ธุรกิจTheranos "สตาร์ทอัพ" โกงแหลกฉาวระดับตำนาน

Theranos “สตาร์ทอัพ” โกงแหลกฉาวระดับตำนาน

“สตาร์ทอัพ” (Startup) เป็นคำใหม่ที่เป็นที่นิยมในวงการธุรกิจและการลงทุนไทยในเวลาไม่กี่ปีที่ผ่านมานี้

สำหรับท่านที่ไม่ทราบ สตาร์ทอัพคือบริษัทใหม่ๆ ที่มีไอเดียใหม่ๆ ดังนั้นบริษัทจำนวนมากจะเกี่ยวเนื่องกับเทคโนโลยีเสียเป็นส่วนใหญ่ แต่บางบริษัทก็จัดว่าเป็นสตาร์ทอัพได้เช่นกัน แม้จะไม่เกี่ยวข้องกับเทคโนโลยีล้ำสมัยก็ตาม

โลโก้ของ Theranos

อธิบายสตาร์ทอัพ

เราเรียกสตาร์ทอัพที่ประสบความสำเร็จและเติบโตเป็นบริษัทใหญ่ที่มีมูลค่ามากกว่า 1 พันล้านเหรียญสหรัฐว่า ยูนิคอร์น (Unicorn) ตัวอย่างของบริษัทที่เป็นยูนิคอร์นก็คือ Grab เป็นต้น

จริงๆแล้วบริษัทอย่าง Facebook และ Twitter ก็เคยเป็นยูนิคอร์นเช่นเดียวกัน แต่สองบริษัทหลังนี้เติบโตจนเข้าตลาดหลักทรัพย์ไปแล้ว ทำให้ไม่นับว่าเป็นยูนิคอร์นอีกต่อไป (ตามนิยามแล้วยูนิคอร์นต้องไม่เข้าตลาดหลักทรัพย์)

เส้นทางของบริษัทสตาร์ทอัพไม่ใช่เรื่องง่าย สตาร์ทอัพจำนวนมากมีไอเดียดี แต่ไม่มีเงินทุนสนับสนุน ดังนั้นนักลงทุนที่นำเงินมาลงทุนในสตาร์ทอัพแรกๆ จึงสำคัญมาก นักลงทุนกลุ่มนี้เรียกว่า Venture Capitalists ทั้งหลายหรือที่เรียกกันว่า VC

พวก VC ต้องการหาสตาร์ทอัพที่ประสบความสำเร็จเพื่อขายหุ้นทำกำไรในอนาคต ส่วนเหล่าเจ้าของสตาร์ทอัพก็ต้องการเงินมาขยายกิจการ ถ้าสตาร์ทอัพกลายเป็นยูนิคอร์น ทั้งสองฝ่ายต่างแฮปปี้ ด้วยเหตุนี้ทั้งสองฝั่งจึงเป็น partner กันได้

รายการดังอย่าง Shark Tank เองก็เป็นรายการที่ให้เจ้าของสตาร์ทอัพมาพบกับเหล่านักลงทุนก็เพื่อการนี้นั่นเอง

เรื่องสตาร์ทอัพนี้ฟังดูสวยหรู และเป็นเรื่องใหม่สำหรับประเทศไทย แต่ในประเทศที่พัฒนาแล้วอย่างสหรัฐอเมริกา ถือว่ามีมานานหลายทศวรรษแล้ว เมื่อมีมานานแล้ว เรื่องแย่ๆ ย่อมเกิดขึ้นคู่ไปกับเรื่องดีๆ เช่นกัน เจ้าของสตาร์ทอัพบางแห่งเลือกที่จะ “โกง” นักลงทุน บางคนโกงมานานนับปีจนท้ายที่สุดก็โดนจับได้

เรามาดูกันดีกว่าเคส Theranos เป็นอย่างไร

เอลิซาเบธ ฮอมส์

Theranos เป็นหนึ่งใน Startup ที่เรียกได้ว่าเป็นการลวงโลกที่น่าอัศจรรย์และน่ากลัวครั้งหนึ่งในประวัติศาสตร์ของสตาร์ทอัพเลยก็ว่าได้ เพราะสถานะของ Theranos เคยเป็นถึงยูนิคอร์นในวงการสตาร์ทอัพเลยทีเดียว มูลค่าของบริษัทเคยอยู่ที่ 9 พันล้านเหรียญสหรัฐในปี ค.ศ.2015

