ประวัติศาสตร์เหตุการณ์พระนางเจ้าสุนันทากุมารีรัตน์สิ้นพระชนม์เพราะเรือล่ม

เหตุการณ์พระนางเจ้าสุนันทากุมารีรัตน์สิ้นพระชนม์เพราะเรือล่ม

พระนางเรือล่ม หรือ สมเด็จพระนางเรือล่มเป็นพระนามที่ชาวบ้านทั่วไปในยุคนั้นเรียกขานถึง สมเด็จพระนางเจ้าสุนันทากุมารีรัตน์ พระมเหสีในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 5)

สมเด็จพระนางเจ้าสุนันทากุมารีรัตน์ ทรงเป็นพระราชธิดาของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 4) และ สมเด็จพระปิยมาวดี ศรีพัชรินทรมาตา ดังนั้นพระนางจึงเป็นพระขนิษฐาต่างมารดากับสมเด็จเจ้าฟ้าจุฬาลงกรณ์ (รัชกาลที่ 5 ในภายหลัง)

สมเด็จพระนางเจ้าสุนันทากุมารีรัตน์

หลังจากเจ้าฟ้าจุฬาลงกรณ์ทรงขึ้นครองราชสมบัติเป็นพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระนางได้ถวายพระองค์เป็นพระมเหสีในพระองค์

พระนางเธอ พระองค์เจ้าสุนันทากุมารีรัตน์ (พระยศในขณะนั้น) ทรงมีพระสิริโฉมงดงาม มีพระสติปัญญาเฉียบแหลม และทรงมีพระเมตตา ทำให้พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงรักใคร่ยิ่งนัก

นอกจากนี้พระนางยังเป็นผู้ที่มีพระอัธยาศัยจริงจังเด็ดขาด ทรงกล่าวอะไรตรงๆ อยู่เสมอ พระนางจึงเป็นที่เคารพนับถือจากเชื้อพระวงศ์และข้าราชบริพารโดยทั่วไป

พระนางเธอ พระองค์เจ้าสุนันทากุมารีรัตน์ทรงมีประสูติกาลพระธิดาพระองค์หนึ่งให้กับพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงมีพระนามว่า สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าหญิงกรรณาภรณ์เพชรรัตน์ โสภางคทัศนียลักษณ์ อัครวรราชกุมารี และพระนางยังทรงครรภ์พระโอรสหรือพระธิดา (ยังไม่ทราบแน่ชัด) ด้วยอีกพระองค์หนึ่ง

พระชนม์ชีพของพระนางเปี่ยมด้วยความสุข จนกระทั่งเกิดเรื่อง

ในวันที่ 31 พฤษภาคม พ.ศ.2423 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงมีพระบรมราชโองการให้แต่งเรือพระที่นั่งเพื่อการเสด็จประพาส พระราชวังบางปะอินกับพระมเหสีทุกพระองค์ ซึ่งพระนางเธอ พระองค์เจ้าสุนันทากุมารีรัตน์ก็ทรงจะตามเสด็จไปด้วย

ในคืนก่อนที่จะเสด็จไปนั้น พระนางเธอ พระองค์เจ้าสุนันทากุมารีรัตน์ทรงมีพระสุบินว่า พระองค์และพระธิดาเสด็จข้ามสะพานแห่งหนึ่ง พระธิดากลับพลัดตกจากพระหัตถ์ พระนางทรงคว้าพระหัตถ์ของพระธิดาไว้ได้ แต่พระธิดากลับทรงลื่นหลุดจากมือพระองค์ไปอีกครั้งหนึ่ง

ในครั้งนี้พระนางทรงพยายามจะคว้าพระธิดาเอาไว้ แต่ไม่สำเร็จ พระนางและพระธิดากลับตกลงจากสะพานทั้งสองพระองค์

เมื่อพระนางตื่นบรรทม พระนางดำริว่าพระสุบินนั้นร้ายนัก และพระนางจะเสด็จทางน้ำในวันรุ่งขึ้นอีกด้วย แต่พระนางก็ไม่ได้ทรงทูลพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวให้ทรงทราบแต่อย่างใด พระนางกลับทรงตัดสินใจที่จะเสด็จตามพระองค์ไป

