ประวัติศาสตร์เหตุการณ์การประท้วงและสลายการชุมนุมที่จัตุรัสเทียนอันเหมิน

เหตุการณ์การประท้วงและสลายการชุมนุมที่จัตุรัสเทียนอันเหมิน

สิบสามปีหลังจากการจากไปของเหมาเจ๋อตง ได้เกิดเหตุการณ์ทางการเมืองที่ยิ่งใหญ่ในประวัติศาสตร์จีน เหตุการณ์ที่ว่าคือ เหตุการณ์การสลายชุมนุมที่จัตุรัสเทียนอันเหมิน ในเดือนมิถุนายน ค.ศ.1989

เหตุการณ์นี้มีชื่อในหน้าประวัติศาสตร์ว่า “การประท้วงที่เทียนอันเหมิน”, “วิกฤตการณ์ 4 มิถุนายน” หรือ “การสังหารหมู่ที่เทียนอันเหมิน” ซึ่งมีความสำคัญเทียบเท่าหรือมากกว่า เหตุการณ์ 4 พฤษภาคม ด้วยซ้ำไป

หนึ่งในผู้ชุมนุม By Sa8.蔡淑芳, CC BY 2.5,

จุดเริ่มต้นของเหตุการณ์

ในปีนั้นได้เกิดเหตุการณ์การประท้วงครั้งใหญ่ที่สุดตั้งแต่การสถาปนาสาธารณรัฐประชาชนจีนขึ้นมาเมื่อสี่สิบปีก่อน

เรื่องทั้งหมดนั้นเป็นเช่นนี้

หลังจากเติ้งเสี่ยวผิงขึ้นมามีอำนาจ จีนได้เปิดประเทศเพื่อรับการลงทุนจากต่างชาติ รัฐบาลจีนนำหลักการทุนนิยมและตลาดเข้ามาปรับใช้ในประเทศ โดยเติ้งเสี่ยวผิงได้พัฒนาประเทศจากด้านตะวันออกก่อน

เติ้งเสี่ยวผิง

การปฏิรูปเป็นไปได้ด้วยดีและประสบความสำเร็จอย่างมาก เศรษฐกิจจีนพัฒนาอย่างก้าวกระโดด แต่แล้วปัญหามากมายก็เกิดขึ้น

อย่างแรก รัฐบาลจีนได้สั่งให้รัฐวิสาหกิจที่ขาดทุนลดค่าใช้จ่าย เพราะรัฐบาลจะไม่สนับสนุนอีกต่อไปแล้ว เนื่องจากจะใช้รูปแบบทุนนิยม ผลที่ตามมาคือ พนักงานจำนวนมากที่ทำงานอยู่ในรัฐวิสาหกิจเหล่านี้ต้องสูญเสียสิทธิประโยชน์ที่พวกตนเคยได้ในการดำรงชีวิต พวกเขาจึงไม่พอใจรัฐบาลอยู่โดยทั่วไป

อย่างที่สอง

ระบบการศึกษาของจีนผลิตบัณฑิตไม่ตรงกับความต้องการของตลาด บัณฑิตในสาขาอย่างเกษตรกรรม อุตสาหกรรมเบา บริการ และ การลงทุนต่างประเทศมีน้อยกว่าที่ตลาดต้องการมาก แต่สาขาสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์มีมากเกินไป ปัญหาการว่างงานในกลุ่มหลังจึงมีจำนวนมาก นอกจากนี้ผู้ที่ประสบความสำเร็จในการหางานและทำงานยังต้องพึ่งพาเส้นสายมากมาย นักศึกษาจำนวนมากจึงไม่พอใจเป็นอย่างยิ่ง

นอกจากนี้ยังมีเรื่องการคอรัปชั่น และเรื่องที่ข้าราชการวางก้าม ปฏิบัติต่อประชาชนอย่างย่ำแย่อีก

นี่คือสภาพของจีนในช่วงทศวรรษ 80 หลังจากที่เปิดประเทศ

การชุมนุมเริ่มต้น

เมื่อเวลาผ่านไป เหล่านักศึกษารวมตัวกันเป็นกลุ่ม โดยเฉพาะนักศึกษาในมหาวิทยาลัยปักกิ่ง มหาวิทยาลัยอันดับ 1 ของจีน เพราะพวกเขารู้สึกว่าได้รับความไม่เป็นธรรมจากสังคม และระบบราชการต่างๆ

