ธุรกิจสเวนเซ่นส์ (Swensen's) จากร้านไอศกรีมโฮมเมดสู่แบรนด์ยักษ์ในไทย

สเวนเซ่นส์ (Swensen’s) จากร้านไอศกรีมโฮมเมดสู่แบรนด์ยักษ์ในไทย

ถ้าพูดถึงแบรนด์ไอศกรีมระดับพรีเมียมแล้ว คงไม่มีแบรนด์ใดที่มีชื่อเสียงไปกว่า สเวนเซ่นส์ (Swensen’s) แบรนด์ไอศกรีมที่มีสาขานับร้อยในประเทศไทย

“สเวนเซ่น” คือนามสกุลของ เอิร์ล สเวนเซ่น (Earle Swensen) ผู้ให้กำเนิดแบรนด์ไอศกรีมแห่งนี้นั่นเอง

สเวนเซ่นส์ By CodeXtractor – Own work, CC BY-SA 3.0,

ต้นกำเนิดของสเวนเซ่นส์

สเวนเซ่นเคยเป็นกะลาสีเรือคนหนึ่งในสงครามโลกครั้งที่สอง ระหว่างที่เขาประจำการ เขาพบว่ามีเครื่องที่สามารถทำไอศกรีมได้ เขาจึงทำไอศกรีมจากเครื่องดังกล่าวแจกจ่ายเพื่อนทหารมากมาย สเวนเซ่นเป็นคนที่มีจินตนาการสูงคนหนึ่ง เขามักจะใช้เวลาไปกับการคิดรสชาติไอศกรีมใหม่ๆ อยู่เสมอ

ในปี ค.ศ.1948 สเวนเซ่นได้เปิดร้านไอศกรีมของเขาเองชื่อ “สเวนเซ่นส์” (นามสกุลของเขาตามด้วย ‘s) ขึ้นมาในเมืองซานฟรานซิสโก รัฐแคลิฟอร์เนีย ประเทศสหรัฐอเมริกา สเวนเซ่นใช้วัตถุดิบที่ดีที่สุดเพื่อผลิตไอศกรีมที่มีคุณภาพสูงสุดให้กับลูกค้า ทำให้ไอศกรีมของเขาเป็นที่นิยมมาก โดยเฉพาะเมนูยอดฮิตอย่าง ซันเดย์ (Sundaes) และ บานาน่าสปลิท (Banana Splits)

จุดเด่นของสเวนเซ่นส์อย่างนึงคือ สเวนเซ่นผู้เป็นเจ้าของมักจะใช้ชื่อจุดสำคัญในเมืองซานฟรานซิสโกเป็นชื่อเมนูไอศกรีมของเขา เช่น Coit Tower และ Ther Fire House

เมื่อเป็นที่นิยม สเวนเซ่นเปิดร้านของตนเอง และขยายกิจการไปเรื่อยตลอดเวลายี่สิบกว่าปี เขายังขายแฟรนไชส์ให้กับเจ้าของธุรกิจคนอื่นที่อยากร่วมลงทุนด้วย ทำให้สเวนเซ่นส์มีร้านหลายสิบร้านในสหรัฐอเมริกา

ช่วงทศวรรษที่ 70 เป็นช่วงที่สำคัญสำหรับสเวนเซ่น ด้วยอายุที่มากขึ้น เขาตัดสินใจขายกิจการทั้งหมดของบริษัทสเวนเซ่นส์ให้กับนักลงทุน ยกเว้นแต่สิทธิการครอบครองร้านในซานฟรานซิสโกเท่านั้น สเวนเซ่นยังคงขายไอศกรีมในร้านดั้งเดิมของเขาต่อไป

ตกต่ำในสหรัฐอเมริกา

เหล่านักลงทุนที่ซื้อสเวนเซ่นส์ไปได้นำแบรนด์ไปพัฒนาต่อจนมีสาขามากกว่า 400 สาขา ในช่วงทศวรรษ 80 แต่ในช่วงทศวรรษ 90 ร้านของสเวนเซ่นส์กลับปิดตัวลงเรื่อยๆ ตามลำดับ

สาเหตุที่สเวนเซ่นส์ตกต่ำลงในอเมริกามีหลายสาเหตุด้วยกัน ในช่วงช่วงเวลานั้น ชาวอเมริกันเริ่มสนใจกับสุขภาพตนเองมากยิ่งขึ้น การบริโภคไอศกรีมที่มีน้ำตาลและไขมันสูงย่อมได้รับความนิยมลดลง

อีกสาเหตุหนึ่งคือ ตลาดไอศกรีมอเมริกันมีการแข่งขันที่สูงมาก แบรนด์ไอศกรีมมีเจ้าตลาดผู้ยิ่งใหญ่อย่าง Häagen-Dazs และ Ben and Jerry’s นอกจากนี้ยังมีแบรนด์ย่อยมีหลายสิบแบรนด์ เช่นเดียวกับร้านไอศกรีมโฮมเมดอีกนับพันนับหมื่นร้านในประเทศ ขนาดเมืองเล็กๆ ยังมีร้านไอศกรีม 1-2 ร้าน

