การศึกษา"แชร์ลูกโซ่" คืออะไร? เราจะสังเกตอย่างไรว่าการลงทุนนี้ไม่ปลอดภัย?

“แชร์ลูกโซ่” คืออะไร? เราจะสังเกตอย่างไรว่าการลงทุนนี้ไม่ปลอดภัย?

แชร์ลูกโซ่ (Ponzi Scheme) เป็นหนึ่งในวิธีการหลอกลวงต้มตุ๋นรูปแบบหนึ่งที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่คนจำนวนมากมานานนับร้อยปีแล้ว แม้กระทั่งประเทศไทยเองก็มีกรณีแชร์ลูกโซ่มาหลายกรณี อาทิเช่น กรณีแชร์แม่ชม้อยที่ฉาวโฉ่ไปทั่วประเทศเมื่อหลายสิบปีก่อน

เรามาดูกันครับว่าแชร์ลูกโซ่คืออะไร มีความเป็นมาอย่างไร และจะสังเกตอย่างไรว่าการลงทุนนี้เป็นแชร์ลูกโซ่

Charles Ponzi เจ้าพ่อแชร์ลูกโซ่

แชร์ลูกโซ่คืออะไร

จริงๆ แล้วแชร์ลูกโซ่ไม่ได้เป็นสิ่งที่ซับซ้อนเลย ทุกแชร์มี concept เดียวกันดังต่อไปนี้

ขั้นแรก: หลอกล่อให้บุคคลทั่วไปลงเงินในแชร์ โดยสัญญาว่าจะให้ผลตอบแทนสูงมากๆ โดยไม่มีความเสี่ยง วิธีการลงทุนส่วนมากจะพูดให้มันซับซ้อนมากๆ เข้าไว้ ทำให้ชาวบ้านและบุคคลทั่วไปที่มีความรู้ทางการเงินต่ำไม่เข้าใจ สุดท้ายจึงหลงเชื่อและนำเงินมาลงทุน

ขั้นที่สอง: จ่ายผลตอบแทนจริงให้กับผู้มาลงทุนกลุ่มแรก ด้วยเงินของนักลงทุนของกลุ่มต่อมา เช่น

นาย A เข้ามาลงทุนในแชร์ในเดือนกุมภาพันธ์ ส่วนนาย B เข้ามาลงทุนในแชร์เดือนเมษายน เจ้าของแชร์จะนำเงินของนาย B มาจ่ายเป็นผลตอบแทนให้กับนาย A

หลังจากนั้นก็ทำแบบนี้ไปเรื่อยๆ เหมือนลูกโซ่ มันก็เลยเรียกว่าแชร์ลูกโซ่

สำหรับนาย A แล้ว เมื่อเห็นว่าได้ผลตอบแทนจริง เขาเลยโลภและไม่ถอนเงินจากแชร์ และอาจจะนำเงินมาลงทุนเพิ่มด้วยซ้ำ ทำให้ขนาดแชร์ใหญ่มากขึ้นตามลำดับ

ชั้นที่สาม: เมื่อแชร์มีขนาดใหญ่มากแล้ว เจ้าของแชร์จะเชิดเงินทั้งหมดและหนีไป ทำให้มีผู้เสียหายจำนวนมาก

วิธีนี้ถูกใช้โดย Charles Ponzi ชาวอิตาเลียนที่อาศัยในประเทศสหรัฐอเมริกาในปี ค.ศ.1920 อย่างไรก็ตามชายผู้นี้ไม่ใช่คนแรกที่คิดวิธีการแบบนี้ขึ้นมา มีคนอื่นเคยใช้วิธีแบบนี้ตั้งแต่สมัยศตวรรษที่ 19 แต่ไม่มีใครโด่งดังเท่าเขา ทำให้นามสกุลของเขาอยู่คู่กับ “แชร์ลูกโซ่” (Ponzi Scheme) ไปตลอดกาล

ข้อสังเกตที่สำคัญ

ข้อที่ 1

แชร์ลูกโซ่จะอ้างว่าให้ผลตอบแทนจำนวนมากโดยปราศจากความเสี่ยง

ข้อนี้เป็นข้อสำคัญที่สุดอันดับหนึ่ง พึงสังวรไว้ว่ามันเป็นไปไม่ได้ที่จะลงทุนแล้วได้ผลตอบแทนจำนวนมากในเวลาอันสั้น และไม่มีความเสี่ยง ถ้าเจ้าของการลงทุนใดๆ พูดเช่นนี้ออกมา โปรดสงสัยไว้ก่อนเลยว่าเป็นแชร์ลูกโซ่อย่างแน่นอน