พวกเขาต้องการเปลี่ยนแปลงประเทศให้ดีขึ้นกว่าเดิม

การเปิดประเทศที่ผ่านมาทำให้อุดมการณ์ประชาธิปไตยแพร่เข้าไปในประเทศจีน โดยเฉพาะเมื่อประเทศในยุโรปหลายแห่งได้เปลี่ยนจากคอมมิวนิสต์เป็นประชาธิปไตย

นักศึกษาจีนเหล่านี้จึงซึมซับความต้องการจะมีสิทธิเสรีภาพ โดยเฉพาะเสรีภาพในการแสดงออก และหวังจะให้สิ่งเหล่านี้เกิดขึ้นในจีนบ้าง

ในวันที่ 15 เมษายน ค.ศ.1989 หูเย่าปัง เลขาธิการพรรคคอมมิวนิสต์ที่เป็นที่ชื่นชอบของพวกคนรุ่นใหม่สิ้นชีวิต พวกนักศึกษาคิดว่าการตายของหูเย่าปังเกิดจากการถูกบังคับให้ลาออกจากตำแหน่ง

เหล่านักศึกษาจึงรวมตัวเพื่อไว้อาลัยให้หูเย่าปังที่จัตุรัสเทียนอันเหมิน

การไว้อาลัยให้หูเย่าปังกลายเป็นการชุมนุมอย่างรวดเร็ว แกนนำในการชุมนุมเป็นนักศึกษาจากมหาวิทยาลัยปักกิ่ง พวกเขาขอให้รัฐบาลปฏิบัติตามข้อเรียกร้อง 7 ข้อ ดังต่อไปนี้

  1. ยอมรับว่ามุมมองของหูเย่าปังเกี่ยวกับประชาธิปไตยและเสรีภาพถูกต้อง
  2. ยอมรับว่าการโจมตีหูเย่าปังก่อนหน้านี้เป็นความผิดพลาด
  3. รัฐบาลต้องเผยแพร่ข้อมูลรายได้ของเหล่าผู้นำรัฐบาล ผู้นำพรรคและครอบครัวของพวกเขา
  4. รัฐบาลต้องให้สิทธิเสรีภาพกับสื่อ และยกเลิกการแบนสื่อทุกประเภท
  5. รัฐบาลต้องเพิ่มงบประมาณให้กับการศึกษา และ เพิ่มเงินเดือนให้กับบรรดาปัญญาชน
  6. รัฐบาลต้องยกเลิกการห้ามชุมนุมที่ปักกิ่ง
  7. รัฐบาลต้องให้สำนักข่าวเผยแพร่ข้อมูลที่ถูกต้องของเหล่านักศึกษา

พวกตำรวจพยายามจะชักนำให้เหล่านักศึกษากลับบ้าน แต่พวกเขาปฏิเสธ นักศึกษาจำนวนมากกลับเดินทางมาสนับสนุน ทำให้จำนวนผู้ชุมนุมที่เทียนอันเหมินมีมากกว่า 100,000 คน

หลังจากจบงานศพของหูเย่าปังแล้ว จ้าวจื่อหยาง เลขาธิการพรรคคอมมิวนิสต์คนใหม่ได้ขอให้นักศึกษายกเลิกการชุมนุม แต่ไม่สำเร็จ ในเวลาต่อมา เติ้งเสี่ยวผิง ผู้นำจีนจึงประกาศเตือนไม่ให้นักศึกษามาเข้าร่วมประชุมอีกครั้งหนึ่ง

ความขัดแย้งลุกลาม

ในวันที่ 26 เมษายน สำนักข่าวของรัฐบาลได้ลงหน้า 1 ประณามพวกนักศึกษาว่าเป็นพวกต่อต้านพรรคคอมมิวนิสต์ และต่อต้านรัฐบาล การลงข่าวเช่นนั้นมีเจตนาให้พวกนักศึกษากลัวและไม่เข้ามาชุมนุม แต่การลงข่าวเช่นนั้นกลับทำให้พวกนักศึกษาที่ชุมนุมอยู่โกรธมาก ผู้ชุมนุมกลับเพิ่มขึ้นตามลำดับ

