ประวัติศาสตร์พระเจ้าตะเบ็งชะเวตี้ ตอนจบ: วันสุดท้ายของยุวกษัตริย์แห่งตองอู

พระเจ้าตะเบ็งชะเวตี้ ตอนจบ: วันสุดท้ายของยุวกษัตริย์แห่งตองอู

ในช่วงปี ค.ศ.1549 พระเจ้าตะเบ็งชะเวตี้ทรงเปลี่ยนจากหน้ามือเป็นหลังมือ พงศาวดารพม่าให้เหตุผลว่าพระองค์ทรงเสียพระทัยจากความล้มเหลวในสองยุทธการติดๆกันทั้งยะไข่และอยุธยา (ย้อนอ่านได้จากลิงค์ที่ล่างสุดของบทความ) ประกอบกับการเข้ามามีบทบาทของคนสนิทชาวโปรตุเกสที่แนะนำพระองค์ให้รู้จักกับสุรา

นับตั้งแต่บัดนั้นพระองค์จึงไม่ได้ใส่ใจกับกิจการบ้านเมืองแต่อย่างใด และมอบหมายให้มหาอุปราชบุเรงนองเป็นผู้สำเร็จราชการแทนทั้งหมด ส่วนตัวพระองค์ใช้เวลาไปกับการดื่มเหล้าและล่าสัตว์ ซึ่งการล่าสัตว์ของพระองค์นั้นจะเสด็จไปประทับอยู่ในป่าเป็นเวลานานๆ เสียด้วย

จริงอยู่ว่าบุเรงนองเป็นผู้ปกครองที่มีความสามารถและซื่อสัตย์ แต่ในตอนนั้นเรื่องบารมีและความเด็ดขาดยังเทียบไม่ได้กับเจ้าเหนือหัวของเขา ไม่เพียงเท่านั้นพระเจ้าตะเบ็งชะเวตี้ทรงเป็นกษัตริย์ที่ประนีประนอมกับชนชาติต่างๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งชาวมอญมากกว่ากษัตริย์พม่าทั่วไป พระองค์ตั้งพระทัยที่จะรวมชาวมอญเข้ากับพม่า และเป็นกษัตริย์ของทุกผู้ในลุ่มแม่น้ำอิระวดี

ชาวมอญจำนวนมากจึงยำเกรงและให้เคารพพระองค์อย่างสูงเลยทีเดียว เห็นได้จากตลอดเกือบสิบปีที่พระองค์ปกครองหัวเมืองมอญต่างๆ นั้นเกิดกบฏขึ้นน้อยมาก

อย่างไรก็ดีการที่พระองค์แปรเปลี่ยนเป็นอุปนิสัย ทำให้ความยำเกรงที่มีอยู่ลดน้อยลงไปมาก รวมไปถึงขุนนางพม่าอื่นๆ ยังคงกดขี่ชาวมอญลับหลังพระองค์ ชาวมอญจึงยิ่งทวีความไม่พอใจขึ้นตามลำดับ

สมิงทอและกบฏมอญ

ในช่วงเวลานั้นเองได้มีชายผู้หนึ่งได้สึกออกมาจากการเป็นพระภิกษุ เขาคือสมิงทอ (Smim Htaw) โอรสของพระเจ้าบินญาราน และเป็นอนุชาต่างมารดาของพระเจ้าตกายุทพี กษัตริย์คนสุดท้ายของอาณาจักรหงสาวดีที่พระเจ้าตะเบ็งชะเวตี้ทรงได้ชัยชนะเมื่อเกือบสิบปีก่อน

สมิงทอเห็นว่าชาวมอญไม่พอใจอย่างหนักต่อการปกครองของพระเจ้าตะเบ็งชะเวตี้ เขาจึงตั้งตัวเป็นผู้นำและชักชวนให้ชาวมอญลุกฮือขึ้นต่อศู้ ซึ่งปรากฏว่าผู้คนเข้าร่วมมากมาย เกิดเป็นการกบฏใหญ่โตในพม่าตอนใต้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งที่เมืองตะโกง (Dagon) หรือย่างกุ้งในปัจจุบัน

เจดีย์ชเวดากอง เมืองย่างกุ้ง Image by Sharon Ang from Pixabay

เมื่อข่าวการกบฏมาถึงหงสาวดี พระเจ้าตะเบ็งชะเวตี้กำลังจะเสด็จออกไปล่าสัตว์ พระองค์จึงมีรับสั่งให้บุเรงนองนำกองทัพยกไปปราบปราม