หลายท่านอาจจะสงสัยว่า ผลตอบแทนจำนวนมากนี่คือเท่าไร ขอให้ลองพิจารณาจากสิ่งเหล่านี้ดู ผลตอบแทนด้านล่างคือผลตอบแทนรายปีโดยเฉลี่ยในช่วงเวลา 10 ปี

  • หุ้น (อ้างอิงจากดัชนี SET Index): 10%-15% ต่อปี
  • พันธบัตรรัฐบาล: 2%-4% ต่อปี

ทั้งนี้หุ้นเป็นหลักทรัพย์ที่มีความเสี่ยงสูงกว่าพันธบัตรรัฐบาล ทำให้ได้ผลตอบแทนสูงกว่าอย่างมีนัยสำคัญ แต่หุ้นมีขึ้นมีลง การได้ผลตอบแทนดีเยี่ยมทุกปีจึงเป็นไปไม่ได้

ดังนั้นถ้ามีผู้มาอ้างว่าการลงทุนนี้ให้ผลตอบแทนสูงกว่ามากๆ เช่นเดือนละ 20% โดยที่มีความเสี่ยงต่ำหรือไม่มีเลย โปรดตระหนักไว้เลยว่าการลงทุนดังกล่าวเป็นแชร์ลูกโซ่ เพราะถ้าเจ้าของแชร์สามารถทำกำไรได้มากเช่นนั้นจริง ทำไมเขาไม่ไปกู้ธนาคารที่ดอกเบี้ย 5%-10% ต่อปีแล้วไปลงทุนเอง จะมาเอาเงินของคนอื่นและมาจ่าย 20% ต่อเดือนทำไม??

ข้อที่ 2

แชร์ลูกโซ่จะเป็นการลงทุนแปลกๆ ซับซ้อน และไม่ได้รับการรับรองจากหน่วยงานรัฐ

โดยทั่วไปแล้ว เจ้าของแชร์ลูกโซ่พยายามจะใช้การลงทุนแปลกๆ ดูซับซ้อนมาโฆษณาให้กับบุคคลทั่วไป เพื่อที่คนส่วนใหญ่จะไม่ทราบว่ามันคืออะไร และหลงไปกับลมปากของเจ้าของแชร์ การลงทุนเหล่านี้มักจะไม่ได้รับรองโดย กลต (สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์)

ดังนั้นวิธีการป้องกันตัวเราที่สำคัญคือ อย่าได้ลงทุนในสิ่งที่เราไม่เข้าใจอย่างแท้จริงว่าคืออะไร โดยเฉพาะการลงทุนที่น่าสงสัยอย่างในลักษณะที่ว่าไว้ในข้อที่ 1

อย่างไรก็ตามแชร์ลูกโซ่บางแชร์มักจะอ้างว่าลงทุนในสินทรัพย์ที่ได้รับการรับรองอย่างเช่น หุ้น เป็นต้น วิธีการตรวจสอบที่สำคัญอย่างนึงคือ ขอให้เจ้าของการลงทุนแสดงใบรับรองที่ได้รับการหน่วยงานของรัฐ ซึ่งถ้าเป็นแชร์ลูกโซ่ คนเหล่านี้จะแสดงใบรับรองไม่ได้ เพราะว่าไม่มีใบรับรอง อีกวิธีหนึ่งที่ใช้ตรวจสอบได้คือ โทรไปยังสำนักงานกลตโดยตรง เพื่อถามว่าบริษัทนี้รับเงินลงทุนอย่างถูกต้องตามกฎหมายหรือไม่

ข้อที่ 3

นักลงทุนจะถอนการลงทุนและผลตอบแทนจากแชร์ลูกโซ่ยากมาก

แชร์ลูกโซ่มักจะให้นักลงทุนถอนการลงทุนได้ยากมาก และตั้งแง่ต่างๆ นาๆ เพื่อไม่ให้นักลงทุนถอนเงินได้ง่าย เพราะเจ้าของแชร์รู้ดีว่า ถ้านักลงทุนถอนเงินออกไปพร้อมๆ กัน เขาจะไม่มีเงินมาจ่ายให้เพราะหมุนเงินไม่ทัน

ดังนั้นถ้าคุณเผลอไปลงทุนในสิ่งเหล่านี้ และพบว่ามันถอนเงินออกยากมากๆ สงสัยไว้ก่อนเลยว่าสิ่งที่เราลงทุนอยู่น่าจะเป็นแชร์ลูกโซ่ เพราะการลงทุนแบบถูกกฎหมายทั้งในประเทศและต่างประเทศจะถอนเงินได้ง่ายและรวดเร็วมาก

