ประวัติศาสตร์จิตรกรดัง วินเซนต์ แวนโก๊ะ: เขาคือใครกันแน่ ตอนแรก

จิตรกรดัง วินเซนต์ แวนโก๊ะ: เขาคือใครกันแน่ ตอนแรก

ช่วงนี้เราจะเห็นข่าวในโซเชียลมีเดียว่ามีนักร้องอาวุโสชาวไทยท่านหนึ่งกล่าวว่า เธอน่าจะมีภาพของวินเซนต์ แวนโก๊ะ ถ้าภาพของเธอเป็นของจริง ภาพนี้จะมีราคาสูงมากถึงหลายพันล้านบาท

หลายท่านอาจจะสงสัยว่า วินเซนต์ แวนโก๊ะ ผู้นี้เป็นใครกันแน่ ทำไมภาพของเขาถึงมีราคาสูงขนาดนั้น ชีวิตของชายผู้นี้เต็มไปด้วยความติสท์อย่างหาที่เปรียบมิได้

วัยเด็กของจิตรกรเอก

จริงๆแล้ว ชื่อของจิตรกรผู้นี้ คือ ฟินเซนต์ ฟัน โคค (Vincent Van Gogh) ที่ออกเสียงเป็นเช่นนี้เพราะเขาเป็นชาวดัชต์ แต่ชาวไทยมักจะเรียกเขาว่า แวนโก๊ะ (น่าจะเพราะออกเสียงแบบภาษาอังกฤษ)

แวนโก๊ะเกิดที่เมือง Zundert ที่ประเทศเนเธอร์แลนด์ในปี ค.ศ.1853 บิดามารดาของเขาเป็นครอบครัวชนชั้นกลางที่มีฐานะดี พ่อของเขาเป็นผู้จัดการของศาสนาคริสต์นิกายคัลวินแห่งประเทศเนเธอร์แลนนด์ ส่วนมารดามาจากครอบครัวที่ร่ำรวยในกรุงเฮก ดังนั้นชีวิตของแวนโก๊ะจึงไม่ลำบากเลย

แวนโก๊ะในปี ค.ศ.1873

ในปี ค.ศ.1868 ความติสต์ของแวนโก๊ะก็เริ่มต้นขึ้น เขาออกจากโรงเรียนกลับมาบ้าน และไม่ได้กลับไปโรงเรียนอีกเลย ไม่มีใครทราบว่าเพราะเหตุใดเขาถึงออกจากโรงเรียนมา เขาอาจจะเบื่อจนทนไม่ไหวแล้วก็เป็นได้

ตั้งแต่เด็ก แวนโก๊ะเป็นผู้ที่มีนิสัยเงียบขรึม เขาเป็นคนจริงจังกับชีวิต มารดาของเขาส่งเขาไปเรียนยังโรงเรียนที่ Tilburg เขาทำคะแนนได้ดีโดยเฉพาะวิชาภาษา แต่แวนโก๊ะกลับไม่ชื่นชอบชีวิตที่นั่นสักเท่าใดนัก ชีวิตในช่วงนี้ของเขาจึงเป็นไปอย่างเซ็งๆ และน่าเบื่อหน่าย สิ่งเดียวที่เหมือนจะเป็นความสนใจของแวนโก๊ะคือศิลปะ แม่ของเขาได้ให้เขาวาดภาพมาตั้งแต่เด็ก ซึ่งเขาก็ทำได้อย่างดีเกินกว่าวัยของเขาพอสมควร แต่ก็ยังห่างไกลศิลปินมืออาชีพอยู่มากมายนัก

ในเดือนกรกฎาคม ค.ศ.1869 ลุงของเขาได้ส่งตัวเขาไปอยู่กับบริษัทค้าขายสินค้าทางด้านศิลปกรรมที่ชื่อ Goupil & Cie ที่กรุงเฮก บริษัทแห่งนี้ค้าขายผลงานทางศิลปกรรมทั่วโลก แวนโก๊ะจึงเดินทางไปเรียนและฝึกงานเป็นเสมียนกับบริษัทแห่งนี้เป็นเวลานานถึงสี่ปี

หลังจากนั้นแวนโก๊ะถูกส่งตัวไปประจำที่สาขาลอนดอนในสหราชอาณาจักร ในช่วงนี้แวนโก๊ะมีความสุขมาก เขารู้สึกดีกับงานที่เขาทำอยู่ และมีรายได้มากกว่าบิดาของเขาแล้ว ถึงแม้ว่าเขาจะมีอายุเพียง 20 ปีเท่านั้น ญาติของเขาเคยให้ความเห็นว่าช่วงเวลานี้เป็นช่วงที่ดีที่สุดของชีวิตแวนโก๊ะ

