสที่ใดทุกกรณี การฝ่าฝืนมีโทษทางกฎหมาย

error: Content is protected !!