ประวัติศาสตร์จิตรกรดังของโลก วินเซนต์ แวนโก๊ะ ตอนจบ: ชีวิตอันวุ่นวายที่ดับลง

จิตรกรดังของโลก วินเซนต์ แวนโก๊ะ ตอนจบ: ชีวิตอันวุ่นวายที่ดับลง

ในความเดิมตอนที่แล้ว ผมได้ทิ้งท้ายไว้ว่า แวนโก๊ะได้ทำให้สมาชิกครอบครัวและเพื่อนต่าง ตะลึงไปหมดด้วยการล้มป่วยด้วยโรคติตต่อทางเพศสัมพันธ์อย่างโกโนเรีย (Gonorrhea)

คำถามสำคัญคือ แวนโก๊ะผู้ที่มาจากตระกูลที่มีฐานะ และยังศรัทธาในศาสนาอย่างมากล้นไปติดโรคดังกล่าวได้อย่างไร?

พัวพันโสเภณี

แวนโก๊ะมักจะใช้คนจริงๆ เป็นแบบของเขาอยู่เสมอ แตกต่างจาก Mauve ที่ใช้ปูนพลาสเตอร์ ดังนั้นเขาจึงได้รู้จักกับโสเภณีชื่อว่า ซีน ฮอร์นิค (Sien Hoornik) ซีนเป็นคนไร้บ้าน มีลูกวัยห้าขวบหนึ่งคน แถมยังตั้งครรภ์อ่อนๆ อยู่อีก แวนโก๊ะได้ใช้เธอเป็นแบบในภาพของเขาหลายภาพด้วยกัน โดยแลกกับการที่แวนโก๊ะหาบ้านให้เธออยู่ และหาอาหารให้เธอกิน

ภาพวาด The Great Lady ของแวนโก๊ะที่ใช้ “ซีน” เป็นแบบ

จริงๆ แล้วซีนเป็นคนป่วยอยู่ แวนโก๊ะจึงต้องรักษาเธอให้หายด้วย สำหรับแวนโก๊ะที่เพิ่งอกหักมาจากคีมาหมาดๆ การได้ใกล้ชิดซีนทำให้เขาเกิดหลงรักซีนขึ้นมาจริงๆ แวนโก๊ะวาดฝันว่าเขาจะแต่งงานกับซีน เธอจะได้มาเป็นผู้ช่วยของเขาในงานศิลปะ ซีนเองก็ไม่ได้ปฏิเสธแวนโก๊ะอีก ทั้งๆ ที่ตัวแวนโก๊ะเองก็ไม่ได้มีเงินอะไรมากมาย

แวนโก๊ะน่าจะไม่ทราบว่าโรคที่ซีนเป็นอยู่คือ โรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ ทั้งสองน่าจะมีอะไรกัน และทำให้แวนโก๊ะติดโรคจากซีนไปด้วย ในเดือนมิถุนายน ค.ศ.1882 แวนโก๊ะล้มป่วยลงอย่างหนักจนต้องเข้าโรงพยาบาลถึงสามสัปดาห์ด้วยโรคโกโนเรีย

การล้มป่วยด้วยโรคเช่นนี้ไม่ได้ทำให้แวนโก๊ะหมดรักในตัวซีน เขาขัดคำสั่งหมอและออกจากโรงพยาบาลไปหาซีนในวันที่ 1 กรกฎาคม ซีนเองก็เพิ่งจะคลอดลูกมาใหม่ๆ (คนที่ติดท้องมา) จึงต้องพักรักษาตัวเช่นเดียวกัน แวนโก๊ะดีใจมากที่ซีนคลอดลูกออกมา เพราะเขาปรารถนาที่จะสร้างครอบครัวร่วมกับซีน

แวนโก๊ะบอกเรื่องของซีนให้ครอบครัวทราบ ทำให้ทุกคนตกตะลึงและโกรธจัด ทุกคนประกาศต่อต้านความสัมพันธ์ระหว่างแวนโก๊ะกับซีน แม้กระทั่งน้องชายอย่างธีโอที่สนับสนุนการเงินให้พี่ชายตลอดมาก็ตาม ครอบครัวของเขาจึงบังคับให้แวนโก๊ะทิ้งซีนไปเสียโดยห้ามต่อรองใดๆ

