ประวัติศาสตร์พระเจ้าตะเบ็งชะเวตี้ตอนที่ 5: ยะไข่และอยุธยา ศึกที่ไม่อาจจะได้ชัยชนะ

พระเจ้าตะเบ็งชะเวตี้ตอนที่ 5: ยะไข่และอยุธยา ศึกที่ไม่อาจจะได้ชัยชนะ

นับตั้งแต่พระเจ้าตะเบ็งชะเวตี้ขึ้นครองราชย์มาจนถึงเสด็จไปตียะไข่ก็เป็นเวลา 11 ปีเท่านั้น แต่เป็นช่วงเวลาแห่งความยิ่งใหญ่ กองทัพตองอูมีชัยในการศึกแทบทุกครั้ง และสามารถล้มอาณาจักรหงสาวดีและสหพันธรัฐฉานที่แข็งแกร่งกว่ามากได้อย่างไม่น่าเชื่อ ทำให้ตองอูกลายเป็นอาณาจักรที่ปกครองดินแดนพม่าได้มากที่สุดตั้งแต่การล่มสลายของอาณาจักรพุกามเลยทีเดียว

ด้วยวัย 31 ปี พระเจ้าตะเบ็งชะเวตี้ทรงเปี่ยมไปด้วยพลัง พระองค์ทรงมีสติปัญญาอย่างล้ำเลิศในการบริหารคน แม่ทัพของพระองค์แต่ละนายไม่ว่าจะเป็นพม่าหรือมอญก็พร้อมต่อสู้ถวายชีวิต ทำให้ดูเหมือนกับว่าพระองค์สามารถที่จะยิ่งใหญ่เป็นจักรพรรดิราชอย่างพระเจ้าอโนรธาเมื่อหลายร้อยปีก่อน

หากแต่ว่าไม่มีใครรู้เลยว่าการไปตียะไข่ครั้งนั้นจะเป็นจุดสูงสุดในชีวิตของพระองค์ นับตั้งแต่บัดนั้นชีวิตของพระเจ้าตะเบ็งชะเวตี้เหมือนเป็นขาลง จนกระทั่งถีงกาลแตกดับในที่สุด

ศึกเมืองมรัคอู

อย่างที่ผมได้อธิบายไปในตอนที่แล้ว (ย้อนอ่านได้ด้านล่าง) มรัคอู เมืองหลวงของยะไข่เป็นเมืองใหญ่ที่มีการป้องกันที่สมบูรณ์แบบทั้งทางบกและทางน้ำไม่ต่างอะไรกับกรุงศรีอยุธยา แถมทหารประจำเมืองก็มีประสบการณ์สูง เพราะเคยรบกับรัฐสุลต่านแห่งเบงกอล (Bengal Sultanate) และชาวโปรตุเกสมาแล้ว พระเจ้ามินบิน กษัตริย์แห่งยะไข่ก็เป็นนักรบ ดังนั้นการจะตีเมืองนี้ให้แตกถือว่าไม่ใช่เรื่องง่าย

ถึงกระนั้นการตีเมืองทันเว ซึ่งเป็นจุดยุทธศาสตร์สำคัญ ทำให้ฝ่ายตองอูเดินทัพทางบกไปยังมรัคอูได้ ดังนั้นพระเจ้าตะเบ็งชะเวตี้ไม่จำเป็นต้องเคลื่อนทัพไปทางเรือ ซึ่งฝ่ายยะไข่เก่งกาจแต่อย่างใด

ทว่าฝ่ายตองอูก็ต้องการใช้เรือรบ เพราะว่าใกล้กับเมืองมรัคอูมีทั้งแม่น้ำกะลาดาน (Kaladan River) ที่มีสาขาน้อยใหญ่ นอกจากนี้ยังมีบึงและทะเลสาบอีกด้วย ดังนั้นถ้าไม่มีเรือรบ ฝ่ายตองอูย่อมเสียเปรียบ พระเจ้าตะเบ็งชะเวตี้จึงโปรดให้ยกกองทัพทั้งบกและเรือไปบรรจบกันเช่นเดิม

