ประวัติศาสตร์อี ซุน ซิน: ยอดแม่ทัพแห่งโชซอนผู้ปกป้องแผ่นดินจนตัวตาย

อี ซุน ซิน: ยอดแม่ทัพแห่งโชซอนผู้ปกป้องแผ่นดินจนตัวตาย

ถ้าใครเคยได้ไปเยี่ยมเยือนกรุงโซล ท่านจะพบอนุสาวรีย์ขนาดใหญ่ของชายผู้หนึ่ง ใส่ชุดเกราะเต็มยศยืนอยู่ อนุสาวรีย์แห่งนี้อุทิศให้กับ อีซุนซิน แม่ทัพใหญ่แห่งกองทัพเรือโชซอน ผู้ต่อต้านการรุกรานของกองทัพญี่ปุ่น

อีซุนซินเป็นนายทหารที่มีใจเด็ดเดี่ยว เขารักชาติ รักประชาชน เขามีความเป็นทหารเต็มตัว เขามีความเป็นสุภาพบุรุษเต็มร้อย เขาไม่ได้ปรารถนายศศักดิ์หรือเงินทองใดๆ อีซุนซินปฏิบัติหน้าที่ทหารอย่างเต็มกำลังทุกครั้งไม่ว่าสถานการณ์จะยากลำบากสักเพียงใดก็ตาม

หลังจากโอดะ โนบุนากะเสียชีวิต ฮิเดโยชิ โทโยโตมิ ขึ้นครองอำนาจในญี่ปุ่น ฮิเดโยชิมีความฝันอันยิ่งใหญ่ที่จะรุกรานราชวงศ์หมิงของจีน แต่ก่อนที่จะเข้าถึงราชวงศ์หมิง ญี่ปุ่นจำต้องครอบครองโชซอนเสียก่อน เพราะโชซอนเป็นพันธมิตรที่สำคัญ และเป็นปากทางที่จะเข้าสู่ดินแดนจีน

ฮิเดโยชิตั้งความหวังไว้มากกับการบุกเข้ายึดโชซอน หากแต่ว่าความฝันของฮิเดโยชิต้องพังทลายเพราะอีซุนซิน นายพลเรือแห่งโชซอนผู้นี้เอง

วัยเด็กและการรับราชการ

อีซุนซินเป็นผู้ที่มีความเป็นผู้นำมาตั้งแต่เด็ก เขาโปรดปรานเกมสงครามมาก เขามักจะเป็นผู้นำเพื่อนในการเล่นเกมต่างๆอยู่เสมอ นอกจากนี้อีซุนซินยังมีฝีมือในการยิงธนู และยังสามารถประดิษฐ์คันธนูในรูปแบบของตนเองขึ้นมาอีกด้วย

เมื่อเติบโตเป็นวัยรุ่น อีซุนซินได้ไปสอบเข้ารับราชการฝ่ายทหาร เขาได้แสดงฝีมือในการยิงธนูให้กับเหล่ากรรมการได้ประจักษ์ แต่ทว่าเขากลับพลาดระหว่างการสอบขี่ม้า ทำให้อีซุนซินไม่ผ่านการสอบไปอย่างน่าเสียดาย

อีซุนซินจำต้องรอไปอีกปีหนึ่ง จนกว่าเขาจะสอบเข้ารับราชการได้สำเร็จ หลังจากได้เป็นนายทหารแล้ว เขาถูกส่งไปชายแดนทางตอนเหนือเพื่อรับมือพวกแมนจู อีซุนซินป้องกันชายแดนอย่างดีเยี่ยม เขาเอาชนะชาวแมนจูได้หลายครั้ง ด้วยการใช้กลลวง ครั้งหนึ่งเขาล่อพวกแมนจูเข้ามาติดกับดักแล้วบดขยี้เสียจากทุกทิศทาง

หากแต่ว่าในราชสำนักโชซอนมีระบบอุปถัมภ์ที่ใหญ่โต ชัยชนะของอีซุนซินทำให้นายทหารในกองทัพหลายคนอิจฉาเขา แม้กระทั่งคนที่เป็นผู้บังคับบัญชาของเขาเอง เหล่าทหารการเมืองอย่างแม่ทัพอีอิล (Yi II) จึงใส่ความอีซุนซินว่าหนีทัพระหว่างการศึก

