โรงเรียนเตรียมอุดมศึกษาเป็นโรงเรียนในฝันของนักเรียนหลายต่อหลายคน ทุกๆปีจะมีนักเรียนมาสมัครสอบมากกว่าหนึ่งหมื่นคน แต่จำนวนที่โรงเรียนตอบรับเข้าศึกษามีแค่พันกว่าคนเท่านั้น เปอร์เซนต์ของคนที่ติดจึงมีเพียง 10% เท่านั้นซึ่งเป็นตัวเลขที่น้อยมาก
คนที่มาสอบเข้าโรงเรียนแห่งนี้มีเด็กเก่งจำนวนมาก ไม่ต้องสงสัยเลยว่าการแข่งขันย่อมโหดสุดๆ แล้วเด็กที่ไม่ใช่เด็กเก่งและเรียนในโรงเรียนธรรมดาๆจะมีโอกาสสอบติดโรงเรียนแห่งนี้หรือไม่?
คำตอบคือ มีครับ! ตัวผมคือผู้ทำสิ่งนั้นให้เป็นจริงด้วยตัวเอง
ในโพสนี้ผมจึงขอถ่ายทอดวิธีที่ผมใช้ให้กับน้องๆ หลายคนที่กำลังเตรียมสอบเข้าโรงเรียนเตรียมอุดมศึกษาครับ

ชีวิตก่อนไปสอบเข้าโรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา
ในปี ค.ศ.2004 ผมเรียนอยู่ในชั้น ม.2 ของโรงเรียนแห่งหนึ่งในกรุงเทพ โรงเรียนของผมห่างไกลจากการเป็นโรงเรียนชั้นนำทางวิชาการอย่างมาก แม้จะมีเด็กเก่งหลายคนก็ตาม แต่ผมไม่ใช่หนึ่งในนั้นอย่างแน่นอน
ผมในวัย ม.2 เป็นเด็กติดเกมสุดๆ จริงๆ แล้วผมติดเกมมาตั้งแต่ ป.6 แล้ว แต่ตอน ม.1-ม.2 นี่เรียกว่าติดอย่างหนัก ลมหายใจที่เข้าออกในเวลานั้นมีแต่เกมเลยก็ว่าได้ กลับบ้านมาก็เล่นเกม ไปโรงเรียนก็ไปคุยกับเพื่อนเรื่องเกม
ตอนนั้นเกมที่โปรดปรานที่สุดคือ Ragnarok เกมออนไลน์ยอดฮิตในเวลานั้น
ไม่ต้องสงสัยว่าผลการเรียนของผมแย่ลงอย่างรวดเร็ว ตอนป.5 ผมเรียนได้ระดับต้นๆ ของชั้น พอ ป.6 เริ่มได้ที่ 10 พอ ม.1 ผมได้ที่ 21 ถ้าเป็นกราฟหุ้น การเรียนของผมเรียกได้ว่าทิ้งดิ่งแบบไม่มีแนวรับ
แล้วตอน ม.2 ที่ผมติดเกมหนักๆ ลองคิดดูว่าผมจะสอบได้ที่เท่าไรกัน?
ต้นปี ค.ศ.2005 ผมเรียนจบชั้น ม.2 ผมรู้สึกตัวมาสักพักแล้วว่าอันดับการเรียนของผมต้องเลวร้ายมากอย่างแน่นอน เพราะผมทำข้อสอบไฟนอลไม่ได้เลย คะแนนในห้องที่สำหรับคนอื่นอาจจะเป็นตัวช่วย แต่ของผมเป็นตัวฉุดให้แย่ลง เพราะผมขี้เกียจทำการบ้าน และชอบพูดคุยในห้องเวลาเรียน ทำให้คะแนนจิตพิสัยน่าจะอยู่ในระดับ “น่าเวทนา”
ดังนั้นผมจึงหาทางบ่ายเบี่ยงไม่ไปรับผลการสอบ แต่ในใจคิดว่าในห้องมีนักเรียนตั้ง 33 คน มันไม่น่าเลวร้ายถึงขนาดได้ที่โหล่ของห้องหรอกน่า
สรุปคือ แม่นำสมุดพกที่สรุปผลการเรียนจากครูประจำชั้นมามอบให้ผมดู ผมก็เปิดออกดู มันเกิดขึ้นแล้วจริงๆ ผมสอบได้ที่ 33 จากนักเรียนทั้งหมด 33 คน
นั่นแปลว่าผมได้ที่โหล่ของชั้นโดยสมบูรณ์!