ตอนแรกแวนโก๊ะพยายามจะบ่ายเบี่ยง แต่เขาเองไม่สามารถทำอะไรได้มากนัก เพราะเขาต้องการการสนับสนุนทางด้านการเงินอยู่ ในปลายปี ค.ศ.1883 หรือเกือบสองปีหลังจากที่เขาได้พบกับซีน แวนโก๊ะจำต้องทิ้งซีนและลูกไป เขาไม่ได้พบกับซีนอีกเลย หลังจากที่แวนโก๊ะทิ้งเธอไปซีนได้กลับไปเป็นโสเภณีอีกครั้งหนึ่ง เธอฆ่าตัวตายในปี ค.ศ.1904 ด้วยการกระโดดลงแม่น้ำ

ชีวิตศิลปินที่ปั่นป่วน

แวนโก๊ะกลับไปใช้ชีวิตอยู่กับครอบครัวที่ Nuenen เขาได้ใช้เวลาดังกล่าววาดรูปต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นกระท่อมหรือทัศนียภาพ ระหว่างนี้เองได้มีลูกสาวของเพื่อนบ้านชื่อ มาร์กอต เบอร์เกมันน์ได้มาเป็นแบบให้กับแวนโก๊ะ แต่เธอกลับตกหลุมรักแวนโก๊ะในเวลาต่อมา ต่อมาแวนโก๊ะที่ช้ำรักมาไม่รู้กี่ครั้งต่อกี่ครั้งก็เหมือนจะตกหลุมรักเธอด้วยเช่นกัน ทั้งสองตกลงปลงใจว่าจะแต่งงานกันอีก แต่สุดท้ายก็ไปไม่รอด เพราะว่าครอบครัวของทั้งสองฝ่ายคัดค้าน

ความรักของแวนโก๊ะจึงพังลงเป็นครั้งที่ 4 ในครั้งนี้คนที่เสียใจมากกลับเป็นฝ่ายหญิง เธอพยายามจะฆ่าตัวตายด้วยการกินยาพิษ แต่แวนโก๊ะส่งเธอไปโรงพยาบาลได้ทัน ทำให้เธอรอดชีวิต

เมื่อจบชีวิตรักแล้ว แวนโก๊ะก็ได้วาดรูปต่อไป ตลอดเวลาสองปีเขาก็ได้ผลิตผลงานมากกว่า 200 ชิ้น ผลงานของแวนโก๊ะช่วงนี้ส่วนมากจะเป็นลักษณะมืดๆ ทึมๆ ดูน่ากลัว ดังนั้นงานเขียนของแวนโก๊ะจึงขายไม่ค่อยได้เท่าไรนัก เพราะตัวแวนโก๊ะเองก็ยังเป็นจิตรกรไร้ชื่อ แถมภาพของเขาก็มืดๆ ทึมๆ ตรงกันข้ามกับการใช้สีฉูดฉาดแบบ Impressionism ที่เป็นที่นิยมในยุคนั้น

The Potato Eaters ผลงานในช่วงนี้ของแวนโก๊ะที่มีลักษณะมืดๆ ทึมๆ

หากแต่ว่าเขากลับเกิดปัญหาอีกครั้ง เมื่อหนึ่งในหญิงชาวนาที่เป็นแบบให้เขาเกิดท้องขึ้นมา แวนโก๊ะถูกกล่าวหาว่าเป็นพ่อเด็ก แวนโก๊ะปฏิเสธอย่างแข็งขัน แต่ก็ไม่มีใครเชื่อ ตั้งแต่บัดนั้นบาทหลวงในหมู่บ้านจึงห้ามไม่ให้คนในหมู่บ้านเป็นแบบในแวนโก๊ะอีก แวนโก๊ะตัดปัญหาด้วยการย้ายมาอยู่ที่แอนเวิร์ป และใช้ชีวิตอยู่อย่างสมถะ เขาใช้เงินเกือบทั้งหมดที่ธีโอให้มาไปกับการซื้ออุปกรณ์และจ้างคนมาเป็นแบบ และใช้เงินไปเพื่อความสุรุ่ยสุร่ายน้อยมาก แต่นั่นก็ทำให้สุขภาพของเขาแย่ลง จนต้องไปเข้าโรงพยาบาลอีกครั้งในปี ค.ศ.1886

