การศึกษาถ้าสอบไม่ติด "โรงเรียน" หรือ "มหาวิทยาลัย" ในฝันจะซิ่วดีหรือไม่?

ถ้าสอบไม่ติด “โรงเรียน” หรือ “มหาวิทยาลัย” ในฝันจะซิ่วดีหรือไม่?

การซิ่วคือการที่เราเข้าสอบคัดเลือกในปีถัดมา หลังจากที่ปีปัจจุบันหรือปีแรกนั้น เราสอบไม่ติดโรงเรียนหรือมหาวิทยาลัยที่หวังไว้ ซึ่งถ้าเราทำได้สำเร็จ เราก็จะเสียเวลาไป 1 ปีและได้เรียนกับรุ่นน้องในโรงเรียนหรือมหาวิทยาลัยที่เราปรารถนา

ส่วนมากแล้วเด็กที่เลือกที่จะซิ่วส่วนใหญ่จะเป็นเด็ก ม.6 ที่พลาดพลั้งจากการสอบเข้ามหาวิทยาลัย ทำให้หลายคนเลือกที่จะยอมเสียเวลา 1 ปีเพื่อให้โอกาสตัวเองอีกครั้งหนึ่ง แต่เด็ก ม.3 เองก็มีหลายคนที่ซิ่วเข้าโรงเรียนมัธยมปลายชั้นนำ

โดยส่วนตัวผมต้องออกตัวก่อนว่าไม่เคยซิ่วแต่อย่างใด แต่ได้พบเห็นประสบการณ์ของเพื่อนหลายคนทั้งที่ตัดสินใจซิ่วและไม่ซิ่วในสถานการณ์ต่างๆ กัน ผมเลยขอนำประสบการณ์ดังกล่าวมาแบ่งปันในโพสนี้ครับ

อย่างไรก็ดีในโพสนี้จะเป็นความคิดเห็นส่วนตัวของผมเท่านั้น เด็กซิ่วแต่ละคนจะมีสถานการณ์ที่ต้องเผชิญต่างกันไป ดังนั้นไม่ควรจะเชื่อในคำแนะนำตามโพสนี้มากเกินไป แต่ควรพิจารณาตามปัจจัยและความเป็นจริงที่เกิดขึ้นครับ

Image by Anastasia Gepp from Pixabay

สอบเข้า ม.4 ไม่ติด ซิ่วดีหรือไม่?

การซิ่วมักจะเริ่มต้นกันที่ระดับชั้น ม.4 เพราะมีการสอบเข้าโรงเรียนใหญ่ๆ ที่มีชื่อเสียงอย่างเช่นโรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา โรงเรียนมหิดลวิทยานุสรณ์ ฯลฯ โรงเรียนเหล่านี้มีการแข่งขันสูงมาก ทำให้นักเรียนส่วนใหญ่ที่สมัครสอบไม่ผ่านการคัดเลือกเข้าเรียน

โดยส่วนตัวแล้ว ผมมองว่าถ้าสอบโรงเรียนเหล่านี้ไม่ติด ไม่ควรซิ่ว ครับ

จริงอยู่ว่าการเรียนที่โรงเรียนดังจะข้อดีมากมาย ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มเพื่อนที่ใหญ่กว่า กิจกรรมที่หลากหลายมากกว่า สังคมที่เป็นเด็กเรียนเด็กขยัน โอกาสในการศึกษาที่อาจจะเข้ามามากกว่า และข้อดีอื่นๆ มากมาย

แต่ผมบอกได้เลยว่าจากประสบการณ์ส่วนตัวของผมแล้ว โรงเรียนดังไม่ใช่สวรรค์ชั้นดาวดึงส์ เรามีโอกาสเจอสิ่งที่แย่ๆ เช่นกัน อาทิเช่นความเครียดที่เกิดจากการแข่งขันที่สูงเสียดฟ้า รวมไปถึงปัญหาการศึกษาไทยที่ไม่ว่าจะอยู่โรงเรียนไหนก็ต้องเจอ

ครูของโรงเรียนดังไม่จำเป็นว่าต้องเลิศเลอ perfect ทุกคน ครูมีทั้งดีและแย่ปะปนกันไป มีโอกาสเช่นกันที่ครูโรงเรียนดังจะดีไม่เท่ากับครูโรงเรียนเก่า เช่นเดียวกับเพื่อนที่จะเจอทั้งมีน้ำใจและเห็นแก่ตัวสุดๆ คละเคล้ากันไป