อีซุนซิน (Yi-Sunsin)

ดังนั้นเพราะวิธีการที่สกปรก ทำให้อีซุนซินถูกปลด นำไปตัวไปจำคุก และทำการทรมานจนอีซุนซินแทบปางตาย การกำจัดแม่ทัพที่มีอนาคตและมีความสามารถเช่นนี้มีส่วนสำคัญยิ่งทำให้กองทัพโชซอนอ่อนแอ เพราะในกองทัพมีแต่ทหารการเมืองที่ใช้เส้นสายเกี้อหนุนกันเอง คนที่เก่งแต่ไม่มีเส้นสายจึงไม่มีโอกาสได้ดำรงตำแหน่งสำคัญๆ เลย

ดูแลชายฝั่งทะเล

หลังจากออกมาจากคุก อีซุนซินกลายเป็นทหารเลวคนหนึ่ง แต่ด้วยความสามารถและความเป็นผู้นำ เขาก็ได้เลื่อนตำแหน่งอย่างรวดเร็ว ในเวลาไม่นาน อีซุนซินได้กลับมาเป็นแม่ทัพอีกครั้ง หน้าที่ใหม่ของเขาคือดูแลป้อมปราการชายฝั่งทะเลอย่างเช่น ป้อมวานโด เป็นต้น

ระหว่างที่ดูแลเมืองท่าชายฝั่งทะเล อีซุนซินได้พัฒนากองเรือที่มีอยู่เดิมให้แข็งแกร่งยิ่งขึ้น โดยเฉพาะกองเรือเต่า (Turtle Ship) กองเรือนี้จะมีบทบาทสำคัญยิ่งในการต่อต้านการบุกของญี่ปุ่น

ใน ค.ศ.1592 ฮิเดโยชิส่งทหารสองแสนคนบุกเข้าดินแดนโชซอน ฝ่ายญี่ปุ่นมีกองเรือขนาดใหญ่เพื่อทำลายกองเรือของโชซอน และมีเรือลำเลียงอีกจำนวนมากไว้ขนย้ายเหล่าทหารราบ อาทิเช่นพวกซามูไร ผู้นำญี่ปุ่นอย่างฮิเดโยชิออกคำสั่งว่าญี่ปุ่นจะชนะสงครามได้ก็ต่อเมื่อสามารถควบคุมทะเลได้เท่านั้น

ด้วยความที่เป็นแม่ทัพบก อีซุนซินไม่มีประสบการณ์ในการรบทางทะเลมาก่อนเลย แต่ทว่า ระหว่างที่เขาอยู่ที่รักษาเมืองท่า อีซุนซินได้ทำความเข้าใจความเป็นไปของภูมิอากาศ ภูมิประเทศ และกระแสน้ำ สิ่งเหล่านี้ล้วนแต่เป็นตัวแปรสำคัญในสงครามทางทะเล อีซุนซินยังศึกษากองเรือญี่ปุ่นมาอย่างดีว่าใช้กลยุทธ์อย่างไร

เรือเต่า (Turtle Ships)

วิธีรบของญี่ปุ่นถือว่าเรียบง่าย ทหารเรือญี่ปุ่นจะนำเรือเร็วเข้าประชิดเรือโชซอน แล้วจะใช้บันไดพาดปีนเข้ามาเพื่อต่อสู้ระยะประชิด ฝ่ายญี่ปุ่นหมายใจว่าจะใช้ความแข็งแกร่งในการต่อสู้ระยะประชิดของพวกซามูไรบดขยี้ทหารโชซอนให้แตกพ่าย

กลยุทธ์ลักษณะนี้คล้ายกับวิธีรบของชาวโรมันในสงครามพิวนิกครั้งที่ 1 (First Punic War) ดังนั้นไม่ต้องสงสัยว่าเป็นวิธีรบที่จัดว่าโบราณมากๆ

สำหรับอีซุนซิน เขามีข้อจำกัดหลายประการ เขามีกำลังพลที่น้อยกว่าญี่ปุ่น กำลังพลแต่ละนายก็ไม่ได้สู้รบเก่งกล้าเท่ากับซามูไรญี่ปุ่น เรือที่เขามีก็น้อยกว่า แต่ทว่าสิ่งที่เขาเหนือกว่าญี่ปุ่นคือ เขามีปืนใหญ่ที่มากกว่าและทันสมัยกว่า