สาขาของบริษัท Goupil & Cie ที่กรุงปารีส

ชีวิตที่ไร้แก่นสาร

แวนโก๊ะตกหลุมรักบุตรสาวของเจ้าของที่ดินรายหนึ่ง เขาสารภาพรักกับเธอ แต่กลับถูกปฏิเสธอย่างไม่ไยดี การอกหักทำให้แวนโก๊ะปลีกแยกตัวจากสังคมมากยิ่งขึ้น และหันไปทางด้านศาสนามากกว่าเดิม พ่อและลุงของเขาจึงย้ายแวนโก๊ะกลับมายังปารีสในปี ค.ศ.1875 และทำงานเป็นเสมียนในบริษัทเดิม แต่ทว่าอีกไม่นานความติสท์ของแวนโก๊ะก็ปะทุอีกครั้งหนึ่ง

เขาไม่ชอบใจที่บริษัทที่เขาทำงานอยู่ใช้ศิลปะเป็นสินค้าทำกำไร ซึ่งเขาคงจะแสดงออกให้เจ้านายของเขาเห็นอยู่ไม่น้อย แวนโก๊ะโดนให้ออกจากบริษัทในปี ค.ศ.1876

แวนโก๊ะใช้ชีวิตอย่างเซ็งๆ ด้วยการเป็นครู ผู้ช่วยผู้จัดการ และเจ้าหน้าที่ในร้านขายหนังสือ ช่วงนี้แวนโก๊ะเคร่งศาสนามากยิ่งขึ้น ครอบครัวของเขาเห็นแวนโก๊ะไม่มีแก่นสาร พ่อของเขาจึงส่งแวนโก๊ะไปอยู่กับ โจฮันเนส สตริกเกอร์ ลุงของเขาที่เป็นครูสอนศาสนาผู้เป็นเคารพที่กรุงอัมสเตอร์ดัม แวนโก๊ะตัดสินใจลองสอบเข้าคณะศาสนวิทยาแห่งมหาวิทยาลัยอัมสเตอร์ดัมโดยมีลุงของเขาเป็นผู้ช่วยเหลือ แต่แวนโก๊ะไม่มีวินัยในการศึกษาเลย เขาชอบเดินไปเดินมาและครุ่นคิดอะไรสักอย่างอยู่คนเดียว จนสุดท้ายเขาก็สอบตก ลุงของเขาจึงบอกเขาว่า

“พอเถอะ ฟินเซนต์”

ถึงแม้จะสอบตก แต่ความศรัทธาในพระเจ้าของเขายังไม่เปลี่ยนแปลง เขาเลยไปทำหน้าที่เป็นผู้เผยแผ่ศาสนาแบบชั่วคราวในเหมืองแร่แห่งหนึ่งในเบลเยียม ระหว่างที่อยู่ที่นี่แวนโก๊ะใช้ชีวิตเยี่ยงคนจนทั่วไปคนหนึ่ง และพยายามที่จะให้เหล่าบาทหลวงเห็นว่าเขาเหมาะสมที่จะได้ทำงานเพื่อพระเจ้า แต่สุดท้ายเขากลับได้รับการปฏิเสธเพราะ เขา “ลดเกียรติยศของความเป็นนักบวช”

ความล้มเหลวติดๆ กันของแวนโก๊ะทำให้ครอบครัวของเขาเป็นกังวล โดยเฉพาะบิดาของเขา ช่วงนั้น ธีโอ น้องชายของเขาเห็นว่าพี่ชายมักจะวาดรูปแนบติดกับจดหมายมาบ่อยๆ เขาจึงเสนอให้แวนโก๊ะศึกษาศิลปะเสียเลย แวนโก๊ะเองมีความสนใจในศิลปะอยู่แล้วจึงรู้สึกเหมือนดวงตาเห็นธรรม เขาเลือกที่ลืมความไม่ชอบที่เขาเคยมีต่อสถาบันศิลปะทั้งหลายไปเสีย และเข้าเรียนที่ Académie Royale des Beaux-Arts โรงเรียนศิลปะในประเทศเบลเยียม ในช่วงเวลานี้แวนโก๊ะไม่สามารถหาเงินเลี้ยงตัวเองได้ ธีโอจึงต้องทำหน้าที่ช่วยเหลือในเรื่องดังกล่าว