เอลิซาเบธ ฮอมส์ By Glenn Fawcett

แต่ปัจจุบันกลับ Theranos ปิดตัวไปแล้ว ทำให้นักลงทุนของ Theranos เรียกได้ว่าสูญเสียเงินลงทุนทุกดอลลาร์

เรื่องมีอยู่ว่าในปี ค.ศ.2002 มีหญิงสาววัย 19 ปี ชื่อเอลิซาเบธ ฮอมส์ (Elizabeth Holmes) กำลังศึกษาอยู่ที่มหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ด มหาวิทยาลัยชั้นนำของประเทศสหรัฐอเมริกา ฮอมส์เกิดไอเดียว่าเธออยากจะทำอุปกรณ์เล็กๆ ที่จะตรวจสอบร่างกายของผู้สวมใส่มันว่าติดเชื้อตรงไหน แล้วปล่อยยาฆ่าเชื้อออกมาทันที

ศาสตราจารย์การ์ดเนอร์ อาจารย์ของเธอบอกฮอมส์ว่าแนวคิดของเธอเป็นไปไม่ได้ แต่ฮอมส์กลับยังไม่ยอมแพ้ เธอต้องการจะวิจัยอุปกรณ์ที่ว่านี้ออกมาให้ได้ ฮอมส์จึงดรอปเรียนที่มหาวิทยาลัยในปีถัดมา และนำเงินของครอบครัวจำนวนหนึ่งมาเปิดบริษัทชื่อ “Real-Time Cures” เพื่อวิจัยอุปกรณ์ดังกล่าวโดยตรง

เทคโนโลยีที่น่าสงสัยของ Theranos

เนื่องจากครอบครัวของฮอมส์มีฐานะดี เธอจึงใช้เส้นสายของครอบครัวในการเข้าถึงนักลงทุน VC หลายคน ทำให้บริษัทของเธอได้รับการร่วมทุนมากถึง 6 ล้านเหรียญในปี ค.ศ.2004 เธอนำเงินดังกล่าวไปทำการวิจัย “เครื่องมือ” ตามแนวคิดของเธอ

ด้วยแนวคิดที่ดูว้าว ทำให้บริษัทของเธอได้รับการสนใจ ขนาดของ Theranos จึงใหญ่ขึ้นตามลำดับ แต่ในปี ค.ศ.2006 เฮนรี่ มอสเลย์ ประธานเจ้าหน้าที่ทางการเงิน (CFO) ถูกไล่ออก เพราะว่าเขาตั้งคำถามเกี่ยวกับเทคโนโลยีที่ Theranos กำลังทำขึ้นว่ามันเป็นไปได้หรือไม่

จริงๆแล้วการที่ CFO ถูกไล่ออกถือว่าเป็นสัญญาณร้ายสำหรับการลงทุน แต่นักลงทุนยังไม่ได้สนใจ นักลงทุนกองทุน VC หลายกองเริ่มนำเงินมาลงทุนใน Theranos มากขึ้นเรื่อยๆ

ในช่วงปี ค.ศ.2007-2012 Theranos หันไปพัฒนาเทคโนโลยีการตรวจเลือดที่ใช้เลือดเพียงเสี้ยวเดียวของการตรวจเลือดแบบทั่วไป หลังจากอ้างว่าพัฒนาอยู่หลายปี Theranos ก็ประกาศว่าตนเองมีเทคโนโลยีดังกล่าวแล้ว และเริ่มต้นแสวงหา partner อย่างบริษัทที่ทำกิจการร้านขายยาในซูเปอร์มาร์เก็ตในอเมริกาอย่าง Walgreens หรือ Safeway

ต้นปี ค.ศ.2012 Theranos เริ่มต้นตรวจเลือดโดยใช้เทคโนโลยีของตนเองที่ร้านของ Safeway บางส่วน ปรากฏว่าผลที่ตรวจแบบปกติกับผลที่ตรวจโดย Theranos แตกต่างกัน ประธานเจ้าหน้าที่ทางการแพทย์ของ Safeway รู้สึกสงสัย แต่ความเห็นของมองข้ามไปโดยประธานกรรมการบริหาร (CEO) ของ Safeway

