ประวัติศาสตร์รัสเซียปฏิวัติรัสเซียกำเนิดและจุดจบของกลุ่มการเมืองฝ่ายขวาในการปฏิวัติรัสเซีย

กำเนิดและจุดจบของกลุ่มการเมืองฝ่ายขวาในการปฏิวัติรัสเซีย

ในช่วงปลายศตวรรษที่ 19 ถึงต้นศตวรรษที่ 20 การต่อสู้ทางการเมืองของชาวรัสเซียดำเนินไปอย่างรุนแรง พวกนักปฏิวัติสังคมนิยมได้ออกปฏิบัติการแย่งชิงฐานมวลชนอย่างดุเดือด นักปฏิวัติฝ่ายซ้ายอย่างพวก Narodnaya Volya ถึงกับลงมือปลงพระชนม์ซาร์อเล็กซานเดอร์ที่ 2 ในปี ค.ศ.1881 ทำให้ความร้อนแรงทางการเมืองมากขึ้นไปอีก

หลังจากเหตุการณ์วันอาทิตย์เลือด สถานะของรัฐบาลซาร์ตกต่ำลงมากจากการยิงประชาชนผู้บริสุทธิ์ ประชาชนจำนวนมากทั่วทั้งจักรวรรดิรัสเซียจึงลุกฮือขึ้นประท้วงรัฐบาลซาร์ พวกนักปฏฺิวัติจึงใช้โอกาสนี้สังหารแกรนด์ดยุคเซอร์เกย์ และรัฐมนตรีคนสำคัญหลายคน

ความวุ่นวายที่เกิดขึ้นทำให้ซาร์นิโคลัสที่ 2 จำต้องยินยอมออกประกาศ October Manifesto ให้สิทธิเสรีภาพกับประชาชนมากขึ้น และกรุยทางไปสู่ระบอบประชาธิปไตยภายใต้รัฐธรรมนูญ

การเดินขบวนของกลุ่มร้อยดำ

กลุ่มร้อยดำ

อย่างไรก็ตามไม่ใช่ว่าประชาชนชาวรัสเซียจะเห็นด้วยกับพวกฝ่ายซ้าย พวกสังคมนิยม และพวกนักปฏิวัติไปเสียทุกคน ผู้ที่เห็นต่างหรือพวกฝ่ายขวาจึงรวมตัวกันขึ้นเป็นกลุ่มก้อนที่เรียกว่ากลุ่ม Black Hundred (Чёрная сотня) หรือกลุ่มร้อยดำ

กลุ่มร้อยดำนี้เป็นกลุ่มก้อนขององค์กรฝ่ายขวาหลายองค์กร แต่องค์กรที่สำคัญที่สุดคือ องค์กรที่ชื่อว่า Union of the Russian People (URP) หรือในชื่อภาษารัสเซียว่า Союз русского народа (Soyuz Russkogo Naroda) แกนนำของกลุ่ม URP ได้แก่อเล็กซานเดอร์ ดูบรอฟวิน

โดยส่วนใหญ่แล้ว สมาชิกของพวกร้อยดำ คือ ปัญญาชนฝ่ายอนุรักษ์นิยม ข้าราชการ นักบวช เจ้าของที่ดิน พ่อค้า และนายทุน พวกร้อยดำยึดมั่นในหลักสามประการของซาร์นิโคลัสที่ 1 ได้แก่

  1. Orthodoxy (Правосла́вие) หมายถึงศาสนาคริสต์นิกายออโธดอกซ์ 
  2. Autocracy (самодержа́вие) หมายถึงอัตตาธิปไตย หรือ อำนาจสูงสุดเป็นของซาร์แห่งรัสเซีย 
  3. Nationality (наро́дность) หมายถึงชาติ หรือจักรวรรดิรัสเซีย

บางกลุ่มอาจจะมีแนวทางที่แตกต่างออกไปเล็กน้อย แต่ทุกกลุ่มมีจุดประสงค์เดียวกัน นั่นคือต่อสู้กับพวกนักปฏิวัติและพวกฝ่ายซ้าย ปลุกกระแสสนับสนุนซาร์นิโคลัสที่ 2 และระบอบอัตตาธิปไตย และหยุดยั้งความพยายามทุกอย่างที่จะเปลี่ยนรัสเซียให้เป็นเสรีนิยมมากยิ่งขึ้น

