ท่องเที่ยวไปเที่ยวรัสเซียอย่างไรให้ "ประหยัดค่าใช้จ่าย" และ "ไม่ลำบาก"

ไปเที่ยวรัสเซียอย่างไรให้ “ประหยัดค่าใช้จ่าย” และ “ไม่ลำบาก”

ประเทศรัสเซียเป็นประเทศที่หลายคนน่าจะอยากไปเที่ยว โดยเฉพาะเมืองอย่าง มอสโก และเซนต์ปีเตอร์สเปิร์กที่มีสิ่งก่อสร้างอันงดงามมากมาย

หากแต่ว่าค่าใช้จ่ายไปเที่ยวรัสเซียก็สูงไม่น้อย แม้ว่าจะไม่เท่ากับประเทศในยุโรปอื่นๆ ก็ตาม

ในโพสนี้เราจะมาดูว่าการจะไปเที่ยวรัสเซียให้ประหยัดจะทำอย่างไร แต่ภายใต้ความประหยัด เราก็ไม่ควรจะลำบากหรือเสี่ยงอันตรายเช่นเดียวกัน

หมายเหตุ: ภายในโพสนี้ การไปเที่ยวรัสเซียจะเน้นไปที่ มอสโก เซนต์ปีเตอร์สเปิร์ก และบริเวณโดยรอบเท่านั้น สำหรับท่านที่จะไปไซบีเรียหรือที่อื่นๆอาจจะใช้เคล็ดลับจากโพสนี้ได้เพียงบางส่วนเท่านั้นครับ

Palace Square By Teddy fox78 – Own work, CC BY-SA 3.0,

1. เลือกช่วงที่จะไปให้ถูกต้อง

ประเทศรัสเซียเป็นประเทศที่มีลักษณะภูมิอากาศแตกต่างจากประเทศไทยมาก นั่นคือประเทศรัสเซียจะมี 4 ฤดูแบบชัดเจน ช่วงฤดูร้อนจะเป็นช่วงที่กลางวันยาวนานตลอด 24 ชั่วโมง อากาศจะดีเยี่ยม ส่วนช่วงฤดูหนาวจะตรงกันข้ามทุกประการ

เพราะฉะนั้นฤดูร้อนจะเป็นช่วง high season ของการท่องเที่ยวรัสเซีย ค่าใช้จ่ายทุกอย่างจะเพิ่มขึ้นไปด้วย ไม่ว่าจะเป็นค่าตั๋วเครื่องบิน ค่าเข้าชมสถานที่ และค่าห้องในโรงแรม ส่วนฤดูหนาวจะตรงกันข้าม นั่นคือทุกอย่างจะราคาถูกกว่าฤดูร้อนมาก เพราะนักท่องเที่ยวน้อย

อย่างที่ท่านทราบกันดี ฤดูหนาวรัสเซียไม่ธรรมดา แต่ไม่ใช่ว่าจะไปไม่ได้ เพราะทุกสถานที่ท่องเที่ยวคืออยู่ในร่มทั้งหมดอยู่แล้ว ถ้าสามารถทนกับความหนาวภายนอกได้และอยากประหยัด ผมแนะนำให้ไปในช่วงฤดูหนาวเลยครับ

แต่ถ้าทนหนาวไม่ไหวจริงๆ และอยากได้ราคาที่ถูกกว่าฤดูร้อน ผมแนะนำให้ไปช่วงเดือนพฤษภาคม หรือ กันยายน เพราะเป็นช่วงที่เรียกว่า shoulder season ค่าใช้จ่ายจะต่ำลงเพราะไม่ใช่ high season แล้ว แต่เรายังสามารถได้บรรยากาศแบบ high season อยู่ อากาศยังไม่หนาวเกินไป กลางวันยังมี 12-13 ชั่วโมงซึ่งเหลือเฟือสำหรับการเที่ยวครับ

หาข้อมูลเกี่ยวกับช่วงเวลาเพิ่มเติมได้ที่บทความ “ไปรัสเซียช่วงไหนดี” ของ Victory Tale

2. จัดเส้นทางให้ดี

สำหรับใครที่จะไปทั้งมอสโกและเซนต์ปีเตอร์สเปิร์ก ผมอยากให้ลองพิจารณาการซื้อตั๋วเครื่องบินแบบ multi-city ดูครับ เช่น ขาไป บินไปลงเซนต์ปีเตอร์สเปิร์ก และขากลับ บินกลับจากมอสโกเป็นต้น

