ธุรกิจกองทุน Hedge Fund คืออะไร และมีประเภทไหนบ้าง?

กองทุน Hedge Fund คืออะไร และมีประเภทไหนบ้าง?

ถ้ากล่าวถึง Hedge Fund แล้ว ผมเชื่อว่าน้อยคนคงจะรู้จักแม้กระทั่งในประเทศสหรัฐอเมริกาที่มี Hedge Fund นับร้อยนับพันก็ตาม อย่างไรก็ดีสำหรับคนไทยที่ติดตามข่าวเศรษฐกิจมาบ้าง น่าจะเคยคุ้นหูบ้างไม่น้อย และอาจจะจำได้ว่า Hedge Fund เกี่ยวข้องกับจอร์จ โซรอส (George Soros) ผู้มีบทบาทสำคัญในวิกฤตเศรษฐกิจปี พ.ศ.2540

ในโพสนี้ผมจะมาอธิบายคร่าวๆ ให้ทุกคนทราบครับว่า Hedge Fund คืออะไรกันแน่

George Soros คือสัญลักษณ์ของ Hedge Fund By Harald Dettenborn, CC BY 3.0 de,

Hedge Fund คืออะไร?

Hedge Fund เป็นกองทุนพิเศษในต่างประเทศที่มีกลยุทธ์การลงทุนซับซ้อนมากกว่ากองทุนรวมแบบทั่วไป ซึ่งจะรวมเทคนิคต่างๆ ที่นักลงทุนทั่วไปไม่สามารถเข้าถึงได้โดยง่าย อาทิเช่น Short selling, การใช้อนุพันธ์ (derivatives) และการใช้ leverage

บาง Hedge Fund อาจจะไม่มีข้อจำกัดทางด้านกลยุทธ์ ผู้จัดการกองทุนอาจจะลงทุนในสินทรัพย์ทางการเงินอะไรก็ได้ตามที่ใจปรารถนา ตั้งแต่หุ้น สินค้าโภคภัณฑ์ อนุพันธ์ ค่าเงิน และสินทรัพย์ทางการเงินอื่นๆ ที่ซับซ้อนมากๆ

แต่ Hedge Fund ก็ยังคงเหมือนกับกองทุนทั่วไป นั่นคือรับเงินจากนักลงทุนมาอีกต่อหนึ่ง แล้วนำมาลงทุน แต่เพราะกลยุทธ์ที่ซับซ้อน ทำให้ความเสี่ยงของการลงทุนใน Hedge Fund จัดว่าสูงถึงสูงมาก รัฐบาลทั่วโลกจึงไม่เปิดการลงทุนใน Hedge Fund ให้กับนักลงทุนรายย่อย แต่จะเปิดให้กับนักลงทุนสถาบันใหญ่ๆ หรือนักธุรกิจที่มีสินทรัพย์จำนวนมากเท่านั้น

เรามาดูกันดีกว่าโครงสร้างของ Hedge Fund เป็นอย่างไร

โครงสร้างของ Hedge Fund

ย้อนกลับไปในช่วงปี ค.ศ.1950 จุดเริ่มต้นของ Hedge Fund เริ่มต้นจากผู้จัดการกองทุนชื่อ Alfred Winslow Jones เขาได้กองทุนเล็กๆ ขึ้นมาแห่งหนึ่งเป็นของตนเอง และเริ่มกลยุทธ์การลงทุนแบบที่ไม่เคยมีใครทำมาก่อน

กลยุทธ์ที่ว่าคือ Jones จะใช้ Leverage (เงินกู้จากโบรกเกอร์) มาซื้อหุ้นกลุ่มที่เขาเลือกไว้ และใช้เงินอีกส่วนหนึ่ง Short Selling (ขายชอร์ต) หุ้นอีกกลุ่มหนึ่ง ทั้งสองกลุ่มจะใช้จำนวนเงินเท่ากันทุกประการ

ผลที่ได้คือพอร์ตการลงทุนของ Jones จะไม่ขึ้นกับการเคลื่อนไหวของตลาด เพราะเขาได้ซื้อหุ้นและขายชาร์ตหุ้นในมูลค่าที่เท่ากัน กำไรและขาดทุนของพอร์ตจะขึ้นอยู่กับว่าหุ้นที่เขาซื้อสามารถ perform ได้ดีกว่าหุ้นที่เขา short รึเปล่าเท่านั้นเอง

