ถ้าเอ่ยถึงหญิงสาวธรรมดาคนหนึ่งที่มีชีวิตอันน่าเหลือเชื่อแล้วนั้น ผมมองว่าเหวินซิ่วน่าจะเป็นหนึ่งในนั้น เธอคือสนมของผู่อี๋ (ปูยี) จักรพรรดิพระองค์สุดท้ายของจีน แม้ว่าตอนที่เธอเข้ามาดำรงตำแหน่งนั้น สามีของเธอจะพ้นจากตำแหน่งไปแล้วก็ตาม แต่ชีวิตของเธอยังเต็มไปด้วยรสชาติ ไม่ต่างจากหว่านหรง ภรรยาเอกของผู่อี๋เลยแม้แต่น้อย
เรามาดูกันดีกว่าครับชีวิตของเหวินซิ่วเป็นอย่างไร
แต่งงานกับผู่อี๋
เหวินซิ่วนั้นไม่ใช่ชาวจีนฮั่นโดยกำเนิด เธอเป็นชาวมองโกลเผ่าเอ๋อเอ่อเต๋อเท่อร์ (Erdet) ซึ่งสังกัดกองธงเหลือง หนึ่งในกองทหารแปดธงของราชวงศ์ชิง ดังนั้นสถานะของเธอจึงอยู่เป็นชนชั้นสูงคนหนึ่ง อย่างไรก็ดีบิดาของเหวินซิ่วล่วงลับไปก่อนที่เหวินซิ่วจะเกิด ดังนั้นเธอจึงกำพร้าพ่อตั้งแต่เด็ก
ในช่วงเด็ก เหวินซิ่วได้รับการศึกษาอย่างดี และเป็นเด็กเรียนเก่งอีกด้วย ทำให้เธอได้รับการคาดหวังว่าจะให้แต่งงานกับอดีตจักรพรรดิผู่อี๋ที่เริ่มจะเติบโตขึ้นเป็นหนุ่ม
ช่วงปี ค.ศ.1921 เหล่าเชื้อพระวงศ์ได้เริ่มสรรหาคู่ครองให้กับผู่อี๋ แม้ว่าในตอนนั้นผู่อี๋จะพ้นจากบัลลังก์ไปแล้ว และราชวงศ์ก็จบสิ้นไปแล้ว แต่รัฐบาลสาธารณรัฐจีนยังอนุญาตให้อดีตจักรพรรดิและเชื้อพระวงศ์พำนักอาศัยในพระราชวังต้องห้ามได้เช่นเดิม ดังนั้นการสรรหาคู่ที่เหมาะสมจึงยังมีเหมือนกับสมัยที่ราชวงศ์ยังมีอำนาจอยู่
อย่างไรก็ดีการสรรหาคู่นั้นไม่ได้ทำอย่างเอิกเกริกอย่างเช่นการให้สตรีเดินมาให้ฮ่องเต้เลือกสรรเหมือนกับครั้งกาลก่อน แต่เหล่าเชื้อพระวงศ์ได้แต่มอบรูปถ่ายของสตรีที่เหมาะสมแล้วให้ผู่อี๋ได้เลือกว่าจะให้ใครเป็นภรรยาเอก
ในบันทึกของผู่อี๋ได้ระบุไว้ว่า รูปแต่ละรูปนั้นแทบจะแยกไม่ออกเลยว่าใครเป็นใคร (ไม่น่าแปลกใจเพราะคุณภาพรูปถ่ายในสมัยนั้นยังไม่ดีนัก) แต่สุดท้ายตนเองได้เลือกเหวินซิ่ว ซึ่งเวลานั้นเธออายุได้เพียง 12 ปีเท่านั้น แต่ตัวผู่อี๋เองก็อายุเพียง 15 ปี เรียกได้ว่าไม่ต่างกันมากนัก นั่นคือยังไม่บรรลุนิติภาวะด้วยกันทั้งคู่
แม้ว่าผู่อี๋จะเลือกเหวินซิ่วด้วยตนเอง แต่เธอกลับไม่ได้เป็นภรรยาเอก เพราะเหล่าเชื้อพระวงศ์ระดับสูงอย่างเหวินจิ้งหวงกุ้ยเฟย สนมของจักรพรรดิกวงซี่ว์ไม่เห็นด้วย กล่าวคือ นางไม่ชอบเหวินซิ่ว เพราะเห็นว่าเธอหน้าตาสวยไม่พอ และชาติตระกูลด้อยกว่าหว่านหรง ซึ่งเป็นสตรีที่นางเห็นว่าเหมาะสมที่สุดที่จะครองคู่กับอดีตฮ่องเต้