ในเวลา 8 โมงเช้าของวันที่ 31 พฤษภาคม พ.ศ 2423 นั้นพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงติดพระราชกิจ พระองค์จึงมีรับสั่งให้เรือขบวนเสด็จของพระมเหสีแล่นออกไปก่อน หลังจากนั้นพระองค์จะเสด็จตามไป

พระนางเธอ พระองค์เจ้าสุนันทากุมารีรัตน์และพระธิดาองค์น้อยจึงประทับบนเรือเก๋งกุดัน ซึ่งเป็นเรือพระประเทียบ (เรือหลวงของเจ้านายฝ่ายใน) โดยมีเรือปานมารุตซึ่งเป็นเรือกลไฟลากจูงไป

เมื่อเรือพระประเทียบของพระมเหสีทั้งหมดออกเดินทางไปจนถึงบริเวณปากเกร็ดในปัจจุบัน ก็เกิดอุบัติเหตุอันไม่คาดฝันเกิดขึ้น โดยเรือพระประเทียบของพระนางเธอ พระองค์เจ้าสุนันทากุมารีรัตน์ได้ชนเข้ากับเรือโสวาร ซึ่งเป็นเรือลากจูงของพระองค์เจ้าเสาวภาผ่องศรี

หัวเรือของเรือพระประเทียบในพระองค์เจ้าสุนันทากุมารีรัตน์กลับล้มคว่ำลง ทำให้พระนางและพระธิดาทรงตกลงในแม่น้ำ ในขณะนั้นมีผู้จะลงไปช่วยเหลือ แต่พระยามหามนตรีได้ออกคำสั่งไม่ให้ผู้ใดลงไปช่วยเหลือ เพราะว่าจะขัดกับกฎมณเฑียรบาลที่ว่าไม่ให้ผู้ใดแตะต้องพระวรกายของพระอัครมเหสี

ด้วยเหตุนี้จึงไม่มีผู้ใดลงไปช่วยเหลือพระนางเธอ พระองค์เจ้าสุนันทากุมารีรัตน์ที่ทรงอุ้มพระธิดาและทรงพระครรภ์อยู่ (ทรงพระครรภ์ได้ 5 เดือน) ในแม่น้ำ แต่ถึงกระนั้นน่าจะมีการช่วยเหลือโดยวิธีอื่น ซึ่งปรากฎว่าไม่สำเร็จ พระนางเธอ พระองค์เจ้าสุนันทากุมารีรัตน์และพระธิดาจึงสิ้นพระชนม์ลงในแม่น้ำนั่นเอง

พระโกศของ สมเด็จพระนางเจ้าสุนันทากุมารีรัตน์ และพระราชธิดาในงานพระบรมศพ

เมื่อพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงทราบก็ทรงโทมนัสยิ่งนัก ด้วยพระนางเธอ พระองค์เจ้าสุนันทากุมารีรัตน์ ทรงเป็นพระมเหสีที่ทรงโปรดปรานรักใคร่ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวจึงโปรดให้ออกพระนามของพระมเหสีว่า “สมเด็จพระนางเจ้าสุนันทากุมารีรัตน์ พระบรมราชเทวี”

การจัดงานพระศพนั้นพระองค์พระราชทานพระโกศทองใหญ่ซึ่งเป็นพระโกศสำหรับพระมหากษัตริย์ พระอัครมเหสี และเชื้อพระวงศ์ชั้นสูงในการบรรจุพระศพของพระนางอีกด้วย

ในวันที่ 16 มีนาคม พ.ศ 2424 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวพระราชทานเพลิงพระศพแก่พระนาง และยังจัดพิมพ์หนังสือสวดมนต์รวมพระสูตร และพระปริตต่าง ๆ เพื่อพระราชทานแด่วัดวาอารามต่าง ๆ เพื่อเป็นพระราชกุศลในวันถวายพระเพลิงพระศพของพระนาง

ครั้งนี้จึงถือเป็นครั้งแรกที่มีการจัดพิมพ์หนังสือแจกในงานศพ ซึ่งกลายเป็นธรรมเนียมที่ปฏิบัติสืบเนื่องกันมาในประเทศไทยจนถึงปัจจุบัน

บทความการศึกษา

Victory Tale ไม่อนุญาตให้คัดลอกบทความไปโพสที่ใดทุกกรณี การฝ่าฝืนมีโทษทางกฎหมาย

error: Content is protected !!