นิโคลัสสนับสนุนกลุ่มร้อยดำอย่างเปิดเผย เขาถือว่ากลุ่มร้อยดำเป็นชาวรัสเซียที่จงรักภักดีที่ปกป้องระบอบอัตตาธิปไตยและราชวงศ์ รัฐบาลซาร์ยังสนับสนุนการเงินให้แก่กลุ่มดังกล่าวด้วย

อย่างไรก็ตาม ถึงแม้ว่ากลุ่มร้อยดำและพวกฝ่ายขวาจะสนับสนุนระบอบซาร์และราชวงศ์ แต่เหล่าแกรนด์ดยุคที่มีแนวคิดเสรีนิยมไม่ยินดีกับแนวทางของกลุ่มเท่าไรนัก เพราะกลุ่มนี้ได้กลายเป็นอุปสรรคในการปฏิรูปการเมืองรัสเซียนั่นเอง

การกำเนิดขึ้นของกลุ่มร้อยดำนี้ยิ่งทำให้การเมืองรัสเซียปั่นป่วนวุ่นวาย ชาวรัสเซียเริ่มแตกออกเป็นสองกลุ่มอย่างชัดเจน กลุ่มหนึ่งสนับสนุนพวกการปฏิวัติและสังคมนิยมฝ่ายซ้าย ส่วนอีกกลุ่มหนึ่งก็สนับสนุนกลุ่มอนุรักษ์นิยมร้อยดำฝ่ายขวา ที่ว่างของกลุ่มคนที่มีความเห็นเป็นกลางอย่างพวกเสรีนิยมน้อยลงไปทุกที

สถานการณ์ในรัสเซียเริ่มกลายเป็นแบบม็อบชนม็อบตามลำดับ

ม็อบชนม็อบ

องค์กร URP ซึ่งเป็นองค์กรที่สำคัญที่สุดในกลุ่มร้อยดำรู้สึกไม่พอใจเท่าไรนักที่นิโคลัสไม่ยอมปราบปรามพวกนักปฏิวัติด้วยความเด็ดขาด พวกเขาจึงตัดสินใจจัดตั้งกองกำลังติดอาวุธของพวกเขาขึ้นมาเองเพื่อจัดการกับพวกนักปฏิวัติและพวกฝักใฝ่ฝ่ายซ้ายเหล่านี้

นักประวัติศาสตร์ต่างมองว่าการดำเนินการแบบนี้เป็นตัวอย่างที่ดีให้กับฮิตเลอร์และพวกนาซีต่อไปในอีก 3 ทศวรรษต่อมา

หลังจากที่มีสมาชิกจำนวนมากขึ้น องค์กร URP ได้จัดให้มีการเดินขบวนในเมืองใหญ่ๆ แบบเซนต์ปีเตอร์สเปิร์ก บางครั้งการเดินขบวนเป็นไปอย่างสันติ พวกเขาถือไม้กางเขนและรูปทางศาสนาคริสต์ รูปของนิโคลัสและราชวงศ์ และเดินไปตามถนน

การเดินขบวนของกลุ่มร้อยดำ

แต่บางครั้งการเดินขบวนกลับดำเนินไปอย่างรุนแรง โดยเฉพาะเมื่อปะทะกับม็อบฝ่ายซ้าย สมาชิกกลุ่มร้อยดำมักจะใช้อาวุธที่พวกตนมีอยู่เช่นสนับมือหรือมีดพกในการต่อสู้กันที่ริมถนนในลักษณะม็อบชนม็อบ บางครั้งพวกเขาจะจับคนที่มาร่วมกับฝ่ายตรงข้ามมารุมซ้อม และสั่งให้คุกเข่าต่อหน้ารูปของนิโคลัสและราชวงศ์ หรือไม่ก็สั่งให้จูบธงของราชวงศ์โรมานอฟด้วย