บางคนจะไม่เห็นภาพ ผมขอจัดเรียงตั๋วเครื่องบินเป็นทอดๆ ดังนี้

  • กรุงเทพ – เซนต์ปีเตอร์สเปิร์ก
  • มอสโก – กรุงเทพ

ส่วนเซนต์ปีเตอร์สเปิร์ก-มอสโก แน่นอนว่าเราใช้รถไฟความเร็วสูงของรัสเซีย ซึ่งเราจะใช้เที่ยวเดียวเท่านั้น เพราะเราบินกลับจากมอสโก โดยไม่กลับไปที่เซนต์ปีเตอร์สเปิร์กอีก

ข้อดีของวิธีนี้คือ เราจะไม่ต้องเสียเวลาซื้อตั๋วรถไฟกลับมาขึ้นเครื่องบินกลับไทย และได้เที่ยวมากขึ้นด้วย เพราะตัดเวลาเดินทางไปหลายชั่วโมงเลยทีเดียว

ในตอนที่ผมไปรัสเซีย ผมพบว่าราคาของตั๋วเครื่องบินลักษณะนี้ของ Qatar Airways ใกล้เคียงกับไปกลับกรุงเทพ-มอสโกมาก ผมจึงไม่ลังเลที่จะจองตั๋วแบบนี้เลยครับ ตอนแรกก็เกรงๆ เหมือนกันว่าจะมีปัญหาอะไรหรือไม่ แต่สุดท้ายก็พบว่าไม่มีปัญหาอะไรครับ

3. เลือกที่พักให้ดี

หลายคนอาจจะพุ่งเป้าไปที่โรงแรมในเมืองใหญ่ๆ ของเซนต์ปีเตอร์สเปิร์กหรือมอสโกเสียเป็นส่วนใหญ่ แน่นอนว่าโรงแรมดีครับ แต่แน่นอนว่าค่าใช้จ่ายก็แพงด้วยเหมือนกัน

ผมบอกตรงๆ เลยว่ามีตัวเลือกอื่นมาเสนอ อาทิเช่น

  • โฮสเทล (Hostel)
  • อพาร์ตเมนต์ (Apartment)

Hostel นี่ผมออกตัวก่อนว่าผมไม่เคยลอง แต่ราคาถูกแน่ๆ แต่แน่นอนว่าความสะดวกสบายจะต่ำไปด้วย เช่นเดียวกับความเป็นส่วนตัวจะเป็นศูนย์ โฮสเทลบางแห่งก็ตั้งอยู่ในซอยเปลี่ยวๆ ซึ่งบอกเลยว่าน่ากลัว

ถ้าไปกันหลายๆ คน ผมมีตัวเลือกที่ดีกว่านั่นมากมาเสนอ นั่นก็คือ อพาร์ตเมนต์ อย่างตอนที่ผมไป ผมไปนอนที่เซนต์ปีเตอร์สเปิร์กเป็นเวลา 9 คืนที่อพาร์ตเมนต์ของโรงแรม Anabel at Nevsky 88 (โรงแรมเปิดอพาร์ตเมนต์ให้เช่าด้วย)

เชื่อหรือไม่ ราคาช่วงที่ผมไป (high season) อยู่ที่คืนละประมาณ 2,900 บาทเท่านั้นเอง และนอนได้ 4 คน! (จริงๆ 6 คนด้วยซ้ำไป แต่ต้องเพิ่มเงินนิดหน่อย) ภายในห้องนี่มีทั้งเครื่องซักผ้า ตู้เย็น เตาไฟฟ้าสำหรับทำอาหาร ทีวี ห้องก็กว้างมากๆ แถมความเป็นส่วนตัวนี่มากกว่า hostel แน่ๆ ทุกวันจะมีแม่บ้านมาทำความสะอาดให้ (แต่ไม่เปลี่ยนผ้าปูนะครับ)

เฉลี่ยแล้วราคาคืนละ 2,900 หาร 4 เหลือแค่ 700 กว่าบาท ถ้าไปช่วง Low Season หรือช่วง Shoulder season จะยิ่งถูกกว่านั้นอีก ดังนั้นถ้าไป 4 คน ราคาไม่ห่างจาก hostel เท่าไร แต่ได้อะไรมากกว่ามากมาย

