ประวัติศาสตร์ประวัติศาสตร์รัสเซีย9 พฤษภาคม - Victory Day วันแห่งชัยชนะในสงครามโลกครั้งที่ 2

9 พฤษภาคม – Victory Day วันแห่งชัยชนะในสงครามโลกครั้งที่ 2

วันที่ 9 พฤษภาคม เป็นวันสำคัญมากวันหนึ่งในหมู่ประเทศที่เคยเป็นสหภาพโซเวียตมาก่อน เพราะวันที่ปวงชนในประเทศเหล่านั้นจะได้ระลึกถึงวันที่ 9 พฤษภาคม ค.ศ.1945 ซึ่งเป็นวันที่นาซีเยอรมันยอมแพ้ ทำให้สงครามโลกครั้งที่ 2 ในยุโรป หรือที่ชาวรัสเซียเรียกว่า The Great Patriotic War (Великая Отечественная война) สิ้นสุดลงอย่างเป็นทางการ

ปัจจุบันในหลายๆ ประเทศ วันที่ 9 พฤษภาคมของทุกปีจึงเป็นวันหยุดพิเศษที่เรียกว่า День Победы หรือ Victory Day ในภาษาอังกฤษ

นายพล กอร์กี้ ชูห์คอฟ อ่านคำประกาศยอมแพ้ของฝ่ายเยอรมนี

สงครามโลกครั้งที่ 2 เป็นสงครามที่สร้างความเจ็บปวดต่อชาวโซเวียตเป็นอย่างยิ่ง ชาวโซเวียตทั้งชายหญิงมากกว่ายี่สิบล้านคนเสียชีวิตในสงครามเพื่อปกป้องมาตุภูมิจากการรุกรานของศัตรู พวกเขาทุกคนเป็นวีรบุรุษและวีรสตรีของชาวโซเวียตทั้งมวล

หลังจากสงครามสงบ วันที่ 9 พฤษภาคมได้กลายเป็นวันหยุดในสหภาพโซเวียต รัฐบาลจะจัดงานฉลองอย่างใหญ่โตเพื่อระลึกถึงชัยชนะในสงครามครั้งนั้น จะมีการสวนสนามและจุดดอกไม้ไฟทั่วทั้งประเทศ

การเฉลิมฉลองได้ลดระดับลงไปบ้างหลังจากสหภาพโซเวียตล่มสลายในปี ค.ศ.1991 แต่เมื่อปูตินขึ้นสู่อำนาจในรัสเซีย เขาได้ฟื้นฟูลักษณะการเฉลิมฉลองแบบเดิมขึ้นมาอีกครั้งหนึ่ง โดยมีเจตนาที่จะให้ชาวรัสเซียรุ่นใหม่ๆ ได้ตระหนักถึงความยิ่งใหญ่ของประเทศตนเองในอดีต

ในยุคปูติน การเฉลิมฉลองที่สำคัญที่สุดแน่นอนว่าคือ การสวนสนามของเหล่าทหารที่จัตุรัสแดงในกรุงมอสโก ที่ประธานาธิบดีแห่งรัสเซียจะมาเป็นประธานทุกครั้ง ในปี ค.ศ.2019 มีทหารจำนวนมากกว่า 13,600 นายที่ได้เข้าร่วมการสวนสนามต่อหน้าประธานาธิบดีปูติน เหล่าทหารผ่านศึก (ที่ยังมีชีวิตอยู่) จะได้รับการเชิญมายังพิธีและได้ยืนเคียงข้างประธานาธิบดีแห่งรัสเซีย

การสวนสนามในวัน Victory Day Cr: Kremlin.ru

สำหรับประเทศอื่นๆ ที่แตกออกไปจากรัสเซีย เช่น ยูเครน เบลารุส คาซัคสถาน (ยกเว้นเอสโตเนีย ลัตเวีย ลิทัวเนีย) ต่างมีการเฉลิมฉลองวัน V-Day หรือว่าวันแห่งชัยชนะเช่นเดียวกัน วัน 9 พฤษภาคมถูกประกาศให้เป็นวันหยุด และมีการเฉลิมฉลองไม่ต่างกับในรัสเซีย

Happy Victory Day!

ดูพิธีสวนสนามของปี 2019 (พากษ์อังกฤษ)ได้ ที่นี่

บทความการศึกษา

Victory Tale ไม่อนุญาตให้คัดลอกบทความไปโพสที่ใดทุกกรณี การฝ่าฝืนมีโทษทางกฎหมาย

error: Content is protected !!