อาหาร12 สูตร "แกงกะหรี่ญี่ปุ่น" จากแต่ละภูมิภาคที่น่ากินจนอดใจไม่ไหว

12 สูตร “แกงกะหรี่ญี่ปุ่น” จากแต่ละภูมิภาคที่น่ากินจนอดใจไม่ไหว

แกงกะหรี่ญี่ปุ่น (Japanese Curry หรือ Kare, カレー) เป็นเมนูอาหารญี่ปุ่นที่คนไทยรู้จักกันดี ปัจจุบันประเทศไทยมีร้านแกงกะหรี่ญี่ปุ่นจำนวนมาก เช่น Gold Curry, Hinoya, Coco และร้านอื่นๆ อีกไม่หวาดไม่ไหว

ถ้าว่ากันตามประวัติศาสตร์แล้ว แกงกะหรี่ญี่ปุ่นมีที่มาจากอินเดีย โดยได้เข้ามาสู่ญี่ปุ่นในช่วงสมัยเมจิ หรือประมาณศตวรรษที่ 19 นับตั้งแต่บัดนั้นความนิยมของแกงกะหรี่ในหมู่ชาวญี่ปุ่นพุ่งขึ้นอย่างรวดเร็วแม้ว่าแกงกะหรี่จะไม่ใช่อาหารญี่ปุ่นแท้ๆ ก็ตาม จนทุกวันนี้แกงกะหรี่ได้กลายเป็นเมนูอาหารที่หาซื้อได้ง่าย ไม่ว่าจะจากซูเปอร์มาร์เก็ตหรือร้านอาหารเล็กๆ ในสถานีรถไฟฟ้าใต้ดิน

อย่างไรก็ดีตลอดเวลาร้อยกว่าปีที่แกงกะหรี่อยู่ในญี่ปุ่น ชาวญี่ปุ่นจากหลายภูมิภาคได้คิดค้นสูตรแกงกะหรี่ของตนเองขึ้นมา ทำให้รสชาติและกลิ่นอายมีความเป็นญี่ปุ่นมากยิ่งขึ้น จนสุดท้ายแกงกะหรี่ญี่ปุ่นจึงมีอัตลักษณ์เป็นของตนเองในที่สุด

ในโพสนี้ เราจะมาดูกันครับว่าแกงกะหรี่ญี่ปุ่นแต่ละภูมิภาคมีรูปร่างหน้าตาเป็นอย่างไร

1. Soup Curry

Supu Kare (スープカレー) หรือ Soup Curry เป็นแกงกะหรี่สูตรซัปโปโร เมืองหลวงของเกาะฮอกไกโด แกงกะหรี่ของที่นี่จะไม่ข้นและมันเหมือนกับแกงกะหรี่สูตรอื่นๆ รสสัมผัสของตัวแกงจะเหมือนกับซุป นั่นจึงเป็นที่มาของชื่อแกงกะหรี่สูตรนี้นั่นเอง บางคนเปรียบว่าน่าจะเป็นแกงกะหรี่ญี่ปุ่นที่เหมือนกับบรรพบุรุษที่มาจากอินเดียมากที่สุดแล้วครับ

Supu Kare (Soup Curry) จากซัปโปโร By Nakashi, Flickr, CC By SA 2.0

แกงกะหรี่สูตรนี้มักจะใส่เนื้อสัตว์อย่างเช่นน่องไก่และผักนานาชนิดลงไปด้วย แต่วัตถุดิบทั้งหมดไม่ได้นำไปเคี่ยวในหม้อแกงแต่อย่างใด ผักและเนื้อสัตว์เหล่านี้จะถูกย่างจนสุก แล้วนำมาจัดเรียงใส่จาน ก่อนที่จะราดแกงกะหรี่ร้อนๆ ลงไปครับ

นอกจากนี้ตัวข้าวเองก็จะไม่ใส่จานร่วมกับแกงกะหรี่แต่อย่างใด แต่ว่าจะเสิร์ฟมาแบบเป็นจานต่างหาก ซึ่งจะต่างจากแกงกะหรี่สูตรอื่นๆ อย่างชัดเจนเลยครับ

2. Hokkaido Sika Deer Curry

Ezoshika Kare (えぞ鹿カレー) หรือ Hokkaido Sika Deer Curry เป็นแกงกะหรี่ที่ใช้เนื้อของ Sika Deer หรือว่ากวาง Sika เป็นวัตถุดิบ