ดังนั้นท้ายที่สุดแล้ว ผู่อี๋จึงต้องแต่งงานกับทั้งหว่านหรงและเหวินซิ่ว โดยหว่านหรงเป็นภรรยาเอก ส่วนเหวินซิ่วmอยู่ในตำแหน่งสนม งานแต่งงานของทั้งสามจัดในปี ค.ศ.1922 ซึ่งเหวินซิ่วอายุได้เพียง 13 ปีเท่านั้น
ชีวิตในรั้ววังต้องห้าม
ในคืนวันแต่งงานนั้น ชีวิตการแต่งงานของทั้งสามเหมือนว่าจะพังตั้งแต่วันแรก เพราะผู่อี๋ออกจากห้องและหลบไปนอนอีกห้องหนึ่ง ดังนั้นจึงไม่มีอะไรเกิดขึ้นภายในห้องแห่งนั้น ซึ่งผมมองว่าไม่น่าแปลกอะไร เพราะทั้งสามยังไม่มีใครบรรลุนิติภาวะด้วยซ้ำไป ตัวผู่อี๋เองก็ไม่คิดเรื่องจะแต่งงาน เขาเคยมีความฝันว่าจะสละสถานะที่มีอยู่แล้วหนีไปเรียนต่อที่อังกฤษ หรือไม่ก็ออกไปใช้ชีวิตอยู่ด้วยตนเอง
หลังจากนั้นผู่อี๋ก็ไม่ค่อยสนใจภรรยาทั้งสองเท่าไรนัก และมองทั้งสองว่าเป็นแค่เพื่อน หรือแม้กระทั่งสิ่งของ เพราะผู่อี๋มักจะเรียกภรรยาทั้งสองของเขาว่า “เครื่องมือ” หรือ “อุปกรณ์”
แม้ว่าผู่อี๋ไม่ค่อยสนใจภรรยาทั้งคู่ แต่หว่านหรงมักจะระแวงว่าผู่อี๋สนใจเหวินซิ่วมากกว่าตน นอกจากนี้เธอยังน่าจะรู้สึกตะหงิดใจไม่น้อย เพราะหว่านหรงได้รับการศึกษาแบบตะวันตก นางจึงน่าจะซีมซับค่านิยมการมีภรรยาคนเดียวของตะวันตกมาพอสมควร
ไม่นานความสัมพันธ์ระหว่างหว่านหรงกับเหวินซิ่วก็เริ่มเลวร้าย หว่านหรงมักจะส่งจดหมายมาเสียดสีหรือด่าทอเหวินซิ่วเป็นประจำ เหวินซิ่วได้เพียงแต่ตอบจดหมายอย่างสุภาพไปพร้อมๆ กับตอบโต้แบบแสบๆ คันๆ กลับไปเท่านั้น
เหวินซิ่วอาศัยอยู่ในพระราชวังต้องห้ามได้ประมาณสองปีเท่านั้น ในปี ค.ศ.1924 ผู่อี๋และเชื้อพระวงศ์ทั้งหมดถูกบังคับให้ออกจากวังโดยขุนศึกเฟิงยีว์เสียง ดังนั้นทั้งสามจึงต้องออกไปอยู่ที่อื่น จนสุดท้ายก็ได้ไปปักหลักอยู่ที่บ้านจิ้งหยวนที่เทียนจิน ซึ่งในเวลานั้นอยู่ในเขตอิทธิพลของญี่ปุ่น
ชีวิตที่เทียนจิน
ที่เทียนจินนั้นความสัมพันธ์ระหว่างทั้งสามคนก็ยังไม่ดีขึ้น เหวินซิ่วเล่าว่าเธอรู้สึกโดดเดี่ยวมาก เธออาศัยที่ชั้นล่างของบ้านพัก ส่วนผู่อี๋และหว่านหรงพักอยู่ที่ชั้นบน ทำให้เธอจะได้เจอกับสามีในช่วงรับประทานอาหารเท่านั้น
เมื่อเวลาผ่านไปผู่อี๋จึงสนิทสนมกับหว่านหรงมากกว่า และมักจะออกไปดูโอเปร่าและช้อปปิ้งด้วยกันอย่างสม่ำเสมอ เหวินซิ่วเคยบรรยายถึงชีวิตในช่วงนี้ไว้ว่า ผู่อี๋มักจะเชื่อหว่านหรงทุกอย่างที่เธอพูด ทำให้ความสัมพันธ์ระหว่างเขาและเธอย่ำแย่ลงตามไปด้วย บางครั้งเธอรู้สึกว่าผู่อี๋เป็นคนแปลกหน้าสำหรับเธอ