ฝ่ายรัฐบาลพยายามไกล่เกลี่ยโดยให้พวกนักศึกษาเข้าพบ โดยให้ส่งตัวแทนเข้าไป หากแต่ว่าเหล่านักศึกษากลับมองว่าฝ่ายรัฐบาลพยายามลวงให้พวกนักศึกษาสลายการชุมนุม เหล่าแกนนำจึงเริ่มทำการประท้วงอดข้าวในวันที่ 13 พฤษภาคม

จัตุรัสเทียนอันเหมิน 1 ปีก่อนการชุมนุม By Derzsi Elekes Andor – Own work, CC BY-SA 3.0,

ขณะนั้น มิคาอิล กอร์บาชอฟ ผู้นำโซเวียตกำลังเดินทางมาเยือนจีนในวันที่ 15 พฤษภาคม รัฐบาลจีนต้องการจะใช้พื้นที่จัตุรัสเทียนอันเหมินในการต้อนรับ รัฐบาลจึงให้สำนักข่าวต่างๆและปัญญาชนที่มีชื่อเสียงช่วยกันขอร้องให้เหล่านักศึกษากลับบ้าน รัฐบาลจีนเองก็ส่งผู้แทนมาขอร้องอย่างเป็นทางการเช่นเดียวกัน

ความพยายามทั้งหมดไม่ประสบความสำเร็จ เพราะพวกนักศึกษายืนยันให้ฝ่ายรัฐบาลขอโทษในกรณีที่ให้สื่อโจมตีพวกนักศึกษาในวันที่ 26 เมษายน ฝ่ายรัฐบาลปฏิเสธที่จะทำตามข้อเรียกร้อง

เมื่อกอร์บาชอฟมาถึง งานต้อนรับจึงต้องจัดขี้นที่สนามบินแทน ทำให้พวกผู้นำรัฐบาลจีนรู้สึกเสียหน้าและไม่พอใจมาก พวกเขาบางคนที่ตอนแรกมีท่าทีเฉยๆ กับการประท้วงของพวกนักศึกษาเริ่มเปลี่ยนเป็นต่อต้าน และสนับสนุนให้ใช้กำลังทหารปราบปรามมากขึ้น

ในขณะเดียวกันพวกนักศึกษาที่ประท้วงด้วยการอดข้าวต่างได้รับการสนับสนุนจากประชาชนคนทั่วไปทั่วประเทศ ไม่เว้นแม้แต่ทหารในกองทัพปลดแอก นายตำรวจ หรือ สมาชิกพรรคระดับล่างก็ตาม

การชุมนุมจึงเริ่มแพร่หลายไปยังเมืองอีก 400 เมืองทั่วประเทศ ผู้ชุมนุมที่เทียนอันเหมินมีจำนวนกว่า 1 ล้านคน ผู้ชุมนุมมีตั้งแต่นักศึกษา พ่อค้า และชนชั้นล่างทั่วไป

หากแต่ว่าในขณะนั้นพวกนักศึกษาเองก็เกิดปัญหาภายในหลักๆ 2 ประการ

  1. พวกแกนนำนักศึกษาเริ่มแตกคอกันเอง พวกเขาสงสัยกันเองว่าต่างคนต่างแอบเป็นสายลับให้กับฝ่ายรัฐบาล นอกจากนี้การที่ไม่มีผู้นำสูงสุดอย่างชัดเจน ทำให้ไม่สามารถกำหนดข้อตกลงร่วมในนามของผู้ชุมนุมได้
  2. เมื่อการชุมนุมผ่านไปหลายเดือน สภาพในจัตุรัสเทียนอันเหมินย่ำแย่ลงมาก เพราะผู้ชุมนุมอยู่แออัดกัน ทำให้เกิดความสกปรกอยู่โดยทั่วไป

ปลายเดือนพฤษภาคม เติ้งเสี่ยวผิงได้กล่าวกับสมาชิกคอมมิวนิสต์ระดับสูงว่า ถ้าสถานการณ์ไม่จบลงโดยเร็ว อาจจะเกิดสงครามกลางเมือง หรือ การปฏิวัติวัฒนธรรมขึ้นอีกครั้งหนึ่ง ฝ่ายรัฐบาลจึงตัดสินใจเกลี้ยกล่อมเหล่านักศึกษาอีกครั้ง