Theranos และ Safeway เซ็นสัญญาเป็นพันธมิตรกันว่าจะนำเทคโนโลยีของ Theranos มาใช้ตรวจเลือดในร้านของ Safeway ในปีเดียวกันนั้นเอง เช่นเดียวกับ Walgreens ที่ทำสัญญากับ Theranos เหมือนกัน

ฮอมส์พยายามนำเทคโนโลยีตรวจเลือดดังกล่าวไปใช้ในกองทัพสหรัฐ นายทหารชื่อเดวิด ชูเมคเกอร์รู้สึกสงสัยจึงแจ้งไปยัง FDA หรืออย.ของสหรัฐอเมริกาให้ตรวจสอบ เจ้าหน้าที่ของรัฐบาลเดินทางมาตรวจสอบ แต่เมื่อพวกเขามาถึง ราเมช บัลวานี ประธานของ Theranos กลับแจ้งว่าเทคโนโลยียังไม่เสร็จสมบูรณ์ เจ้าหน้าที่จึงเดินทางกลับไป

ในปี ค.ศ.2013 ดร.เอียน กิปบอนส์ (Ian Gibbons) ประธานเจ้าหน้าที่วิทยาศาสตร์ของ Theranos ขัดแย้งกับผู้บริหารของ Theranos อย่างรุนแรง เพราะว่ากิปบอนส์พบว่าไม่มีอะไรสักอย่างของ Theranos ที่มันสามารถใช้งานได้ และยังถูกเตือนจากผู้บริหารไม่ให้พูดมากเรื่องนี้

ปีเดียวกันนั้น Theranos มีกรณีพิพาทสิทธิบัตรกับอีกบริษัทหนึ่ง ในฐานประธานเจ้าหน้าที่วิทยาศาสตร์ กิปบอนส์จึงอยู่ในฐานะที่ต้องให้การต่อศาล ความกดดันดังกล่าวทำให้เขารู้สึกเครียดมาก กิปบอนส์รู้ดีว่าถ้าเขาพูดเรื่องนี้ออกไป เขาและพนักงานจำนวนมากจะตกงาน แต่ถ้าเขาไม่พูด ผู้ป่วยจำนวนมากจะถูกวินิจฉัยแบบผิดๆ ซึ่งจะทำให้คนจำนวนมากต้องตาย เมื่อไม่มีทางออกกิปปอนส์จึงตัดสินใจกินยาเกินขนาดฆ่าตัวตาย

เดือนกันยายน ค.ศ.2013 Theranos ได้ประกาศว่าเทคโนโลยีพร้อมแล้วในเว็บไซต์ของบริษัทและในหนังสือพิมพ์ Wall Street Journal แม้ว่านักวิทยาศาสตร์ในบริษัทจะออกมาแย้งว่ายังไม่พร้อมก็ตาม

จุดสูงสุด

ในช่วงปี ค.ศ.2014-2015 เป็นจุดสูงสุดของ Theranos และเอลิซาเบธ ฮอมส์ เทคโนโลยีที่ดูเหมือนว่าจะเปลี่ยนโลกทำให้บริษัทของเธอถูกตีว่ามีมูลค่ามากถึง 9 พันล้านเหรียญสหรัฐ ตัวฮอมส์จึงเป็นเศรษฐีระดับพันล้านด้วยจำนวนสินทรัพย์ถึง 5.5 พันล้านเหรียญสหรัฐจากการจัดลำดับของ Forbes

ผลที่ตามมาคือ สื่อต่างๆ พากันมาทำข่าวเธอ ฮอมส์ฉวยโอกาสนี้โม้ในความสำเร็จของ Theranos เธอกล่าวว่าบริษัทของเธอสามารถทำการตรวจสอบที่ใช้เลือดได้มากกว่า 200 แบบ โดยใช้หยดเลือดแค่เสี้ยวเดียวเท่านั้น Theranos จึงยิ่งดังเข้าไปใหญ่