ตั้งแต่ผมอยู่ชั้นประถมแล้ว พ่อกับแม่ของผมคาดหวังว่าจะให้ผมสอบเข้าโรงเรียนเตรียมอุดมศึกษาเมื่อผมเรียนจบชั้น ม.3
ตัวผมเองก็อยากเข้าโรงเรียนนี้มาก ผมได้ยินเรื่องดีๆ เกี่ยวกับโรงเรียนนี้มาเยอะ ในสมัยนั้นผมจำได้ว่าการเห็นรุ่นพี่ใส่ชุดนักเรียนเตรียมนี่มันช่างเท่เสียจริงๆ เด็กเตรียมได้รับการยกย่องอยู่บ่อยๆว่าเป็นเด็กเก่งที่สุดในประเทศ มันจึงไม่แปลกอะไรที่ผมอยากจะเข้าเรียนที่โรงเรียนแห่งนี้
แต่ผลการเรียนที่เลวร้ายทำให้การสอบติดดูเหมือนว่าจะเป็นไปไม่ได้เลย ผมในสภาพนี้จะไปสู้กับนักเรียนคนอื่นที่เตรียมตัวมานานหลายปีได้อย่างไร?
ถึงกระนั้นผมรู้ดีว่า ผมยังเหลือเวลาอีกสิบเดือนที่จะเปลี่ยนแปลงตัวเองและแก้ไขทุกสิ่ง
พฤษภาคม ค.ศ.2005 ผมประกาศสงครามกับนิสัยเก่าของตัวเอง ผมคิดว่ามันถึงเวลาแล้วที่จะลุกขึ้นจากการหลับใหลอันยาวนานเสียที
1. ต้องมีความมุ่งมั่นและวินัย
ถ้าผมมองย้อนไปแล้ว ผมเชื่อว่าสาเหตุอันดับหนึ่งที่ผมประสบความสำเร็จคือ ความมุ่งมั่นของผมเองที่จะทำเป้าหมายนี้ให้เป็นจริง
เวลาสิบเดือนระหว่างเดือนพฤษภาคม ค.ศ.2005 ถึงเดือนมีนาคม ค.ศ.2006 เป็นช่วงที่ผมอ่านหนังสือและทำข้อสอบหนักมาก
เมื่อกลับมาจากโรงเรียน ผมจะรีบกินข้าวและมานั่งที่โต๊ะหนังสือทันที และอ่านเนื้อหาและทำข้อสอบวิชาทั้งห้าหรือคณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์ ภาษาไทย สังคม และภาษาอังกฤษ ซึ่งทุกวิชาใช้ในการสอบเข้าโรงเรียนเตรียมอุดมศึกษาทั้งหมด
โดยเฉลี่ยแล้ว ผมจะใช้เวลากับกิจกรรมนี้ตั้งแต่ห้าโมงถึงห้าทุ่ม และอาจจะถึงตี 1 ตี 2 ในเวลาที่ผมติดพันกับการทำโจทย์ เพราะผมชอบคิดว่า ข้อนี้มันผิดแบบไม่น่าผิด ผมเลยอยาก “ขอแก้มือ” กับข้อสอบชุดต่อไป หรือบางทีผมทำโจทย์เลขไม่ได้ ผมจะหาทางทำให้ได้
ด้วยเหตุนี้แหละครับ ผมเลยไปโรงเรียนในลักษณะที่เป็น “ซอมบี้” อยู่บ่อยๆ เพราะบางวันได้นอนเพียง 4-5 ชั่วโมงเท่านั้นเอง
ส่วนเวลาว่างที่โรงเรียนนั้น ผมใช้เวลาส่วนใหญ่ไปกับการอ่านหนังสือเตรียมสอบนี่แหละครับ เช่นเดียวกับเวลานั่งในแถวฟังครูอบรมตอนเช้า ผมจำได้ว่าเพื่อนบางคนถึงกับบอกว่า ผมบ้ารึเปล่า คนอะไรอ่านหนังสือตลอดเวลา
ย้อนคิดไปแล้ว ผมอาจจะบ้าจริงๆ อย่างที่เพื่อนบอก