สำหรับเรื่องการเรียน ผมขอย้ำเลยว่า นักเรียนโรงเรียนดังไม่ได้เก่งกว่านักเรียนโรงเรียนธรรมดาเสมอไป นักเรียนจากโรงเรียนทั่วไปสามารถพัฒนาตัวเองให้เก่งเท่ากับนักเรียนโรงเรียนดังได้เช่นกัน และบางคนอาจจะเก่งกว่าเสียด้วย

การสอบไม่ติดโรงเรียนดังในชั้น ม.4 จึงไม่ได้แปลว่าจะสอบเข้ามหาวิทยาลัยไม่ได้

เพื่อนผมคนหนึ่งสอบไม่ติดโรงเรียนดังสักโรงเรียนตอนจบ ม.3 แต่กลับสอบเข้าคณะทันตแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ซึ่งเป็นคณะและมหาวิทยาลัยในฝันของเขาได้อย่างสบายๆ ตอนจบ ม.6 โดยที่ไม่ได้ซิ่วเข้าโรงเรียนดังแต่อย่างใด

ดังนั้นผมจึงไม่สนับสนุนการเสียเวลา 1 ปีเพื่อซิ่วมาเข้าโรงเรียนดังเลย ถ้าสอบไม่ติดโรงเรียนดังตอน ม.4 การอยู่โรงเรียนเดิมหรือโรงเรียนทั่วไปที่เข้าได้จึงเป็นทางเลือกที่ดีกว่า ยกเว้นเสียว่าเรามีความต้องการอย่างยิ่งยวดที่จะเข้าโรงเรียนดัง หรือว่าสาเหตุเฉพาะอื่นๆครับ

สอบเข้ามหาวิทยาลัยไม่ติด ซิ่วดีหรือไม่?

ถัดมา เราจะมาว่ากันถึงคำถามโลกแตก นั่นคือสอบเข้ามหาวิทยาลัยไม่ติด จะซิ่วดีหรือไม่?

คำถามนี้ผมบอกเลยว่าตอบยาก เพราะคนที่อยากซิ่วมีหลายสาเหตุด้วยกัน อาทิเช่น

  • ไม่ติดคณะที่ต้องการ
  • ไม่ติดมหาวิทยาลัยที่ต้องการ
  • สาเหตุอื่นๆ อีกล้านแปดพันเก้า อย่างเช่นเรียนไปแล้ว ค้นพบตนเองว่าไม่ชอบคณะที่เรียน

เราจะมาเริ่มกันที่ “ไม่ติดคณะที่ต้องการ” กันก่อน

สำหรับผมแล้ว ในกรณีนี้ ผมสนับสนุนให้ซิ่ว 100% ครับ และไม่ต้องฝืนเรียนครับ

ผมมองว่า การเลือกคณะก็คือการเลือกสายอาชีพ ถ้าเราเกิดไม่ชอบคณะที่เรียนขึ้นมา เกรดในมหาวิทยาลัยก็ไม่น่าจะดี ความสุขในการเรียนในมหาวิทยาลัยก็จะไม่ค่อยมี

นอกจากนี้เราอาจจะไม่ชอบงานที่ตรงกับสาขาที่เรียนมาอีก ทำให้เราต้องไปสมัครงานที่ไม่ตรงสาย หรือว่าไปเรียนเพิ่มเติม ซึ่งจะทำให้ชีวิตเรามีความซับซ้อนมากขึ้น โดยเฉพาะในช่วงที่เศรษฐกิจไม่ดี ตำแหน่งงานในบริษัทต่างๆ หายาก

เมื่อเกิดปัญหาเหล่านี้สิ่งที่ตามมาก็คือความเครียด ความกังวล หรือแม้กระทั่งโรคซึมเศร้า ผมจึงบอกเลยว่าไม่คุ้มหรอกครับกับการฝืนเรียนให้จบ

ยกตัวอย่างเช่นถ้าเราอยากจะเป็นหมอ แต่คะแนนไม่ถึง เพราะขาดไปนิดเดียว ผมแนะนำให้ลองใช้เวลา 1 ปี และซิ่วเข้าคณะแพทย์ดูครับ เพื่อนผมคนนึงเค้าใช้วิธีนี้ในการซิ่วเข้าหมอให้ประสบความสำเร็จมาแล้ว

  • ตอบรับการเข้าเรียนในคณะที่ตัวเองติด แต่ใช้สิทธิ์การดรอป นั่นคือยังไม่ลงเรียนตัวใดๆ ในปีนั้นๆ
  • ใช้เวลาทั้งหมดในการอ่านหนังสือเตรียมสอบ
  • ถ้ารู้สึกว่าวิชาไหนยังไม่พร้อมก็กลับไปเรียนพิเศษครับ ไม่ต้องอายว่าต้องไปเรียนกับรุ่นน้อง