ภายในเวลาไม่นาน ฮอมส์กลายเป็นสตาร์และเซเลบในวงการสตาร์ตอัพ เธอได้รับเชิญไปพูดในสถานที่ต่างๆ มากมาย และถึงกับได้ลงหน้าปกนิตยสาร Fortune ด้วย

ภายใต้ภาพลักษณ์ที่ดีเยี่ยม และความ hype ที่ผู้คนจำนวนมากมีต่อเธอ ฮอมส์ไม่รู้เลยว่ากฎแห่งกรรมกำลังสนองเธออย่างเงียบๆ

โดนแฉ

ระหว่างที่ฮอมส์กำลังรุ่งโรจน์ จอห์น คาร์เรย์รู (John Carreyrou) นักข่าวของหนังสือพิมพ์ Wall Street Journal หนังสือพิมพ์ธุรกิจทรงอิทธิพลของอเมริกาได้แอบสืบสวนเคสของ Theranos อยู่พักใหญ่ๆ แล้ว คาร์เรย์รูได้เบาะแสจากหัวหน้าแล็บของ Theranos ที่ลาออกมาแล้วว่า Theranos ละเมิดกฎระเบียบอย่างร้ายแรง และเทคโนโลยีของ Theranos ให้ข้อมูลที่ผิดพลาดโดยสิ้นเชิงกับผู้ป่วย

ฮอมส์ทราบว่าคาร์เรย์รูพยายามคุ้ยเขี่ยบริษัทของเธอ เธอจึงให้ทนายของเธอขู่ว่าจะฟ้องคาร์เรย์รูและหนังสือพิมพ์ Wall Street Journal (WSJ) เป็นเงินก้อนโต ถ้าคาร์เรย์รูตีพิมพ์บทความแฉเธอและ Theranos

ในเดือนกรกฎาคม ค.ศ.2015 Theranos ได้รับอนุญาตจาก FDA ให้ใช้วิธีการตรวจเลือดจากนิ้วเพื่อหาไวรัส HSV-1 ได้ การได้รับอนุญาตครั้งนี้เหมือนเป็นชัยชนะครั้งใหญ่ของฮอมส์เหนือคาร์เรย์รูและนักวิทยาศาสตร์หลายคนที่โจมตี Theranos อยู่เนืองๆว่าเทคโนโลยีดังกล่าวใช้ไม่ได้จริง

หลังจากนั้นฮอมส์ยิ่งกลายเป็นดวงดาวจรัสแสง ประธานาธิบดีโอบามาถึงกับกล่าวว่าฮอมส์เป็นตัวแทนของสหรัฐอเมริกาในวงการผู้ประกอบการ นอกจากนี้ฮอมส์ได้รับเชิญไปพูดในงานจบการศึกษาของมหาวิทยาลัยด้วย กระแสว่าเธอคือสตีฟ จอปส์ร่างหญิงเริ่มมีมากขึ้นตามลำดับ

ในเดือนตุลาคมของปี ค.ศ.2015 เธอได้เข้าเป็นหนึ่งในสมาชิกของ Board of Fellows ของวิทยาลัยแพทย์ของมหาวิทยาลัย Harvard (Harvard Medical School) มหาวิทยาลัยอันดับหนึ่งของโลก ซึ่งอยู่ในเครือ Ivy League

ใน Board of Fellows นี้จะรวมผู้ที่วิทยาลัยว่าเป็นผู้ทรงคุณวุฒิที่ช่วยให้คำปรึกษาแก่วิทยาลัยได้ ดังนั้นฮอมส์จึงได้รับเกียรติอย่างสูงยิ่ง

วันเดียวกับที่ฮอมส์ไปรับตำแหน่งใน Board of Fellows นั้นเอง คาร์เรย์รูก็ตีพิมพ์บทความดังกล่าวในหนังสือพิมพ์ Wall Street Journal ว่านอกจากเทคโนโลยีของ Theranos จะใช้ไม่ได้ผลแล้ว Theranos ยังใช้เครื่องมือทั่วไปของบริษัท Siemens ในการตรวจเลือดของผู้ป่วยส่วนใหญ่และไม่ได้ใช้เทคโนโลยีของตัวเองแต่อย่างใด