ที่มอสโกผมก็ทำแบบเดียวกัน ราคาก็ประมาณนี้อีก หารกันไปหารกันมา สรุปเหลือแค่คนละเกือบพันบาทต่อคืน

ไม่เพียงเท่านั้น สิ่งหนึ่งที่จำเป็นมากๆ สำหรับการเลือกที่พักคือ Location

สถานที่ท่องเที่ยวสำคัญๆ ของเซนต์ปีเตอร์สเปิร์กและมอสโกอยู่ใกล้กัน ดังนั้นถ้าเรานอนพักอยู่ในย่านนั้น เราแทบจะไม่ต้องนั่งรถอะไรไปไหนเลย หรือถ้าจำเป็นต้องเดินทางจริงๆ ก็นั่งรถไฟฟ้าใต้ดินไม่กี่ป้ายก็ถึงแล้ว

อย่างอพาร์ตเมนท์ Anabel at Nevsky 88 ที่ผมไปพัก ตัวอพาร์ตเมนต์ตั้งอยู่ติดกับถนนเนฟสกี้ (Nevsky Prospect) ถนนหลักในเซนต์ปีเตอร์สเปิร์กเลย ดังนั้นในแต่ละวัน ผมแทบจะไม่ได้ใช้รถอะไรเลย ผมใช้สองเท้าของผมชมเมืองไปมา ทำให้ค่าใช้จ่ายในการเดินทางของผมน้อยมาก

4. กินให้ประหยัดทำอย่างไร

สืบเนื่องจากข้อ 3 ผมบอกได้เลยว่าการเลือกที่พักย่านสำคัญๆ ใกล้กับสถานที่ท่องเที่ยวจะทำให้เรามีตัวเลือกเยอะ นั่นหมายถึงตัวเลือกในเรื่องการกินด้วย

ถนนใหญ่ในรัสเซียมีร้านอาหารมากมาย รวมไปถึงซูเปอร์มาร์เก็ตที่ผมสามารถซื้อวัตถุดิบราคาไม่แพง มาทำอาหารกินเองได้ในอพาร์ตเมนต์ อย่างไรก็ดีวัตถุดิบที่รัสเซียจากที่ดูมาถือว่าถูกมาก (ส่วนหนึ่งเพราะเงินบาทไทยแข็งด้วย)

อย่างไรก็ดี มาถึงรัสเซียแล้ว ถ้าเราจะไม่กินอาหารพื้นเมืองเลย ก็คงจะมาไม่ถึงรัสเซีย ส่วนใหญ่ผมจึงไม่ได้ทำอาหารเองเท่าไร แต่เลือกที่จะกินข้างนอกแทน

ร้านอาหารหลายร้านในถนนเนฟสกี้มีเซ็ตอาหารมื้อเช้าอยู่ ซึ่งผมบอกเลยว่าถูกสุดๆ วัตถุดิบก็ดี แถมอร่อยด้วย มื้อเช้าควรจะเป็นมื้อที่คุณควรจะจัดเต็ม เพราะว่ามันถูก และคุณจะได้อิ่มแปล้ และต้องการกินอาหารมื้อเที่ยงน้อยลง

ไม่ใช่ว่าเพราะผมต้องการจะประหยัดแบบสุดโต่งโดยการไม่กินข้าวเที่ยง แต่เพราะช่วงเที่ยง เราอาจจะต้องใช้เวลาในการต่อคิวเข้าชมพิพิธภัณฑ์ หรือชมด้านในพิพิธภัณฑ์อยู่ ถ้าออกมาจากแถวหรือในพิพิธภัณฑ์ เราจะต้องต่อคิวใหม่ ทำให้มันไม่เหมาะจริงๆ สำหรับการออกมามื้อเที่ยงกิน

โดยส่วนมากแล้วผมมักจะซื้อขนมง่ายๆ จากร้านอาหารของพิพิธภัณฑ์ ซึ่งสามารถซื้อได้อย่างรวดเร็วและไม่แพงเลย ผมจะนั่งกินตรงนั้นให้เสร็จ (ใช้เวลาประมาณไม่เกิน 10 นาที) หลังจากนั้นจะไปเที่ยวต่อ

อย่างไรก็ดี ถ้าต้องการกินมื้อเที่ยงจริงๆ ลองหาร้านอาหารที่มี Business Lunch ดูครับ อาหารแบบนี้จะเป็นเซ็ตที่ราคาถูกกว่าปกติมาก และจะเสิร์ฟเร็ว เพราะตั้งใจขายให้กับมนุษย์เงินเดือนรัสเซีย เราเองก็สามารถใช้ประโยชน์จากตรงนี้ได้เช่นกัน

