ประวัติศาสตร์เมื่อ "กรุงโรม" ถูกพวกวิสิกอธตีแตกและปล้นสะดมในปี ค.ศ.410

เมื่อ “กรุงโรม” ถูกพวกวิสิกอธตีแตกและปล้นสะดมในปี ค.ศ.410

จักรวรรดิโรมัน (Roman Empire) หรือเรียกสั้นๆว่า “โรม” เป็นหนึ่งในจักรวรรดิที่แข็งแกร่งและรุ่งเรืองที่สุดที่โลกนี้เคยมีมา แต่ทุกสิ่งล้วนแต่ไม่แน่นอน จักรวรรดิโรมันจึงไม่สามารถหลบเลี่ยงความล่มสลายไปได้

ในต้นศตวรรษที่ 5 จักรวรรดิได้ถูกแบ่งเป็นสองส่วนได้แก่ จักรวรรดิโรมันตะวันตกที่ปกครองดินแดนในอิตาลี สเปน คาร์เธจ อังกฤษ และฝรั่งเศส และจักรวรรดิโรมันตะวันออกที่ปกครองดินแดนในกรีซ เอเชียไมเนอร์ ตะวันออกกลาง และอียิปต์

กรุงโรมถูกปล้นสะดมในปี ค.ศ.410

สำหรับจักรวรรดิโรมันตะวันตกได้อ่อนแอลงมากแล้วจากการบริหารที่ปราศจากประสิทธิภาพ ปัญหาเศรษฐกิจที่เรื้อรัง และศักยภาพของกองทัพที่อ่อนแอลง ทำให้จักรวรรดิโรมันตะวันตกเป็นได้อย่างมากเงาของอดีตที่รุ่งเรืองเท่านั้น

หมายเหตุ: ชื่อในบทความนี้อ้างอิงจากการอ่านแบบละติน ซึ่งอาจจะแตกต่างจากภาษาอังกฤษ

วิสิกอธ

พวกวิสิกอธ (Visigoths) เป็นหนึ่งในชนเผ่าที่มีความสัมพันธ์อันย่ำแย่กับจักรวรรดิโรมันทั้งสองมานานแล้ว ในปลายศตวรรษที่ 4 พวกวิสิกอธตีกองทัพโรมันแตกยับในสมรภูมิที่เอเดรียโนเปิล แถมยังสังหารจักรพรรดิโรมันตะวันออกได้อีกด้วย

ในช่วงปี ค.ศ.395 พวกวิสิกอธได้ผู้นำใหม่นามกว่า อลาริค (Alaric) หรือ อลาริคุส (Alaricus) ผู้นำคนใหม่พยายามจะรุกรานอาณาจักรโรมันตะวันออก แต่กลับพ่ายแพ้ต่อธีโอดอสซีอุสที่ 1 (Theodosius I) จักรพรรดิโรมันตะวันออก อลาริคจึงต้องยอมแพ้และกลายเป็นหนึ่งกองกำลังชนเผ่าที่ธีโอดอสซีอุสนำมาใช้งาน

อลาริค

เมื่อธีโอดอสซีอุสเปิดศึกกับจักรวรรดิโรมันตะวันตกในสงครามระหว่างจักรวรรดิโรมันทั้งสอง อลาริคได้นำกองทัพของเขาไปช่วยธีโอดอสซีอุสด้วยกำลังวิสิกอธประมาณสองหมื่นคน แต่แล้วการต่อสู้อย่างรุนแรงทำให้ที่ Frigidus ทำให้ทหารวิสิกอธตายไปถึงหนึ่งหมื่นคน แม้ว่าฝั่งของธีโอดอสซีอุสและอลาริคจะได้รับชัยชนะก็ตาม

ธีโอดอสซีอุสยกย่องในความกล้าหาญของอลาริค แต่ไม่ได้มอบยศตำแหน่งใหญ่โตอะไรให้ ทำให้อลาริคไม่พอใจสักเท่าใดนัก แถมเขายังไม่พอใจที่พวกโรมันตะวันออกจงใจทำให้พวกวิสิกอธอ่อนแอลง ด้วยการใช้ให้ไปสู้รบเป็นกองหน้าในสมรภูมิจนได้รับความเสียหายอย่างหนัก