ดังนั้นการจะพิฆาตญี่ปุ่นได้จึงต้องไม่ให้เรือญี่ปุ่นเข้าใกล้เรือโชซอนได้

ท้ายที่สุดเขาก็หาวิธีจนได้ เขาจะใช้เรือเต่า (Turtle Ship) ที่มีเพดานคลุมดาดฟ้าของเรือในการรบ เพราะเรือเต่าไม่มีดาดฟ้าที่เปิดโล่งให้ทหารญี่ปุ่นปีนเข้ามาได้ นอกจากนี้เขายังมีกองเรือ Panokseon ซึ่งเป็นเรือหุ้มเกราะ กองเรือทั้งสองรูปแบบจะติดปืนใหญ่รอบทิศ แล้วยิงกระหน่ำพวกญี่ปุ่นให้แหลกไปจากระยะไกล

ไล่ทำลายกองเรือญี่ปุ่น

เมื่อกองเรือญี่ปุ่นมาถึงบริเวณที่เขารักษาการณ์อยู่ อีซุนซินเข้าโจมตีทหารญี่ปุ่นที่ Okpo โดยใช้วิธีการดังกล่าว กองเรือโชซอนมีเรือรบเพียง 43 ลำ และเรือหาปลาอีก 46 ลำ เข้าบดขยี้กองเรือญี่ปุ่นจำนวน 50 ลำที่ไม่รู้ตัวจนแตกยับเยิน ญี่ปุ่นเสียเรือไป 26 ลำ ทหารล้มตายจำนวนมากมาย ส่วนโชซอนมีทหารบาดเจ็บสามคน และไม่เสียเรือสักลำเดียว

หลังจากนั้นไม่นาน นายพลเรืออีก็บดขยี้กองเรือญี่ปุ่นอีกครั้งที่ Sacheon เขาล่อกองเรือญี่ปุ่นออกมาจากอ่าว แล้วยิงกระหน่ำด้วยการใช้เรือเต่า เมื่อการต่อสู้สิ้นสุดลง โชซอนมีทหารบาดเจ็บ 5 คน ไม่เสียเรือเลยสักลำเดียว ส่วนกองเรือญี่ปุ่นทั้ง 13 ลำถูกทำลายทิ้งทั้งหมด

อีซุนซินเป็นผู้ที่ห่วงใยทุกข์สุขของราษฎรอย่างมาก และเขาไม่รีรอที่จะเข้าช่วยทันทีถ้ามีราษฎรถูกทำร้าย เหล่าราษฎรจึงรักอีซุนซินมาก พวกเขาจึงยอมเสี่ยงอันตรายเพื่อนำข้อมูลสำคัญมาบอกเขา

ตัวเขาเองยังเป็นผู้นำที่มีอิทธิพลอย่างสูงต่อเหล่าทหาร เขาดูแลบรรดาทหารของเขาอย่างดีเยี่ยม ชัยชนะติดๆ กันโดยไม่มีทหารตายเลย ทำให้ทหารของเขาต่างคิดว่า ไม่ว่าศัตรูจะมีมากเท่าไร ตราบใดที่อีซุนซินยังอยู่ พวกเขาจะไม่มีทางพ่ายแพ้

ดังนั้นเมื่อเห็นเขาบัญชาการรบ บรรดาทหารเรือโชซอนก็มีใจที่จะต่อสู้ ถึงแม้ว่าในขณะนั้น โชซอนกำลังจะแพ้สงครามก็ตาม เพราะญี่ปุ่นขึ้นบกได้ทางอื่นและกำลังบุกตีโชซอนอย่างบ้าระห่ำ

วันที่ 10 กรกฎาคม ค.ศ.1592 อีซุนซินทำลายกองเรือญี่ปุ่น 21 ลำ ที่ตังโป โดยไม่สูญเสียเรือรบเลยสักลำเดียว สามวันต่อมาเขาก็เข้าทำลายกองเรือญี่ปุ่น 26 ลำที่เข้าต่อสู้ที่ตงหังโปทั้งหมด วิธีการสู้รบครั้งนี้เขาล่อกองเรือญี่ปุ่นออกมาที่ทะเลเปิด แล้วเอาเรือหุ้มเกราะเข้าล้อมแล้วถล่มด้วยปืนใหญ่ ตามด้วยเข้าชนทุกทิศทาง ทหารญี่ปุ่นถูกสังหารเรียบพร้อมกับนายพลเรือ