สำหรับมื้อเย็น หลายคู่มืออาจจะสนับสนุนให้ทำอาหารกินเอง แต่ผมคิดว่าไม่จำเป็น เราสามารถฝากท้องได้กับร้านต่อไปนี้ครับ

  • ร้านอาหารแนวโรงอาหาร (Stolovayas): ส่วนมากจะแอบๆ อยู่ตามตรอกซอกซอย เวลาจะเข้าไปในร้านจะต้องเดินลงบันไดจากถนนไป อาหารที่ขายจะเป็นแบบรัสเซียทั่วไปที่มีราคาถูกมาก
  • Teremok (Теремок): ร้านอาหารแบบ Chain ที่ขายอาหารรัสเซียจานด่วน ในส่วนนี้บอกเลยว่าลองมาแล้ว ชอบมากแทบจะทุกเมนู สามารถหาได้ทั่วไปในมอสโกและเซนต์ปีเตอร์สเปิร์ก
  • หาดีลจาก Frendi: คล้ายๆ กับ Groupon แต่ต้องอ่านภาษารัสเซียออกเท่านั้น
Teremok By Marcus Wong – Own work, CC BY-SA 3.0,

ไม่เพียงเท่านั้น ร้านขนม ร้านขนมปัง และร้านอาหารรัสเซียบางร้านราคายังไม่แพงเลย บางร้านนี่ขายขนมหรืออาหารรัสเซียจานหนึ่งในราคาไม่ห่างจากร้านอาหารทั่วไปในกรุงเทพเลย เพราะฉะนั้นการทำอาหารกินเองอาจจะไม่จำเป็นด้วยซ้ำไปครับ

5. การซื้อ Pass

วิธีการประหยัดเงินในการเข้าสถานที่ต่างๆ คือ การซื้อ Pass อย่างเช่นที่มอสโกมี Moscow CityPass ส่วนเซนต์ปีเตอร์สเปิร์กมี St.Petersburg CityPass

ทุกคู่มือจะบอกว่า ซื้อๆ ไปเถอะ แต่ผมอยากจะบอกว่าให้ลองคิดดูให้ดีก่อน

เพราะ Pass นั้นมีราคาสูงและ ผมพบว่าการจะใช้ Pass ให้คุ้มนั้นไม่ใช่เรื่องง่าย

Pass ทุกประเภทให้เราเข้าชมสถานที่จำนวนมากมายในเวลาที่กำหนด เช่น 3 วัน 5 วัน หรือ 7 วัน นอกจากนั้นบาง Pass จะให้เราไปทำกิจกรรมอย่างล่องเรือทั้งกลางวัน กลางคืน และขึ้นรถเมล์ได้ด้วย

ผมพบว่าถ้าเราไม่ได้เข้าชมสถานที่ที่รวมอยู่แล้วใน Pass ให้มากที่สุดเท่าที่ทำได้ และทำกิจกรรมอย่างการขึ้นรถเมล์ชมเมืองและล่องเรือ มันยากมากที่จะใช้ Pass แล้วคุ้ม

หรือพูดง่ายๆ ถ้าเราใช้มันน้อย มันจะไม่คุ้ม มันจะคุ้มในกรณีที่คุณใช้มันเยอะจริงๆ

ตอนที่ผมไปมา ผมได้ซื้อแบบ 7 วันของ St.Petersburg ปรากฏว่ากว่าที่ผมจะใช้มันคุ้มก็ปาเข้าไปตอนเย็นวันที่ 6 แล้ว ตลอด 6 วันที่ผ่านมา ผมเข้าชมหลายต่อหลายแห่งแบบเดินจนขาลากเลยก็ว่าได้ บางที่ผมไม่ได้อยากเข้า แต่กลัวไม่คุ้มค่า Pass ก็เลยเข้าๆไป

นอกจากนี้ยังต้องทนนอนดึก (กลับมาตี 3) ไปล่องเรือชมเค้าเปิดสะพานอีก (แต่ก็คุ้มนะ เพราะสวยจริงๆ)