ความรักครั้งที่สองและเริ่มต้นชีวิตศิลปิน

บิดามารดาของเขาไม่พอใจสักเท่าไรที่แวนโก๊ะกลายเป็นศิลปิน เพราะคิดว่าเป็นอาชีพแห่งความล้มเหลว แต่คนอย่างแวนโก๊ะไม่เคยสนใจ เขายังคงวาดรูปต่อไปเรื่อยๆ โดยใช้คนรอบตัวเขาเป็นแบบ ฝีมือของเขาพัฒนาขึ้นอย่างรวดเร็ว

ในเดือนสิงหาคม ค.ศ.1881 แวนโก๊ะกลับตกหลุมรัก คอร์เนลลา หรือ คี (Kee) ลูกพี่ลูกน้องของเขาเอง คีเป็นหญิงม่ายที่มีลูกติดมาด้วยและมีอายุมากกว่าเขา 7 ปี คีไม่เคยให้ความหวังกับแวนโก๊ะ แต่แวนโก๊ะก็ยังคงจีบเธอต่อไป เขาสารภาพรักกับเธอและขอเธอแต่งงาน คีปฏิเสธแวนโก๊ะอย่างไร้เยื่อใยด้วยการกล่าวว่า “์No Nay Never” หรือ “ไม่ ไม่มีวัน”

คี ผู้หญิงคนที่สองที่แวนโก๊ะตกหลุมรัก และบุตรชายของเธอ

หลังจากที่คีกลับไปยังอัมสเตอร์ดัม แวนโก๊ะเดินทางไปยังกรุงเฮกและพยายามจะขายภาพเขียนของเขา แวนโก๊ะได้รับคำแนะนำจาก Anton Mauve ซึ่งเป็นศิลปินที่ประสบความสำเร็จว่าให้เขาลองใช้ถ่านกับพาสเทลในงานของเขาดู แวนโก๊ะจึงเริ่มลองวาดภาพของเขาจากวัตถุทั้งสองบ้าง

ถึงกระนั้นแวนโก๊ะก็ยังคงมีใจให้กับคี เขาพยายามตื้อเธอต่อไปจนบิดามารดาของเขาเองถึงกับกล่าวว่า “การดื้อดึงเป็นสิ่งที่น่ารังเกียจ” คีเองก็ไม่ยอมออกมาพบกับเขาด้วย แวนโก๊ะรู้สึกเสียใจมาก เขาเอามือข้างซ้ายของเขาไปลนไฟ และประกาศว่า

ขอให้ฉันได้เจอเธอ แค่ในช่วงเวลาที่ฉันสามารถนำมือของฉันอยู่ในไฟได้ก็พอ

เรื่องบ้าๆ จบลงเมื่อลุงของเขาเดินมาเห็นและดับไฟทิ้งไป ความคลั่งรักไม่ได้ช่วยอะไรแวนโก๊ะ เพราะพ่อของคีกล่าวกับเขาว่า เขาควรจะรับทราบได้แล้วว่ามันเป็นไปไม่ได้ เพราะเขาไม่สามารถหาเงินเลี้ยงตนเองได้

Mauve เป็นผู้ที่เข้ามาช่วยเหลือแวนโก๊ะ ด้วยการดึงให้เขาไปใส่ใจกับงานศิลปะ เขาได้สอนแวนโก๊ะให้ใช้สีน้ำ Mauve จึงเป็นครูที่สอนแวนโก๊ะเรื่องเทคนิคทางด้านศิลปะมากมาย แต่หลายเดือนต่อมาความสัมพันธ์ระหว่างทั้งสองก็เลวร้ายลง แวนโก๊ะชอบจ้างคนจากถนนมาเป็นแบบ เพราะว่าไม่มีเงินพอที่จะซื้อรูปปั้นปูนปลาสเตอร์มาเป็นแบบได้ Mauve ไม่เห็นด้วยกับวิธีการดังกล่าว ความขัดแย้งของทั้งสองจึงเริ่มต้นขึ้น

Anton Mauve

ในปี ค.ศ.1882 แวนโก๊ะล้มป่วยลงด้วยโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์อย่างโกโนเรีย (Gonorrhoea) ครอบครัวของเขาและ Mauve ถึงกับตกตะลึงเมื่อได้ทราบข่าว เพราะอะไรแวนโก๊ะถึงไปเป็นโรคดังกล่าวได้กันแน่?

อ่านตอนที่สอง

Cr: Van Gogh Museum

บทความการศึกษา

Victory Tale ไม่อนุญาตให้คัดลอกบทความไปโพสที่ใดทุกกรณี การฝ่าฝืนมีโทษทางกฎหมาย

error: Content is protected !!