ความไม่พอใจของอลาริคปะทุขึ้นมาหลังจากที่ธีโอดอสซีอุสสวรรคต อลาริครวมรวมพวกวิสิกอธแถบแม่น้ำดานูบให้เป็นหนึ่งเดียวแล้วประกาศตนเป็นกบฏ กองทัพของอลาริคมุ่งหน้ามายังกรุงคอนแสตนติโนเปิล เมืองหลวงของจักรวรรดิโรมันตะวันออกราวกับลมพัด

ด้วยความที่จักรวรรดิโรมันทั้งสองกำลังวุ่นวายทางการเมือง จักรวรรดิโรมันตะวันออกจึงยอมสงบศึกกับอลาริคโดยมอบตำแหน่งผู้ว่าราชการแห่งดินแดน Illyricum ให้กับอลาริคตามที่เขาต้องการ

หากแต่ว่าในปี ค.ศ.400 ภายในกรุงคอนสแตนติโนเปิลได้เกิดความวุ่นวายขึ้น ทำให้ชาววิสิกอธที่อาศัยอยู่ในเมืองถูกสังหารเป็นจำนวนมาก อลาริคเองก็ถูกปลดจากตำแหน่งที่เขาได้รับด้วย นอกจากนี้กองทัพของพวกฮั่นกำลังเข้ามาใกล้ถิ่นอาศัยของพวกวิสิกอธ อลาริคจึงไม่มีทางเลือกอื่น เขารู้ดีว่าการต่อกรกับจักรวรรดิโรมันตะวันออกยากเกินไปสำหรับในเขาในสถานการณ์ขณะนั้น

แต่ถ้าเขารุกรานจักรพรรดิโรมันตะวันตกที่อ่อนแอกว่าเล่า เขาและประชาชนของเขายังมีโอกาสรอด ดังนั้นอลาริคจึงนำกองทัพบุกเข้าไปในจักรวรรดิโรมันตะวันตกทันที

จักรวรรดิที่อ่อนแรง

การตายของธีโอดอสซีอุส ผู้เป็นจักรพรรดิโรมันทั้งสองจักรวรรดิทำให้จักรวรรดิโรมันตะวันตกอยู่ในสถานการณ์ที่ย่ำแย่ เพราะตัวจักรวรรดิกำลังประสบปัญหาจากการกบฏและการแย่งชิงอำนาจทางการเมือง

กองทัพของอลาริคบุกมาถึงเมือง Mediolanum (ปัจจุบันคือเมืองมิลาน) เมืองหลวงของจักรวรรดิโรมันตะวันตกในขณะนั้น แต่กลับพ่ายแพ้ต่อแม่ทัพโรมันนามว่าสติลิโช (Stilicho) ทำให้ทหารวิสิกอธของเขาแตกหนีไปเป็นจำนวนมาก บางส่วนก็ยอมจำนนต่อพวกโรมัน อลาริคเองจำต้องนำกำลังที่เหลืออยู่ถอยขึ้นเหนือไปฟื้นฟูกำลังใหม่ ในเวลาไม่นานอลาริคก็ยอมเจรจาและกลายเป็นพันธมิตรของสติลิโช

อย่างไรก็ตามอลาริคไม่เคยยกเลิกการก่อกวนจักรวรรดิโรมัน เขาข่มขู่ว่าเขาจะโจมตีจักรวรรดิโรมันถ้าเขาไม่ได้เงินตามที่เขาต้องการ สติลิโชจึงเจรจากับอลาริคและหาเงินมาจ่ายให้อลาริคได้ตามคำขอ เพราะสติลิโชไม่ต้องการจะรบกับอลาริคในเวลานั้น เขาต้องการจัดการกับพวกกบฏเสียก่อน

ฮอนโนริอุส

อย่างไรก็ตาม ก่อนที่สติลิโชจะจ่ายเงินที่เขาสัญญาไว้กับอลาริค เขากลับถูกจับกุมและประหารชีวิตเสียก่อนโดยฮอนโนริอุส (Honorius) จักรพรรดิโรมันตะวันตกในเวลานั้น ฮอนโนริอุสยังสั่งให้กวาดล้างพวกที่เป็นมิตรกับสติลิโชมาก่อนทั้งหมดด้วย โดยเฉพาะพวกชนเผ่าต่างๆ ที่สติลิโชรับเข้ามาเป็นทหารและพลเมืองโรมัน

