ในสงครามโลกครั้งที่ 1 เครื่องบินเริ่มมีบทบาทสำคัญในสงคราม เช่นสามารถใช้สนับสนุนทหารราบในสนามเพลาะและอื่นๆ อีกมากมาย
ถ้าพูดถึงเสืออากาศแห่งเยอรมนีแล้วนั้น คงไม่มีผู้ใดที่มีชื่อเสียงโด่งดังกว่า แมนเฟรด วอน ริชโธเฟน (Manfred Von Richthofen) วีรบุรุษแห่งสงครามโลกครั้งที่ 1 เป็นเรื่องน่าแปลกที่ในสงครามโลกครั้งที่ 2 เครื่องบินมีบทบาทในการรบมากกว่าสงครามโลกครั้งที่ 1 แต่กลับไม่มีเสืออากาศเยอรมันคนใดที่มีชื่อเสียงมากกว่าริชโธเฟน
ก่อนเป็นนักบิน
ริชโธเฟนเกิดในตระกูลชนชั้นสูงของปรัสเซีย ครอบครัวของเขาจึงมีฐานะร่ำรวยและทรงเกียรติ เขาจบการศึกษาจากโรงเรียนทหารร้อยเยอรมันฝ่ายทหารม้า
อย่างไรก็ดีเมื่อสงครามโลกครั้งที่ 1 เริ่มต้นขึ้น การใช้ทหารม้าเป็นสิ่งที่ล้าสมัยไปเสียแล้ว เพราะทั้งสองฝ่ายต่างขุดสนามเพลาะต่อสู้กัน และมีอาวุธที่สามารถสังหารศัตรูได้อย่างรวดเร็ว อาทิเช่นปืนกลหนักเข้ามาในสมรภูมิ
ด้วยเหตุนี้กองพันทหารม้าที่ริชโธเฟนสังกัดอยู่จึงไม่ได้เข้าร่วมรบกับข้าศึกเลย ริชโธเฟนและเพื่อนๆ ต่างถูกสั่งให้เป็นกองทหารสื่อสารเท่านั้น ทำให้ริชโธเฟนรู้สึกเบื่อหน่ายเป็นอย่างมากที่ไม่ได้ออกรบเพื่อชาติ
มีอยู่วันหนึ่งริชโธเฟนกำลังจะถูกโอนไปสังกัดฝ่ายเสบียง แต่แล้วเขากลับพบว่ากองทัพเยอรมันกำลังจัดสอบทหารอากาศขึ้น เขาจึงแสดงเจตจำนงขอย้ายไปสังกัดหน่วยทหารอากาศ เขาเขียนสาเหตุของการย้ายว่า
ผมไม่ได้มาเข้าร่วมในสงครามเพื่อมารวบรวมชีสและไข่ ผมมาเพื่อวัตถุประสงค์อื่น
สิ่งที่ริชโธเฟนเขียนค่อนข้างรุนแรง เหล่าผู้บังคับบัญชาก็ไม่พอใจเท่าใดนัก แต่สุดท้ายก็อนุญาตให้เขาโอนมาสังกัดทหารอากาศได้
ริชโธเฟนได้รับการฝึกฝนให้เป็นนักบินเครื่อง Albatros C III ซึ่งมีสองที่นั่ง ปรากฎว่าริชโธเฟนมีความสามารถต่ำกว่ามาตรฐาน เขาไม่สามารถบังคับเครื่องยนต์ได้ และสุดท้ายก็ทำเครื่องตกด้วยซ้ำไป
หากแต่ว่าในอีกไม่นาน การฝึกฝนทำให้ริชโธเฟนมีฝีมือเก่งกาจขึ้นอย่างรวดเร็ว เขายิงเครื่องบินฝรั่งเศสตกไป 1 ลำ (แต่ไม่ได้ Credit) ชัยชนะครั้งแรกทำให้เริ่มมั่นใจในฝีมือของตัวเองมากยิ่งขึ้น
ในอาทิตย์ต่อมา เขาละเมิดคำเตือนของนักบินรุ่นพี่ที่ไม่ให้ขึ้นบินในสภาพอากาศที่เลวร้าย สุดท้ายเครื่องบินของเขาก็เกือบตก โดยริชโธเฟนกล่าวว่า เขาโชคดีมากที่รอดตายมาได้ และปฎิญาณว่าจะไม่ขึ้นบินเมื่ออากาศเลวร้ายอีก
