ประวัติศาสตร์วังกอน ปฐมกษัตริย์แห่งโครยอผู้รวมเกาหลีเป็นหนึ่ง ตอนที่ 1

วังกอน ปฐมกษัตริย์แห่งโครยอผู้รวมเกาหลีเป็นหนึ่ง ตอนที่ 1

วังกอน (Wang Geon) เป็นปฐมกษัตริย์เกาหลีแห่งราชวงศ์โครยอ (Goryeo) เขาเป็นผู้ทำสิ่งที่ยากจะทำได้ในหน้าประวัติศาสตร์เกาหลีแม้กระทั่งในปัจจุบัน นั่นคือรวบรวมแผ่นดินเกาหลีทั้งเหนือและใต้ของคาบสมุทรให้เป็นหนึ่งเดียว

ชีวิตของวังกอนนั้นเปรียบเหมือนการก้าวขึ้นบันไดไปทีละขั้นจนกระทั่งขึ้นสู่ตำแหน่งที่สูงที่สุดในอาณาจักร และแน่นอนว่าน่าสนใจมาก ซีรีส์เกาหลีเองก็เคยนำเสนอชีวิตบางส่วนของวังกอนอยู่หลายเรื่องด้วยกัน อย่างเช่นเรื่อง Moon Lovers: Scarlet Heart Ryeo ที่นำเสนอเหตุการณ์หลังจากช่วงที่วังกอนเป็นกษัตริย์แล้วเป็นต้น

ชาติกำเนิดของวังกอน

วังกอนเกิดในตระกูลพ่อค้าที่มีฐานะร่ำรวย โดยบรรพบุรุษของวังกอนได้ค้าขายทางทะเลมาหลายชั่วอายุคน มีตำนานเล่าว่าปู่ของวังกอนเป็นโอรสของถังซู่จง ฮ่องเต้ราชวงศ์ถัง (ในช่วงกบฏอันลู่ซาน) ซึ่งในส่วนนี้ไม่น่าเป็นไปได้ เพราะไม่มีบันทึกในหน้าประวัติศาสตร์ใดๆ (ถ้าจะเป็นก็ต้องเป็นโอรสลับเท่านั้น)

หลักฐานทางประวัติศาสตร์ส่วนมากให้ข้อมูลว่าครอบครัวของวังกอนเป็นชนชั้นสูงของโกคูรยอที่หลบหนีลงใต้หลังจากที่ราชวงศ์ถังทำลายโกคูรยอในปี ค.ศ.668 ตำนานเล่าว่าเมื่อวังกอนเกิดนั้น เขามีแสงสีม่วงเรืองรองรอบกาย ซึ่งก็เหมือนกับตำนานวีรบุรุษคนอื่นๆ ที่เป็นไปไม่ได้นั่นเองครับ

วังกอนได้รับการศึกษาที่ดีตั้งแต่เด็กไม่ว่าจะเป็นเรื่องตำราพิชัยสงคราม วัฒนธรรม ประเพณี โหราศาสตร์ ฯลฯ ทำให้เขาเป็นปัญญาชนที่มีความรู้ดีผู้หนึ่ง

สถานการณ์ในคาบสมุทรเกาหลี

สถานการณ์ในคาบสมุทรเกาหลีนั้นอยู่ในช่วงวุ่นวาย เพราะประชาชนส่วนใหญ่ไม่พอใจการบริหารของราชสำนักชิลลาที่ปกครองโดยราชินีจินซอง (Jinseong) เพราะทุกแห่งหนมีแต่การใช้สินบนและคอรัปชั่น ส่วนเชื้อพระวงศ์ก็รีดภาษีอย่างหนักทั้งๆ ที่ทั่วอาณาจักรอยู่ในสภาพแห้งแล้งขาดแคลนอาหาร

ดังนั้นจึงเกิดกบฏต่อต้านราชสำนักหลายแห่ง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในดินแดนของอดีตอาณาจักรที่เคยถูกชิลลาผนวกเมื่อสองร้อยกว่าปีก่อน นั่นก็คือโกคูรยอและแพ็กเจนั่นเอง หนึ่งในผู้นำที่เฉิดฉายในช่วงเวลานั้นก็คือ กุงเย (Gung Ye) เชื้อพระวงศ์ชิลลาแต่ก่อกบฏต่อต้านพี่สาวต่างมารดาของตนเอง และชอนวอน (Gyeon Hwon) ผู้นำกบฏที่มาจากชนชั้นชาวนา