ความเสียหายของกองเรือญี่ปุ่นที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว ทำให้ฮิเดโยชินั่งไม่ติด เขาสั่งให้แม่ทัพเรือของญี่ปุ่นที่มีฝีมือที่สุดสามคนมาต่อสู้กับนายพลเรืออีทันที

วากิซากะ ยาสึฮารุ คือคนแรกที่ปะทะกับอีซุนซิน ที่หมู่บ้านฮันซาน เขาปรารถนาจะบดขยี้กองเรือโชซอนให้ได้เร็วที่สุด เขามีเรือมากถึง 100 ลำเทียบกับอีซุนซินที่มีเพียง 70 ลำ

อย่างไรก็ดีอีซุนซินรู้ข่าวล่วงหน้าว่าจะมีกองเรือญี่ปุ่นมา เขาจึงเลือกที่จะเข้าโจมตีทันที เขาใช้เรือหกลำล่อกองเรือส่วนใหญ่ของญี่ปุ่นไปที่ทะเลเปิดเช่นเดิม แล้วจึงใช้กองเรือล้อมกองเรือญี่ปุ่นจากสามด้าน

คำสั่งของอีซุนซินคือให้หลีกเลี่ยงการเข้าปะทะระยะประชิดของญี่ปุ่นอย่างเด็ดขาด กองเรือโชซอนจึงถล่มกองเรือญี่ปุ่นอย่างหนักด้วยปืนใหญ่ และใช้วิธีการหลบหลีกไม่ให้เรือญี่ปุ่นสามารถเข้าใกล้ เท่านี้ดาบซามูไรก็ไร้ค่า ทหารญี่ปุ่นถูกสังหารคนแล้วคนเล่า

เมื่อจบสิ้นการต่อสู้ ฝ่ายญี่ปุ่นเสียเรือมากไปถึง 59 ลำ ทหารล้มตายหลายพันคน ฝ่ายโชซอนไม่เสียเรือเลย ทหารก็ตายไปเพียง 19 คนเท่านั้น

หลังจากนั้นไม่นาน พวกญี่ปุ่นก็พ่ายแพ้อีกครั้ง เมื่ออีซุนซินนำกองเรือ 166 ลำเข้าทำลายกองเรือญี่ปุ่นที่ปูซานที่มี 470 ลำที่นำโดยนายพลเรือทั้งสามที่ฮิเดโยชิเรียกมา ญี่ปุ่นเสียเรือไปถึงเกือบ 100 ลำ (บ้างว่ามากถึง 130 ลำ) ส่วนโชซอนเสียทหารไป 30 คน เรือไม่เสียเลยสักลำเดียวเช่นเดิม

ข่าวความพ่ายแพ้ยับเยินมาถึงฮิเดโยชิ ทำให้ผู้นำญี่ปุ่นตัดสินใจสั่งให้กองเรือญี่ปุ่นอยู่แต่ในท่าเรือทันที กองเรือโชซอนจึงเป็นฝ่ายครองทะเลทั้งหมด และตัดเสบียงอาหารที่จะเข้ามาช่วยเหลือกองทัพญี่ปุ่นในเกาหลี

กองทหารญี่ปุ่นขาดเสบียงจึงไม่อาจจะบุกตีโชซอนต่อได้ กองทัพสนับสนุนจากราชวงศ์หมิงของจีนเริ่มเข้ามาช่วยเหลือ กองทัพบกโชซอนจึงเป็นฝ่ายรุกกลับและไล่ตีกองทัพญี่ปุ่นให้เสียที่มั่นไปทีละจุด

ฮิเดโยชิไม่มีทางเลือกจึงสั่งให้ทหารญี่ปุ่นถอยทัพลงมาอยู่ที่ปูซาน และเปิดการเจรจาสงบศึก ทั้งสองฝ่ายสงบศึกกันในปี ค.ศ.1593 การสู้รบจึงหยุดลงชั่วคราว

