ประวัติศาสตร์วันสุดท้ายของ "กาหลิบ" แห่งแบกแดด ความพินาศครั้งใหญ่แห่งยุคกลาง

วันสุดท้ายของ “กาหลิบ” แห่งแบกแดด ความพินาศครั้งใหญ่แห่งยุคกลาง

หลังจากที่ศาสนาอิสลามเกิดขึ้นมา รัฐอิสลามที่ปกครองโดยกาหลิบ (Caliph) ได้ถือกำเนิดขึ้นมาด้วย กาหลิบมุสลิมได้ขยายอาณาจักรปกครองไปทั่วทุกสารทิศ อย่างรัฐกาหลิบแอบบาสิด (Abbasid Caliphate) ที่มีศูนย์กลางอยู่ที่กรุงแบกแดดได้ครอบครองดินแดนอันยิ่งใหญ่จากเอเชียกลางไปจนถึงลิเบีย

อย่างไรก็ตามในช่วงศตวรรษที่ 13 รัฐกาหลิบที่เคยยิ่งใหญ่ได้อ่อนแอลงมาก และต้องเผชิญกับกองทัพที่สร้างความย่อยยับไปทุกสารทิศอย่างกองทัพมองโกลด้วย ชะตากรรมของรัฐกาหลิบแห่งนี้จะเป็นอย่างไร

รัฐกาหลิบในยามอัสดง

รัฐกาหลิบแอบบาสิด หรือ อาณาจักรแอบบาสิดเคยเป็นอาณาจักรที่ยิ่งใหญ่อย่างที่ได้กล่าวไปแล้ว ในช่วงศตวรรษที่ 8 กาหลิบแอบบาสิดยังเคยส่งกองทัพไปช่วยเหลือราชวงศ์ถังปราบปรามกบฏอันลู่ซานด้วย แบกแดด เมืองหลวงของอาณาจักรเป็นเมืองที่ใหญ่โตมีประชากรถึงหนึ่งล้านคนเลยทีเดียว

พวกมองโกลเข้าตีแบกแดด

อย่างไรก็ตามในช่วงศตวรรษที่ 13 แอบบาสิดไม่หลงเหลือความแข็งแกร่งในอดีตหลงเหลืออยู่แล้ว ดินแดนที่เคยเป็นส่วนหนึ่งของแอบบาสิดต่างแยกตัวเป็นอิสระ อำนาจของกาหลิบเองก็เหลือน้อยเต็มที ราชสำนักแบกแดดอยู่ในอำนาจของพวกแม่ทัพและเสนาบดีเชื้อสายเติร์กหรือมัมลุก

ช่วงต้นปี ค.ศ.1220 เจงกิสข่านและกองทัพมองโกลทำลายอาณาจักรควาเรสเมียย่อยยับ ดินแดนเอเชียกลางและเปอร์เซียทั้งหมดอยู่ในการควบคุมของพวกมองโกล พรมแดนของจักรวรรดิมองโกลและแอบบาสิดจึงติดกัน หลังจากนั้นกองทัพมองโกลกองเล็กๆ เข้ามาปล้นสะดมและรบกวนแอบบาสิดอยู่อย่างสม่ำเสมอ

ในปี ค.ศ.1238 และ ปี ค.ศ.1245 กาหลิบแห่งแอบบาสิดพยายามขับไล่กองทัพมองโกลไปจากอาณาจักรซึ่งก็ทำได้สำเร็จ แต่ทุกคนในอาณาจักรต่างรู้ดีว่า พวกตนไม่มีทางเอาชนะการรุกรานของกองทัพมองโกลได้ แอบบาสิดจึงเริ่มส่งบรรณาการให้กับข่านแห่งมองโกลนับตั้งแต่บัดนั้น

ช่วงทศวรรษ 1240 อันเป็นหัวเลี้ยวหัวต่อ แอบบาสิดเกิดการผลัดแผ่นดิน กาหลิบองค์ใหม่ขึ้นครองราชย์มีนามว่า อัลมุสตาซัม (Al-Musta’sim) ชะตาได้กำหนดให้เขาเป็นกาหลิบคนสุดท้ายแห่งแบกแดด