ด้วยความที่รัฐบาลสนับสนุนกลุ่มก้อนเหล่านี้ เจ้าหน้าที่ตำรวจมักจะปิดตาข้างหนึ่งเสมอ ทำให้พวกร้อยดำได้ใจอย่างมาก

นอกจากนี้กลุ่มร้อยดำยังมีหน่วยที่ใช้ความรุนแรงเช่นเดียวกับพวกนักปฏิวัติฝ่ายซ้าย ประชาชนชาวรัสเซียเรียกหน่วยนี้ว่า “พวกเสื้อเหลือง” เพราะสีเหลืองเป็นสีของราชวงศ์โรมานอฟ

หลังจากนั้นมากลุ่มร้อยดำฝ่ายขวาและพวกฝ่ายซ้ายจึงใช้ความรุนแรงต่อกันและกันเสมอ ตัวเลนินเองเป็นผู้นำฝ่ายซ้ายคนสำคัญที่เรียกร้องให้ใช้ความรุนแรงตอบโต้พวกร้อยดำ

อย่างไรก็ตาม จากหลักสามประการของพวกร้อยดำ ทำให้พวกร้อยดำต่อสู้กับทุกคนที่พวกเขาเห็นว่าเป็นศัตรูของรัสเซีย ศาสนาคริสต์นิกายรัสเซียนออโธดอกซ์ และระบอบซาร์

พวกร้อยดำมองว่าหนึ่งในศัตรูของหลักสามประการดังกล่าวคือ ชาวยิว

ดังนั้นในช่วงปี ค.ศ.1906 กลุ่มร้อยดำเป็นแกนสำคัญในการใช้สื่อต่างๆ เช่นหนังสือพิมพ์ปลุกระดมให้ชาวรัสเซียขึ้นมาทำร้ายชาวยิว กลุ่มเหล่านี้ช่วยกันเผยแพร่เอกสารลวงโลกอย่าง Protocols of Zion ที่ชี้ให้เห็นว่าชาวยิวคิดจะครองโลก เจตนาของพวกเขาคือชาวยิวจะได้ถูกเกลียดชังและถูกทำร้าย ทำให้ชาวยิวจำนวนถูกทรมานและสังหารอย่างโหดเหี้ยมในเมืองนับร้อยแห่งในรัสเซีย

ไม่ต้องสงสัยว่าแนวทางแบบนี้เป็นแบบอย่างให้กับฮิตเลอร์เช่นเดียวกัน

ในเมื่อกลุ่มร้อยดำต้องการกำจัดทุกคนที่พวกเขาเชื่อว่าเป็นศัตรูกับหลักสามประการ ดังนั้นการสังหารบุคคลสำคัญหลายคนในรัฐบาลซาร์อย่างเช่นนายกรัฐมนตรี Pyotr Stolypin อาจจะเป็นฝีมือของกลุ่มร้อยดำที่ร่วมมือกับพวก Camarilla และพวกตำรวจลับด้วยซ้ำไป แต่พวกเขาโยนความผิดทั้งหมดให้พวกนักปฏิวัติฝ่ายซ้าย

ล่มสลาย

ไม่ถึงสิบปีหลังจากการก่อตั้ง กลุ่มร้อยดำเริ่มเสื่อมถอยลง และมีผู้สนับสนุนน้อยลงไปเรื่อยๆ สาเหตุที่เป็นเช่นนั้นเพราะแนวทางและอุดมการณ์ของกลุ่มดังกล่าวขัดกับเจตนารมณ์และความต้องการของชาวรัสเซียโดยรวม

กลุ่มร้อยดำไม่เคยอธิบายได้ว่าปัญหาของรัสเซียที่แท้จริงเกิดมาจากอะไร และไม่สามารถหาหนทางแก้ปัญหาที่สอดคล้องกับแนวทางของกลุ่มได้ด้วย การโจมตีชาวยิวว่าเป็นสาเหตุของปัญหายิ่งทำให้ชาวรัสเซียส่วนใหญ่เห็นว่ากลุ่มร้อยดำไร้สาระ และเจือไปด้วยอคติ