วังกอนและบิดาได้ร่วมกับกุงเย หลังจากที่กุงเยได้ยกกองทัพเข้ามายึดครองเมืองซองโด เมืองที่ทั้งสองพำนักอยู่ หลังจากนั้นปรากฏว่าวังกอนได้มีความดีความชอบในการทำสงคราม กุงเยเห็นวังกอนมีสติปัญญาและความสามารถ ดังนั้นจึงแต่งตั้งให้เขาเป็นแม่ทัพ แม้ว่าจะอายุเพียงยี่สิบปีเท่านั้น

จุดแข็งของวังกอนนั้นเหมือนกับฮั่นเกาจู่ หลิวปัง นั่นก็คือเป็นคนใจกว้างและมีเมตตา เมื่อตีเมืองใดได้ก็ไม่ปล้นสะดมและเข่นฆ่าราษฎร ผู้มีสติปัญญาจำนวนมากจึงพากันมาสวามิภักดิ์ เช่นเดียวกับประชาชนเมืองต่างๆ ที่ต้องอยู่แร้นแค้นภายใต้การปกครองของราชสำนัก วังกอนจึงกลายเป็นแม่ทัพที่มีบารมีมากที่สุดในกองทัพของกุงเย

ชัยชนะของวังกอนทำให้กุงเยครอบครองดินแดนทางตอนเหนือของชิลลาทั้งหมด ดังนั้นกุงเยจึงสถาปนาตนเองขึ้นเป็นกษัตริย์แห่งอาณาจักรโกคูรยอหลัง (Hugoguryeo) โดยประกาศว่าเป็นอาณาจักรที่สืบทอดความเป็นโกคูรยอ ทั้งๆ ที่กุงเยไม่ได้เกี่ยวเนื่องอันใดกับโกคูรยอเลยสักอย่างเดียวก็ตาม

ขึ้นเป็นอัครมหาเสนาบดี

หลังจากปี ค.ศ.901 วังกอนก็ต้องรับบทบาทสำคัญในการทำศึกกับแคว้นอื่นๆ ซึ่งในขณะนั้นดินแดนชิลลาเดิมได้แบ่งออกเป็นสามส่วนได้แก่ โกคูรยอหลัง แพ็กเจหลัง (Hubaekje) และชิลลา ทั้งสามอาณาจักรสู้รบขับเคี่ยวกันไม่ต่างกับในอดีตที่โกคูรยอ ชิลลา และแพ็กเจสู้รบกัน

วังกอนได้รับมอบหมายให้ทำศึกกับอาณาจักรแพ็กเจหลังเป็นส่วนใหญ่ และได้รับชัยชนะหลายครั้ง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในปี ค.ศ.906 เขาได้ใช้โจมตีด้วยการใช้ไฟทำลายกองเรือของแพ็กเจหลังจนได้รับชัยชนะเด็ดขาด ต่อมาก็ตีชิงเมืองต่างๆ ของทั้งแพ็กเจหลังและชิลลาได้อีกมากมาย

ในการจัดการเมืองต่างๆ วังกอนปกครองเมืองต่างๆ ได้เป็นอย่างดีโดยใช้ความยุติธรรม ดินแดนของโกคูรยอหลังจึงมั่งคั่ง อุดมสมบูรณ์มากขึ้นตามลำดับ นอกจากนี้ยังสร้างความปลอดภัยแก่ชาวเมืองด้วยการปราบปรามโจรสลัดที่มักจะมาปล้นสะดมอีกด้วย ประชาชนทั้งหลายจึงทำมาหากินได้อย่างมีความสุข

เพื่อเป็นการตอบแทนความดีความชอบ กุงเยจึงเลื่อนตำแหน่งให้วังกอนขึ้นอย่างรวดเร็ว ตั้งแต่เป็นเจ้าเมือง หลังจากนั้นก็กลายเป็นอัครมหาเสนาบดี ซึ่งเป็นตำแหน่งสูงสุดในราชสำนัก ช่วงนั้นวังกอนจึงมีอำนาจสิทธิ์ขาดเป็นรองแต่เพียงกุงเยแต่เพียงผู้เดียว