แม่น้ำกะลาดานบริเวณใกล้กับเมืองมรัคอู by Go-Myanmar, CC By SA 3.0

สัญญาณแห่งความผิดพลาดกลับเกิดในไม่ช้า เพราะกองทัพเรือตองอูถูกกองทัพเรือยะไข่ตีสกัดไว้ที่ปากแม่น้ำกะลาดาน ทำให้ไม่สามารถเข้าไปถึงตัวเมืองมรัคอูได้ แต่กองทัพบกก็ยังทำผลงานได้ดี นั่นคือสามารถตีเมือง Launggyet เมืองหลวงเก่าของยะไข่ได้สำเร็จ

แม้ว่าจะเหลือเพียงกองทัพบก แต่พระเจ้าตะเบ็งชะเวตี้ก็ยังไม่ยอมแพ้ พระองค์จึงมีรับสั่งให้ทุ่มกำลังเข้าตีเมืองมรัคอูอย่างรุนแรง ปรากฏว่ากองทัพบกตองอูสามารถยึดแนวป้องกันเมืองทางตะวันออกบางส่วนได้ ทำให้ดูเหมือนว่าเมืองน่าจะแตกในไม่ช้า

พระเจ้ามินบินกลับทำสิ่งที่พระองค์ไม่ได้คาดคิด ระหว่างที่ฝ่ายตองอูกำลังตีเมืองอย่างดุเดือดนั้นเอง กษัตริย์แห่งยะไข่มีคำสั่งให้ทหารเปิดประตูเขื่อนที่กั้นแม่น้ำเอาไว้ทั้งหมด มวลน้ำมหาศาลจึงซัดเข้าใส่ทหารตองอูจมน้ำเสียชีวิตไปมากมาย

การสูญเสียทหารเป็นแค่ปัจจัยหนึ่ง แต่อีกปัจจัยหนึ่งที่สำคัญคือ กำแพงเมืองส่วนนั้นกลายเป็นจุดที่ไม่สามารถผ่านได้ เพราะมีน้ำกั้นขวางเอาไว้ กองทัพตองอูที่มีแต่ทหารบกที่ไม่ชำนาญทางน้ำ นอกจากนี้เรือสักลำก็ไม่น่าจะมีอีกด้วย

ด้วยเหตุนี้กองทัพตองอูจึงต้องอพยพขึ้นที่สูง และนำปืนใหญ่เข้ายิงโจมตีเมือง แต่กำแพงเมืองมรัคอูแข็งแกร่งมากเพราะสร้างจากหินชั้นดี แถมเพิ่งผ่านการซ่อมบำรุงไปไม่นานนัก ปืนใหญ่ตองอูจึงไม่ค่อยมีประโยชน์เสียเท่าใด

ส่วนหนึ่งของเมืองมรัคอู ในปัจจุบัน by Go-Myanmar, CC by SA 3.0

สถานการณ์ที่เป็นอยู่สร้างความกังวลให้กับฝ่ายตองอูไม่น้อย เพราะใกล้ฤดูมรสุมเข้าไปทุกที แต่พระเจ้าตะเบ็งชะเวตี้ก็มีรับสั่งให้โจมตีเมืองต่อไป จนกระทั่งวันหนึ่ง

ม้าเร็วได้มาแจ้งให้พระองค์ทราบว่ากองทัพอยุธยาได้เข้าครอบครองเมืองทวาย ซึ่งตองอูถือว่าเป็นเมืองขึ้นของตน มิเพียงเท่านั้นยังคุกคามหัวเมืองชายฝั่งทะเลตะวันออกของอาณาจักรอีกด้วย

ข่าวนี้ได้ทำให้เหล่าแม่ทัพตองอูเริ่มร้อนรน พวกเขาจึงเสนอให้พระองค์ถอยทัพทั้งหมดกลับหงสาวดี (เมืองหลวงของอาณาจักรในขณะนั้น) สาเหตุก็คือจากสถานการณ์ที่เป็นอยู่ แทบจะเป็นไปไม่ได้เลยที่กองทัพตองอูจะตีมรัคอูให้แตกได้ก่อนฤดูฝน เมื่อเวลาผ่านไปเหล่าทหารก็จะยิ่งเหนื่อยอ่อน และอาจจะโดนฝ่ายยะไข่ตีโต้จนแตกยับเหมือนกับสงครามครั้งแรกได้