ยกตัวอย่างเช่น

Jones ซื้อหุ้น A เป็นจำนวน $10,000 และขายชอร์ตหุ้น B เป็นจำนวน $10,000

ต่อมาตลาดลงอย่างหนัก ทำให้หุ้น A ดิ่ง 20% และหุ้น B ดิ่ง 40%

สิ่งที่เกิดขึ้นคือ

  • Jones ขาดทุนหุ้น A ไป -20%*10,000 = -$2,000
  • หุ้น B เหลือมูลค่าแค่ 0.6*10,000 = $6,000 ดังนั้น Jones ได้กำไร $10,000-$6,000 = $4,000

ถ้ารวมทั้งหมดแล้ว แปลว่า Jones ได้กำไร 4,000-2,000 = $2,000 ทั้งๆ ที่ตลาดลงอย่างหนัก

สาเหตุที่เป็นเช่นนี้เพราะ หุ้น A perform ดีกว่าหุ้น B หรือในกรณีนี้คือลงน้อยกว่าหุ้น B นั่นเองครับ

การใช้กลยุทธ์นี้ของ Jones ประสบความสำเร็จมาก และทำเงินให้กับนักลงทุนมหาศาล ซึ่ง Jones ได้ขนานนามกองทุนของเขาว่า Hedged Fund เพราะเขาได้ “Hedged” ความเสี่ยงของตลาด (Systematic risk) ในการลงทุนของเขา ต่อมาตัว d ด้านล่าง Hedged ได้หายไป ทำให้กลายเป็น “Hedge Fund” อย่างที่เห็นอยู่ในปัจจุบัน

ต่อมา Jones เปลี่ยนรูปแบบกองทุนของเขาเป็นแบบใหม่ กล่าวคือเขาเริ่มเรียกเก็บ “performance fee” จากนักลงทุนด้วย โดยเขาอ้างตัวอย่างจากกัปตันเรือชาวฟินิเซียนโบราณที่จะเก็บกำไร 20% ของพ่อค้าในกรณีที่การเดินเรือราบรื่น

นั่นแปลว่าถ้ากองทุนทำผลงานได้ดี หรือทำกำไรให้กับนักลงทุน Jones จะขอส่วนแบ่งจากกำไรดังกล่าวด้วยจำนวน 20% เพิ่มเติมจากค่าบริหารกองทุน (management fee) ที่เรียกเก็บทุกปีอยู่แล้ว

ยกตัวอย่างเช่น

นักลงทุน A ฝากเงินจำนวน $100 ให้ Jones ไปบริหาร ปรากฏว่าเมื่อครบปีแล้ว Jones ทำผลตอบแทนได้กับนักลงทุนได้ 30%

นั่นแปลว่ามูลค่าพอร์ตของนักลงทุนก่อนค่าบริการกลายเป็น $100*1.3 = $130 ซึ่งแปลว่านักลงทุนได้กำไร $30

ด้วยความที่พอร์ตทำกำไรได้ ค่าบริการที่นักลงทุนต้องจ่ายให้ Jones มีสองส่วนนั่นคือ

  • Management Fee = 2%*เงินลงทุน = 2%*100 = $2
  • Performance Fee = 20%*กำไร = 20%*30 = $6

ดังนั้นค่าบริการทั้งหมดจะอยู่ที่ $8 ถ้านักลงทุนตัดสินใจถอนเงินทั้งหมดทันที เขาจะได้เงินกลับไป = 130-8 = $122

แต่ถ้าเป็นปีที่ขาดทุน นั่นแปลว่า Hedge Fund จะไม่ได้ Performance Fee โดยจะได้แค่ Management Fee เท่านั้น ผู้จัดการกองทุน (Hedge Fund Manager) บางคนอาจจะใจสปอร์ตมาก นั่นคือไม่คิดค่าบริหารกองทุนเลยก็เป็นได้

โครงสร้างที่ Jones คิดไว้ยังใช้มาจนถึงปัจจุบัน แต่ว่าแต่ละ Hedge Fund จะคิดค่าบริการไม่เท่ากัน บางกองทุนจะคิดสูงมาก ส่วนบางกองจะคิดต่ำมากก็ได้ นอกจากนี้บางกองทุนอาจจะมีกฎเพิ่มเติมว่า ถ้าคิดรวมหลายปีแล้ว นักลงทุนยังขาดทุนอยู่ ทาง Hedge Fund อาจจะไม่รับ performance fee จนกว่านักลงทุนคนดังกล่าวจะได้กำไรแล้วครับ