สาเหตุที่แกงกะหรี่ชนิดนี้เกิดขึ้นมาก็เพราะว่ามีอยู่ช่วงหนึ่ง กวางชนิดนี้ขยายพันธุ์จนมีจำนวนประชากรมากเกินไป รัฐบาลในเมือง Minamifurano เมืองเล็กๆ ในฮอกไกโดจึงคิดค้นเมนูนี้ขึ้นมาเพื่อที่จะสนับสนุนให้ชาวเมืองนำกวางมาทำเป็นอาหาร ปรากฏว่าเมนูนี้อร่อยมาก และทำให้มีชื่อเสียงโด่งดังมาจนถึงทุกวันนี้เลยครับ

3. Yaki Curry

Yaki kare (焼きカレー) หรือ Yaki Curry เป็นผลงานของเชฟจากเมือง Kitakyushu บนเกาะคิวชูในช่วงปี ค.ศ.1950 เรื่องมีอยู่ว่าเชฟคนนี้มีแกงกะหรี่เหลืออยู่จำนวนหนึ่ง เขาจึงลองตอกไข่ใส่ลงไปและนำไปอบในเตาอบ แกงกะหรี่สูตรใหม่จึงได้ถือกำเนิดขึ้นตั้งแต่บัดนั้น

ทุกวันนี้แกงกะหรี่ชนิดนี้มีหน้าตาเหมือนกับลาซานญ่า โดยตัวแกงกะหรี่จะถูกปกคลุมด้วยไข่และชีส ดังนั้นใครชอบทั้งเครื่องเทศและชีสควรจะลองชิมเมนูนี้เป็นอย่างยิ่งเลยครับ

4. Oyster Curry

Kaki kare (牡蠣カレー) หรือ Oyster Curry เป็นแกงกะหรี่สูตรของเมืองฮิโรชิมา เมืองที่มีหอยนางรมที่มีคุณภาพจำนวนมาก หอยนางรมจะถูกใส่ลงไปในแกงกะหรี่ซึ่งมีส่วนผสมของทั้งนม เนย และมะพร้าว แกงกะหรี่สูตรนี้จึงมีความมันและมีรสสัมผัสที่คล้ายครีมต่างจากแกงกะหรี่สูตรอื่นๆ ครับ

ไม่เพียงเท่านั้นที่เมืองฮิโรชิมายังนำแกงกะหรี่ชนิดนี้มาทำเป็นไส้ขนมปังด้วย ขนมปังสูตรนี้เรียกว่า Kaki Karēpan (かきカレーパン) หรือว่า  Oyster Curry Bread ครับ

5. Black Curry

Burakku Kare หรือ Black Curry (ブラックカレー) เป็นแกงกะหรี่สูตรที่จัดว่าประหลาดและฉีกขนบธรรมเนียมแบบชนิดที่เรียกว่าไม่ไว้หน้า

แต่ละสูตรจะมีวัตถุดิบลับที่แตกต่างกันออกไป เชฟบางคนจะใส่ช็อคโกแลตที่มีรสขม เปรี้ยวอมหวาน บางคนอาจจะใช้เป็นน้ำหมึกของปลาหมึกลงไปในแกงกะหรี่ หรืออาจจะเป็นสาหร่ายก็ได้ครับ แต่ทั้งหมดนี้ล้วนแต่ทำให้สีของแกงกะหรี่กลายเป็นสีดำ!

สีของแกงกะหรี่จะดำมากหรือดำน้อยก็แล้วแต่สูตร บางสูตรอาจจะเป็นสีดำสนิท ขณะที่อีกหลายสูตรอาจจะเป็นดำอมน้ำตาลก็ได้ครับ

6. Kurobuta Curry

Kurobuta Kare (黒豚カレー) หรือ Kurobuta Curry เป็นแกงกะหรี่สูตรของจังหวัด Kagoshima ที่มีชื่อเสียงเรื่องคุณภาพของหมูและเนื้อในเกาะคิวชู ดังนั้นเนื้อที่ใช้เป็นวัตถุดิบหลักคือหมูคุโรบูตะ ถ้าอยากชิมสูตรแบบดั้งเดิมจริงๆ ต้องไปที่เมือง Kanoya ครับ