อย่างไรก็ตาม บางอย่างในเวลานั้น ผมอาจจะเวอร์เกินไปจริงๆ ในส่วนนี้ผมแนะนำว่าอย่าทำตาม ทำทุกอย่างด้วยความพอดีย่อมดีกว่าครับ
ความมุ่งมั่นในการอ่านหนังสือนี้ ทำให้ความรู้ของผมเริ่มไล่ตามเพื่อนและคู่แข่งที่จะสอบเข้าทัน เห็นได้จากคะแนนสอบวิชาต่างๆ ทั้งในโรงเรียนและนอกโรงเรียนที่เริ่มฟื้นคืนตามลำดับ อย่างการสอบ pre-เตรียมของโรงเรียนกวดวิชาชื่อดัง (ณ เวลานั้น) ที่จัดสอบรวมทั้งหมด 5 วิชา ผมได้คะแนนอยู่ในระดับ top 20% ของคนสอบทั้งหมด
อย่างไรก็ตาม การมีความมุ่งมั่นไม่ได้แปลว่าจะต้องเครียดและใช้เวลากับการอ่านหนังสือตลอดเวลา
ผมจัดสรรเวลาช่วงวันอาทิตย์เย็นให้กับตัวเอง ในช่วงเวลานี้ ผมตั้งเป้าว่าผมจะทำอะไรก็ได้ รวมไปถึงเล่นเกม ดังนั้นตลอดเวลาสิบเดือนดังกล่าว ผมยังเล่นเกมอยู่เรื่อยๆ ทุกสัปดาห์ แค่ไม่ได้เล่นมากเท่าเดิมเท่านั้นเอง ช่วงนั้นผมคิดว่า ผมเล่นเกมเพื่อให้สมองพักบ้างหลังจากที่กรำศึกมาตลอดทั้งสัปดาห์
แต่สิ่งที่เปลี่ยนไปจากสมัยก่อนคือ พอผ่านไปสักชั่วโมงนึง มันเริ่มจะมีอะไรสักอย่างที่บอกผมว่า พอได้แล้วโว้ย! หลังจากนั้นผมก็จะกลับไปอาบน้ำนอน
ดังนั้นผมจึงได้พัฒนาสิ่งที่เรียกว่าวินัยขึ้นมา ไม่ว่าจะเป็นวินัยในการอ่านหนังสือ ไปเรียนพิเศษให้ตรงเวลา และวินัยในการพักผ่อน
วินัยเหล่านี้มีส่วนสำคัญยิ่งในการทำให้ผมอยู่กับร่องกับรอย และพัฒนาความรู้ไปได้อย่างราบรื่น
2. จัดการวิชาที่อ่อนที่สุดก่อน
การสอบเข้าโรงเรียนเตรียมอุดมศึกษามี 5 วิชาสำหรับสายวิทย์-คณิต ซึ่งแต่ละคนจะมีความถนัดในแต่ละวิชาแตกต่างกันไป
จากที่ได้วิเคราะห์ตัวเอง ผมพบว่าวิชาที่อ่อนที่สุดของผมในเวลานั้นคือ คณิตศาสตร์ เพราะในระดับมัธยมทำได้ไม่ดีเลย ผมมองว่าเพราะผมไม่ค่อยใส่ใจมันเท่าไรในช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อระหว่างประถม-มัธยม
นอกจากนั้นวิชาคณิตศาสตร์เป็นวิชาที่อาศัยการฝึกฝน และใช้เวลานานกว่าวิชาอื่นในการพัฒนาระดับความรู้ ดังนั้นผมจึงจัดการวิชานี้ก่อนเป็นอันดับแรก
ผมหาที่เรียนพิเศษวิชานี้โดยเฉพาะ ในช่วงสามเดือนแรกนั้น ผมให้เวลากับการศึกษาวิชานี้มากที่สุด ผมทำข้อสอบเก่าและแบบฝึกหัดของวิชานี้ไปทั้งหมดมากกว่าหนึ่งหมื่นข้อในเวลาสิบเดือน อย่างเช่น ข้อสอบเก่าเตรียมอุดม มหิดลวิทยานุสรณ์ สมาคมคณิตศาสตร์ ผมหามาทำทั้งหมด เมื่อข้อสอบหมดแล้วก็ทำซ้ำ โดยให้เวลาตัวเองน้อยลง