อัลมุสตาซัม

อัลมุสตาซัมผู้นี้เป็นกาหลิบที่นักประวัติศาสตร์เห็นพ้องต้องกันว่าเป็นกาหลิบที่แย่ที่สุด หลักฐานต่างๆ บอกไปในทางเดียวกันว่า เขาเป็นคนอ่อนแอ ไร้ความสามารถ ขี้ขลาด และสนใจเรื่องฮาเร็มและการล่าสัตว์ของตัวเองมากกว่าเรื่องของบ้านเมือง

ในรัชกาลของอัลมุสตาซัม กองทัพแอบบาสิดจะถูกเกณฑ์ในช่วงมีภัยเท่านั้น ในช่วงที่ไม่มีสงคราม กองทัพจะถูกยกเลิกเพื่อประหยัดเงินทอง ทำให้ทหารแอบบาสิดปราศจากคุณภาพและระเบียบวินัย พวกเขาพร้อมที่จะยอมจำนน และรักตัวกลัวตายมาก

ในปี ค.ศ.1257 ฮูเลกู หรือฮูลากู น้องชายของเหมิ่งเกอข่านและกุบไลข่านได้รับมอบหมายให้นำกองทัพยกมารุกรานแบกแดด และดินแดนอื่นๆ ในเมโสโปเตเมีย แต่ก่อนที่จะเข้าตีแอบบาสิด ฮูเลกูได้นำกองทัพไปจัดการพวกนิซารี ซึ่งเป็นพวกมือสังหารที่มีอิทธิพลในตะวันออกกลางเสียก่อน

ระหว่างการปราบปรามพวกนิซารี ฮูเลกูได้ขอกองทัพสนับสนุนจากอัลมุสตาซิม แต่อัลมุสตาซิมกลับไม่ได้ช่วยเหลือฮูเลกูแต่อย่างใด ทำให้ความสัมพันธ์ทางสองฝ่ายเริ่มย่ำแย่ ฮูเลกูเองก็ได้ข้ออ้างอย่างสมบูรณ์ในการรุกรานแบกแดด

พวกนิซารีไหนเลยจะต้านทานกองทัพมองโกลได้ พวกเขาถูกกวาดล้างเกือบจะราพณาสูรในปีเดียวกันนั้น เมื่อพวกนิซารีพินาศไปแล้ว เส้นทางสู่แบกแดดของกองทัพมองโกลจึงเปิดออก

ฮูเลกู

ฮูเลกูยังหวังว่าเขาจะพิชิตแอบบาสิดได้โดยไม่ต้องใช้กำลัง เขาจึงส่งสาส์นมายังแบกแดด และขอให้แอบบาสิดยอมจำนนโดยปราศจากการต่อต้าน และทำลายแนวป้องกันทุกอย่างเสีย มิฉะนั้นฮูเลกูจะทำตามนี้

ข้าจะลากเจ้าลงมาจากยอดชั้นฟ้า เช่นเดียวกับสิงโต ข้าจะโยนเจ้าลงไปในหลุมที่ลึกที่สุด ข้าจะไม่ให้ใครเหลือรอดสักคนเดียวในอาณาจักรของเจ้า ข้าจะเปลี่ยนเมือง ดินแดน และอาณาจักรของเจ้าให้กลายเป็นเปลวเพลิง

ฮูเลกู

แทนที่อัลมุสตาซัมจะขอโทษขอโพยที่ไม่ได้ส่งกองทัพไปช่วยเหลือ อัลมุสตาซัมกลับตอบกลับไปว่า เขาไม่ต้องการสงคราม แต่ถ้าฮูเลกูต้องการมันแล้วนั้น

โปรดอย่าได้ลังเล หรือมีข้ออ้างใดๆ ถ้าเจ้าต้องการจะต่อสู้ ข้ามีกองทหารราบและม้านับล้านนายที่พร้อมจะทำสงคราม

อัลมุสตาซัม

ช่างเป็นการโอ้อวดคำโตของอัลมุสตาซัม กองทัพแอบบาสิดในเวลานั้นมีจำนวนเพียงหลักหมื่น และไม่อยู่ในสภาพที่พร้อมรบเลยแม้แต่น้อย