จ้าวจื่อหยาง เลขาธิการพรรคคอมมิวนิสต์พยายามจะออกมาร้องเพลงเพื่อลดความตึงเครียด และขอร้องให้เหล่านักศึกษายกเลิกการอดอาหารประท้วง แต่พวกนักศึกษายังคงยืนยันว่ารัฐบาลต้องปฏิบัติตามข้อเรียกร้อง การประนีประนอมจึงล้มเหลว

เติ้งเสี่ยวผิงจึงคิดว่าการใช้กำลังเป็นทางเดียวที่จะยุติการชุมนุมได้ เขามีคำสั่งให้ประกาศกฎอัยการศึก และให้เคลื่อนกำลังทหารไม่น้อยกว่า 250,000 คน เข้ามาที่ปักกิ่ง

เมื่อกองทัพมาถึง พวกผู้ชุมนุมก็เข้าโอบล้อมเหล่าทหารไว้ และขอร้องให้พวกเขาร่วมในการชุมนุม นอกจากนี้ยังมอบน้ำและอาหารให้อีกด้วย รัฐบาลจีนเห็นเช่นนั้นจึงสั่งให้กองทัพทั้งหมดกลับเข้ากรมกองไป (สงสัยเกรงว่าจะซ้่ำรอยการปฏิวัติกุมภาพันธ์ในรัสเซีย)

การสลายการชุมนุม

หลังจากนั้นรัฐบาลคอมมิวนิสต์ใช้สื่ออย่างหนักเพื่อให้พวกนักศึกษาเลิกชุมนุม พวกนักศึกษาได้อ่านข่าวจากหนังสือพิมพ์แล้วรู้สึกโกรธเกรี้ยวมากขึ้นไปอีก พวกเขาปฏิเสธที่จะยกเลิกการชุมนุมเช่นเดิม

เมื่อไม่มีทางเลือกอื่น รัฐบาลจีนตัดสินใจใช้ทางเลือกสุดท้าย นั่นก็คือการใช้กำลัง กองทัพได้รับคำสั่งให้ “ทำทุกวิถีทาง” ให้ยึดพื้นที่บริเวณจัตุรัสเทียนอันเหมินคืนมาให้จงได้

รัฐบาลจีนไม่ให้ส่งตรงๆว่าให้ใช้กระสุนจริง แต่คำสั่งเช่นนั้นพวกทหารทราบกันดีอยู่แล้วว่าหมายถึงอย่างไร

สื่อทั้งหลายของรัฐบาลส่งสัญญาณว่าจะมีการปราบปราม ด้วยการประกาศเตือนให้ประชาชนทั่วไปอยู่ในบ้าน แต่บางคนก็ไม่สนใจ และเดินทางมาชุมนุมกับพวกนักศึกษาตามปกติ

เย็นวันที่ 3 มิถุนายน กองทัพจีนพร้อมด้วยรถถังจำนวนมากก็บุกเข้ายึดพื้นที่ที่จัตุรัสเทียนอันเหมิน และเริ่มสลายการชุมนุม พวกทหารใช้ปืนยิงกระหน่ำเข้าไปยังฝูงชน

รถถังที่กองทัพจีนใช้ในการสลายการชุมนุม

ผู้ชุมนุมบางส่วนตกใจกับการใช้กระสุนจริง ส่วนบางคนกล้าหาญเกินกว่าที่ใครจะคาดคิด พวกเขาเข้าขัดขวางเพื่อไม่ให้เหล่ายานเกราะเดินหน้าต่อไปได้ แต่ก็ไร้ผล เพราะเหล่าทหารได้ใช้กระสุนยิงสังหารผู้ที่ขัดขวาง ทำให้จำนวนผู้เสียชีวิตเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว

ความชุลมุนวุ่นวายจึงเกิดขึ้นไปทั่ว ผู้ที่ไม่รู้อิโหน่อิเหน่ที่ยืนอยู่บนระเบียงถูกลูกหลงเสียชีวิตไปหลายคน