อ่านบทความของคาร์เรย์รูได้ที่นี่

บทความของคาร์เรย์รูทำให้ฮอมส์หัวร้อน เธอถึงกับออกมาจากที่ประชุมของ Board of Fellows และรีบไปให้สัมภาษณ์กับสำนักข่าว CNBC เธอกล่าวหาว่าหนังสือพิมพ์ WSJ ว่าเป็นหนังสือพิมพ์แท็ปลอยด์ และปฏิเสธว่าเรื่องทั้งหมดในบทความไม่เป็นความจริง เธอกล่าวว่า

นี่คือสิ่งที่เกิดขึ้นเมื่อคุณทำงานเพื่อเปลี่ยนแปลงสิ่งต่างๆ ตอนแรกพวกเขาคิดว่าคุณบ้า ต่อมาพวกเขาสู้กับคุณ แต่ต่อมาคุณเปลี่ยนโลกได้โดยฉับพลัน

อย่างไรก็ตามผู้คนบางส่วนยังไม่เชื่อเท่าไร เพราะภาพลักษณ์ที่ดีมากของฮอมส์นั่นเอง

ต่อสู้กับความจริง

การถกเถียงของ Theranos และหนังสือพิมพ์ WSJ ดำเนินต่อไปอีกเพียงสามเดือน

ในเดือนมกราคม ค.ศ.2016 เจ้าหน้าที่ขององค์กร CMS องค์กรสาธารณสุขของสหรัฐอเมริกาได้แจ้งคำเตือนต่อ Theranos ว่า จากการตรวจสอบห้องแล็ปของ Theranos เจ้าหน้าที่ได้พบความผิดปกติหลายอย่างที่เกี่ยวข้องกับความสามารถของพนักงาน วิธีปฏิบัติการและอุปกรณ์ของ Theranos นอกจากนี้ Theranos ยังทำการขนถ่ายเครื่องมือที่ไม่ทราบแน่ชัดว่าคืออะไรด้วย

สองเดือนผ่านไป Theranos ไม่สามารถแก้ไขปัญหาดังกล่าวได้ องค์กร CMS จึงห้ามไม่ให้ฮอมส์ปฏิบัติการและเป็นเจ้าของห้องแล็บดังกล่าวเป็นเวลาสองปี ฮอมส์ให้สัมภาษณ์ว่าเธอจะสร้างห้องแล็บขึ้นมาใหม่อีกครั้งหนึ่ง

ช่วงเวลานี้เองที่กระแสเริ่มตีกลับ เจ้าหน้าที่จาก CMS ยิ่งคุ้ยก็ยิ่งเจอ ฮอมส์และ Theranos จึงถูกสั่งห้ามไม่ให้ยุ่งเกี่ยวกับการตรวจเลือดใดๆ เป็นเวลาสองปี แถมองค์กร SEC หรือสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์ (SEC) ยังขอเข้ามาตรวจสอบบริษัทอีก

ทุกสิ่งจึงเริ่มปรากฏชัดว่าเรือชื่อ Theranos กำลังจม พันธมิตรของ Theranos อย่าง Walgreens และ Safeway จึงสละเรือด้วยการยกเลิกสัญญากับ Theranos และปิดศูนย์ตรวจเลือดของ Theranos ทั้งหมด เหล่าผู้บริหารระดับสูงของ Theranos หลายคนก็ชิงลาออกจากบริษัทไปพร้อมๆ กันด้วย

ฮอมส์พยายามแก้ไขสถานการณ์ด้วยการเปลี่ยนธุรกิจไปทำเครื่องมือชนิดใหม่ที่เรียกว่า minilab ฮอมส์ได้ปิดห้องแล็บทั้งหมดตามคำสั่ง และให้พนักงานออกจำนวน 340 คน

ขึ้นปีใหม่ ปี ค.ศ.2017 นักลงทุน ผู้ป่วย และบริษัท Walgreens รุมฟ้อง Theranos ที่รัฐแอริโซนาด้วยข้อกล่าวหาว่า Theranos ได้ให้ข้อมูลการตรวจเลือดที่ผิดพลาดมากมายแก่ชาวแอริโซนาจำนวน 1.5 ล้านคน ฮอมส์ยอมประนีประนอมในชั้นศาลด้วยการคืนค่าใช้จ่ายที่เรียกเก็บมาให้กับชาวแอริโซนาทั้งหมด