อย่างไรก็ดี อัลมุสตาซัมน่าจะตอบไปตามที่ แอมีนาล แอคามี (Ibn al-Alkami) ปุโรหิตชาวชีอะห์ของเขาแนะนำ ปุโรหิตผู้นี้ยังทูลอัลมุสตาซัมให้ทราบถึงความน่ากลัวของการรุกรานจากกองทัพมองโกลต่ำกว่าความเป็นจริง และยังทูลว่าถ้ากองทัพมองโกลเข้าใกล้แบกแดด อาณาจักรมุสลิมทั้งหลายย่อมไม่อยู่เฉยและต่างยกกำลังมาช่วยแอบบาสิดอย่างแน่นอน

เมื่อฮูเลกูได้อ่านจดหมาย เขาสั่งให้เตรียมกองทัพยกไปตีแบกแดดทันที แต่ก่อนที่จะยกไป ฮูเลกูได้ให้ทูตมองโกลนำสาส์นอีกฉบับหนึ่งไปให้อัลมุสตาซัมเพื่อข่มขู่

ปรากฏว่าเมื่อทูตมองโกลมาถึง พวกเขากลับโดนชาวเมืองแบกแดดรุมซ้อม ทำให้ฮูเลกูโกรธมาก กองทัพมองโกลนับแสนคนจึงมุ่งหน้ามายังแบกแดดทันที

ศึกแบกแดด

แม้ว่าจะส่งสาส์นท้าทายและปล่อยให้ทูตมองโกลโดนรุมซ้อม อัลมุสตาซัมกลับไม่เกณฑ์กองทัพเข้ามาป้องกันเมือง กำแพงเมืองก็ไม่ได้รับการเสริมแต่อย่างใด ภายในวันที่ 11 มกราคม ค.ศ.1258 กองทัพมองโกลก็มาถึงเมือง

อัลมุสตาซัมส่งทหารสองหมื่นคนข้ามแม่น้ำไทกริสเพื่อสกัดปีกขวาของกองทัพมองโกล แทนที่กองทัพมองโกลจะเข้าต่อสู้ พวกเขากลับถอยทัพล่อให้กองทัพแอบบาสิดตามไป

กองทัพแอบบาสิดติดตามไปอย่างไม่ระมัดระวัง ฮูเลกูจึงสั่งให้ทหารของเขาทำลายคันกั้นน้ำทั้งหมด มวลน้ำจำนวนมหาศาลจากแม่น้ำไทกริสท่วมทหารแอบบาซิดทั้งทหารสองหมื่นคนสิ้นชีวิตเกือบทั้งหมด

ฮูเลกูสั่งให้กองทัพมองโกลเข้าตีแบกแดดทุกด้านในวันที่ 30 มกราคม โดยใช้เครื่องยิงมากมายระดมยิงหินและลูกไฟเข้าใส่เมือง พลธนูมองโกลก็ระดมยิงลูกธนูจำนวนมหาศาลเข้าไปในเมือง ทำให้ท้องฟ้าเต็มไปด้วยลูกธนู การโจมตีของกองทัพมองโกลทำให้ชาวเมืองบาดเจ็บล้มตายมาก

กองทัพมองโกลเข้าโจมตีแบกแดด

แม้จะถูกโจมตีหนักเช่นนั้น อัลมุสตาซัมกลับยังคิดว่ากองทัพมองโกลไม่น่าจะตีเมืองให้แตกได้ หารู้ไม่ฮูเลกูได้ส่งกองทัพออกไปสกัดทางหนีออกจากเมืองไว้ทุกด้านแล้วเป็นที่เรียบร้อย

ในวันที่ 1 กุมภาพันธ์ กองทัพมองโกลบุกเข้าโจมตีจากกำแพงเมืองที่เสียหายและเข้าควบคุมกำแพงเมืองฝั่งตะวันออกไว้ได้ทั้งหมด อัลมุสตาซัมเห็นท่าไม่ดีจึงส่งทูตไปขอเจรจา แต่จริงๆ คือต้องการจะถ่วงเวลา ฮูเลกูมาถึงขั้นนี้แล้วมีหรือจะเจรจาด้วย คำขอเจรจาถูกปฏิเสธทั้งหมด