ที่เข้าโรงพยาบาลอีกครั้ง ก็มีหลายข้อสันนิษฐานว่า แวนโก๊ะน่าจะป่วยเป็นซิฟิลิส ซึ่งเป็นโรคติดต่อจากเพศสัมพันธ์ โรคนี้แวนโก๊ะก็น่าจะได้จากโสเภณีที่มาเป็นแบบให้เขาเหมือนเดิม

หลังจากที่หายป่วยแล้ว แวนโก๊ะตัดสินใจลองสอบเข้าวิทยาลัยศิลป์ที่แอนเวิร์ปดู และได้เริ่มเข้าเรียนที่นั่น แต่พอเรียนได้ไม่นาน คนติสต์แตกอย่างแวนโก๊ะก็ไปทะเลาะกับอาจารย์เรื่องการวาดรูปอีกจนได้ อาจารย์ที่เขาทะเลาะด้วยคือ อาจารย์ที่สอนการวาดภาพจากแบบปูนปลาสเตอร์ เรื่องมีอยู่ว่า แวนโก๊ะได้รับคำสั่งให้วาดภาพของรูปปั้นวีนัสแห่งไมโล ตามรูปด้านล่าง

วีนัสแห่งไมโล (Livioandronico2013)

ภาพที่แวนโก๊ะออกมากลับเป็นผู้หญิงเปลือยชาวเฟลมมิชที่ไม่มีแขนขา เมื่ออาจารย์ของเขาเห็นก็โกรธจัดจนถึงกับฉีกภาพของแวนโก๊ะทิ้ง แวนโก๊ะโมโหมากและตะโกนด่าว่าอาจารย์ไม่รู้เรื่องหรอกว่าผู้หญิงจริงๆ มีรูปลักษณ์อย่างไร หลังจากการทะเลาะครั้งนั้น แวนโก๊ะไม่ได้ไปเรียนอีกเลย เขาย้ายไปอยู่กับธีโอที่ปารีสและไปเรียนต่อที่นั่นแทน

ที่ปารีส แวนโก๊ะได้แรงบันดาลใจจากภาพของ Adolphe Monticelli ทำให้เขาลองใช้สีที่สว่างและสดชื่นขึ้นมาบ้าง แวนโก๊ะยังชื่นชอบในศิลปะสาย ukiyo-e ที่วาดลงบนแผ่นไม้ของญี่ปุ่นด้วย เขาได้ไปซื้องานแบบดังกล่าวจากท่าเรือมาไว้เป็นจำนวนมาก เป็นที่เชื่อกันว่าเขามีภาพแบบสไตล์ ukiyo-e ของญี่ปุ่นนับร้อยชิ้น เขาได้ใช้มันประดับประดาห้องของเขา ในเวลาต่อมาแวนโก๊ะยังเคยเขียนภาพแนวญี่ปุ่นด้วย (ตามรูปด้านล่าง) เขาเรียกอิทธิพลของศิลปะญี่ปุ่นว่า “Japonaiserie”

ภาพ The Courtesan ผลงานที่แวนโก๊ะเลียแบบภาพของ Keisai Eisen ศิลปินญี่ปุ่น

ต้นปี ค.ศ.1887 แวนโก๊ะย้ายออกมาอยู่ที่เมือง Asnières ใกล้กับกรุงปารีส เพราะว่าเขาเริ่มทะเลาะกับธีโอบ่อยครั้งขึ้น เพื่อตัดปัญหา ทั้งสองจึงแยกกันอยู่อีกครั้งหนึ่ง ที่เมืองนี้แวนโก๊ะเริ่มที่จะนำวิธีการวาดภาพแบบใหม่อย่าง Pointillism มาใช้ ภาพของแวนโก๊ะจึงเริ่มมีการใช้สีที่ตัดกันอย่างชัดเจนมากยิ่งขึ้น เขาได้วาดรูปจำนวนมากมายกว่า 200 ภาพที่เมืองนี้ และยังได้ทำความรู้จักกับศิลปินหลายคน อาทิเช่น Émile Bernard และ Paul Gauguin