ปลายปีนั้น Theranos เริ่มมีปัญหาเรื่องเงินทุนที่ไม่เพียงพอ ฮอมส์จึงเลย์ออฟพนักงานอีกครั้งหนึ่ง และขอให้บริษัททางการเงินของ Fortress Investment Group เข้ามาช่วยเหลือทางการเงิน ฮอมส์หวังว่าวัคซีนซิกาที่ Theranos กำลังพัฒนาอยู่จะได้รับอนุญาตจาก FDA และรายได้จากมันจะช่วยพยุงบริษัทให้ดำเนินต่อไปได้

จุดจบ

ปี ค.ศ.2018 เป็นปีแห่งจุดจบของ Theranos องค์กร SEC ฟ้องว่าฮอมส์และผู้บริหารระดับสูงอีกหลายคน รวมไปถึงตัวบริษัท Theranos กระทำผิดอย่างร้ายแรงข้อหาฉ้อโกง เพราะว่า Theranos ได้ปลอมแปลงบัญชีว่ามีรายได้ถึง 100 ล้านเหรียญสหรัฐ ทั้งที่ความจริงแล้ว Theranos มีรายได้จุบจิบแค่ 100,000 เหรียญเท่านั้นเอง

ฮอมส์ประนีประนอมได้อีกเช่นเดิม เธอยอมจ่ายเงินก้อนโตและได้รับการห้ามไม่ให้เป็นผู้บริหารของบริษัทในตลาดหุ้นเป็นเวลา 10 ปี

ช่วงเดือนเมษายน ค.ศ.2018 Theranos ไม่สามารถผลิตไวรัสซิกาได้อย่างที่ฮอมส์คิดไว้ ทำให้ Theranos มีปัญหาทางการเงินทันที ฮอมส์จำต้องเลย์ออฟพนักงาน 80% ของบริษัทที่เหลืออยู่จากการเลย์ออฟที่ผ่านมา ทำให้ Theranos เหลือพนักงานแค่ 20 กว่าคนเท่านั้น

กลางปี ค.ศ.2018 กระทรวงยุติธรรมสหรัฐได้ฟ้องข้อหาหลอกลวงทางการเงิน (Wire Fraud) จำนวนมากถึง 9 กระทงต่อฮอมส์และราเมซ บัลวานี ทั้งสองปฏิเสธว่าไม่ได้ทำความผิด อัยการจึงฟ้องต่อศาลว่าฮอมส์และบัลวานีทั้งฉ้อโกงนักลงทุน แต่ในขณะเดียวกันก็หลอกแพทย์และผู้ป่วยด้วย

เมื่อถูกฟ้อง ฮอมส์จึงลาออกจากตำแหน่ง CEO ของ Theranos ไม่กี่เดือนต่อมา บริษัท Theranos ก็ออกประกาศต่อนักลงทุนว่าตัวบริษัทจะปิดตัวลง และจะขายสินทรัพย์ทั้งหมดเพื่อนำไปจ่ายหนี้สินที่กู้มา

Theranos จึงเหลือแต่ชื่อนับตั้งแต่บัดนั้น เช่นเดียวกับหุ้นของ Theranos ที่กลายเป็นไม่มีค่าใดๆ

ปัจจุบันคดีของฮอมส์ยังอยู่ชั้นศาล ถ้าเธอได้รับการตัดสินว่าผิดจริง (ซึ่งก็น่าจะจริง) เธออาจจะติดคุกนานถึง 20 ปีเลยทีเดียว

ล่าสุดเรื่องของเธอได้รับการทำเป็นซีรีส์ของ HBO แล้วเป็นที่เรียบร้อย

Sources:

บทความการศึกษา

Victory Tale ไม่อนุญาตให้คัดลอกบทความไปโพสที่ใดทุกกรณี การฝ่าฝืนมีโทษทางกฎหมาย

error: Content is protected !!