นอกจากนี้ถ้ายิ่งรอช้าต่อไป กองทัพตองอูจะถอยทัพทางเรือไม่ได้เพราะเป็นฤดูมรสุมที่มีพายุใหญ่ กองทัพทั้งหมดจะต้องถอยไปผ่านเทือกเขาอาระกันโยมา ซึ่งเป็นเรื่องที่แทบจะเป็นไปไม่ได้ในช่วงฤดูฝน และอาจจะต้องเสียทหารจำนวนมากให้กับโรคระบาดด้วย

ด้วยเหตุนี้พวกเขาจึงเสนอว่าทางออกมีอยู่ทางเดียวนั่นคือ พระเจ้าตะเบ็งชะเวตี้ต้องขอเจรจาสงบศึกกับฝ่ายยะไข่แต่โดยดี กองทัพตองอูจะได้ถอยกลับไปได้สะดวกทางเรือ

อย่างไรก็ดีพงศาวดารพม่าและยะไข่ว่าไว้ไม่ตรงกันว่า ใครเป็นคนเสนอว่าจะสงบศึกก่อน พงศาวดารพม่าว่าฝ่ายยะไข่ส่งพระสงฆ์มา 4 รูปเพื่อขอเจรจา แต่ฝ่ายยะไข่กล่าวว่าพระเจ้าตะเบ็งชะเวตี้ให้บุเรงนองไปเป็นทูตเพื่อเข้าไปเจรจาภายในเมืองถึงสองครั้ง โดยในครั้งแรกพระเจ้ามินบินปฏิเสธที่จะพบบุเรงนองอีกด้วย

ผมมองว่าถ้าว่ากันตามสถานการณ์ในขณะนั้น ฝ่ายตองอูยากลำบากกว่าฝ่ายยะไข่มาก ดังนั้นผมจึงเอนเอียงไปข้างพงศาวดารยะไข่ว่าฝ่ายตองอูน่าจะเป็นฝ่ายขอสงบศึกครับ

เนื้อหาในสัญญาสงบศึกก็ไม่ค่อยตรงกันอีก พงศาวดารพม่าว่าพระเจ้ามินบินยอมตั้งแต่ให้อนุชาเป็นเจ้าเมืองทันเวตามเดิม และมอบเมืองเล็กเก้าเมืองให้กับฝ่ายตองอู แลกกับการที่กองทัพตองอูจะถอยกลับไป และเรือรบอีกจำนวนหนึ่ง

ส่วนพงศาวดารยะไข่ว่า ฝ่ายยะไข่ไม่ได้ให้อะไรเลย แต่พระเจ้าตะเบ็งชะเวตี้ส่งมอบสิ่งของมากมายมาให้เพื่อแลกกับการที่ฝ่ายยะไข่ยอมให้ฝ่ายตองอูถอยทัพไปอย่างเป็นระเบียบโดยไม่เข้าโจมตี โดยส่วนตัวผมมองว่าน่าจะเป็น version นี้มากกว่า เพราะตามสถานการณ์แล้ว ฝ่ายตองอูไม่ได้อยู่ในสถานะที่จะต่อรองอะไรได้มากนัก

หลังจากนั้นกองทัพตองอูจึงถอยกลับไป ยะไข่จึงเป็นอาณาจักรที่สามารถต้านทานการรุกรานของกองทัพตองอูไว้ได้ถึงสองครั้ง และจะต้านไว้ได้อีกนานถึงสองร้อยกว่าปี เพราะหลังจากศึกครั้งนี้สามสิบกว่าปี พระเจ้าบุเรงนองได้ส่งกองทัพมาตียะไข่อีกครั้ง แต่ก็ไม่สำเร็จเช่นเดิม กว่าพม่าจะเอาชัยเหนือยะไข่ได้ต้องรอไปถึงสมัยพระเจ้าปดุงแห่งราชวงศ์คองบองเลยทีเดียว

พระเจ้าตะเบ็งชะเวตี้กับอยุธยา

อ้างอิงจากพงศาวดารพม่า การคุกคามเมืองทวายของอยุธยาเป็นสาเหตุสำคัญที่นำไปสู่การถอยทัพของพระเจ้าตะเบ็งชะเวตี้จากมรัคอู แต่ความแปลกก็คือเหตุการณ์นี้ไม่ได้รับการบันทึกเอาไว้ในพงศาวดารไทยเล่มใดเลย ทั้งๆ ที่เหตุการณ์นี้เป็นชนวนที่ทำให้พม่า (ตองอู, อังวะ, etc.) ต้องทำสงครามกับอยุธยาอีกหลายยุคหลายสมัย