ความเบื่อหน่ายเกิดขึ้นกับแวนโก๊ะในปี ค.ศ.1888 เขาจึงย้ายไปอยู่ที่เมือง Arles ในฝรั่งเศส ในช่วงนี้เขาคิดว่าเขาอยากจะสร้างสถานที่ที่เหล่าศิลปินจะมาใช้ชีวิตอยู่รวมกัน (Art Colony) แต่แล้วสุดท้ายก็ไม่ได้ทำ เขายังคงวาดภาพต่อไป ภาพในช่วงนี้แวนโก๊ะจะใช้สีเหลืองเข้มเป็นส่วนใหญ่ ไม่ว่าจะเป็นจะเป็นภาพธรรมชาติหรือสื่อก่อสร้างก็ตาม

ภาพ The Yellow House ของแวนโก๊ะ สังเกตว่าจะใช้สีเหลืองเข้มเป็นแกนหลัก

สูญเสียใบหู

ศิลปินที่เขารู้จักในปารีสอย่าง Gauguin เดินทางมาเยี่ยมเขาที่เมือง Arles ในเดือนตุลาคม ค.ศ.1888 แวนโก๊ะรู้สึกดีใจมากที่ศิลปินผู้นี้มาเยี่ยมเขา เพราะว่า Gauguin มีชื่อเสียงมากกว่าแวนโก๊ะในวันนั้น ทั้งสองได้วาดภาพร่วมกันอยู่ได้สักพักหนึ่ง ความสัมพันธ์ของทั้งสองก็เลวร้ายลง

จริงๆ ก็ไม่แปลกที่ใครๆ ไม่อาจทนแวนโก๊ะได้ เพราะขนาดธีโอ น้องชายแท้ๆที่รักแวนโก๊ะมากยังทนอยู่ร่วมกับแวนโก๊ะไม่ได้เลย

แต่ทว่าสาเหตุที่แวนโก๊ะเริ่มแตกหักกับ Gauguin ก็เพราะตัว Gauguin เองต่างหากที่หยิ่งผยองและไม่เคยคิดว่าแวนโก๊ะเท่าเทียมกับเขา สำหรับแวนโก๊ะแล้ว แวนโก๊ะชอบ Gauguin มากและอยากให้ Gauguin อยู่กับเขาต่อไป แต่แวนโก๊ะก็ปรารถนาที่จะให้ Gauguin ปฏิบัติกับเขาอย่างเท่าเทียมมิใช่ผู้ที่ด้อยกว่าด้วย

ความสัมพันธ์เช่นนี้เหมือนว่าจะทำให้แวนโก๊ะเริ่มเครียด และไม่ช้าไม่นาน เรื่องแปลกๆ ก็เกิดขึ้น Gauguin เล่าว่าคืนวันหนึ่งเขาออกจากบ้านที่เขาพักอยู่กับแวนโก๊ะที่ชื่อ “Yellow House” เพื่อที่จะไปเดินเล่น แวนโก๊ะกลับวิ่งเข้ามาหาเขาด้วยเลื่อย ไม่แน่ชัดว่าอะไรเกิดขึ้นต่อไป แต่ Gauguin เดินทางไปพักอยู่ที่โรงแรมในคืนวันนั้น

หลังจากเหตุการณ์ดังกล่าว แวนโก๊ะกลับเข้ามาในห้องและได้ยินเสียงหลอน เขาใช้เลื่อยตัดหูข้างซ้ายของตัวเอง ทำให้เลือดจำนวนมากหลั่งไหลออกมา เขาจึงใช้ผ้าพันแผลซับเลือด แล้วใช้กระดาษคลุมส่วนของหู หลังจากนั้นก็นำมันไปให้ผู้หญิงคนหนึ่งที่ซ่องใกล้บ้าน!