อีกสิ่งหนึ่งที่ Jones ได้สร้างขึ้นกับวงการคือ เขาเปลี่ยนกองทุนของเขาเป็น Fund of Funds หมายความว่าให้กองทุนอื่นๆ นำเงินมาลงทุนกับกองทุน Hedge Fund ของเขาอีกทีหนึ่ง และไม่รับเงินลงทุนจากนักลงทุนรายย่อย ยกเว้นแต่ว่าจะเป็นนักลงทุนรายใหญ่ (High net-worth investor) ครับ โครงสร้างนี้ก็ยังคงสืบทอดมาถึงทุกวันนี้เช่นกัน

อย่างไรก็ดีเนื่องจาก Hedge Fund ส่วนใหญ่เป็นกองทุนที่มีขนาดเล็กกว่ากองทุนรวมทั่วไปมาก สภาพคล่องจึงต่ำ แถมในการลงทุนยังใช้เงินกู้ (leverage) อีก การไถ่ถอนเงินไม่สามารถจะทำได้ทันที ทำให้ผู้จัดการกองทุนหรือ Hedge Fund Manager จะกำหนดให้มีช่วงไถ่ถอนเป็นบางช่วงของปีเท่านั้ ช่วงเวลาที่ไม่สามารถไถ่ถอนเงินใดๆ เลยเรียกว่า “lock-up period” ครับ

ด้วยความที่ Hedge Fund มีขนาดเล็ก ดังนั้นเจ้าของกองทุนและผู้จัดการกองทุน (Hedge Fund Manager) จึงเป็นคนเดียวกันครับ

ประเภทของ Hedge Fund

เมื่อเวลาผ่านไป ได้มีนักลงทุนหน้าใหม่เข้ามาเปิดกองทุนที่มีโครงสร้างแบบเดียวกับ Jones มากขึ้นและได้ใช้กลยุทธ์ที่ต่างกันออกไป ความหลากหลายของ Hedge Fund จึงถือกำเนิดขึ้นนับตั้งแต่บัดนั้น กลยุทธ์การลงทุนนี้เองคือสิ่งที่แบ่งประเภทของ Hedge Fund ครับ

จริงๆ แล้วประเภทของ Hedge Fund มีความหลากหลายมาก ผมขอนำมาให้ดูเพียงส่วนหนึ่งเท่านั้นครับ

Equity Long/ Equity Short Only

Equity Long Only หรือ Equity Short Only เป็น Hedge Fund สองแบบที่ลงทุนในหุ้น โดยแบบ Long only จะซื้อหุ้นและถือไว้ทำกำไรเมื่อหุ้นขึ้นตามปกติ ส่วนแบบ Short only ก็จะตรงกันข้าม นั่นคือหาหุ้นมา short เพื่อเก็บกำไรตอนที่หุ้นลงครับ

Hedge Fund แบบนี้ถือว่าเป็นแบบเรียบง่าย และวัดที่ความสามารถการเลือกหุ้นของผู้จัดการกองทุน (Hedge Fund Manager) เป็นหลัก

Long/Short Equity

Long/Short Equity เป็น Hedge Fund ที่ใช้กลยุทธ์แบบเดียวกับ Jones นั่นคือเปิดสถานะ Long และ Short ในหุ้น แต่ไม่จำเป็นต้องจำนวนเท่ากันเหมือนกับของ Jones กองทุนเหล่านี้อาจจะเปิดสถานะ Short มากกว่าสถานะ long ก็ได้ ถ้าผู้จัดการกองทุนเห็นว่าหุ้นจะลงครับ

Market Neutral

Market Neutral เป็น Hedge Fund ที่คล้ายกับ long/short equity กองทุนนี้จะเปิดสถานะในสินทรัพย์การเงินใดๆ ก็ได้ ไม่ว่าจะเป็นหุ้น หุ้นกู้ (bond) หรือสินทรัพย์อื่นๆ แต่จะเปิดทั้งสองฝั่ง long และ short ในจำนวนที่เท่ากัน ทำให้ความเสี่ยงที่เกี่ยวเนื่องกับปัจจัยตลาดเป็น 0

นี่เป็นสาเหตุที่ Hedge Fund แบบนี้เรียกว่า Market Neutral นั่นเองครับ

Convertible Arbitrage

Convertible Arbitrage เป็น Hedge Fund ที่คล้ายกับ long/short equity แต่ซับซ้อนกว่า กล่าวคือกองทุนจะซื้อหุ้นกู้แปลงสภาพ (Convertible bond) หรือหุ้นกู้ที่สามารถแปลงกายเป็นหุ้นทั่วไปได้ และขายชอร์ตหุ้นทั่วไปของบริษัท