ข่าวการต่อสู้ทราบเข้าไปถึงหูแกนนำนักศึกษา ผู้ชุมนุมหลายคนพยายามจะเรียกร้องให้แกนนำประกาศให้พวกผู้ชุมนุมจับอาวุธที่หาได้และลุกขึ้นสู้กับรัฐบาล แต่แกนนำบางส่วนไม่เห็นด้วย สิ่งที่ใช้เป็นอาวุธได้จึงถูกรวบรวมนำมาไว้รวมกันที่แกนนำ เพื่อป้องกันความวุ่นวายที่จะเกิดขึ้น

พวกผู้ชุมนุมบางคนเห็นกองทัพใช้กระสุนจริง พวกเขาจึงพยายามจะต่อสู้ด้วยการใช้ระเบิดทำเอง หิน และ ไม้ ทหารจีนตอบโต้ด้วยการยิงกระสุนกลับมา พวกผู้ชุมนุมเหล่านี้เสียชีวิตจำนวนมาก

กองทัพจีนบุกตะลุยเข้าใกล้ตรงกลางของการชุมนุม พวกแกนนำจึงเข้าต่อรองกับกองทัพ โหวเต๋อเจี้ยน หนึ่งในแกนนำได้ไปเจรจากับกองทัพว่าจะให้มีการล้มเลิกการชุมนุม

แต่เพื่อโหวเต๋อเจี้ยนกลับมา เขากลับถูกผู้ชุมนุมบางส่วนด่าว่าขี้ขลาด และไม่ยอมล้มเลิกการชุมนุมอย่างที่โหวเต๋อเจี้ยนได้ไปตกลงไว้กับกองทัพ

เมื่อกองทัพจีนเห็นว่าการชุมนุมยังไม่ล้มเลิก ในช่วง ตี 4 ของเช้าวันที่ 4 มิถุนายน กองทัพจีนบุกเข้าสลายการชุมนุมพร้อมกันทุกด้าน พวกทหารใช้ตะบอง พานท้ายปืน ดาบปลายปืน หรือแม้กระทั่งใช้กระสุนจริง เข้าทำร้ายพวกผู้ชุมนุม เพื่อสลายการชุมนุมให้ได้

ผู้ชุมนุมที่รอดชีวิตต่างแตกตื่นและหลบหนีออกไปจากบริเวณจัตุรัสเทียนอันเหมิน แต่ซากศพจำนวนมากมายยังคงกองอยู่บริเวณนั้น

จำนวนผู้เสียชีวิต

รัฐบาลจีนประกาศว่าผู้เสียชีวิตจากการสลายชุมนุมอยู่ที่ 300 คน ซึ่งตัวเลขนี้ไม่ใช่ความจริงอย่างแน่นอน ตัวเลขผู้เสียชีวิตที่สื่อต่างชาติได้รับมานั้นอยู่ที่หลายพันคน (ทูตอังกฤษว่า 10,000 คน) ส่วนผู้ได้รับบาดเจ็บน่าจะมีมากกว่านั้นหลายเท่า นับเป็นการสลายการชุมนุมที่มีผู้เสียชีวิตมากที่สุดครั้งหนึ่งในประวัติศาสตร์โลก

หลังจากนั้นรัฐบาลจีนจึงมีคำสั่งให้จับพวกแกนนำเข้าคุก หวางตัน หนึ่งในแกนนำนั้นรับโทษจำคุก 7 ปี ส่วนแกนนำบางคนนั้นหลบหนีไปอยู่ต่างประเทศได้สำเร็จ นอกจากพวกแกนนำแล้ว ยังมีผู้ชุมนุมอีกเกือบหมื่นคนที่ถูกจับกุม

เหตุการณ์ดังกล่าวนั้นยังเป็นประเด็นที่แสลงใจรัฐบาลจีนจนมาถึงทุกวันนี้ keyword ทั้งหลายในอินเตอร์เน็ตจีนที่เกี่ยวกับเหตุการณ์ที่เทียนอันเหมินต่างถูกเซ็นเซอร์อย่างเข้มงวดโดยรัฐบาล

ดูรูปเพิ่มเติมได้ที่ Buzzfeed และ Mic

ตอนยาวล่าสุด

แนะนำ:จ้านกว๋อ

บทความอื่นๆ

Victory Tale ไม่อนุญาตให้คัดลอกบทความไปโพสที่ใดทุกกรณี การฝ่าฝืนมีโทษทางกฎหมาย

error: Content is protected !!