ดังนั้นถ้าคนที่จะไปใช้เวลานานกับการชมสถานที่ใดสถานที่หนึ่ง เช่นชอบมหาวิหาร St.Issac มาก ถ่ายรูปทุกช็อตทุกมุมอยู่ครึ่งวัน แล้วใช้เวลาไปกับกินอาหารเที่ยงอีก 1-2 ชั่วโมง ตามมาด้วยชมพิพิธภัณฑ์ย่อยอีก 1-2 ที่ หลังจากนั้นก็หาข้าวเย็นกิน เดินเล่นแล้วก็เข้านอน

ถ้าวางแผนจะทำเช่นนี้ ผมแนะนำว่าอย่าซื้อ Pass เลย มันไม่คุ้มหรอกครับ การเข้าพิพิธภัณฑ์ไปแค่ 3 ที่ ไม่คุ้มกับค่า Pass เลย

ไม่เพียงเท่านั้นพิพิธภัณฑ์บางแห่งในรัสเซียยังเปิดให้เข้าฟรีอีกด้วย! อย่างที่ผมกำลังจะกล่าวถึงในข้อต่อไป

สุดท้ายอย่าลืมที่จะเปรียบเทียบ Pass ต่างๆ ให้ดี เพราะทั้งมอสโกและเซนต์ปีเตอร์สเปิร์กมีบริษัทให้บริการ pass มากกว่าหนึ่งบริษัท ดังนั้นเราควรจะตรวจสอบให้ดีว่าของบริษัทไหนคุ้มค่าที่สุดครับ

6. ต้องรู้ว่าวันไหนให้เข้าฟรี

พิพิธภัณฑ์หลายแห่งในรัสเซียเปิดให้เข้าฟรีวันใดวันหนึ่งของเดือนอยู่เสมอ อย่างในตอนที่ผมไป พิพิธภัณฑ์ Hermitage เปิดให้เข้าฟรีในวันพฤหัสบดีแรกของทุกเดือน (แต่ปัจจุบันเปลี่ยนแล้ว)

ดังนั้นเท่ากับว่า ถ้าวางแผนดีๆ เราจะประหยัดค่าเข้าไปได้หลายที่ด้วยกัน อาทิเช่น

  • Hermitage Museum
  • Russian Museum
  • Zoological Museum
  • Ice Breaker Krasin
  • St. Issac’s Cathedral

สำหรับรายละเอียดว่าวันไหนฟรี สามารถอ่านต่อได้จาก Russia Beyond

7. สัญจรให้ประหยัด

การสัญจรในรัสเซียมีหลายวิธี แต่วิธีที่สะดวกสบายที่สุดคือการเรียกแท็กซี่ ซึ่งจริงๆแล้วไม่ได้แพงกว่าที่กรุงเทพมากนัก เวลาเรียกแท็กซี่ควรจะใช้ app เรียกแท็กซี่อย่างเช่น Yandex Taxi, Gett Taxi หรือ Uber โดยไม่ควรไปต่อรองเองหรือเรียกแท็กซี่เถื่อนเด็ดขาด

การเดินทางภายในเมืองเซนต์ปีเตอร์สเปิร์กและมอสโก ผมสนับสนุนให้ใช้รถไฟฟ้าใต้ดินเป็นหลัก เพราะว่าราคาไม่แพง และไม่ต้องใช้ความรู้ภาษารัสเซียเลย

อย่างไรก็ดี ถ้าจะออกไปเมืองใกล้ๆ อย่างไปพระราชวัง Peterhof หรือไปเมือง Pushkin จากเซนต์ปีเตอร์สเปิร์ก เราจะประหยัดและไม่ลำบากอย่างไรดี

จริงๆ เรียกแท็กซี่ก็ทำได้ แต่ว่ามันมีราคาสูงพอสมควร เพราะต้องออกไปไกล (30-50 กิโลเมตร)

วิธีแรกคือ นั่งรถไฟ รถไฟที่ออกไปชานเมืองและเมืองใกล้ๆ มีสภาพคล้ายกับรถไฟชั้น 3 ของไทย แต่สะอาดกว่าหน่อย ราคาตั๋วรถไฟถูกมาก แต่มันจะมีความยากอยู่เล็กน้อย นั่นคือ เราอาจจะหาสถานีหรือชานชาลาที่ถูกต้องไม่เจอ และการซื้อตั๋วอาจจะมีปัญหาบ้าง เพราะคนขายตั๋วพูดอังกฤษไม่ได้เลย