ปัญญาชนชาวรัสเซียเริ่มประจักษ์ว่าปัญหาของรัสเซียมาจากการเอารัดเอาเปรียบของชนชั้นสูงและพวกนายทุนซึ่งเป็นผู้สนับสนุนสำคัญของกลุ่มร้อยดำ ทำให้กลุ่มดังกล่าวเสียความนิยมในสายตาของปัญญาชนเหล่านี้ไปให้พวกฝ่ายซ้ายจนหมดในเวลาไม่นาน

ประชาชนโดยทั่วไปต่างเสียความรู้สึกที่แกนนำกลุ่มร้อยดำมีข่าวฉาวมากมาย อุดมการณ์ก็กลวง และยังรับเงินสนับสนุนจากรัฐบาลซาร์อีก กลุ่มร้อยดำยังใช้ความรุนแรงไม่ต่างอะไรกับพวกสังคมนิยมฝ่ายซ้าย ดังนั้นความศรัทธาในแนวทางของกลุ่มร้อยดำจึงลดลงอย่างรวดเร็ว

เมื่อสงครามโลกครั้งที่ 1 เริ่มต้นขึ้น กระแสความรักชาติทำให้สมาชิกกลุ่มร้อยดำที่คลั่งชาติต่างอาสาเข้าเป็นทหารจำนวนมาก พวกเขาเหล่านี้ต่างเสียชีวิตลงไปในสงคราม ทำให้กลุ่มร้อยดำอ่อนแอลงไปมาก

ดังนั้นเมื่อเกิดการปฏิวัติกุมภาพันธ์ในรัสเซีย กลุ่มร้อยดำจึงไม่มีบทบาทใดๆ ในการขัดขวางม็อบในกรุงเปโตรกราดเลย ทำให้ราชวงศ์โรมานอฟสิ้นสุดลงอย่างเป็นทางการ รัฐบาลชั่วคราวของคีเรนสกี้สั่งให้องค์กรในกลุ่มร้อยดำต่างๆ ยุบตัวลงไปเสีย กลุ่มร้อยดำจึงสิ้นชื่อตั้งแต่บัดนั้น

ระหว่างที่นิโคลัสและครอบครัวถูกจับกุมอยู่ที่พระราชวังอเล็กซานเดอร์ ทาบอสค์ และเยกาเตรินเบิร์ก ไม่มีอดีตสมาชิกกลุ่มร้อยดำสักคนเดียวที่เสนอตัวเข้ามาช่วยเหลือพวกเขาออกจากที่คุมขัง ทั้งๆที่ก่อนหน้านี้เคยปฏิญาณว่าจะปกป้องซาร์แห่งรัสเซียยิ่งชีพก็ตาม

หลังจากการปฏิวัติตุลาคมของพวกบอลเชวิค เลนินสั่งให้กวาดล้างอดีตกลุ่มร้อยดำและพวกฝ่ายขวาทั้งหมดอย่างไม่ปรานี การกวาดล้างอย่างรุนแรงทำให้พวกฝ่ายขวาสิ้นชีวิตเป็นจำนวนมาก แกนนำกลุ่มร้อยดำและองค์กรฝ่ายขวาต่างถูกอุ้มหายไปอย่างลึกลับ อย่างไรก็ตามบางคนหลบหนีไปยังประเทศตะวันตกได้สำเร็จ

อย่างไรก็ตาม หลังการล่มสลายของสหภาพโซเวียต กลุ่มร้อยดำและองค์กร URP ได้กลับมาอีกครั้งหนึ่งในรูปแบบใหม่ กล่าวคือพวกเขาพยายามสร้างกระแสรักชาติและเรียกร้องเสียงสนับสนุนในคริสตจักรรัสเซียนออโธดอกซ์ แต่ไม่ได้สุดโต่งและใช้ความรุนแรงเหมือนในอดีตแล้ว

Sources:

  • Allensworth, The Russian Question: Nationalism, Modernization, and Post-Communist Russia
  • Scepsis: Черносотенный террор 1905–1907 гг.
  • Figes, A People’s Tragedy: The Russian Revolution, 1891-1924

บทความประวัติศาสตร์

Victory Tale ไม่อนุญาตให้คัดลอกบทความไปโพสที่ใดทุกกรณี การฝ่าฝืนมีโทษทางกฎหมาย

error: Content is protected !!