ภายในเวลา 1 ปี เพื่อนผมพร้อมมากๆ กับการสอบ ทำให้สุดท้ายแล้วเค้าติดคณะแพทย์สมใจครับ ทุกวันนี้เป็นแพทย์เฉพาะทางไปแล้ว

บางคนอาจจะคิดว่าเสียเวลา 1 ปีคุ้มเหรอ ผมบอกเลยว่าคุ้มครับ เพราะการเลือกคณะครั้งนี้เหมือนลิขิตชีวิตเราไปนับสิบปีเลย นอกจากนี้ถ้าเป็นต่างประเทศ อย่างเช่นสหรัฐอเมริกา นักเรียนมักจะดรอปเรียน 1 ปีกันโดยทั่วไปอยู่แล้ว เราจึงไม่ต้องไปกลัวว่ากว่าจะจบตอนอายุ 23-24 ปีครับ

ส่วนใครที่เรียนในคณะที่ได้ไปแล้ว กลับค้นพบตัวเองว่าไม่ชอบคณะที่เรียนเลย ผมไม่แนะนำให้ฝืนเช่นกัน เพราะเหตุผลคล้ายกับที่ว่าไปแล้วด้านบนครับ

แต่สำหรับคนที่ “ไม่ติดมหาวิทยาลัยที่ต้องการ” คือคนละเคสกัน

เคสที่ว่าจะเป็นแบบ นักเรียนคนหนึ่งอยากเข้าวิศวะจุฬามาก แต่คะแนนไม่ถึง ได้วิศวะที่อื่นแทน เลยเกิดความคิดว่าจะซิ่วเพื่อเข้าวิศวะจุฬา

เคสนี้บอกเลยว่าซับซ้อนครับ โดยส่วนตัวผมเคยประสบกับปัญหาแนวๆนี้เช่นเดียวกัน ความคิดว่าจะซิ่วเคยเข้ามาอยู่ในหัว แต่สุดท้ายไม่ได้ซิ่วครับ เพราะผมคิดว่าระดับมหาวิทยาลัยที่ผมติดกับมหาวิทยาลัยที่หวังไว้ก็ไม่ได้ต่างกันเสียเท่าใดนัก เรียนจบมาก็ไม่ต่างกันเท่าไร การจะไปซิ่วไปย่อมเสียเวลาและยุ่งยากเปล่าๆ เอาเวลาไปเรียนในมหาวิทยาลัยให้ดีจะดีกว่า

ดังนั้นผมจึงมองว่า ถ้ามหาวิทยาลัยที่ในฝันกับมหาวิทยาลัยที่คุณติดไม่ได้มีระดับที่ต่างกันแบบฟ้ากับเหว ผมไม่แนะนำให้ซิ่วครับ แต่ถ้ามหาวิทยาลัยที่ติดกับที่ฝันไว้ต่างกันมาก และคุณคิดว่าถ้าคุณได้เข้ามหาวิทยาลัยในฝันแล้ว ชีวิตจะดีกว่ามากๆ ในกรณีหลังนี้ก็ซิ่วเถอะครับ

ข้อควรพิจารณาในการซิ่ว

ในการอธิบายประเด็นต่างๆ ด้านบน ผมยังไม่ได้อธิบายถึงปัจจัยสำคัญอย่างหนึ่งที่เราต้องพิจารณาในการซิ่ว

นั่นคือโอกาสที่คุณจะติดคณะและมหาวิทยาลัยในฝัน โดยอ้างอิงจากคะแนนล่าสุดที่คุณมีอยู่

จริงอยู่ว่าคุณมีโอกาสเพิ่มคะแนนได้อย่างมากในเวลา 1 ปี แต่โอกาสที่คะแนนจะขึ้นไม่มากนักก็มีเช่นกัน การซิ่วจึงจัดว่าเป็นความเสี่ยงอย่างหนึ่ง

ดังนั้นคุณควรจะลดความแรงของรายชื่อของมหาวิทยาลัยที่คุณจะสมัครลงมาเสียหน่อย อย่างเช่นถ้าคุณจะซิ่วเข้าหมอ คุณไม่ควรเลือกมหาวิทยาลัยระดับท็อปทุกอันดับ คุณอาจจะเลือกมหาวิทยาลัยในฝันเป็นอันดับ 1 ส่วนอันดับถัดมา เลือกเป็นมหาวิทยาลัยระดับรองลงมา เพื่อเพิ่มโอกาสติดคณะที่ต้องการ เนื่องจากคะแนนที่ใช้จะน้อยกว่าครับ

บทความการศึกษา

Victory Tale ไม่อนุญาตให้คัดลอกบทความไปโพสที่ใดทุกกรณี การฝ่าฝืนมีโทษทางกฎหมาย

error: Content is protected !!