ผมจึงมองว่าพระยากาญจนบุรี (แม่ทัพไทยในเหตุการณ์นี้) อาจจะเป็นผู้ลงมือกระทำการดังกล่าวเองโดยไม่ได้รับอนุญาตจากราชสำนัก ทำให้ราชสำนักอยุธยาเองไม่ทราบเรื่อง เพราะในช่วงนั้นก็มีความวุ่นวายภายในอย่างเหตุการณ์เรื่องท้าวศรีสุดาจันทร์อยู่ สมเด็จพระมหาจักรพรรดิเองทรงเพิ่งจะได้ราชสมบัติ การปกครองและการใช้อำนาจเหนือหัวเมืองต่างๆ จึงยังไม่เรียบร้อยดี

แต่ที่แน่ๆ เมื่อพระเจ้าตะเบ็งชะเวตี้เสด็จกลับมาแล้ว พระองค์ได้โปรดให้ส่งกองทัพไปตีกองทัพอยุธยาที่เมืองทวายจนแตกพ่าย และส่งกำลังเข้าปกครองเมืองได้สำเร็จ นับตั้งแต่บัดนั้น เป้าหมายของพระเจ้าตะเบ็งชะเวตี้ก็เปลี่ยนจากยะไข่มาเป็นอยุธยา

ในเดือนตุลาคม ค.ศ.1548 หรือหลังจากถอยมาจากยะไข่ได้เกือบสองปี พระเจ้าตะเบ็งชะเวตี้พร้อมกับกองทัพประมาณ 12,000 คนก็ยกมาตีอยุธยาผ่านด่านเจดีย์สามองค์ ซึ่งถ้าเทียบกันตามสเกลแล้วจะพบว่ากำลังทหารตองอูในครั้งนี้น้อยกว่าศึกยะไข่อยู่พอสมควร

ด่านเจดีย์สามองค์ By Kittipong khunnen – CC BY-SA 4.0

พงศาวดารพม่าเล่าถึงเหตุการณ์การต่อสู้กันในอยุธยาต่างกับพงศาวดารไทยพอสมควร (อย่างเช่นไม่ได้กล่าวถึงวีรกรรมของสมเด็จพระสุริโยทัย หรือการชนช้างใดๆ เลย) แต่เนื้อหาหลักตรงกันนั่นก็คือ กองทัพพม่าสามารถเอาชนะกองทัพอยุธยาได้ที่นอกเมือง ทำให้ฝ่ายอยุธยาต้องถอยเข้าเมือง และป้องกันเมืองอย่างแข็งแกร่ง

หลังจากนั้นเหตุการณ์ก็เหมือนกับที่ยะไข่ นั่นคือตองอูก็ไม่มีกำลังหรือการเตรียมการที่เพียงพอสำหรับการตีเมืองขนาดใหญ่อย่างอยุธยา

ในช่วงนี้มีเรื่องเล่าว่าพระเจ้าตะเบ็งชะเวตี้พยายามที่จะติดสินบนพวกโปรตุเกสให้เปิดประตูเมืองให้ แต่กลับถูกพวกโปรตุเกสปฏิเสธและยังเยาะเย้ยเสียอีก เมื่อแม่ทัพอยุธยาทราบเรื่องจึงเยาะเย้ยซ้ำสอง ด้วยการเปิดประตูเมืองให้ และขอให้พระเจ้าตะเบ็งชะเวตี้ส่งเงินมาให้ตนแทน ซึ่งน่าจะสร้างความอัปยศกับพระองค์ไม่น้อยทีเดียว

กองทัพตองอูล้อมอยุธยาได้ไม่ถึงเดือน กองทัพจากหัวเมืองเหนือของอยุธยาก็ยกเข้ามาใกล้เพื่อตีกระหนาบ พระเจ้าตะเบ็งชะเวตี้จึงโปรดให้ถอยทัพกลับหงสาวดีตามคำแนะนำของบุเรงนอง แต่ในครั้งนี้ไม่มีสนธิสัญญาสงบศึกเหมือนยะไข่ ฝ่ายอยุธยาจึงได้ตามตี ทำให้ทหารตองอูเสียหายไปไม่น้อย บุเรงนองจำต้องตอบโต้ด้วยการซุ่มโจมตี ทำให้กองทัพอยุธยาแตกฉาน และยังจับพระราเมศวรและสมเด็จพระมหาธรรมราชาได้อีกด้วย