ชนเผ่าเหล่านี้จึงหนีตายไปหาอลาริคผู้ที่รับพวกเขาไว้ อลาริคส่งสาส์นไปหาฮอนโนริอุสเพื่อเจรจา โดยอลาริคขอให้ฮอนโนริอุสมอบเงินให้กับตน พร้อมทั้งส่งบรรดาพวกชนเผ่าทั้งหลายให้กับเขา และอนุญาตให้พวกวิสิกอธตั้งหลักปักฐานในดินแดน Pannonia

ฮอนโนริอุสกลับปฏิเสธ อลาริคจึงนำกองทัพวิสิกอธและชนเผ่าอื่นๆ บุกดินแดนอิตาลีทันที

การรุกรานของพวกวิสิกอธ

่กองทัพโรมันไม่ใช่กองทัพที่แข็งแกร่งเหมือนในอดีตอีกแล้ว อลาริคสามารถตีเมืองต่างๆ แตกอย่างรวดเร็ว โซซิมุส (Zosimus) เล่าว่ากองทัพของอลาริคเหมือนกับมางานเลี้ยงฉลองมากกว่ามาทำสงคราม เพราะว่ากองทัพของเขาไม่ประสบกับการต่อต้านเลย พวกวิสิกอธปล้นสะดมเมืองต่างๆ ตามทางได้อย่างสบายใจ

ท้ายที่สุดกองทัพวิสิกอธยกลงมาใกล้กรุงโรม หนึ่งในเมืองใหญ่ที่สุดของโลกในยุคนั้น

แม้โรมจะเป็นเมืองใหญ่ แต่เมืองหลวงของจักรวรรดิโรมันตะวันตกกลับไม่ได้ตั้งอยู่ที่นั่นเป็นเวลานานแล้ว ในเวลานั้นเมืองหลวงของจักรวรรดิอยู่ที่ราเวนนา (Ravenna) หลังจากที่ฮอนโนริอุสย้ายเมืองหลวงมาจาก Mediolanum เมื่อหลายปีก่อน

เมื่อเห็นกองทัพวิสิกอธมาตั้งอยู่ที่หน้าเมือง ชาวโรมันในเมืองต่างตื่นตระหนกอย่างมาก เพราะเมืองไม่เคยถูกคุกคามในลักษณะนี้มานานเกือบ 800 ปีแล้ว สถานการณ์ย่ำแย่ลงทุกทีเพราะอลาริคได้ตัดเสบียงอาหารทั้งหมดที่เข้าสู่โรม ทำให้การขาดอาหารเริ่มเกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว ผู้คนจำนวนมากเผชิญกับโรคระบาดและภาวะขาดอาหารทำให้ล้มตายลงเป็นจำนวนมาก

สภาเซเนตจึงตัดสินใจต้องอัปยศด้วยการส่งทูตไปเจรจาขอหย่าศึก อลาริคจึงเรียกร้องอย่างมหาศาล เขาต้องการทองคำ 5,000 ปอนด์ เงิน 30,000 ปอนด์ ผ้าไหม 4,000 ชุด สิ่งของเครื่องใช้อื่นๆ อีกมากมาย และทาสอนารยชนทั้งหมดในโรม

สภาเซเนตไม่มีทางเลือกนอกจากอนุญาตให้ตามคำขอ พวกเขานำเทวรูปเก่าแก่ของศาสนากรีก-โรมันเดิมมาหลอมเพื่อนำทองและเงินไปมอบให้กับอลาริค ความอัปยศดังกล่าวทำลายเกียรติภูมิของจักรวรรดิโรมันที่สร้างมาจนสิ้น

เมื่อได้รับค่าไถ่แล้ว อลาริคจึงถอนกำลังออกไปในปี ค.ศ.408 ตลอดที่โรมถูกปิดล้อมนั้น ฮอนโนริอุส จักรพรรดิโรมันตะวันตกไม่ได้ส่งทหารมาช่วยเลยสักคนเดียว!