บุเรงนองไม่ได้ขัดรับสั่ง แต่ในใจของเขาคงกังวลมิใช่น้อย เพราะเขาเป็นผู้จัดการทุกอย่างในเมืองหลวง ณ เวลานั้นทั้งหมด แถมพระเจ้าตะเบ็งชะเวตี้กำลังจะเสด็จไปล่าสัตว์อีกด้วย นั่นเท่ากับว่าภายในเมืองหงสาวดีที่ชาวมอญเป็นประชากรส่วนใหญ่จะไม่มีผู้ปกครองชาวพม่าหลงเหลืออยู่เลย

ไม่เพียงเท่านั้นเหล่าแม่ทัพชาวพม่าที่ไว้ใจได้ก็ถูกส่งไปปกครองเมืองต่างๆ ตามบำเหน็จรางวัลที่ได้รับ ช่วงนั้นก็ไม่ใช่ช่วงทำศึก ทหารพม่าจากที่ต่างๆจึงถูกส่งกลับบ้านเกิดเมืองนอนไปแล้ว แถมตัวบุเรงนองก็น่าจะแบ่งทหารพม่าเจนศึกไปปราบกบฏด้วย ทหารพม่าในเมืองหงสาวดีและบริเวณโดยรอบจึงเหลือเพียงน้อยนิดภายใต้การควบคุมของมินเยสีหสู น้องชายของบุเรงนอง

นั่นเท่ากับรายรอบพระเจ้าตะเบ็งชะเวตี้จึงเหลือแต่ แม่ทัพ ขุนนาง และทหารมอญเท่านั้น!

สำหรับพระเจ้าตะเบ็งชะเวตี้นั้น พระองค์ทรงไม่เป็นกังวลในเรื่องนี้ พงศาวดารเล่าว่าเพราะพระองค์ทรงไว้พระทัยชาวมอญอย่างสนิทใจ แม่ทัพมอญหลายคนที่เคยทำศึกมีชัยให้กับพระองค์อย่างเช่นสมิงพยุที่ช่วยตีเมืองเมาะตะมะได้สำเร็จนั้น พระองค์ก็ปูนบำเหน็จให้สูงล้ำ อย่างไรก็ดีในสมิงพยุผู้นี้ได้ล่วงลับไปแล้วตั้งแต่ปี ค.ศ.1544 ทำให้เขาไม่สามารถช่วยเหลือพระองค์ได้ในสถานการณ์ที่เป็นอยู่

ลอบปลงพระชนม์

ช่วงเวลานี้เป็นโอกาสที่หาไม่ได้สำหรับเหล่ากลุ่มขุนนางมอญที่คิดจะตั้งตนเป็นใหญ่และฟื้นฟูอาณาจักรหงสาวดีขึ้นมาอีกครั้งหนึ่ง เพราะพระเจ้าตะเบ็งชะเวตี้อยู่ในกำมือพวกตน ส่วนมหาอุปราชบุเรงนองก็ไม่อยู่ที่เมืองหลวง

กลุ่มขุนนางมอญเหล่านี้นำโดยสมิงสอตุด (Smim Sawhtut) ขุนนางคนสนิทของพระเจ้าตะเบ็งชะเวตี้ที่เชื่อกันว่าน่าจะมีเชื้อสายของกษัตริย์หงสาวดี ทั้งนี้สมิงสอตุดเป็นขุนนางคนสนิท เพราะพระเจ้าตะเบ็งชะเวตี้ทรงโปรดให้เป็นถึงเจ้าเมืองจิตตอง และน่าจะได้ควบตำแหน่งกรมวัง ควบคุมกำลังทหารองครักษ์ทั้งหมด

สมิงสอตุดวางแผนไว้ว่าตนจะลวงพระเจ้าตะเบ็งชะเวตี้ไปล่าช้างเผือก หลังจากนั้นจะฉวยโอกาสปลอดคนปลงพระชนม์พระองค์เสีย ต่อมาจะนำกำลังทหารเข้ากวาดล้างทหารพม่าในหงสาวดี และสถาปนาคนขึ้นเป็นกษัตริย์และฟื้นฟูอาณาจักรหงสาวดีขึ้นมาใหม่

หลังจากที่บุเรงนองออกไปแล้ว พระเจ้าตะเบ็งชะเวตี้กำลังจะเสด็จไปล่าสัตว์ เมื่อสมิงสอตุดมาทูลว่ามีผู้พบเห็นช้างเผือกก็ทรงปรารถนาจะได้ไว้ครอบครอง พระองค์จึงโปรดให้เดินทางออกไปจากเมืองหลวงทันที โดยเสด็จไปตั้งค่ายที่ประทับอยู่ที่ปันตะนอ (Pantanaw) เมืองเล็กๆ ในลุ่มแม่น้ำอิระวดี