ริชโธเฟนได้พบกับ Oswald Boelcke เสืออากาศของเยอรมัน โดย Boelcke เป็นผู้สอนชั้นเชิงในการต่อสู้ทางอากาศให้กับริชโธเฟน หากแต่ว่าหลังจากนั้นไม่นาน Boelcke ก็เสียชีวิตจากอุบัติเหตุ
เมื่อรับการฝึกในระดับนึงแล้ว ริชโธเฟนก็ได้เข้าสู่สมรภูมิจริงอย่างเป็นทางการ ภายในไม่กี่วันหลังจากเข้าสู่สมรภูมิ ริชโธเฟนเปิดฉากด้วยการยิงเครื่องบินอังกฤษตกไปลำหนึ่ง ริชโธเฟนดีใจมาก เขาจึงสั่งให้ร้านขายเครื่องประดับในเยอรมนีทำถ้วยเงินถ้วยหนึ่งให้เขา โดยแกะสลักวันที่ และชนิดของเครื่องบินที่เขายิงตก
พอยิงตกไปลำแรก ลำที่สอง สาม สี่ ห้าก็ตามมาอย่างรวดเร็ว ในเวลาเพียงสามเดือนเศษ เขาก็ยิงเครืองบินศัตรูตกไปถึง 16 ลำ และได้รับรางวัล Pour le Mérite ซึ่งเป็นรางวัลสูงสุดที่มอบให้กับทหารในเยอรมนี
ทั้งนี้เมื่อริชโธเฟนยิงเครื่องบินศัตรูตกลำหนึ่ง เขาจะสั่งถ้วยเงินเพิ่มหนึ่งใบ เขาสั่งถ้วยถึง 60 ใบแล้วจึงเลิกสั่ง เพราะวัตถุดิบที่ใช้ผลิตถ้วยเงินขาดแคลน
ริชโธเฟนมีเทคนิคในการต่อสู้ทางอากาศดังต่อไปนี้
- Surprise ศัตรูด้วยการโจมตีศัตรูจากอากาศจากด้านบน ที่มีดวงอาทิตย์เป็นฉากหลัง ทำให้เขาเป็นฝ่ายได้เปรียบ
- ห้ามหนีเป็นอันขาด เพราะการหนีจะทำให้ผู้ไล่ตามได้เปรียบอย่างมาก (ในเดือนพฤศจิกายน 1916 ริชโธเฟนสังหารผู้พันฮอคเกอร์เสืออากาศของอังกฤษด้วยการกระหน่ำยิงจากด้านหลังจนมีกระสุนนัดหนึ่งทะลุศีรษะของฮอคเกอร์ ระหว่างที่ฮอคเกอร์พยายามถอยหนีกลับสู่พื้นที่ของฝ่ายตนเอง)
- อย่ายิงมั่วซั่ว เข้าใกล้ระยะที่หวังผลได้แล้วจึงยิง
- จับตาดูศัตรูเอาไว้จนเครื่องตกถึงพื้น ถึงแม้ว่าศัตรูจะถูกยิงตกแล้วก็ตาม
- พยายามเคลื่อนที่ไปด้านหลังของศัตรูทุกครั้ง
- ถ้าเป็นฝ่ายตั้งรับก็อย่าตื่นตระหนกหรือหนี แต่ให้พยายามเคลื่อนที่ไปด้านหลังของศัตรูแล้วกระหน่ำยิงเขา
- ระวังตัวเป็นพิเศษเมื่ออยู่ในเขตของศัตรู
- เน้นยิงไปที่คนเท่านั้น ถ้าเป็นเครื่องบินสองที่นั่งก็ยิงเข้าใส่พลปืนหลังเสียก่อน
ด้วยกลยุทธ์เหล่านี้ทำให้ริชโธเฟนยิงเครื่องศัตรูตกมากขึ้นเป็นกอบเป็นกำ กองทัพเยอรมันจึงเลื่อนตำแหน่งให้เขาเป็นผู้บังคับฝูงบินที่ 11 ริชโธเฟนจึงใช้โอกาสนี้นำสีแดงมาทาเครื่องบิน Albatros ของเขา โดยไม่คำนึงถึงว่าศัตรูจะจำได้ว่าเครื่องบินนี้เป็นของริชโธเฟนแต่อย่างใด ในเวลาต่อมาริชโธเฟนจึงมีฉายาว่า Red Baron หรือว่า บารอนแดง