กำไรของ hedge fund ประเภทนี้มาจากการที่ตลาดให้ค่าหุ้นกู้แปลงสภาพต่างกับหุ้นทั่วไปมาก ซึ่งมักจะเกิดในช่วงที่บริษัทมีปัญหาทางการเงิน และมีความไม่มั่นคง มูลค่าของหุ้นกู้แปลงสภาพอาจจะลดลงน้อยกว่าการลงของหุ้นทั่วไป ทำให้กำไรจากการ ขายชอร์ตหุ้นทั่วไปสูงกว่าการขาดทุนจากการถือหุ้นกู้แปลงสภาพครับ

Distressed Securities

Distressed Securities เป็น Hedge Fund ที่ใช้กลยุทธ์การลงทุนในสินทรัพย์ด้อยคุณภาพ นั่นคือพวกเขาจะเข้าไปซื้อหุ้นกู้หรือหุ้นกู้แปลงสภาพของบริษัทที่กำลังล้มละลายหรือล้มละลายไปแล้ว และรอฟื้นฟูกิจการ

กองทุนเหล่านี้จะเข้าไปซื้อสินทรัพย์เหล่านี้ราคาที่ถูกมากๆ เช่นซื้อหุ้นกู้ที่มีมูลค่า $100 ในราคา $1 แล้วเข้ากระบวนการประนอมหนี้กับบริษัทเจ้าของสินทรัพย์ ถ้าการประนอมหนี้และฟื้นฟูกิจการได้ผลดี กองทุนก็มีโอกาสที่จะได้กำไรมหาศาลนับสิบนับร้อยเท่าครับ (สมมติว่าซื้อหุ้นกู้มา $1 แล้วขายได้ $5 ก็ได้กำไรมากโขแล้วครับ และยังไม่นับดอกเบี้ยที่จะได้อีก)

Event-Driven

Event-Driven เป็น Hedge Fund ที่เก็งกำไรกับ event สำคัญๆ ที่จะเกิดกับบริษัทต่างๆ เช่นการควบรวมกิจการ การเข้าซื้อกิจการ หรือแม้กระทั่งการคาดเดาว่างบการเงินไตรมาสนี้จะออกมาไม่ดี กองทุนเหล่านี้จะเข้าไปซื้อหรือขายชอร์ตหุ้นก่อนที่จะมีการประกาศข่าวออกมา และทำกำไรจากราคาที่เปลี่ยนแปลงครับ

บางกองทุนอาจจะมองว่าการควบรวมกิจการว่าเป็นคุณกับบริษัทหนึ่ง และเป็นผลลบกับอีกบริษัทหนึ่ง ดังนั้นกองทุนจึงจะเข้าไปซื้อหุ้นของบริษัทที่คิดว่าน่าจะได้ผลบวก และขายชอร์ตหุ้นหรือซื้อ put option ของหุ้นที่จะได้ผลลบ หรือบางทีอาจจะประเมินแค่ว่าดีลการควบรวมกิจการไม่น่าจะรอด และเข้าขายชอร์ตหุ้นที่เพิ่งขึ้นมารับข่าวดีก็ได้ครับ

กองทุนแบบนี้เรียกว่า Merger Arbitrage ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของ Hedge Fund แบบ Event-Driven เช่นกัน

Global Macro

Global Macro เป็น Hedge Fund ที่เข้าไปซื้อขายสินทรัพย์ทางการเงินของประเทศต่างๆ ทั้งโลก โดยมีจุดประสงค์เพื่อทำกำไรจากนโยบายทางการคลังและการเงินของประเทศต่างๆ การเก็งกำไรค่าเงินบาทของ George Soros เป็นตัวอย่างหนึ่งที่กองทุนลักษณะนี้ใช้ทำกำไรครับ

กองทุนเหล่านี้จะไปทุกทีที่มีโอกาสซ่อนอยู่ โดยไม่มีจำกัดว่าเป็นที่ไหนในโลก อย่าง George Soros เองก็ทำกำไรจากช่องโหว่ของธนาคารกลางอังกฤษ ไทย และอินโดนีเซียตามลำดับครับ

บทความการศึกษา

Victory Tale ไม่อนุญาตให้คัดลอกบทความไปโพสที่ใดทุกกรณี การฝ่าฝืนมีโทษทางกฎหมาย

error: Content is protected !!