แม้ว่าจะถือว่าขึ้นง่าย แต่เราต้องจับตาดูสถานีที่รถไฟผ่านไปให้ดี โดยเฉพาะขาออกไปนอกเมือง ถ้าเผลอลงผิดหรือเลยป้าย เคสนี้อาจจะงานเข้าได้ง่ายๆ

วิธีที่สองคือ นั่งรถบัส วิธีนี้เราต้องหาเบอร์รถบัสที่จะออกไปให้เจอก่อน (หาจาก saint-petersburg.com , wikitravel, wikivoyage) แล้วหาให้เจอว่าป้ายที่ขึ้นได้อยู่ที่ไหนบ้าง เมื่อรถมาที่ป้ายถึงจะขึ้นไป เวลาลงก็ต้องดูให้ดีด้วยว่าลงถูกป้ายหรือไม่ โดยเฉพาะขาออกไปนอกเมืองเช่นเดิม

ก่อนจะขึ้นไป อย่าลืมถามคนขับทุกครั้งว่านี่ใช่สายที่กำลังจะไปสถานที่ที่คุณจะไปรึเปล่า คนขับรัสเซียเป็นมิตรมาก อย่ากลัวที่จะถามเขาครับ ใช้ภาษามือถามนี่แหละ นอกจากนี้คนรัสเซียที่พูดภาษาอังกฤษได้อาจจะช่วยเราด้วย

วิธีสุดท้ายคือนั่งรถตู้ (Marshrutka) เป็นวิธีที่ยากที่สุด แต่ราคาถูกสุดๆ ปัญหามีอยู่อย่างเดียวคือเราไม่รู้แน่ชัดว่ารถคันนี้กำลังจะไปไหนกันแน่ เพราะเราอ่านภาษารัสเซียไม่ออก วิธีแก้คือเราหาเลขเบอร์รถมาล่วงหน้าว่ารถคันนี้ขึ้นได้ และถามคนขับหรือคนในรถซ้ำอีกทีก่อนที่จะขึ้นไป

Marshrutka By Brateevsky, CC BY-SA 3.0,

ในสามวิธีนี้ รถไฟง่ายที่สุด ส่วนรถบัสกับรถตู้ซับซ้อนที่สุด เพราะฉะนั้นผมเลยแก้ปัญหาด้วยวิธีการนี้ครับ

  • เวลานั่งออกจากเมือง ผมจะนั่งรถไฟ เพราะจะหลงยากกว่า ป้ายสถานีดูง่ายกว่าป้ายรถเมล์และรถตู้ว่าเราอยู่ที่ไหนแล้ว
  • ขากลับเข้าเมือง ถ้าไม่นั่งรถไฟ ผมจะนั่งรถบัส หรือนั่งรถตู้ โอกาสที่ผมจะลงผิดป้ายเป็นศูนย์ เพราะป้ายสุดท้ายของรถที่เข้าเมืองส่วนมากจะเป็นหน้าสถานีรถไฟใต้ดินในเมือง หรือถ้าไม่ใช่ ผมก็กลับมาอยู่ในเมืองแล้ว การจะหาวิธีการกลับที่พักย่อมไม่ใช่เรื่องยาก

อย่างไรก็ดี สำหรับเมืองในเขตโกลเด้นริงที่อยู่ใกล้กับมอสโก ผมแนะนำให้ใช้รถไฟทั้งไปและกลับครับ แต่ถ้าไม่มีจริงๆก็คงต้องรถบัสกลับ

สุดท้าย ในเรื่องการจองตั๋วรถไฟ sapsan ผมแนะนำให้จองกับเว็บทางการของการรถไฟรัสเซียครับ ตั๋วจะถูกและไว้ใจได้มากที่สุดแล้ว ผมไม่มีปัญหาอะไรเลยกับการจองตั๋ว ทำได้ง่ายและสบายมากๆ โดยไม่ต้องเสียเงินให้ agency ครับ

ส่งท้าย

แม้ว่าการประหยัดเงินจะสำคัญ แต่สิ่งที่ต้องให้ความสำคัญยิ่งกว่าคือความปลอดภัย รัสเซียเป็นประเทศที่ปลอดภัยระดับหนึ่ง แต่ก็ต้องระมัดระวังตัวเองให้มากครับ

[sc name=”travelthai” ][/sc]

บทความการศึกษา

Victory Tale ไม่อนุญาตให้คัดลอกบทความไปโพสที่ใดทุกกรณี การฝ่าฝืนมีโทษทางกฎหมาย

error: Content is protected !!