ช่วงเวลานี้เองชาวเมืองจำนวนมากพยายามจะหนีออกจากเมือง แม้กระทั่งพวกแม่ทัพนายกองหลายนายด้วยเช่นกัน แต่ไม่มีใครเลยที่จะหนีออกจากเมืองไปได้ พวกมองโกลเข้าตีสกัดเอาไว้ได้ และสังหารทิ้งทั้งหมด

กองทัพมองโกลยังคงยิงกระหน่ำเมืองจากทุกด้านต่อไป ในวันที่ 5 กุมภาพันธ์ อัลมุสตาซัมพร้อมแล้วที่จะยอมจำนน อีกห้าวันต่อมา เขาและครอบครัว รวมไปถึงชนชั้นสูงอีก 3,000 คนออกจากเมืองไปที่ค่ายมองโกลเพื่อยอมจำนนอย่างเป็นทางการ การต่อต้านของชาวเมืองแบกแดดจึงหยุดลงไปด้วย

ฮูเลกูให้การต้อนรับพวกเขาอย่างดี ทั้งอัลมุสตาซัมและชาวเมืองจำนวนมากที่ทนการโจมตีอย่างรุนแรงของกองทัพมองโกลมาสิบกว่าวันต่างรู้สึกโล่งใจที่เรื่องร้ายๆ น่าจะจบลงเสียที

ไม่มีใครรู้เลยว่าสิ่งที่เกิดกับพวกเขาก่อนหน้านี้เป็นเพียงน้ำจิ้มเท่านั้น

ฮูเลกูทำลายแบกแดด

ฮูเลกูรู้อยู่เต็มอกว่าตัวเขาได้ให้โอกาสแบกแดดและแอบบาสิดในการยอมจำนนไปแล้ว แต่พวกแอบบาสิดกลับปฏิเสธ และมายอมจำนนเมื่อต้านทานกองทัพมองโกลไม่ไหว การกระทำเช่นนี้ถือเป็นการทรยศในสายตาชาวมองโกล

ดังนั้นเมื่อกองทัพมองโกลเข้าเมือง เสียงการฟาดฟันด้วยดาบดังไปทั่วทุกหนแห่งในเมือง เชื่อกันว่าชาวเมืองแบกแดดสิ้นชีวิตในวันนั้นอย่างน้อย 200,000 คน หลังจากการฆ่าฟันสิ้นสุดลง ทหารมองโกลได้ปล้นสะดมทุกสิ่งในเมือง และกวาดต้อนของมีค่าทุกอย่างไป อย่างไรก็ดีฮูเลกูสั่งไม่ให้พวกทหารมองโกลทำอันตรายและปล้นสะดมทรัพย์สินแก่ชาวคริสต์และชาวยิวที่อยู่ในเมืองแต่อย่างใด

หลังจากปล้นสะดมเสร็จแล้ว ฮูเลกูสั่งให้พวกทหารมองโกลเผาเมืองแบกแดดทั้งเมือง ปราสาทราชวังอันเป็นที่ประทับของกาหลิบแอบบาสิดมานานหลายร้อยปี ห้องสมุด สถานศึกษา ที่อยู่อาศัยมากมายถูกจุดไฟเผาจนพังพินาศหมดสิ้น

ความรุนแรงการทำลายของพวกมองโกลเห็นได้จากการที่น้ำในแม่น้ำไทกริสกลายเป็นสีดำและสีแดง สีดำมาจากหนังสือจำนวนมากที่ถูกนำไปทำลาย ส่วนสีแดงมาจากเลือดของชาวเมืองนั่นเอง

ความสูญเสียที่แบกแดดนั้นเป็นความสูญเสียครั้งยิ่งใหญ่ของประวัติศาสตร์โลก ในระดับที่เรียกได้ว่าไม่เคยปรากฏมาก่อนเลยก็เป็นได้

วาระสุดท้ายของอัลมุสตาซัม

ท้ายที่สุดแล้ววาระสุดท้ายของกาหลิบผู้นี้ก็มาถึง ฮูเลกูได้สั่งให้อัลมุสตาซัมบอกสถานที่เก็บสะสมทรัพย์สมบัติทุกแห่งในเมืองให้กับเขา อัลมุสตาซัมยอมปฏิบัติตามแต่โดยดี