ทั้งนี้นักบินคนอื่นในฝูงบินเกรงว่า ริชโธเฟนจะถูกรุมกลางอากาศเพราะว่าข้าศึกจะจำได้ว่าเครื่องบินสีแดงเป็นของริชโธเฟน พวกเขาคนอื่นจึงทาสีเครื่องบินเป็นสีแดงด้วยเช่นกัน
ในเดือนเมษาเลือด หรือ เมษายน ปี ค.ศ.1917 ริชโธเฟนได้แสดงฝีมืออันสุดยอดให้โลกได้ประจักษ์ ภายในเดือนเดียวเขายิงเครื่องบินอังกฤษตกถึง 22 ลำ โดยมีอยู่วันหนึ่งเขายิงตกไปถึง 4 ลำในวันเดียว
อย่างไรก็ตามในเดือนกรกฎาคม ริชโธเฟนได้รับบาดเจ็บที่ศีรษะระหว่างการรบที่เวอร์วิก เขาสูญเสียการมองเห็นและการรับรู้สิ่งรอบตัวไปชั่วขณะหนึ่ง แต่สุดท้ายดวงตาของเขากลับมามองเห็นได้ทันเวลา และนำเครื่องบินลงจอดในพื้่นทีของฝ่ายเดียวกันได้สำเร็จ
ริชโธเฟนถูกนำตัวไปให้แพทย์รักษา เขาออกจากสมรภูมิไปนานกว่าเกือบสองเดือน ถึงแม้ว่าบาดแผลจะหายสนิทแล้ว แต่ร่างกายของเขาก็ไม่ปกติ เขายังรู้สึกคลื่นไส้ ปวดหัว และมีความผันแปรทางอารมณ์อย่างรุนแรง
ช่วงที่พักผ่อนรักษาตัวนั้น ริชโธเฟนได้เขียนประวัติของตนเองขึ้นมาเล่มหนึ่งตามคำสั่งของหน่วยงานโฆษณาชวนเชื่อของกองทัพเยอรมัน หลังจากริชโธเฟนเขียนเสร็จ กองทัพเยอรมันก็นำไปเปลี่ยนแปลงจนมั่วซั่วไปทั้งหมด ก่อนเสียชีวิต ริชโธเฟนเคยกล่าวไว้ว่าเขาไม่ได้เป็นอย่างที่หนังสือว่าไว้เลยแม้แต่น้อย
ถึงแม้จะได้รับบาดเจ็บจากการรบ ริชโธเฟนก็กลับมาสู่ท้องฟ้าและออกรบอีกหลายครั้ง เขาก็ยังคงยิงเครื่องบินศัตรูตกได้เรื่อยๆ ถึงแม้จะไม่มากเหมือนกับในช่วงเมษาเลือดก็ตาม
เสืออากาศส่วนใหญ่ในสมัยสงครามนั้นน้อยคนที่จะได้ตายบนเตียง โดยส่วนมากแล้วจะสิ้นชีวิตไปกับเครื่องบินทั้งสิ้น ริชโธเฟนเองก็ไม่มีข้อแม้เช่นเดียวกัน
ในเวลา 11 นาฬิกาที่ริมแม่น้ำซอมม์ (Somme River) ริชโธเฟนได้ขึ้นบินต่อสู้กับศัตรูในระหว่างการรบ เขาเห็นนักบินหน้าใหม่ชาวแคนาเดียนชื่อ วิลเฟรด เมย์ กำลังกระหน่ำยิงใส่ลูกพี่ลูกน้องของเขาชื่อ วอลฟรัม ด้วยเหตุนี้ริชโธเฟน เขาจึงเข้าช่วยเหลือด้วยการยิงใส่เมย์ทันที
เมย์เห็นเครื่องบินของริชโธเฟนยิงกระสุนเข้าใส่ตน เขาจึงรีบขับเครื่องบินหนีไปด้วยความเร็ว ริชโธเฟนไล่ตามไปและจะลั่นกระสุนสังหารเมย์ อาร์เธอร์ บราวน์ เพื่อนของเมย์จึงเข้าช่วยเหลือด้วยการสกัดกั้นริชโธเฟนไว้ และยิงเข้าใส่ริชโธเฟน แต่ริชโธเฟนหลบได้และไล่ตามเมย์ต่อไป
ในช่วงนี้เอง กลับมีกระสุนปริศนานัดหนึ่งพุ่งเข้าทะลุหน้าอกของริชโธเฟนจากทางด้านล่าง มันพุ่งทะลุหัวใจและปอดของเขา ริชโธเฟนได้รับบาดเจ็บสาหัส แต่ก็ยังสามารถบังคับเครื่องบินให้ลงสู่พื้นดินได้ในพื้นที่ของทหารพันธมิตร