แต่เธอก็ไม่ใช่ว่าไม่ได้ทำอะไรเลย เหวินซิ่วก็เคยพยายามเรียกร้องความสนใจจากผู่อี๋เช่นกัน เมื่อผู่อี๋ซื้อของให้หว่านหรง เธอมักจะขอให้ผู่อี๋ซื้อของชิ้นเดียวกันให้กับเธอด้วย ดังนั้นในเรื่องการจับจ่ายซื้อของจึงเป็นการแข่งขันกันระหว่างหว่านหรงและเหวินซิ่วไปโดยปริยาย
บางครั้งทั้งเหวินซิ่วและหว่านหรงก็ทะเลาะกันโดยตรง มีอยู่ครั้งหนึ่งเธอต่อว่าเหวินซิ่วอย่างรุนแรง เพราะเหวินซิ่วบ้วนน้ำลายใส่เธอ สถานการณ์ในบ้านจึงทวีความร้อนแรงขึ้นกว่าสมัยที่ทั้งสามยังไม่บรรลุนิติภาวะไปอย่างมาก เพราะผู่อี๋เองก็เป็นคนมีอารมณ์แปรปรวนด้วยเช่นกัน
เรื่องดำเนินไปเช่นนี้ไปจนถึงปี ค.ศ.1931 ก็ถึงจุดแตกหัก ซึ่งถ้าว่ากันตามตรงแล้วทั้งสามมีสภาพทางจิตเวชที่ไม่ค่อยดีเท่าไรนักกล่าวคือ
- ผู่อี๋เป็นคนมีอารมณ์แปรปรวน
- หว่านหรงติดฝิ่นอย่างหนัก และมีอาการวิกลจริต
- เหวินซิ่วมีอาการของโรคซึมเศร้า และเกิดความคิดที่จะฆ่าตัวตาย
ทั้งสามจึงทะเลาะกันอย่างไม่เว้นแต่ละวัน แต่ส่วนมากจะเป็นผู่อี๋กับเหวินซิ่ว หรือผู่อี๋กับหว่านหรงเสียมากกว่า ยกตัวอย่างเช่นผู่อี๋เคยใช้ให้เหวินซิ่วไปตายเสีย (เพราะคิดว่าเหวินซิ่วที่กำลังด่าคนรับใช้มีเจตนาพาดพิงถึงตนเอง) ส่วนหว่านหรงก็เคยด่าผู่อี๋ว่าเป็น “ขันที”
เป็นเรื่องน่าแปลกเช่นกันที่ความสัมพันธ์ระหว่างหว่านหรงและเหวินซิ่วดูเหมือนจะดีขึ้นมาเล็กน้อย เมื่อหว่านหรงทราบข่าวว่าเหวินซิ่วพยายามใช้กรรไกรแทงตัวเอง เธอจึงเสนอให้ผู่อี๋เรียกเหวินซิ่วมารับประทานอาหารแบบพร้อมหน้ากันสามคน แต่ผู่อี๋ก็ปฏิเสธเสีย ส่วนเหวินซื่วเองก็เคยเตือนหว่านหรงแบบนัยๆ (ผ่านการประชดประชัน) ว่าอย่าสูบฝิ่น
สำหรับเหวินซิ่วนั้น เธอตัดสินใจแล้วว่าเธอจะไม่ทนกับชีวิตเช่นนี้อีกต่อไป แต่แทนที่จะฆ่าตัวตาย เธอจะออกไปใช้ชีวิตของตนเอง ดังนั้นในวันหนึ่งในปี ค.ศ.1931 เธอจึงตัดสินใจทำสิ่งที่ไม่มีใครคาดคิดมาก่อน
ฟ้องหย่าขาด
เหวินซิ่วมักจะออกไปข้างนอกบ้านพักกับน้องสาวของเธอ ซึ่งน้องสาวก็เข้าใจถึงสถานการณ์ที่เป็นอยู่เป็นอย่างดี เธอจึงสนับสนุนให้พี่สาวหย่าขาดจากผู่อี๋ เหวินซิ่วจึงฉวยโอกาสที่ขอผู่อี๋ออกไปข้างนอกบ้านกับน้องสาวไปพบกับทนายความที่โรงแรมแห่งหนึ่ง และทำเรื่องฟ้องหย่า
