ประวัติศาสตร์พายุไต้ฝุ่นเกย์ มหาวาตภัยสะเทือนขวัญคนไทย

พายุไต้ฝุ่นเกย์ มหาวาตภัยสะเทือนขวัญคนไทย

พายุไต้ฝุ่น (Typhoon) เป็นพายุทีมีความเร็วลมสูงสุด (มากกว่า 118 กม/ชม) พายุดังกล่าวจะเกิดขึ้นในด้านตะวันตกเฉียงเหนือของมหาสมุทรแปซิฟิก ในกรณีที่เกิดในมหาสมุทรอินเดีย จะเรียกว่าไซโคลน แต่ถ้าเกิดในมหาสมุทรแอตแลนติกและแปซิฟิกตะวันออกจะเรียกว่าเฮอริเคน

แทบทุกปีประเทศที่อยู่ริมมหาสมุทรแปซิฟิกตะวันตก เช่น เวียดนาม ฟิลิปปินส์ จีน ไต้หวัน ญี่ปุ่น ต่างโดนไต้ฝุ่นปีละหลายๆลูก ทำให้ประเทศเหล่านี้มีการระวังป้องกันไต้ฝุ่นที่ดีมาก

สำหรับประเทศไทยถือว่ามีทำเลทางด้านภูมิศาสตร์ดีเยี่ยม ไทยตั้งอยู่ตอนกลางของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ทำให้พายุไต้ฝุ่นที่มักเข้ามาจากทิศตะวันออกสลายตัวไปก่อนที่จะเข้ามาถึงเขตประเทศไทย ส่วนอ่าวไทยเล็กและตื้น ทำให้มีโอกาสต่ำมากที่มันจะให้กำเนิดพายุที่มีความเร็วสูงระดับไต้ฝุ่น

ประเทศไทยจึงไม่เคยรับพายุไต้ฝุ่นเลยสักครั้งเดียว ที่โดนหนักๆ อย่างมากก็เป็นพายุโซนร้อนเท่านั้น เช่น พายุโซนร้อนแฮเรียตที่ถล่มแหลมตะลุมพุกในปี ค.ศ.1962

หากแต่ว่าทุกอย่างต้องมีครั้งแรก

ในช่วงปลายเดือนตุลาคม ค.ศ 1989 ได้หย่อมความกดอากาศต่ำกำเนิดขึ้นในทะเลบริเวณใต้สุดของประเทศเวียดนาม และได้เคลื่อนตัวเข้ามายังอ่าวไทย

เส้นทางของพายุเกย์ Cr: NASA, Joint Typhoon Warning Center

เมื่อหย่อมความกดอากาศต่ำนั้นเข้ามาในอ่าวไทย ความเร็วลมของมันเพิ่มขึ้นจนกลายเป็นพายุดีเปรสชัน พายุโซนร้อน และพายุไต้ฝุ่นตามลำดับ ความเร็วลมของมันเพิ่มอย่างรวดเร็วในเวลาไม่กี่วัน

พายุดังกล่าวได้รับการตั้งชื่อว่า “เกย์” กรมอุตุนิยมวิทยาก็พยากรณ์ว่ามันจะขึ้นบกที่ชายฝั่งทางตอนใต้ของประเทศไทย ประเทศไทยจึงหลบพายุไต้ฝุ่นไม่พ้นเหมือนกับคราวที่แล้วๆ มา

ไต้ฝุ่นขึ้นฝั่ง

พายุไต้ฝุ่นเกย์ขึ้นฝั่งที่จ.ชุมพร ในวันที่ 4 พฤศจิกายน ค.ศ 1989 ด้วยความเร็วที่สูงถึง 185 กม/ชม ความเร็วที่สูงขนาดนี้ทำให้พายุเกย์เป็นไต้ฝุ่นอย่างเต็มตัว

พายุไต้ฝุ่นเกย์กำลังจะขึ้นฝั่งที่จังหวัดชุมพร

ทุกอำเภอในจังหวัดที่พายุเกย์พัดผ่านไปต่างเกิดฝนตกหนักและลมกระโชกแรง ฝนที่ตกหนักทำให้เกิดน้ำท่วมใหญ่ตามมา แรงน้ำและแรงลมทำให้บ้านเรือนของชาวบ้านที่ไม่แข็งแรงเพราะสร้างมาจากไม้ หรือไม่ได้สร้างมาเพื่อรับกับพายุไต้ฝุ่นพังทลายลง

อาคารอย่างสถานที่ราชการสามารถทรงตัวอยู่ได้ เพราะได้รับการเสริมคอนกรีตอย่างดี แต่ประตูและหน้าต่างของแต่ละอาคารหลุดออกมาจากที่ตั้งเป็นจำนวนมาก หนังสือพิมพ์ในช่วงนั้นพรรณนาว่าอาคารเหล่านี้ “เหมือนกับโดนทิ้งระเบิด”

ถึงแม้สถานที่ราชการส่วนใหญ่จะรอด แต่โรงเรียนส่วนใหญ่ไม่รอด เพราะโรงเรียนจำนวนมากถูกสร้างขึ้นจากไม้ และไม่ได้มาตรฐานหลายแห่งนั่นเอง

ความเสียหาย

เมื่อพายุพัดผ่านไปแล้ว การคำนวณความเสียหายก็เริ่มต้นขึ้น

จากการสำรวจพบว่า บ้านเรือนเกือบ 40,000 หลังถูกทำลาย อีก 7,000 หลังเสียหายอย่างหนัก เช่นเดียวกับเรือประมงอีกประมาณ 500 ลำ ถนน 1,000 เส้น และสะพานอีก 194 แห่งได้รับความเสียหาย ผู้คนมากกว่า 153,000 คนไร้ที่อยู่อาศัย

ตัวเลขผู้เสียชีวิตมีอย่างน้อย 833 ศพ (สูญหาย 134 ศพ) ความเสียหายเป็นตัวเงินบาทมากถึงประมาณ 500 ล้านเหรียญสหรัฐ ความเสียหายทางด้านทรัพย์สินมากกว่า 80% เกิดขึ้นที่จังหวัดชุมพร

สภาพอันยับเยินที่เกิดจากพายุไต้ฝุ่นเกย์ Cr: H. Pollmeier.

ความแปลกของพายุลูกนี้ยังดำเนินต่อไป หลังจากออกจากประเทศไทยผ่านทางทะเลอันดามัน มันได้ขึ้นฝั่งที่ประเทศอินเดียในฐานะพายุซูเปอร์ไซโคลน มันได้สร้างความเสียหายอย่างหนักที่นั่นอีก

30 ปีผ่านไป ยังไม่มีพายุลูกใดทำลายสถิติของพายุลูกนี้ในฐานะวาตภัยที่สร้างความเสียหายมากที่สุดได้ แต่ผู้ที่ประสบกับความสูญเสียจากเหตุการณ์ครั้งนั้นย่อมไม่ต้องการให้มันเกิดซ้ำรอยอีกอย่างแน่นอน

บทความการศึกษา

Victory Tale ไม่อนุญาตให้คัดลอกบทความไปโพสที่ใดทุกกรณี การฝ่าฝืนมีโทษทางกฎหมาย

error: Content is protected !!