สื่งที่สำคัญอีกอย่างหนึ่งคือ แม้จะถอนเงินออกมาได้จริง นั่นไม่ได้หมายความว่าการลงทุนดังกล่าวจะปลอดภัย เพราะอย่างที่ผู้เขียนได้อธิบายไปแล้ว เจ้าของแชร์จะนำเงินของนักลงทุนคนหลังๆ มาจ่ายให้เรา จนกระทั่งแชร์ใหญ่แล้วถึงจะเชิดเงินหนีไป การที่เขาจ่ายเงินให้เราเป็นความพยายามของเจ้าของแชร์ที่จะล่อให้เราลงทุนเพิ่มเติมต่างหาก

ข้อที่ 4

แชร์ลูกโซ่มักจะให้คนในเครือข่ายอย่างเพื่อน หรือ ญาติ มาโน้มน้าวเรา

เจ้าของแชร์รู้ดีว่าคำพูดของเพื่อนหรือญาติมีอิทธิพลมาก ดังนั้นเขามักจะจูงใจคนในเครือข่ายแชร์ใช้วิธีคล้ายกับการ “ขายตรง” ไปโน้มน้าวคนอื่นๆให้มาลงทุนในแชร์ลูกโซ่ของเขา บางแชร์จะให้ผลตอบแทนพิเศษให้กับบุคคลเหล่านี้เพื่อหาลูกค้ารายใหม่ให้ ด้วยความโลภคนในเครือข่ายจึงไม่ปฏิเสธที่จะแนะนำแชร์นี้ให้กับเพื่อนและญาติ

ดังนั้นถ้าได้รับการชักชวนจากเพื่อนหรือญาติ โดยเฉพาะถ้าได้รับเชิญให้ไปนั่งฟังโน่นนี่ และมีรูปแบบการลงทุนคล้ายกับในข้อ 1 โปรดปฏิเสธไปทันที และตั้งข้อสงสัยไว้เลยว่าเป็นแชร์ลูกโซ่อย่างแน่นอน

ข้อที่ 5

แชร์ลูกโซ่มักจะโฆษณาว่าปัญญาชนอย่างเช่นแพทย์ หรืออาจารย์มหาวิทยาลัยร่วมลงทุนในแชร์นี้ด้วย เพื่อสร้างความน่าเชื่อถือ

เจ้าของแชร์โปรดปรานอย่างยิ่งในการสร้างความน่าเชื่อถือของตัวเองด้วยวิธีการต่างๆ กัน เช่นเว็บไซต์ของบริษัทแชร์จะดูสวยงาม และดู professional อย่างมาก จนทำให้เราเคลิ้มไปตามๆ กัน หรือแม้กระทั่ง เขามักจะอ้างว่ามีบุคคลที่เชื่อถือได้ มีการศึกษาและหน้าที่การงานดีมาร่วมลงทุนด้วยอย่างแพทย์หรืออาจารย์มหาวิทยาลัย ทำให้บุคคลทั่วไปสบายใจว่าการลงทุนนี้ไม่น่าจะเป็นการหลอกลวงต้มตุ๋น

อย่าได้หลงเชื่อโดยเด็ดขาด!

จากที่ผู้เขียนเคยเห็นมา เพื่อนของผู้เขียนเรียนอยู่ในคณะแพทยศาสตร์แห่งหนึ่ง และนำรูปแบบการลงทุนแบบหนึ่งมาให้ผู้เขียนดู เพื่อนคนนี้เล่าว่าเพื่อนของเขาที่เป็นแพทย์เหมือนกันแนะนำว่าดี ทำให้เพื่อนแพทย์หลายคนสนใจมาก แต่เมื่อผู้เขียนทราบข้อมูลแล้วพบว่ามีลักษณะเหมือนกับข้อที่ 1 ผู้เขียนจึงเตือนไปว่าเป็นแชร์ลูกโซ่อย่างแน่นอน ทำให้เพื่อนของผู้เขียนรอดตัวไปได้ ส่วนแชร์ดังกล่าวมีข่าวว่าถูกตำรวจจับในเวลาต่อมา

ส่งท้าย

ปัจจุบันแชร์ลูกโซ่ยังมีอยู่ทั้งในประเทศพัฒนาแล้ว และประเทศกำลังพัฒนาอย่างประเทศไทย นักลงทุนจึงไม่ควรปล่อยให้ความโลภครอบงำ จนหลงลืมข้อควรระวังครับ

Sources: (อ่านเพิ่มเติมได้ที่)

บทความการศึกษา

Victory Tale ไม่อนุญาตให้คัดลอกบทความไปโพสที่ใดทุกกรณี การฝ่าฝืนมีโทษทางกฎหมาย

error: Content is protected !!