ณ เวลานั้นดูเหมือนว่า แวนโก๊ะจะเป็นโรคจิตเสียแล้ว

เป็นโรคจิต?

แวนโก๊ะถูกพบว่าสิ้นสติในวันรุ่งขึ้น เขาถูกนำตัวส่งโรงพยาบาลพร้อมกับส่วนของโบหูข้างซ้าย แพทย์ได้รักษาจนเขามีอาการดีขึ้น แวนโก๊ะไม่อาจจำเรื่องที่เกิดขึ้นในคืนวันที่เขาตัดใบหูตัวเองได้เลย Gauguin เห็นว่าแวนโก๊ะน่าจะมีปัญหา เขาจึงแจ้งให้ธีโอ น้องชายแวนโก๊ะให้ทราบทันที ธีโอเดินทางมาถึงและช่วยปลอบประโลมให้แวนโก๊ะสงบลงอยู่พักใหญ่ๆ

แต่อาการทางจิตของแวนโก๊ะเหมือนว่าจะหนักลงเรื่อยๆ แวนโก๊ะเรียกขอให้เจ้าหน้าที่ตำรวจเรียก Gaughin มาพบกับตน แต่ก็ไม่สำเร็จเพราะ Gaughin ได้เดินทางกลับไปปารีสแล้วหลังจากที่เห็นว่าแวนโก๊ะน่าจะเป็นโรคจิต แวนโก๊ะอยู่ในโรงพยาบาลอีกไม่กี่วันก็ได้เดินทางกลับไปบ้านในวันที่ 7 มกราคม ค.ศ.1889

แวนโก๊ะวาดรูปตนเองที่มีผ้าผันแผลปิดไว้

อาการของแวนโก๊ะกลับไม่ดีขึ้น เขาเห็นภาพหลอนและมีอาการหวาดกลัวว่าถูกวางยาพิษอยู่ตลอดเวลา ทำให้เขาต้องเข้าออกโรงพยาบาลบ่อยครั้ง พฤติกรรมของเขาทำให้ชาวบ้านหวาดกลัว และขอให้ตำรวจปิดบ้านของเขาเสีย แวนโก๊ะจำต้องกลับไปอาศัยที่โรงพยาบาล ช่วงเวลานี้ถึงแม้แวนโก๊ะมีอาการแปลกๆ และมีอารมณ์แปรปรวนระหว่างความโศกเศร้าและความทรมาน เขาก็ได้รังสรรค์งานศิลปะไว้หลายชิ้นด้วยกัน

สองเดือนต่อมา เขาตัดสินใจเดินทางจาก Arles เพื่อไปอาศัยที่โรงพยาบาลสำหรับผู้ป่วยทางจิตที่เมือง Saint-Remy ก่อนที่เขาจะไป เขาได้วาดภาพของแพทย์ชื่อ Felix Rey ที่ทำการรักษาเขา และมอบให้กับ Rey ด้วยตัวเอง Rey ไม่ได้รู้สึกชื่นชอบภาพของแวนโก๊ะสักเท่าไรนัก เขาจึงนำมันไปเป็นส่วนหนึ่งของเล้าไก่ เขาไม่รู้เลยว่าในอีกร้อยปีต่อมา ภาพนี้จะถูกขายไปในราคาสูงถึง 50 ล้านดอลลาร์สหรัฐ