ถูกปลดออกจากตำแหน่ง

ห้าปีผ่านไป พวกญี่ปุ่นกลับมาอีกครั้ง โดยคราวนี้ฮิเดโยชิรู้ว่าถ้าอีซุนซินยังเป็นแม่ทัพเรืออยู่ เขาไม่มีทางยึดโชซอนได้ เขาจึงใช้แผนจารชนโดยลักลอบติดต่อกับพวกนายทหารการเมืองของโชซอน เพื่อใส่ความให้อีซุนซินถูกประหารชีวิตหรือถอดออกจากตำแหน่งไปเสีย

ทหารการเมืองเหล่านี้จึงสั่งให้อีซุนซินเข้าโจมตีทหารญี่ปุ่น แต่เขาปฎิเสธเพราะว่าจุดเหล่านี้ล้วนแต่อันตรายและเสี่ยงมากเกินไป เขาจึงโดนปลด โดนจับกุมและนำตัวไปขังคุก นอกจากนี้ยังถูกทรมานอีกมากมาย

ตัวพระเจ้าซอนโจเองปรารถนาจะประหารชีวิตอีซุนซินเสีย เพราะอิจฉาในความนิยมของเขาในหมู่ประชาชน แต่โชคยังดีที่มีเสนาบดีจยอง ทัค ขอพระเจ้าซอนโจเอาไว้โดยขอให้ทรงเห็นแก่ความดีความชอบที่อีซุนซินเคยทำมาก่อน อีซุนซินจึงรอดตายมาได้หวุดหวิด

เมื่อปราศจากอีซุนซิน กองเรือโชซอนอ่อนแอลงมาก เพราะแม่ทัพที่ส่งมาใหม่ไม่อาจเทียบอีซุนซินได้เลย ญี่ปุ่นเห็นเป็นโอกาสจึงส่งนายพลเรือมือหนึ่งอย่าง ทาโดะ ทาคาโดระ พร้อมกองเรือมหาศาลถึง 1,000 ลำมาทันที

กองเรือญี่ปุ่นได้ทำการซุ่มโจมตีกองเรือทั้งหมดของโชซอนที่มี 169 ลำจนพินาศยับเยิน ทั้งนี้การซุ่มโจมตีทำให้กองเรือญี่ปุ่นประชิดกองเรือโชซอนได้ แต่ที่ผ่านมาญี่ปุ่นไม่สามารถใช้วิธีนี้ได้เลย เพราะอีซุนซินระวังตัวมาก

ความพ่ายแพ้ย่อยยับของโชซอน ทำให้ทหารเรือที่อีซุนซินฝึกฝนและใช้บดขยี้พวกญี่ปุ่นถูกสังหารไปเกือบทั้งหมด เช่นเดียวกับกองเรือที่ถูกทำลายสิ้น เหลือแต่เพียง เรือหุ้มเกราะ (Panokseon) เพียง 13 ลำเท่านั้นที่เอาตัวรอดมาได้ เพราะว่าแม่ทัพผู้คุมกองเรือไม่ได้นำกองเรือเข้าสู่สมรภูมิตามคำสั่ง

ความพ่ายแพ้ครั้งนี้จะเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้อีซุนซินมีชื่อเสียงไปมากกว่าเดิม

การรบแห่งมยองนยาง

ความพ่ายแพ้ยับเยินทำให้พระเจ้าซอนโจทรงจำต้องคืนตำแหน่งให้อีซุนซิน แต่เมื่อพระองค์รู้ว่าเหลือเรือทั้งหมดเพียง 13 ลำเท่านั้น และทหารเรือ 200 คน พระองค์จึงส่งไปบอกว่าให้อีซุนซินทิ้งเรือเหล่านั้น แต่อีซุนซินปฎิเสธโดยทูลพระองค์ว่า

ข้าพระองค์ยังมิตายและมีเรืออยู่อีก 13 ลำ พวกศัตรูไม่มีวันที่จะปลอดภัยได้ในทะเลตะวันตก

อีซุนซิน

การจะเอาชนะกองเรือมหาศาลของญี่ปุ่นด้วยกองเรือที่มีเพียง 13 ลำเป็นเรื่องที่แทบจะเป็นไปไม่ได้ แต่นั่นไม่ใช่สำหรับแม่ทัพเรืออย่าง อีซุนซิน เขาส่งกองเรือบางส่วนออกไปเผชิญหน้ากับกองเรือญี่ปุ่น