สิ่งสำคัญอย่างหนึ่งที่ผมอยากจะเน้นไว้เลย สำหรับวิชาคณิตศาสตร์คือ อย่าไปกลัวข้อยาก เราควรจะมองข้อยากเป็นความท้าทายที่สำคัญ การทำข้อยากได้มันจะมีความรู้สึกภูมิใจในตัวเองขึ้นมา และความภูมิใจในตัวเองนี้จะเปลี่ยนเป็นความมั่นใจ และไม่กลัวข้อสอบยากๆ ในวันสอบจริง
3. เรียนพิเศษให้เหมาะสม
การเรียนพิเศษเพื่อการสอบเข้าโรงเรียนเตรียมอุดมศึกษาเป็นวิธีเตรียมตัวสอบยอดนิยม บางคนเรียนพิเศษเยอะมาก เรียกได้ว่าเรียนทุกวันตั้งแต่จันทร์ถึงอาทิตย์
การเรียนพิเศษมากมายเช่นนี้เป็นสิ่งที่ผมไม่แนะนำเป็นอย่างยิ่ง
สาเหตุคือการเรียนพิเศษจะทำให้เราเหนื่อยมาก เมื่อเราเหนื่อยแล้วแล้วจะอยากนอน ทำให้เราจะไม่มีแรงทบทวนและทำข้อสอบเก่าด้วยตนเอง ทั้งๆ ที่การทำข้อสอบเก่าเป็นการ “ประยุกต์” ใช้สิ่งที่เราเรียนมารูปแบบหนึ่ง
สุดท้ายแล้ว การเรียนพิเศษจะกลายเป็นแบบ
เข้าหูซ้ายทะลุหูขวา
การเรียนพิเศษควรจะเน้นไปที่วิชาที่เราอ่อนที่สุดเป็นหลัก แต่ไม่ใช่ว่าลงซ้ำซ้อนวิชาเดียวกัน 3-4 ที่ ถ้าอยากจะเน้นจริงๆ ผมว่าลง 2 ที่ก็เกินพอแล้วสำหรับวิชานั้นๆ
สำหรับการเลือกที่เรียนพิเศษ ผมแนะนำว่าควรทดลองเรียนก่อนทุกครั้ง เราจะได้สัมผัสว่าเราชอบวิธีการสอนของครูหรือไม่ ถ้าไม่ชอบ รู้สึกเบื่อ รู้สึกง่วง ผมแนะนำว่าหาที่ใหม่เลยครับ เพราะการไปหลับในห้องเรียนพิเศษเท่ากับว่าเราเสียเวลาอันมีค่าไปโดยเปล่าประโยชน์
นอกจากนี้อย่าได้พลาดที่จะใช้สื่อการสอนที่หาได้ฟรีในโลกออนไลน์ อย่างวีดิโอสอนวิชาต่างๆใน Youtube หรือในเว็บต่างๆ ครูในโลกออนไลน์บางคนสอนดีพอจนเราไม่ต้องเรียนพิเศษเลยก็ได้
4. ทำข้อสอบเก่าด้วยไม่ใช่อ่านอย่างเดียว
ในการเตรียมสอบแข่งขัน ข้อสอบหรือแบบฝึกหัดเป็นส่วนที่เราควรจะให้ความสำคัญมากที่สุด การทำข้อสอบเหล่านี้จะช่วยให้เราพอจะคาดเดาได้ว่าข้อสอบจะออกมาในรูปแบบใด และความรู้ของเราเพียงพอที่จะทำมันได้แล้วหรือยัง
การทำข้อสอบนี้ควรจะทำทุกวิชาที่สอบ โดยเฉพาะวิชาที่ใช้การคำนวณอย่างคณิตศาสตร์และฟิสิกส์ การทำข้อสอบเปรียบได้กับการลับดาบให้คมกริบ
โดยทั่วไปแล้ว ไม่ว่าวิชาใดๆก็ตาม ในการทำข้อสอบเก่าครั้งแรกๆ ผมจะไม่จับเวลา เพราะจะได้ไม่เป็นการกดดันตัวเองให้มากเกินไป และเปิดโอกาสให้สมองได้ลองคิดอย่างเต็มที่เพื่อที่จะหาคำตอบออกมาให้ได้เสียก่อน