พระเจ้าตะเบ็งชะเวตี้ประทับอยู่ถึงสามเดือนแต่ก็ไม่เจอช้างเสียที ซึ่งก็ไม่แปลกที่จะไม่เจอ เพราะสมิงสอตุดแต่งเรื่องทั้งหมดขึ้นมา แต่ก็น่าแปลกเช่นเดียวกันที่สมิงสอตุดยังไม่รีบลงมือ อาจจะเป็นเพราะว่าเขาหาโอกาสที่ดีพอไม่ได้ก็เป็นได้

แต่สุดท้ายโอกาสที่ว่าก็มาถึง ซึ่งเป็นวันเกิดครบรอบ 34 พรรษาของพระเจ้าตะเบ็งชะเวตี้พอดิบพอดี ช่วงเช้าของวันนั้นพระเจ้าตะเบ็งชะเวตี้น่าจะเสวยสุราจนหลับไปในที่ประทับ เปิดโอกาสให้สมิงสอตุดส่งมือสังหารสองนายเข้าไปถึงตัวพระองค์ และใช้ดาบตัดพระเศียรจนขาดออก (ลักษณะเดียวกับเตียวหุย) พระเจ้าตะเบ็งชะเวตี้สวรรคตในทันที เป็นอันปิดฉากชีวิตของยุวกษัตริย์พม่าผู้ยิ่งใหญ่

เป็นเรื่องน่าเศร้ายิ่งกว่าที่พระศพและพระเศียรถูกทิ้งไว้กับพระแท่นที่พำนัก จนกระทั่งพระภิกษุรูปหนึ่งเดินทางมาพบ และได้ทำพิธีทางศาสนาและถวายพระเพลิงให้อย่างเรียบๆ ไม่สมกับเกียรติยศแต่อย่างใด

เหตุการณ์หลังจากนั้น

หลังจากพระเจ้าตะเบ็งชะเวตี้สวรรคต สมิงสอตุดได้นำกำลังเข้ายึดเมืองหงสาวดีและสถาปนาตนจึงเป็นกษัตริย์ตามแผนการ หัวเมืองต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นพม่าหรือมอญก็ประกาศตัวเป็นอิสระเช่นเดียวกัน

ตลอดช่วงเวลาที่เกิดเหตุการณ์วุ่นวายนั้น บุเรงนอง รัชทายาทโดยชอบธรรมของพระเจ้าตะเบ็งชะเวตี้อยู่ที่เมืองตะโกง และไล่ตามจับสมิงทออยู่ เมื่อทราบข่าวว่าพระเจ้าตะเบ็งชะเวตี้สวรรคตแล้ว และหัวเมืองทั้งหลายต่างแข็งข้อ บุเรงนองเห็นว่าเหลือกำลังที่จะปราบปรามด้วยกำลังทหารที่มีอยู่ เหล่าทหารมอญน่าจะหนีทัพไปจำนวนมากด้วย เขาจึงนำกำลังที่เหลืออยู่เพียงเล็กน้อยกลับไปเมืองตองอูเพื่อเตรียมการฟื้นฟูอาณาจักร

สำหรับสมิงสอตุดนั้น เมื่อได้บัลลังก์แล้วก็กลับเป็นทรราช ประชาชนชาวมอญจึงเริ่มเกลียดชัง ท้ายที่สุดสมิงสอตุดจึงเสียบัลลังก์ให้กับสมิงทอที่ยกทัพมาตีเมืองหงสาวดี และถูกจับกุมตัวไปประหารชีวิตในที่สุด

แผ่นดินพม่าจึงเป็นกลียุคอีกครั้งหนึ่ง บุเรงนองจะต้องใช้เวลาปราบปรามเป็นเวลานานถึงสามปี จนกระทั่งสามารถรวบรวมดินแดนทั้งหมดได้อีกครั้งหนึ่งในปี ค.ศ.1553 บุเรงนองจึงสถาปนาตนขึ้นเป็นกษัตริย์สืบต่อจากพระเจ้าตะเบ็งชะเวตี้ตามธรรมเนียม

References:

  • Harvey, G. E. (1925). History of Burma: From the Earliest Times to 10 March 1824
  • Hmamnan Yazawin
  • พระราชพงศาวดารพม่า กรมพระนราธิปประพันธ์พงศ์

ย้อนอ่านตอนเก่า

บทความประวัติศาสตร์

Victory Tale ไม่อนุญาตให้คัดลอกบทความไปโพสที่ใดทุกกรณี การฝ่าฝืนมีโทษทางกฎหมาย

error: Content is protected !!