ข่าวนี้เป็นข่าวทั่วเมือง และได้รับกระแสต่อต้านอย่างมากจากเหล่าเชื้อพระวงศ์ แต่เหวินซิ่วกลับแสดงความต้องการที่แรงกล้าและความกล้าหาญอย่างไม่น่าเชื่อ ซึ่งผู่อี๋เองก็ต้องยอมรับ สุดท้ายแล้วเหวินซิ่วและผู่อี๋จึงหย่าขาดจากกันในปีเดียวกันนั้นเอง
สำหรับผู่อี๋นั้น เขาโทษทุกอย่างว่าเป็นความผิดของหว่านหรง และเธอมีส่วนสำคัญที่ทำให้เหวินซิ่วหย่าขาดจากตน แต่จริงๆ โดยเนื้อแท้แล้วไม่ต้องสงสัยเลยว่าเกือบทั้งหมดเป็นความผิดของผู่อี๋เองที่เย็นชาและไม่เคยเอาใจใส่เธอเลยแม้แต่น้อย
หลังจากที่หย่าขาดจากผู่อี๋แล้ว เขาได้ถอดถอนตำแหน่ง (ตามธรรมเนียม) ของเหวินซิ่วลงเป็นสามัญชน ซึ่งเรื่องสถานะเป็นสิ่งที่ไม่สำคัญต่อไปแล้วสำหรับเหวินซิ่ว เธอได้ชีวิตของเธอกลับคืนมาในวัย 22 ปี
ชีวิตบั้นปลาย
อย่างไรก็ดีการหย่าขาดจากเหวินซิ่วนั้นน่าจะทำให้ครอบครัวของเธอตัดขาดจากเธอไปโดยปริยาย เหวินซิ่วจึงต้องหาเลี้ยงตนเองด้วยการเป็นครูที่โรงเรียนแห่งหนึ่ง และไม่ได้ใช้ชีวิตอยู่ในความร่ำรวยอีกต่อไป แต่เธอเองก็ทำอาชีพครูอยู่ได้ไม่นานนัก เธอก็ถูกกดดันให้ลาออก เพราะนักข่าวมักจะมาขอสัมภาษณ์เธออยู่บ่อยครั้ง แถมยังถูกจ้องมองจากบุคคลทั่วไป
ต่อมาเธอจึงพร้อมทำทุกอย่างเพื่อให้ได้เงินมาใช้จ่าย ซึ่งรวมไปถึงเดินขายบุหรี่ตามตลาดด้วย แต่สุดท้ายเธอก็ได้เป็นเจ้าหน้าที่พิสูจน์อักษรของสำนักพิมพ์แห่งหนึ่ง
หลังจากหย่าขาดกับผู่อี๋ได้ 16 ปี ในปี ค.ศ.1947 เหวินซิ่วในวัย 38 ปีได้แต่งงานกับนายทหารชื่อหลิวเจินตง แม้ว่าการแต่งงานครั้งนี้จะมีความสุขสำหรับเธอ เหวินซิ่วได้ลาออกจากงานมาเป็นแม่บ้าน แต่ฐานะการเงินของทั้งสองกลับย่ำแย่ลง สามีของเธอประกอบธุรกิจเช่ารถซึ่งล้มละลายก่อนหน้าที่พรรคคอมมิวนิสต์จะขึ้นมามีอำนาจเหนือจีนได้ไม่นาน
ฐานะทั้งสองยิ่งอยู่ไปก็ยิ่งย่ำแย่ ทั้งสองต้องทำงานเป็นคนทำความสะอาด และอาศัยในห้องพักขนาดเล็กมาก แต่เหวินซิ่วน่าจะมีความสุขมากกว่าสมัยที่อยู่กับผู่อี๋ เพราะอย่างน้อยเธอก็อยู่เคียงข้างสามีที่รักเธอ
ในปี ค.ศ.1953 เหวินซิ่วล้มป่วยด้วยโรคหัวใจและเสียชีวิตที่บ้านพักโดยที่มีสามีอยู่ข้างกาย เธออายุได้เพียง 43 ปีเท่านั้น ร่างของเธอถูกนำไปฝังโดยสามีและเพื่อนพนักงานทำความสะอาดด้วยกัน จริงอยู่ว่าเธอไม่ได้อยู่อย่างหรูหราสุขสบายหลังจากหย่า แต่ถ้ามองสิ่งที่เกิดขึ้นกับหว่านหรงในเวลาต่อมา ในวันนั้นแห่งปี ค.ศ.1931 เธอน่าจะตัดสินใจได้อย่างถูกต้องแล้ว