แต่เมื่อใกล้สอบจริงแล้ว ผมถึงจะจับเวลา เพื่อดูว่าเราบริหารเวลาให้ดีแค่ไหน
5. หาสนามสอบไปสอบให้ได้มากที่สุด
เมื่อเรามาเตรียมตัวมานานนับเดือนแล้ว สิ่งที่เราควรจะทำต่อไปคือ หาสนามสอบเพื่อเข้าสอบ สนามใหญ่เท่าไรก็ยิ่งดี เราจะได้สู้กับคู่แข่งเก่งๆ เยอะๆ
การหาสนามสอบไปสอบนี้มีประโยชน์หลายอย่าง แต่หลักๆ เลยมีอยู่ 2 ประการ
- เราจะไม่ตื่นเต้นเวลาที่เข้าห้องสอบ และจะรู้สึกชิน
- เราจะได้รู้ว่าความรู้ของเราอยู่ในระดับไหน เมื่อเทียบกับคนอื่น
ข้อสองนี้สำคัญอย่างยิ่ง โดยเฉพาะกับตัวผมเองในชีวิตจริง
ผมไปสอบเข้าโรงเรียนมหิดลวิทยานุสรณ์ และผลที่ได้ออกมาคือ ผมไม่ติดตั้งแต่รอบแรก
ตอนนั้นจำได้ว่าไม่ได้รู้สึกเสียใจมากนัก เพราะไม่ได้อยากเข้าเท่าไรอยู่แล้ว แต่ที่แน่ๆคือกลัว กลัวว่าผลตอนสอบเข้าโรงเรียนเตรียมอุดมศึกษาจะซ้ำรอยกับความผิดพลาดในครั้งนี้
หากแต่ว่าเมื่อเวลาผ่านไปสักพัก ผมก็คิดได้ว่าตอนสอบมหิดล ไม่ได้มีวิชาที่ผมถนัดอย่าง ภาษาไทย สังคม และภาษาอังกฤษอยู่ด้วย แต่ตอนสอบเตรียมอุดมมี เพราะฉะนั้นสถานการณ์ยังไม่สิ้นหวังมากเกินไป
ถึงกระนั้นการไม่ติดมหิดลทำให้ผมตระหนักว่า วิชาคณิตศาสตร์และวิทยาศาสตร์ของผมยังไม่ดีพอเมื่อเทียบกับคนอื่น ดังนั้นผมต้องเพิ่มความรู้ให้มากขึ้นอีก
สรุปแล้วคือ การไปสอบในสนามใหญ่ๆทำให้เราทราบว่าเราอยู่ระดับไหน แต่ถ้าทำได้ดี ผมแนะนำว่าอย่าเหลิง เพราะอะไรๆจะเปลี่ยนไปก็ได้ในการสอบครั้งต่อไป
6. ในวันก่อนสอบและวันสอบ
วันที่เราควรจะพักผ่อนให้สบายใจที่สุดคือ วันก่อนสอบ และวันสอบ
วันก่อนสอบไม่ควรจะเป็นวันที่เราใช้เวลาอ่านหนังสือทั้งวัน ในทางกลับกันมันควรจะเป็นวันที่เราพักผ่อน ถ้าอยากอ่านก็อ่านทบทวนเบาๆ เท่านั้น ไม่ใช่ว่านั่งทำข้อสอบหรืออ่านจนดึกดื่นแล้วไปสอบในสภาพซอมบี้
อีกสาเหตุหนึ่งที่เราจะ relax ในวันก่อนสอบคือ ถ้าเราเครียดมาก หมกมุ่นมาก กังวลมาก เราอาจจะนอนไม่หลับเพราะความตื่นเต้นที่จะสอบในวันรุ่งขึ้น แล้วสุดท้ายจะไม่ได้นอนเลย
ในวันสอบ แน่นอนว่าควรกินอาหารเช้าให้พอเหมาะ อย่าปล่อยให้ท้องหิวหรืออิ่มเกินไป เพราะจะรบกวนศักยภาพในการทำข้อสอบ