ปัญหาของกุงเย

อย่างไรก็ดีกุงเยได้เริ่มเปลี่บนไปตั้งแต่ในช่วงปี ค.ศ.906 ตั้งแต่ก่อนที่วังกอนจะได้เป็นอัครมหาเสนาบดีเสียอีก กล่าวคือกุงเยได้พยายามที่จะใช้ศาสนาเพื่อที่จะสร้างความชอบธรรมในการปกครองของตน ซึ่งอาจจะเกิดจากการที่ตัวกุงเยรู้ดีว่าตนเองไม่ได้เกี่ยวเนื่องอะไรกับโกคูรยอเลยก็เป็นได้ เขาจึงได้ประกาศว่าตนเองเป็นพระศรีอาริยเมตไตรย (Maitreya) พระพุทธเจ้าองค์ที่ 5 แห่งภัททรกัป และได้เปลี่ยนชื่ออาณาจักรของตนเองเป็นแทบง (Taebong) อีกด้วย

หลังจากที่ประกาศตนเองเป็นพระพุทธเจ้าแล้ว กุงเยกลับเปลี่ยนจากหน้ามือเป็นหลังมือ เขาโหดร้ายมากยิ่งขึ้นและสังหารผู้คนโดยที่ไม่มีความผิด ตั้งแต่เหล่าพระสงฆ์ที่ไม่เห็นด้วยว่ากุงเยเป็นพระพุทธเจ้าไปจนถึงแม่ทัพ หรือแม้กระทั่งมเหสีและโอรสของตนเองถึงสองคน เหล่าราษฎรจึงเริ่มเกลียดชังกุงเยอย่างรวดเร็ว

ดังนั้นไม่ต้องสงสัยเลยว่าเป้าหมายคนต่อไปคือกุงเยคือใคร วังกอนนั่นเอง วังกอนนั้นมีชื่อเสียงและได้รับการเคารพนับถือจากผู้คนทั้งแผ่นดิน ส่วนตัวกุงเยนั้นเป็นที่เกลียดชัง จากแม่ทัพและเสนาบดีไว้ใจได้ วังกอนจึงกลายเป็นคนที่กุงเยต้องการจะกำจัด

วังกอนไม่ใช่คนโง่เขลา เขาทราบอย่างดีว่ากุงเยกำลังคิดอะไรอยู่ ดังนั้นเพื่อรักษาชีวิตของตนเอง วังกอนจึงขออนุญาตกุงเยให้ตนเองเป็นแม่ทัพชายแดนไปปราบปรามการคุกคามของอาณาจักรแพ็กเจหลัง ซึ่งกุงเยก็อนุญาตให้เขาไปได้

การไปเป็นแม่ทัพชายแดนถือว่าเป็นกุศโลบายที่เฉลียวฉลาดของวังกอน เพราะนอกจากเขาจะเอาตัวรอดจากการโดนปองร้ายที่เมืองหลวงได้แล้ว เขายังมีอำนาจทหารไว้อยู่ในมืออีกด้วย ดังนั้นถ้ากุงเยหมายใจที่จะปองร้ายเขา การที่จะทำให้สำเร็จก็ไม่ง่ายนัก

ปรากฏว่าวังกอนเอาชนะกองทัพอาณาจักรแพ็กเจหลังได้อย่างไม่ยากเย็น กุงเยที่อยู่ที่เมืองหลวงจึงยิ่งหัวเสียมากขึ้นไปอีก เมื่อวังกอนกลับมาที่เมืองหลวง กุงเยจึงพูดให้เชิงขู่เข็ญว่าจะลงโทษวังกอน ทั้งๆ ที่วังกอนไม่มีความผิดใดจะเอาโทษได้

สถานการณ์ทุกด้านจึงบีบให้วังกอนทำสิ่งที่เขาไม่เคยต้องการจะทำ เรื่องราวจะเป็นอย่างไรต่อไป ติดตามได้ในตอนหน้าครับ

บทความประวัติศาสตร์

Victory Tale ไม่อนุญาตให้คัดลอกบทความไปโพสที่ใดทุกกรณี การฝ่าฝืนมีโทษทางกฎหมาย

error: Content is protected !!