จากที่ได้ลองชิมมา ภายในซูเปอร์มาร์เก็ตที่นิวยอร์กมีแบรนด์ไอศกรีมชั้นดีนับสิบ ผมพบว่ารสชาติของไอศกรีมแบรนด์เล็กไม่ได้แย่กว่าแบรนด์ใหญ่ ทุกแบรนด์ต่างช่วงชิงกันใช้วัตถุดิบที่มีคุณภาพดีที่สุด และตอบโจทย์ทางสุขภาพของผู้บริโภคให้มากที่สุด

ส่วนไอศกรีมโฮมเมดจากร้านทั่วไปนี่ผมบอกได้เลย ว่าถ้าไม่กลัวอ้วนจนเป็นเบาหวาน ผมจะกินทุกวันเลย เพราะมันอร่อยมาก

เพราะฉะนั้นไม่ต้องสงสัยว่า การแข่งขันที่ดุเดือดเช่นนี้ สเวนเซ่นส์จึงเริ่มปิดตัวไปตามลำดับ แต่สำหรับร้านของสเวนเซ่นที่ซานฟรานซิสโกนั้นยังอยู่ดี สเวนเซ่นบริหารร้านเองจนกระทั่งถึงปี ค.ศ.1994 ที่เขาเริ่มมีสุขภาพไม่ดี สเวนเซ่นเสียชีวิตในปี ค.ศ.1995 ด้วยวัย 83 ปี

ตลอดชีวิตของสเวนเซ่น เขาคิดค้นไอศกรีมมากกว่า 150 รส และผลิตไอศกรีมมากว่า 50 ปี

หลังจากการเสียชีวิตของสเวนเซ่น กิจการของสเวนเซ่นส์ในสหรัฐอเมริกาตกต่ำเรื่อยๆ ตามลำดับ ในปัจจุบันทั่วทั้งสหรัฐอเมริกาเหลือสเวนเซ่นส์เพียง 3 สาขาเท่านั้น หนึ่งในสาขาที่ยังเปิดอยู่คือสาขาแรก หรือสาขาดั้งเดิมที่สเวนเซ่นได้เป็นผู้เปิดนั่นเอง ปัจจุบันเจ้าของแบรนด์สเวนเซ่นส์คือบริษัท IFC (International Franchise Group) ของประเทศแคนาดา

แม้กิจการที่อเมริกาจะไม่ดีนัก สเวนเซ่นส์กลับประสบความสำเร็จมากในต่างประเทศโดยเฉพาะในประเทศไทย

ความรุ่งเรืองในเอเชีย

ในปี ค.ศ.1986 บริษัทไมเนอร์ฟู้ด (Minor Food) ของประเทศไทยได้ซื้อแฟรนชายส์ของสเวนเซ่นส์มาเปิดกิจการในประเทศไทย ด้วยความที่ในช่วงเวลานั้นไอศกรีมคุณภาพดียังไม่มีในประเทศไทยมากนัก การตีตลาดที่เหมาะสมและปรับเปลี่ยนรสชาติให้เข้ากับความชอบของคนไทยทำให้สเวนเซ่นส์เป็นที่นิยม ไมเนอร์กับสเวนเซ่นส์จึงประสบความสำเร็จอย่างมาก สาขาของสเวนเซ่นส์เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ในประเทศไทยในเวลาที่ผ่านไป

ปัจจุบันสเวนเซ่นส์ยังได้ขยายตัวไปหลายจังหวัดในประเทศ เช่นเดียวกับในประเทศเพื่อนบ้านอย่าง พม่า เวียดนาม กัมพูชา ลาว และปากีสถาน โดยรวมแล้วสเวนเซ่นส์ที่อยู่ใน franchise ของไมเนอร์มีมากถึง 310 สาขา และกำลังจะเพิ่มขึ้นอีกมาก เพราะภูมิภาคอย่างประเทศ CLMV ยังมีศักยภาพที่ไมเนอร์จะเปิดร้านสเวนเซ่นส์ได้อีกในอนาคต

ดังนั้นเราอาจจะกล่าวได้ด้วยซ้ำไปว่า ไมเนอร์ฟู้ดและความสำเร็จในประเทศไทยคือส่วนสำคัญที่ทำให้แบรนด์สเวนเซ่นส์ไม่ถูกกลืนหายไปจากโลกโดยแบรนด์อื่นๆ อย่างที่เกิดขึ้นในประเทศสหรัฐอเมริกามาแล้ว

อย่างไรก็ตาม อย่าได้แปลกใจถ้าไปสเวนเซ่นส์สาขาอื่นที่ไม่ใช่ของไมเนอร์ฟู้ด แล้วมีอาหารอื่นๆ ขายด้วยนอกจากไอศกรีม สเวนเซ่นส์ในประเทศอย่างสิงคโปร์ (ไม่ใช่ของไมเนอร์) ขายแม้กระทั่งสเต็กชิ้นโต!

Sources:

บทความการศึกษา

Victory Tale ไม่อนุญาตให้คัดลอกบทความไปโพสที่ใดทุกกรณี การฝ่าฝืนมีโทษทางกฎหมาย

error: Content is protected !!