รุกรานครั้งที่สอง

ฮอนโนริอุสที่ไม่ได้ส่งทหารมาช่วยโรมเลยสักคนเดียวกลับทำสิ่งที่โง่เขลาที่สุด เขาแอบส่งทหารราบจำนวนหกพันนายไปยังโรมระหว่างที่อลาริคกำลังถอยทัพ แม่ทัพโรมันที่นำทหารไปกลับเดินทัพไปในเส้นทางใหญ่ด้วย โดยที่ไม่ได้หลบหลีกกองทัพวิสิกอธเลยแม้แต่น้อย อลาริคจึงเข้าตีกองทหารโรมันกองดังกล่าวจนแตกกระเจิง ทหารโรมันหลายพันคนถูกสังหาร ทหารที่ฮอนโนริอุสส่งไปเหลือเพียง 100 คนเท่านั้นที่ไปถึงโรมได้สำเร็จ

ด้วยความโกรธแค้น อลาริคจึงนำกำลังทหารมายังโรมอีกครั้งและปิดล้อมกรุงโรม ภายในเมืองประสบกับการขาดแคลนอาหารอีกครั้งหนึ่ง ทำให้สภาเซเนตต้องส่งทูตมาเจรจากับอลาริค

ในครั้งนี้อลาริคกลับเสนอให้โรมเลือกจักรพรรดิคนใหม่แทนที่ฮอนโนริอุส แล้วตนเองจะถอนกำลังออกไปจากโรม สภาเซเนตไม่มีทางเลือก พวกเขาจึงเลือกอัตตาลุส (Attalus) ขึ้นเป็นจักรพรรดิอีกคนหนึ่งแข่งกับฮอนโนริอุสที่ราเวนนา

หากแต่ว่าปัญหากลับลุกลาม เมื่อผู้ว่าราชการเมืองต่างๆ กลับยังจงรักภักดีต่อฮอนโนริอุส พวกเขาจึงไม่ส่งเสบียงอาหารเข้ามาในกรุงโรม ทำให้ราษฎรอดอยากอย่างมาก

อัตตาลุสพยายามแก้ปัญหาด้วยการส่งกองทัพยกไปปราบปรามผู้ว่าราชการเหล่านั้น แต่เขาพยายามไม่ใช้กองทัพของอลาริคเพราะว่าเขาไม่ไว้ใจพวกวิสิกอธว่ามีแผนการอะไรหรือไม่

กองทัพที่อัตตาลุสส่งไปกลับถูกตีแตกที่คาร์เธจ ในแอฟริกา ทำให้อลาริคเห็นว่ามีอัตตาลุสก็ไม่ได้มีประโยชน์อะไรขึ้นมา เขาจึงถอดอัตตาลุสออกจากการเป็นจักรพรรดิโรมันตะวันตก และส่งทูตไปเจรจากับฮอนโนริอุส

อลาริคปล้นสะดมกรุงโรม

การปล้นสะดมกรุงโรม

ทั้งสองฝ่ายตกลงกันว่าจะเจรจากันที่นอกเมืองราเวนนา อลาริคปฏิบัติตามสัญญาด้วยการนำกองกำลังส่วนหนึ่งมาเพื่ออารักขา เขามาถึงสถานที่นัดพบก่อนที่ฮอนโนริอุสจะเดินทางออกมา

เรื่องกลับเป็นว่า ซารุส (Sarus) ชาววิสิกอธที่เคยแก่งแย่งตำแหน่งกับอลาริคและได้ยอมจำนนต่อพวกโรมันได้ซุ่มโจมตีอลาริคที่สถานที่นัดพบแห่งนั้น อลาริครอดชีวิตมาได้หวุดหวิด เขาคิดว่าการลอบโจมตีของซารุสเป็นแผนการของฮอนโนริอุสที่จะลวงตนเองไปฆ่า แม้ว่าจริงๆ แล้วฮอนโนริอุสอาจจะไม่มีส่วนเกี่ยวข้องก็ตาม

ดังนั้นอลาริคจึงโกรธมาก เขาสั่งให้กองทัพยกไปตีกรุงโรมอีกครั้งหนึ่งเพื่อล้างแค้น

ชาวโรมันถูกล้อมเมืองมาเป็นครั้งที่สามในระยะเวลาห่างกันไม่นาน พวกเขาจึงไม่สามารถต่อสู้ป้องกันเมืองได้อีกต่อไป เมืองจึงเสียแก่อลาริคได้อย่างง่ายดาย ในวันที่ 24 สิงหาคม ค.ศ.410 เชื่อว่าชาวโรมันบางส่วนที่ทนกับความอดอยากต่อไปไม่ไหวอีกแล้ว ได้เปิดประตูเมืองให้กองทัพของอลาริคเข้ามา

การปล้นสะดมครั้งนี้เป็นครั้งแรกในรอบกว่า 800 ปีของกรุงโรม อย่างไรก็ตามการปล้นสะดมครั้งนี้กลับไม่ได้รุนแรงมากนัก แม้ว่าเราจะใช้เกณฑ์ความรุนแรงแบบในอดีตก็ตาม