ผลสุดท้ายสมเด็จมหาจักรพรรดิต้องทรงยอมเจรจากับพระเจ้าตะเบ็งชะเวตี้ กองทัพตองอูจึงถอยไปได้อย่างสะดวก

อุปนิสัยแปรเปลี่ยน

แม้ว่าจะไม่ได้พ่ายแพ้ในสงครามกับยะไข่และอยุธยา แต่สงครามทั้งสองครั้งถือว่าความล้มเหลวของพระเจ้าตะเบ็งชะเวตี้ เหตุการณ์เหล่านี้น่าจะส่งผลต่อจิตใจของพระเจ้าตะเบ็งชะเวตี้อยู่ไม่น้อย (อ้างอิงจากพงศาวดารพม่า) หลังจากเสด็จกลับหงสาวดี กษัตริย์หนุ่มที่เคยอยู่ในระเบียบวินัย ขยันขันแข็ง ใส่ใจในการบริหารราชการแผ่นดินกลับเริ่มติดเหล้าเพราะการแนะนำของคนสนิทชาวโปรตุเกส

นับตั้งแต่บัดนั้นพระเจ้าตะเบ็งชะเวตี้จึงเสวยสุราอยู่ในพระราชวังทั้งวันคืน และไม่สนใจราชการงานแผ่นดิน การศึกทั้งเลยที่เคยตั้งปณิธานไว้ก็ให้ยกเลิกไปเสียทั้งหมด บุเรงนองจึงต้องว่าราชการแทนพระองค์ไปพลางก่อน

พงศาวดารพม่ายกย่องบุเรงนองว่าเป็นผู้ซื่อสัตย์มาก เพราะเมื่อผู้คนเห็นพระเจ้าตะเบ็งชะเวตี้ทรงเปลี่ยนพระอุปนิสัยเช่นนั้นก็ต่างยุยงให้บุเรงนองขึ้นครองราชย์แทน แต่บุเรงนองกลับปฏิเสธอย่างหนักแน่น และตั้งหน้าตั้งตาทำงานของตนอย่างสุจริต เมื่อมีจังหวะ บุเรงนองจึงฉวยโอกาสอัปเปหิคนสนิทชาวโปรตุเกสไปจากราชสำนักด้วยการส่งลงเรือไปที่อื่น ด้วยหวังว่าพระเจ้าตะเบ็งชะเวตี้จะกลับมาเป็นเช่นเดิม แต่ก็ไม่ประสบความสำเร็จ

แม้ว่าบุเรงนองจะตั้งใจบริหารราชการอย่างเต็มที่ แต่คลื่นใต้น้ำก็เกิดขึ้นอย่างช้าๆ อย่างที่เขาไม่ทันตั้งตัว เพราะเหล่าชาวมอญที่เคยถูกปราบปรามต่างเห็นว่า เมื่อพระเจ้าตะเบ็งชะเวตี้ทรงเป็นเช่นนี้ก็เป็นโอกาสที่พวกตนจะฟื้นฟูอาณาจักรมอญขึ้นมาอีกครั้งหนึ่ง ดินแดนพม่าตอนใต้จึงเกิดกบฏมอญขึ้นอย่างมากมาย

เรื่องนี้เองจะนำไปสู่วาระสุดท้ายของพระเจ้าตะเบ็งชะเวตี้ กษัตริย์พม่าผู้ยิ่งใหญ่ ติดตามอ่านต่อได้ในตอนหน้าครับ

References:

  • Harvey, G. E. (1925). History of Burma: From the Earliest Times to 10 March 1824
  • Rakhine Razawin Thit
  • Hmamnan Yazawin
  • พระราชพงศาวดารพม่า กรมพระนราธิปประพันธ์พงศ์

ย้อนอ่านตอนเก่า

บทความประวัติศาสตร์

Victory Tale ไม่อนุญาตให้คัดลอกบทความไปโพสที่ใดทุกกรณี การฝ่าฝืนมีโทษทางกฎหมาย

error: Content is protected !!