เมื่อทำข้อสอบภาคเช้าออกมาเสร็จแล้ว ถ้าทำได้ไม่ดีนัก อย่าเพิ่งหมดกำลังใจ การไปหมกมุ่นกับความผิดพลาดในข้อสอบภาคเช้าไม่มีประโยชน์อะไรเพราะมันแก้ไขอะไรไม่ได้อีกแล้ว ให้ความสำคัญกับข้อสอบภาคบ่ายที่กำลังจะถึงดีกว่าครับ และอย่าลืมกินอาหารเที่ยงด้วย เพราะเราต้องใช้น้ำตาลและน้ำในการสอบที่กำลังจะถึง
ถ้าทำข้อไหนไม่ได้ อย่าลืมเลือกที่จะเดา แต่การเดาแบบลากยาวตัวเลือก ข ไข่ ลงมาหมดเลย อาจจะไม่ใช่วิธีที่ดีนัก ลองใช้ความรู้ที่มีอยู่มาเดาน่าจะเป็นทางเลือกที่ดีกว่า
หลังจากสอบได้สองวัน ผมได้รับ SMS ว่าผมสอบติดแล้ว เมื่อไปเช็คในเว็บไซต์ ผมก็ได้ทราบว่า สิ่งที่ผมเพียรพยายามมาตลอดสิบเดือนประสบความสำเร็จแล้ว ผมสอบได้ที่หนึ่งร้อยเศษๆ จากคนที่สอบสายวิทย์-คณิต เก้าพันกว่าคนในปีนั้น
7. เคล็ดลับเตรียมตัวสอบเข้าเตรียมอุดมในแต่ละวิชา
คณิตศาสตร์ – เรียนและทำความเข้าใจเนื้อหาทุกบทในชั้นมัธยมต้นให้ดี และใช้เวลาส่วนใหญ่ไปกับการทำข้อสอบ ส่วนในสามเดือนสุดท้ายของการสอบ อย่าลืมทำข้อสอบเก่าด้วยการจับเวลา
วิทยาศาสตร์ – สำหรับฟิสิกส์ใช้วิธีเดียวกับคณิตศาสตร์ ส่วนเคมีและชีววิทยา ทำสรุปด้วยตนเองไม่ว่าจะเขียนหรือพิมพ์ก็ได้ อ่านสรุปดังกล่าวทบทวนก่อนสอบ หลังจากนั้นจึงทำข้อสอบเก่าและแบบฝึกหัดทั้งสามวิชา
ภาษาไทยและสังคมศึกษา – ภาษาไทยไม่มีอะไรซับซ้อน อ่านทบทวนเนื้อหาที่เรียนมาตลอด ม.1-ม.3 ให้ดี โดยเฉพาะพวกหลักภาษา ส่วนสังคมก็คล้ายๆกัน แต่เพิ่มความรู้รอบตัว ข่าวสารในเวลานั้น และประวัติโรงเรียนเข้าไปด้วย หลังจากนั้นจึงทำข้อสอบเก่า หนึ่งในวิธีทำข้อสอบสองวิชานี้ให้ดีคือ การตัดช้อยที่ผิดออกไป จนสุดท้ายเหลือข้อที่ถูกที่สุดข้อสุดท้าย แล้วจึงเลือกตอบ
ภาษาอังกฤษ – ไม้เบื่อไม้เมาของคนหลายคน วิชาภาษาอังกฤษเป็นวิชาที่ต้องอาศัยการสะสมอย่างมาก เพราะฉะนั้นการทำข้อสอบเก่าเป็นสิ่งที่จำเป็น ไม่ว่าจะเป็น Grammar, Vocab, Reading และอื่นๆล้วนแต่ต้องการการฝึกฝนทั้งสิ้น ถ้าจะท่องคำศัพท์ ผมแนะนำให้ท่องเป็นหมวดหมู่จะได้ผลดีกว่ามาก ปัจจุบันการท่องคำศัพท์มีหลายวิธีที่น่าสนใจ สามารถอ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่
ถ้ารู้สึกไม่มั่นใจหรือไม่เข้าใจในวิชาไหนก็ตาม การเรียนพิเศษเป็นทางเลือกที่น่าสนใจ เพราะการเรียนกับครูที่ดี เราจะประหยัดเวลาทำความเข้าใจด้วยตนเองไปได้มาก