พวกวิสิกอธพุ่งเป้าไปที่การปล้นสะดมทรัพย์สินของมีค่ามากกว่าที่จะฆ่าฟันผู้คน ผู้คนส่วนใหญ่ถูกจับเป็นเชลยเพื่อรอการไถ่ตัว บางคนถูกจับไปขายเป็นทาส หากแต่ว่าบางคนก็ถูกสังหารและข่มขืนเช่นเดียวกัน แต่สำหรับสิ่งก่อสร้างแล้วเหลือรอดมาได้เกือบสมบูรณ์ โดยเฉพาะสิ่งก่อสร้างทางศาสนาที่อลาริคแทบไม่ได้แตะต้องเลย

ภายในเวลาไม่กี่วัน พวกวิสิกอธก็ออกจากโรม และมุ่งหน้าลงใต้เพื่อปล้นสะดมต่อไป

สำหรับฮอนโนริอุสแล้ว เขาไม่ได้ทำอะไรเช่นเดิม มีตำนานเล่าว่าเมื่อฮอนโนริอุสทราบข่าวจากคนรับใช้ว่า “โรม” ได้วอดวายไปแล้ว เขาคิดว่าคนรับใช้หมายถึงไก่ตัวโปรดชื่อ “โรม” ที่เขาเลี้ยงไว้ มันได้แสดงถึงความอ่อนด้อยความสามารถในตัวของฮอนโนริอุสได้เป็นอย่างดี อย่างไรก็ตามนักประวัติศาสตร์อย่างเอ็ดเวิร์ด กิปบอน มองว่าไม่น่าจะเป็นเรื่องจริง

ฮอนโนริอุสกับไก่ของเขา

ผลที่ตามมา

อลาริคที่มุ่งหน้าลงใต้กลับล้มป่วยและเสียชีวิตลงหลังจากนั้นไม่นาน ทำให้พวกวิสิกอธเลือก Ataulf เป็นผู้นำคนใหม่ของพวกเขา ต่อมา Ataulf ได้นำชนเผ่าของเขาขึ้นเหนือ และมุ่งหน้าไปยังสเปน ท้ายที่สุดแล้วพวกวิสิกอธได้สร้างอาณาจักรของตนเองทางใต้ของฝรั่งเศส และตอนเหนือของสเปน

การปล้นสะดมกรุงโรมมีส่วนสำคัญทำให้ชาวคริสต์และศาสนิกกรีก-โรมันขัดแย้งกันอย่างรุนแรง ทั้งสองฝ่ายต่างใช้เหตุการณ์นี้พยายามสร้างความชอบธรรมให้กับศาสนาของตนเอง

นอกจากนี้การที่กรุงโรมถูกพวกปล้นสะดมเป็นครั้งแรกในรอบ 800 ปีได้สร้างความตื่นตระหนกไปทั่วดินแดนทั้งสองจักรวรรดิโรมัน ผู้คนจำนวนมากรู้สึกตกใจที่โรม เมืองอันเป็นต้นกำเนิดของสองจักรวรรดิกลับถูกพวกอนารยชนปล้นสะดมได้อย่างง่ายดายเช่นนี้ มันได้แสดงถึงความอ่อนแอของจักรวรรดิโรมันตะวันตกที่ไม่สามารถต้านทานการรุกรานของข้าศึกได้อย่างเช่นในอดีต กองทัพโรมันที่เข้มแข็งไม่มีอยู่อีกต่อไปแล้ว

จักรวรรดิโรมันตะวันตกไม่มีโอกาสฟื้นฟูความยิ่งใหญ่กลับมาได้อีก ตัวจักรวรรดิเหลือแต่เพียงชื่อในปี ค.ศ.476 เมื่อ Odoacer ได้ถอด Romulus Augustulus ออกจากตำแหน่งจักรพรรดิ

Sources:

  • Peter Heather, The Fall of the Roman Empire: A New History of Rome and the Barbarians
  • Edward Gibbon, Decline and Fall of the Roman Empire: Volume II

บทความการศึกษา

Victory Tale ไม่อนุญาตให้คัดลอกบทความไปโพสที่ใดทุกกรณี การฝ่าฝืนมีโทษทางกฎหมาย

error: Content is protected !!