เรือหุ้มเกราะ (Panokseon)

ทาโดะ ทาคาโดระ แม่ทัพเรือญี่ปุ่นได้ยินว่าอีซุนซินนำกองเรือโชซอนมาต่อสู้เพียง 13 ลำ เขาจึงนำเรือออกมาทันที 333 ลำ ทาคาโดระตั้งใจขยี้กองเรือโชซอนที่เหลือให้พินาศไปเสีย แต่เขาลืมไปว่าคู่ต่อสู้ของเขาไม่ใช่แม่ทัพโชซอนที่เขาเคยเอาชนะง่ายๆ ครั้งก่อน

แท้จริงแล้วอีซุนซินส่งกองเรือมาเพื่อล่อให้กองเรือญี่ปุ่นเข้ามาที่คาบสมุทรมยองนยางซึ่งแคบและกองเรือญี่ปุ่นจะเข้ามาได้ทีละลำเท่านั้น นอกจากนี้ อีซุนซินยังได้เลือกวันอย่างดี เขาเลือกวันที่มีหมอกลงและกระแสน้ำไหลแรง ทำให้กองเรือญี่ปุ่นของทาคาโดระยากต่อการควบคุม เรือญี่ปุ่นจึงชนกันเองไปหลายลำ

เมื่อกองเรือญี่ปุ่นมาถึง กองเรือโชซอนจึงกระหน่ำยิงด้วยปืนใหญ่จมเรือญี่ปุ่นไปทีละลำ กองเรือญี่ปุ่นที่รวมตัวกันเป็นกองใหญ่ และไม่สามารถควบคุมได้เพราะกระแสน้ำที่เชี่ยวกราก จึงเป็นเหมือนเป้านิ่งให้ทหารโชซอนยิงถล่มด้วยปืนใหญ่

ทาโดะ ทาคาโดระเห็นท่าไม่ดีจึงสั่งให้ถอยทัพ แต่ก็สายไปเสียแล้ว เมื่อคุรุชิมะ มิชิฟุซะ ไดเมียวคนหนึ่งถูกตัดหัวเสียบประจาน ส่วนทหารจำนวนมากกับเรืออีก 31 ลำถูกทำลายจนย่อยยับ

ทั้งนี้การที่กองเรือญี่ปุ่นมีมากกว่ากองเรือโชซอนถึง 25 เท่า (333 ลำต่อ 13 ลำ) ชัยชนะที่มยองนยางของอีซุนซินจึงได้รับการยกย่องจากนักการทหารตะวันตกว่าเป็นชัยชนะที่ยิ่งใหญ่ที่สุดครั้งหนึ่งในประวัติศาสตร์สงครามทางทะเลของโลก

จากไปกลางสมรภูมิ

ชัยชนะที่มยองนยางทำให้โชซอนเป็นฝ่ายกลับมาได้เปรียบ ราชวงศ์หมิงของจีนเริ่มส่งกำลังทหารและเรือเข้ามาช่วยเหลือ ทำให้สถานการณ์ของโชซอนดีขึ้น อีซุนซินได้นำกองเรือเข้าทำลายเรือญี่ปุ่นที่เข้าส่งเสบียงอย่างหนัก กองทัพญี่ปุ่นเริ่มขาดเสบียงและขาดขวัญกำลังใจที่จะต่อสู้

ประกอบกับในปี ค.ศ.1598 ฮิเดโยชิได้เสียชีวิตลง บรรดาองคมนตรีสั่งให้กองทัพญี่ปุ่นในโชซอนถอยทัพทั้งหมด เหล่าแม่ทัพญี่ปุ่นจึงเตรียมกองเรือขนาดใหญ่เพื่อลำเลียงทหารกลับบ้าน

อีซุนซินและเฉินหลินแม่ทัพหมิงนำกำลังเข้าโจมตีกองเรือของญี่ปุ่น กองเรือผสมหมิง-โชซอนมีเรือเพียง 146 ลำ เข้าสู้กับกองเรือญี่ปุ่นมีมากถึง 500 ลำ สถานการณ์กลับกลายเป็นว่ากองเรือผสมโชซอนและหมิงเป็นฝ่ายได้เปรียบ เรือพันธมิตรเริ่มยิงกระหน่ำไล่เรือญี่ปุ่นแหลกลาญ