เมื่อเครื่องบินถึงพื้นไม่นาน ริชโธเฟน เสืออากาศอันดับหนึ่งของเยอรมนีก็สิ้นใจ เขามีอายุได้เพียง 25 ปี ตลอดการสู้รบเขาทำลายเครื่องบินศัตรู 80 ลำ
กระสุนปริศนานัดนั้นเป็นสิ่งที่นักประวัติศาสตร์ยังงุนงงอยู่ทุกวันนี้ ว่าใครกันแน่ที่เป็นผู้ยิงสังหารริชโธเฟน
กองทัพอังกฤษให้ความดีความชอบแก่ อาเธอร์ บราวน์ กับการสังหารริชโธเฟน แต่หลักฐานทางนิติวิทยากลับชี้ให้เห็นว่าเป็นไปไม่ได้ที่บราวน์จะเป็นผู้ลั่นกระสุนสังหาร เพราะกระสุนนัดนั้นพุ่งเข้ามาในร่างกายริชโธเฟนจากทางด้านล่าง (ขา, ก้น) แต่เครื่องบินของบราวน์อยู่ด้านบนของเครื่องบินริชโธเฟน ส่วนเมย์นั้นตัดทิ้งไปได้เลย เพราะเขากำลังขับเครื่องบินซิ่งหนีริชโธเฟนอยู่
สรุปแล้วกระสุนที่สังหารริชโธเฟนจึงต้องมาจากพื้นดินอย่างแน่นอน แต่การถกเถียงก็มีมาจนถึงปัจจุบัน ผู้สังหารริชโธเฟนจึงน่าจะเป็นพลต่อสู้อากาศยานที่อยู่บนพื้นดิน
นอกจากนั้นนักวิชาการหลายคนมองว่า การเสียชีวิตของริชโธเฟนเกิดจากอุบัติเหตุที่ศีรษะก่อนหน้านี้ นั่นก็เพราะอุบัติเหตุดังกล่าวทำให้เกิดความผิดปกติในสมองส่งผลให้ความรอบคอบของเขาลดลง เขาจึงทำสิ่งที่ละเมิดต่อกฎของตนเองหรือการบินในระดับต่ำเพื่อไล่ล่าเมย์
ร่างของริชโธเฟนถูกจัดการด้วยความเคารพอย่างสูงสุด กองทัพอังกฤษจัดงานศพให้เขาอย่างดี โดยกองพันพันธมิตรหลายกองพันส่งพวงหรีดมาให้ที่งานศพโดยมีคำติดพวงหรีดว่า “ถึงศัตรูผู้กล้าหาญและทรงคุณค่าของเรา”
ร่างของเขาถูกฝังในหมู่บ้านใกล้กับเมือง Amiens ในฝรั่งเศส หลังสงครามสงบ รัฐบาลฝรั่งเศสได้เคลื่อนย้ายศพริชโธเฟนไปฝังรวมกับทหารเยอรมันคนอื่นที่ Fricourt
ในเวลาต่อมาญาติของเขาได้นำร่างของริชโธเฟนกลับไปยังที่เยอรมนี ครอบครัวของเขาตั้งใจว่าจะให้ฝังในสุสานของตระกูล แต่รัฐบาลเยอรมันแสดงเจตจำนงต้องการให้ฝังร่างของเขาในสุสานหลวง Invalidenfriedhof
ครอบครัวของเขาจึงอนุญาตให้ทำตามนั้น รัฐบาลเยอรมันจัดงานศพในระดับประเทศ (State Funeral) ให้กับเขา ร่างของเขาถูกฝังในสุสานดังกล่าวจนถึงปี 1975 ร่างของเขาก็ถูกย้ายอีกครั้งกลับไปสู่สุสานของตระกูล จนกระทั่งถึงปัจจุบัน
ถึงแม้ริชโธเฟนจะเสียชีวิตไปแล้ว แต่ตำนานบารอนแดง วีรกรรมและความกล้าหาญของเขา ก็ยังเป็นที่จดจำมาจนถึงทุกวันนี้