7. Mackerel Curry

Saba Kare (サバカレー) หรือ Mackerel Curry เป็นแกงกะหรี่ที่ใส่ปลาซาบะเป็นองค์ประกอบหลัก และเป็นหนึ่งในสูตรแกงกะหรี่ที่ใช้อาหารทะเลเป็นองค์ประกอบหลัก ถ้าอยากกินของแท้ต้องไปลองที่จังหวัดชิบะครับ

8. Scallop Curry

Hotate Kare (ほたてカレー) หรือ Scallop Curry เป็นสูตรแกงกะหรี่ชั้นยอดจากจังหวัด Aomori จังหวัดที่มีหอยโฮตาเตะชั้นยอด แกงกะหรี่สูตรนี้จึงใช้หอยดังกล่าวเป็นส่วนประกอบหลักในตัวแกง รสชาติจะเป็นอย่างไร ต้องไปลองเองแล้วละครับ

9. Matsusaka Beef Curry

Matsusaka gyu kare (松阪牛カレー) หรือ Matsusaka Beef Curry น่าจะเป็นแกงกะหรี่ที่ใช้วัตถุดิบที่แพงที่สุดเลยก็ว่าได้ เพราะใส่เนื้อชั้นยอดของประเทศญี่ปุ่นอย่าง Matsusaka ลงไปในแกงกะหรี่ด้วย

สูตรแกงกะหรี่นี้มาจากจังหวัด Mie จังหวัดที่โด่งดังเรื่องการผลิตเนื้อชนิดดังกล่าวนั่นเองครับ

10. Apple Curry

Ringo Kare (リンゴカレー) หรือ Apple Curry เป็นหนึ่งในสูตรแกงกะหรี่ที่ใส่ผลไม้ลงไปด้วย คุณอาจจะเรียกว่าเป็นวิวัฒนาการไปอีกขั้นหนึ่งก็ได้ครับ

สูตรที่ว่านี้มาจากจังหวัด Aomori และ Nagano ซึ่งเป็นสองจังหวัดในญี่ปุ่นที่มีแอปเปิ้ลจำนวนมหาศาล และวิถีชีวิตของคนที่นี่ผูกพันกับผลไม้ชนิดนี้ ดังนั้นจึงไม่แปลกอะไรที่จะใส่มันลงไปในแกงกะหรี่ซึ่งเป็นอาหารทั่วไปด้วย

รสชาติจะเป็นอย่างไรก็ต้องไปพิสูจน์กันเองแล้วละครับ

11. Nashi Pear Curry

Nashi Kare (梨カレー) หรือ Nashi Pear Curry เป็นแกงกะหรี่ที่ใส่ลูกแพร์ญี่ปุ่นลงในเป็นส่วนประกอบด้วย ต้นตำหรับของแกงชนิดนี้มาจากจังหวัด Shimane แต่จังหวัด Tottori ที่อยู่ใกล้ๆ กันก็มีสูตรแกงกะหรี่ใส่ลูกแพร์เช่นเดียวกัน

แกงกะหรี่สูตรนี้จะหวานมากเมื่อเทียบกับสูตรอื่นๆ (ซึ่งก็ไม่แปลกเพราะลูกแพร์ญี่ปุ่นหวานจริงๆ) ทำให้ชาวญี่ปุ่นนิยมกินแกงชนิดนี้กับขนมปัง หรือว่าใช้เป็นน้ำสลัดครับ แต่กินกับข้าวก็ยังมีเช่นเดิม

12. Bitter Melon Curry

Goya Kare (ゴーヤーカレー) หรือ Bitter Melon Curry เป็นแกงกะหรี่จากเกาะโอกินาวา สูตรนี้จะใส่มะระขี้นกลงไปในแกงกะหรี่ด้วย

มะระขี้นกมีรสขมมาก ถ้าใส่มันอย่างเดียว รสขมคงจะกลบทุกสิ่ง เชฟชาวญี่ปุ่นจึงตัดความขมของมันด้วยการใส่น้ำตาลทรายแดง และสัปปะรดเพื่อใช้รสหวานกลบรสขม รสชาติจะออกมาเป็นอย่างไร คุณต้องไปลองดูครับ 55

บทความการศึกษา

Victory Tale ไม่อนุญาตให้คัดลอกบทความไปโพสที่ใดทุกกรณี การฝ่าฝืนมีโทษทางกฎหมาย

error: Content is protected !!