หากแต่ว่าในขณะที่สงครามกำลังถึงจุดสูงสุด อีซุนซินกลับถูกกระสุนปืนที่ยิงสุ่มมาเข้าใกล้บริเวณหัวใจ เขาล้มลงทันทีและตระหนักว่าบาดแผลดังกล่าวถึงตาย อีซุนซินกล่าวกับลูกชายของเขาว่า

“สงครามกำลังจะชี้ขาดอยู่แล้ว เจ้าจงใส่เสื้อเกราะของข้า แล้วตีกลองให้กำลังใจเหล่าทหาร ไม่ต้องประกาศการตายของข้า”

อีซุนซิน

ไม่กี่นาทีหลังจากนั้น อีซุนซินก็สิ้นชีวิตลง การต่อสู้วันนั้นจบลงด้วยความพ่ายแพ้โดยสิ้นเชิงของกองทัพเรือญี่ปุ่น ฝ่ายญี่ปุ่นเสียเรือไปถึง 200 ลำ และทหารเกือบสองหมื่นคน โดยทหารหมิงและโชซอนสิ้นชีวิตไปเพียง 500 คนเท่านั้น

การจากไปของอีซุนซินทำให้ชาวโชซอนเศร้าโศกเสียใจอย่างมาก เพราะเขาเปรียบเหมือนศูนย์รวมจิตใจของราษฎร แต่ราชสำนักโชซอนกลับไม่ได้แสดงออกเลย เพราะพระเจ้าซอนโจ และเหล่าขุนนางต่างอิจฉาในความนิยม และความสามารถของอีซุนซินมาโดยตลอด

อีซุนซินได้รับการยกย่องในเวลาต่อมา และเป็นฮีโร่ของชาวเกาหลีทั้งปวงมาจนถึงทุกวันนี้ เพราะเขาเป็นสัญลักษณ์ในการต่อต้านการรุกรานของชาวต่างชาติ

ในทางยุทธศาสตร์อาจจะกล่าวได้ว่า โชซอนไม่ถูกญี่ปุ่นยึดครองก็เพราะอีซุนซิน เขาตัดการส่งกำลังบำรุงของกองทัพญี่ปุ่นในโชซอนทั้งหมด และยังสังหารทหารญี่ปุ่นไปหลายหมื่นคน ญี่ปุ่นไม่อาจจะรับความเสียหายเช่นนั้นได้ ความฝันของฮิเดโยชิจึงพังทลาย

อนุสาวรีย์อีซุนซินที่กรุงโซล

นักการทหารแม้แต่ในญี่ปุ่น และชาติตะวันตกจึงชื่นชมในความสามารถและความกล้าหาญของอีซุนซินมาจนถึงทุกวันนี้ นายพลโตโก แม่ทัพเรือญี่ปุ่นผู้บดขยี้กองเรือรัสเซียราบคาบในสงครามรัสเซีย-ญี่ปุ่น และได้รับสมญานามว่า เนลสันแห่งโลกตะวันออกได้กล่าวสดุดีนายพลเรืออีว่า

มันอาจจะเหมาะสมถ้าจะเปรียบผมกับลอร์ดเนลสัน แต่ไม่ใช่อีซุนซินแห่งเกาหลี เพราะไม่มีใครเทียบเขาได้

โตโก

สรุปแล้วอีซุนซินมีประวัติการทำสงครามทางเรือ 23 ครั้ง เขาไม่เคยพ่ายแพ้เลยสักครั้งเดียวจนกระทั่งสิ้นชีวิตในการรบครั้งสุดท้ายที่ Noryang ซึ่งกองทัพของเขาได้รับชัยชนะ ความสามารถ ความรักชาติ ความกล้าหาญ และ คุณธรรมของเขาจึงได้รับการเชิดชูตราบนานเท่านาน

บทความการศึกษา

Victory Tale ไม่อนุญาตให้คัดลอกบทความไปโพสที่ใดทุกกรณี การฝ่าฝืนมีโทษทางกฎหมาย

error: Content is protected !!