หลังจากนั้นฮูเลกูได้สั่งให้อัลมุสตาซัมนำผู้หญิงมาถวายให้ อัลมุสตาซัมขอให้พวกมองโกลอนุญาตให้ตนรักษาผู้หญิงไม่ให้โดนย่ำยีไว้ได้ 100 คน ปรากฏว่าฮูเลกูอนุญาตให้ตามคำขอ

อัลมุสตาซัมจึงเลือกผู้หญิงที่เป็นญาติของตนเองมาไว้ 100 คน เพื่อไม่ให้โดนย่ำยี ส่วนนางในฮาเร็มทั้งหลายถูกพวกมองโกลนำไปแบ่งกัน สำหรับพวกขันทีถูกประหารชีวิตทั้งหมด

สิบกว่าวันผ่านไป พวกมองโกลถอนกำลังออกจากแบกแดด เพราะในเมืองเริ่มมีโรคระบาด ฮูเลกูนำตัวอัลมุสตาซัมและเชื้อพระวงศ์ไปด้วย สุดท้ายแล้วฮูเลกูก็ตัดสินใจว่าเขาจะต้องปลงพระชนม์อัลมุสตาซัมเสีย

ฮูเลกูขังอัลมุสตาซัมไว้กับของมีค่าของเขา

ฮูเลกูได้ถามอัลมุสตาซัมว่า ภายในเมืองมีของมีค่ามากมายมหาศาลทำให้เขาถึงไม่จ้างทหารมาป้องกันเมือง หรือแม้กระทั่งมอบเป็นบรรณาการแก่กองทัพมองโกลตามที่ได้ขอมาตั้งแต่แรก อัลมุสตาซัมได้แต่เงียบและไม่สามารถให้คำตอบได้

การที่อัลมุสตาซัมเงียบเช่นนั้น ทำให้ฮูเลกูทราบว่าอัลมุสตาซัมเห็นแก่ของมีค่า เขาจึงสั่งให้ขังอัลมุสตาซัมไว้กับของมีค่าเหล่านั้นจนเขาขาดอาหารสวรรคตไป แต่บางฉบับเล่าว่าอัลมุสตาซัมสวรรคตด้วยวิธีแบบมองโกล เขาถูกนำตัวเข้าไปห่อในพรมและให้ม้าเหยียบจนตาย บุตรชายของอัลมุสตาซัมเองก็ถูกประหารชีวิตยกเว้นแต่บุตรชายคนสุดท้ายเท่านั้นที่ถูกส่งตัวไปยังมองโกเลีย เชื้อพระวงศ์ชายแอบบาสิดอื่นๆ ล้วนแต่ไม่รอดชีวิต

ผลที่ตามมา

ความย่อยยับที่เกิดกับแบกแดดในเวลานั้นรุนแรงอย่างที่ไม่มีใครคาดคิด ไม่ว่าจะเป็นทุกขภัยแห่งจิ้งคัง หรือ การเสียกรุงคอนสแตนติโนเปิลต่อพวกออตโตมันก็ไม่อาจเทียบได้ โลกมุสลิมถึงกับตกตะลึงกับข่าวที่ได้รับจากแบกแดด ราชวงศ์แอบบาสิดที่สืบทอดมาจากศาสดามูฮัมหมัดไม่มีอยู่อีกแล้ว รัฐกาหลิบที่เคยยิ่งใหญ่กลายเป็นอดีต

การทำลายครั้งนี้ยังทำให้ยุคทองของชาวมุสลิมในหน้าประวัติศาสตร์สิ้นสุดลงด้วย

อย่างไรก็ดีเหตุการณ์นี้ไม่ใช่จุดจบของกรุงแบกแดด เพราะเมืองได้กลับเป็นเมืองค้าขายที่เฟื่องฟูในยุคมองโกล หรือในปกครองของฮูเลกู

Sources:

  • Marozzi, Baghdad: City of Peace, City of Blood

บทความประวัติศาสตร์

Victory Tale ไม่อนุญาตให้คัดลอกบทความไปโพสที่ใดทุกกรณี การฝ่าฝืนมีโทษทางกฎหมาย

error: Content is protected !!