เมื่อมาถึงโรงพยาบาลในปี ค.ศ.1899 แวนโก๊ะยังคงวาดภาพต่อไปปัญหาของเขาคือ เขาไม่รู้ว่าจะวาดอะไรต่อไป เพราะเขาถูกจำกัดไม่ให้ออกไปภายนอก เขาจึงวาดภาพใหม่เลียนแบบภาพของศิลปินคนอื่นเป็นส่วนใหญ่ จนกระทั่งในปี ค.ศ.1890 แวนโก๊ะมีอาการซึมเศร้า งานของเขาที่ออกมาจึงมีจำนวนน้อยลงไปเรื่อยๆ แต่งานของเขากลับมีคุณภาพดีขึ้นเรื่อยๆ และถึงกับได้แสดงในงานแสดงศิลปะสาย Avant-Garde ที่บรัสเซลล์ ต่อมางานของแวนโก๊ะก็ได้แสดงที่ปารีส เมื่อคลาวด์ โมเนต์ ศิลปินในตำนานอีกคนหนึ่งได้เห็นงานของแวนโก๊ะ เขาถึงกับกล่าวว่างานของแวนโก๊ะยอดเยี่ยมที่สุดในการแสดงภาพครั้งนี้

แวนโก๊ะออกจากโรงพยาบาลในช่วงเดือนพฤษภาคม ค.ศ.1890 ไปอาศัยที่
Auvers-sur-Oise เพื่อไปรับการศึกษาจากแพทย์ชื่อ Paul Gachet ผู้ที่เคยรักษาศิลปินมาแล้วหลายคน เมื่อแวนโก๊ะได้พบกับ Gachet เขาบอกน้องชายของเขาว่า เขาคิดว่า Gachet น่าจะป่วยมากกว่าเขาเสียอีก ช่วงเวลานี้เขาก็ยังวาดภาพออกมาหลายชิ้น โดยเฉพาะภาพที่โด่งดังที่สุดของแวนโก๊ะอย่าง Portrait of Dr.Gachet ซึ่งเป็นภาพของแพทย์ผู้นี้เอง

Portrait of Dr.Gachet

สิ้นชีวิต

ในวันที่ 27 กรกฎาคม ค.ศ.1890 แวนโก๊ะใช้ปืนยิงตัวเองที่หน้าอก เขายังไม่เสียชีวิตในทันที เขาสามารถเดินกลับไปยังที่พักได้ และได้รับการรักษาโดยแพทย์สองคน แต่ในเมืองเล็กๆ เช่นนั้นไม่มีศัลยแพทย์อยู่เลย ทำให้ไม่สามารถนำกระสุนออกมาจากร่างของแวนโก๊ะได้ แพทย์ทั้งสองจึงให้แวนโก๊ะนอนรอความตายอยู่ให้ห้องอย่างที่ต้องการ และมอบไปป์ให้เขาสูบด้วย

ธีโอเร่งเดินทางมาพบกับแวนโก๊ะทันที และพบว่าพี่ชายยังมีกำลังใจดีอยู่ ไม่กี่ชั่วโมงต่อมา อาการของแวนโก๊ะก็แย่ลง เขาเสียชีวิตลงในวันที่ 29 กรกฏาคม หรือ 30 ชั่วโมงหลังจากที่เขาลั่นกระสุนใส่ตนเอง คำกล่าวสุดท้ายของแวนโก๊ะคือ “ความเศร้าจะอยู่ตลอดไป”

ร่างของแวนโก๊ะถูกฝังลงในสุสานในบริเวณนั้น ธีโอ น้องชายของเขาเสียใจมาก เขาเสียชีวิตตามไปในอีกไม่กี่เดือนต่อมา

เมื่อแวนโก๊ะจากไปนั้น เขากำลังเริ่มมีชื่อเสียงในหมู่แวดวงศิลปิน ผลงานของเขายิ่งมีชื่อเสียงโด่งดังมากขึ้นหลังจากเขาเสียชีวิตไปแล้ว จนสุดท้ายเขากลายเป็นศิลปินเอกของโลก งานของเขาเป็นหนึ่งในงานของทางด้านศิลปะที่มีมูลค่ามากที่สุดในโลก ภาพอย่าง Portrait of Dr.Gachet มีถูกขายไปในราคา 100 ล้านเหรียญสหรัฐ (ประเมินเทียบกับเงินเฟ้อแล้ว)

บทความการศึกษา

Victory Tale ไม่อนุญาตให้คัดลอกบทความไปโพสที่ใดทุกกรณี การฝ่าฝืนมีโทษทางกฎหมาย

error: Content is protected !!